©ulture

อาจไม่เกินจริงแต่อย่างใด หากจะกล่าวว่านักอ่านค่อนโลกคุ้นเคยกับเรื่องราวความโหดร้ายของกองทัพนาซีผ่าน บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์ (The Diary of a Young Girl) สมุดบันทึกของสาวน้อยชาวยิววัย 13 ปี ซึ่งถูกเก็บไว้ในที่ซ่อนลับ ก่อนในที่สุดจะได้รับการแปลไปแล้วกว่า 70 ภาษา 

ทว่ายังมีประวัติศาสตร์ และผลพวงจากสงครามอีกมากมาย ที่ได้รับการบันทึกไว้แบบมุขปาฐะ หรือเล่าสู่กันฟังแบบปากต่อปาก ซึ่งมักถูกลบเลือนหายไปตามกาลเวลา เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร 

เหมือนอย่างที่ โอลก้า โกรมาว่า (Olga Gromova) นำเรื่องราวของเด็กหญิงจากศตวรรษก่อนหน้าจากคำบอกเล่าของ สเตลล่า นูดอลสกาย่า (Stella Nudolskaya) มาถ่ายทอดเอาไว้ในรูปแบบของนวนิยายภายใต้ชื่อ เด็กหญิงน้ำตาล (Sugar Child)

sugar child
โอลก้า โกรมาว่า (Olga Gromova)
ผู้เขียนเรื่อง เด็กหญิงน้ำตาล
Photo: https://www.facebook.com/KompasGuide-Publishing-House-1858426794461223/photos/pcb.2006752539628647/2006752459628655/

อรรถรสในการอ่านเรื่องราวของเด็กหญิงน้ำตาลนั้นแตกต่างไปจากการพลิกหน้าไดอารี่ของแอนน์ แฟรงค์ ที่ผู้อ่านส่วนมากคุ้นเคยกับวีรกรรมของฮิตเลอร์และกองทัพนาซีเป็นทุน ผ่านสารคดีหรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาแล้วนักต่อนัก จึงราวกับผู้อ่านได้ดูหนังตัวอย่างที่เล่าเรื่องมาแล้วจนครบ ทำให้เดาเนื้อหาและโทนของเรื่องที่บีบหัวใจได้ไม่ยาก 

แต่บรรยากาศของ ‘เด็กหญิงน้ำตาล’ นั้นต่างออกไป เพราะหน้าประวัติศาสตร์ของการกวาดล้างใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตระหว่าง .. 1936-1938 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังม่านเหล็ก หากไม่ใช่คนที่สนใจการเมือง รัฐศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์โซเวียตแบบเข้มข้น ย่อมไม่คุ้นเคยหรือจินตนาการภาพออก 

หรือไล่มาจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เองก็ตามที่เราต่างก็รู้จักศึกเพิร์ล ฮาร์เบอร์ยุทธการยกพลขึ้นบกที่นอร์ม็องดี หรือการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเป็นอย่างดี แต่แทบจะไม่รู้ว่า ในขณะนั้นเกิดอะไรขึ้นที่รัสเซียบ้าง 

เด็กหญิงน้ำตาลจึงเหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ฉายภาพอดีตของโซเวียตเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ให้ค่อยๆ แจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละหน้าที่พลิกอ่าน ไม่ว่าจะเป็นภาพวิถีชีวิตของผู้คน อาหารการกิน การแต่งกาย บ้านเรือน ไปจนถึงทิวทัศน์ตามธรรมชาติ พลอยทำให้ผู้อ่านสามารถวาดภาพทุ่งหญ้าสเตปป์สีแดง และยอดเขาแหลมปกคลุมด้วยหิมะสันเขาสูงชันสีน้ำเงินเข้มตามได้ไม่ยาก

แต่มากไปกว่านั้น คือการที่ผู้อ่านได้เรียนรู้จิตวิญญาณอันเข้มแข็งและกล้าแกร่งของเด็กหญิงน้ำตาล ที่แม้จะต้องเผชิญชะตากรรมระหกระเหเร่ร่อนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ แต่เพราะเธอมีแม่ร่วมผจญภัยไปด้วยกัน และมีคำสั่งสอนของพ่อ (ผู้ที่แม้จะต้องพลัดพรากกันในเหตุการณ์กวาดล้างใหญ่เป็นเข็มทิศในการใช้ชีวิตไม่ให้หลงทาง 

มีเกมหลากหลายที่พ่อและแม่เคยเล่นกับเธอเป็นประจำในยามที่บ้านเมืองยังสงบสุขอยู่ หนึ่งในนั้นคือ เกมแก้เงื่อน โดยบนฝาผนังบ้านจะมีเชือกห้อยอยู่สองเส้น เพื่อสอนให้ลูกสาวคนเดียวของครอบครัวได้เรียนรู้วิธีการแกะและผูกเงื่อนแบบต่างๆ เช่น เงื่อนตกปลาที่ต้องผูกให้แน่นที่สุด แต่ก็ต้องแก้ออกได้ง่ายๆ ด้วยเช่นกัน 

เพราะฉะนั้น ปมทุกปมต้องถูกแก้ และฉันก็สามารถแก้ปมเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง” เด็กหญิงน้ำตาลย้ำกับตัวเองเสมอมา ทำให้ไม่ว่าจะเจอปัญหาน้อยใหญ่แค่ไหน สาวน้อย ‘คนเก่ง’ ก็จะค่อยๆ คลายปมปัญหานั้นออกด้วยตัวเอง

sugar child

คนเก่ง’ ดูเหมือนจะเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ถูกบ่มเพาะในตัวเด็กหญิงน้ำตาลมาตั้งแต่จำความได้ เธอตระหนักดีว่านอกจากคนเก่งจะต้องคลายปมทุกอย่างด้วยตัวเองแล้ว คนเก่งยังต้องทำอะไรด้วยตัวเอง คนเก่งไม่เกรงกลัวสิ่งใด และคนเก่งต้องอดทนให้เป็น 

การไม่กลัวต่อสิ่งใดและความอดทนที่ถูกฝึกฝนมานานปีจึงสร้างปัญหาให้ชีวิตของเธอในบางครั้ง แต่ทุกครั้งก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และทำให้เธอเติบโตขึ้นจนกลายเป็นคนแกร่งโดยไม่รู้ตัว  

นอกจากคำสอนของพ่อที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งหัวใจแล้ว เด็กหญิงน้ำตาลจะเติบโตอย่างกล้าและแกร่งไปไม่ได้ หากปราศจากการดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เป็นแม่ ที่แม้โลกจะโหดร้ายต่อพวกเธอเพียงใด แต่ทุกครั้งหลังหมดภาระหน้าที่ในแต่ละวัน สองแม่ลูกจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่ต่างไปพบเจอมาในแต่ละวันสู่กันฟัง ไม่ต่างจากเพื่อนสนิทที่ไว้ใจกันมากที่สุด

sugar child
ภาพถ่ายครอบครัวของเด็กหญิงน้ำตาล หรือ สเตลล่า นูดอลสกาย่า (Stella Nudolskaya)
Photo: https://schkola4kotovo.ru/en/olga-gromova-saharnyi-vse-horoshee-chto-bylo-pri-staline-v-strane/

แม่พยายามตอบทุกคำถามของเด็กหญิงด้วยใจที่เปิดกว้างเสมอ เช่นในครั้งหนึ่ง เมื่อลูกสาวเกิดอาการสงสัยในตัวผู้นำอย่างโจเซฟ สตาลิน(Joseph Stalin) ว่าในเมื่อทุกคนต่างก็บอกว่าสหายสตาลินเป็นคนยุติธรรมและชาญฉลาด แล้วเขาไม่รู้หรือว่ามีประชาชนมากมายเท่าไรที่ต้องอยู่ในค่ายกักกัน โดยที่หลายคนไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยซ้ำ 

แม่ตอบเธอว่า คงตอบอะไรเรื่องสตาลินไม่ได้ เพราะแม่ไม่เคยเจอเขา ไม่เคยคุยกับเขา แล้วแม่จะบอกได้อย่างไรว่าจริงๆ แล้วเขาฉลาดหรือเปล่า ยุติธรรมหรือไม่ การจะรู้ว่าคนคนนั้นเป็นคนยังไงต้องพูดคุยกันและมองเข้าไปในดวงตาเขาเท่านั้น 

แต่แม่พูดเองนี่คะว่า คนนั้นเป็นคนยังไงให้ดูที่การกระทำของเขา” เธอแย้ง 

แม่ชี้แจงกลับว่า คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับทุกกรณี “ถ้าหากสตาลินรู้เรื่องทุกอย่าง แต่ไม่สามารถหรือไม่อยากยับยั้งมัน ก็หมายความว่าเขาไม่ใช่คนยุติธรรมงั้นหรือ อาจจะเป็นเช่นนั้น ปัญหาคือเราคงไม่มีทางรู้ได้ในตอนนี้ 

ตอนนี้พวกเราเหลือเพียงทางเลือกเดียวคือ อย่าเชื่ออะไรโดยไม่ไตร่ตรอง ทั้งคำสวยหรู คำขวัญ ข้อกล่าวหา หรือคำสรรเสริญ แต่จงใช้สมองคิดวิเคราะห์และฟังเสียงหัวใจตัวเอง หัวใจไม่เคยโกหก 

คำสอนของแม่ราวกับกำลังบอกผู้อ่านไปในตัวเช่นกันว่า การฟังเสียงหัวใจนั้นต้องใช้สติปัญญาบวกกับความกล้าในการไตร่ตรองควบคู่ไปด้วย เพราะหากคิดน้อยไป หรือปล่อยให้ความกลัวเอาชนะเสียงข้างในจิตใจ การเลือกเชื่อในสิ่งที่ ‘เขา’ บอก และทำตามที่ ‘เขา’ สั่งนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่า… ก็เท่านั้นเอง

sugar child