©ulture

ในความรัก เราอาจเป็นคนหนึ่งที่เคยเสียน้ำตา เคยเป็นที่ปรึกษาก่อนจะพบว่าตกหลุมรักอีกฝ่ายหัวปักหัวปำ เคยพยายามมูฟออนไปไกลแต่หัวใจยังอยู่ที่เดิม…” 

คำโปรยบนปกหลังที่ทำให้ตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้ขึ้นมาเปิดอ่านด้วยความใคร่รู้และคาดหวังว่าเนื้อหาข้างในจะสามารถไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ได้ไม่มากก็น้อย 

รัก’ เป็นเรื่องน่าพิศวง แม้จะมีนักปราชญ์ นักคิด ทฤษฎีมากมายพยายามศึกษาทำความเข้าใจมาอย่างยาวนาน แต่ก็ไม่อาจเข้าใจความรักได้อย่างถ่องแท้ 

In Theories หรือ ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี คือหนังสือที่รวบรวมทฤษฎีความรักและความสัมพันธ์มาเล่าง่ายๆ ผ่านบทความ 16 เรื่องโดย กิตติพล สรัคคานนท์ เจ้าของงานเขียนเศร้าๆ เคล้าน้ำตาอย่าง ศิลปะของความผิดหวัง และ ผจญภัยตามใครเลือก 

 

In Theories คือหนังสือที่จะพาไปพยายามทำความเข้าใจ ‘ความรัก’ พร้อมๆ กับผู้เขียน ผ่านการศึกษาวรรณกรรม ตำรับตำรา แนวคิดทฤษฎีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของเหล่านักปรัชญา นักเขียน นักคิดในยุคสมัยต่างๆ 

ย้อนกลับไปหานิยามความโรแมนติกจากเรื่องราวในศตวรรษก่อนหน้า หาที่มาของการตกหลุมรักจากข้อถกเถียงทางปรัชญา ทำความเข้าใจว่าการเป็นที่ปรึกษาอันตรายต่อหัวใจแค่ไหน หรือเพราะอะไรเมื่อประสบกับความผิดหวังจากรัก เราถึงยังไม่ยอมปล่อยมือจากมัน รวมถึงเมื่อวันที่ความรักกลายเป็นความทรงจำฝังลึก  เหตุใดแม้เราพยายามมูฟออนเท่าไรก็ไม่ไปไหนสักที 

 

ความรักคืออะไร 

เพื่อที่จะหาคำตอบในข้อนี้ผู้เขียนได้พาเราย้อนกลับไปค้นหานิยามความรักตั้งแต่ยุคโบราณ สู่ยุคแห่งศาสนา ผ่านยุคสมัยใหม่กระทั่งปัจจุบัน ร้อยเรียงเรื่องราวความสัมพันธ์ทั้งสุขและเศร้าผ่านมุมมองนักคิด นักเขียน นักปรัชญาต่างยุคต่างสมัย พาผู้อ่านค่อยๆ ทำความเข้าใจนิยามของคำว่ารักมากขึ้นทีละนิด ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่ายังไม่มีนักคิดคนใด หรือคำอธิบายไหนที่ให้ความหมายของความรักได้อย่างสมบูรณ์ 

สำหรับเพลโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีกโบราณ มองว่าความรัก (eros) ประกอบขึ้นจาก ความพึงใจ ความกล้าหาญ และความรู้-เหตุผล เปรียบดั่งคุณูปการอันยิ่งใหญ่ เป็นสิ่งที่ทำให้คนขลาดเขลากลายเป็นผู้กล้า และทำให้สิ่งมีชีวิตที่ไม่เป็นอมตะกลายเป็นอมตะผ่านการสืบทอดเผ่าพันธุ์ 

ตรงกันข้ามกับนักปรัชญาจิตนิยมชาวเยอรมันอย่าง เกออร์ก เฮเกล (Georg Hegel) ที่เชื่อว่าความรักไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักความเข้าใจหรือเหตุผล แต่เป็นการประสานสิ่งที่ขัดแย้ง โดยยังคงพื้นที่ให้กับความแตกต่างของแต่ละคน รักแท้จะเกิดขึ้นได้เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างมีอำนาจเท่าเทียมกัน ส่วนความรักฉบับของเฮเกลไม่ใช่การสูญเสีย หรือการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้หรือผู้รับเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ของคนสองคน เพื่อเสาะหาความแตกต่างและผสานความขัดแย้งเข้าหากัน 

ขณะที่นักปรัชญาเลื่องชื่อชาวฝรั่งเศสอย่าง อาแล็ง บาดิยู (Alain Badiou) กลับชี้ให้เห็นว่าแก่นแท้ของความรักคือความเสี่ยง ผู้มีรักย่อมต้องพบกับความสูญเสียอย่างเลี่ยงไม่ได้ อาจเป็นการสูญเสียตัวตนของตัวเองเมื่อตกหลุมรัก หรือยอมสูญเสียสิ่งที่เรามีทุกอย่างเพื่ออีกคน 

นอกจากนี้ In Theories ยังจะพาผู้อ่านสำรวจมุมมองความรักผ่านการตั้งคำถาม การถกเถียงและการวิพากษ์ทฤษฎีของนักคิด นักเขียน นักปรัชญาอีกหลายๆ คน ผู้เขียนจะค่อยๆ พาเราดำดิ่งลงสู่ความสงสัยว่าแท้จริงแล้วความรักคืออะไรกันแน่ เมื่อมีทฤษฎีหนึ่งเกิดขึ้นมาไม่นานก็ต้องถูกวิพากษ์จากนักคิดอีกคน การเล่าเรื่องที่กระตุ้นต่อมความใคร่รู้ทำให้ต้องพลิกหน้ากระดาษไปเรื่อยๆ เพื่อหาคำตอบให้แก่คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างทาง 

หนังสือเล่มนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 16 บท เล่าเรื่องราวของความรักและความสัมพันธ์ผ่านทฤษฎีที่แตกต่าง เช่น ความบ้าที่จำเป็นต่อความรักในมุมมองของโสเครติส (Soctates) ความโดดเดี่ยวที่ทำให้เกิดรัก ในงานเขียนของ ออกตาบิโอ ปัซ (Octavio Paz) การเป็นที่ปรึกษาและภาพลวงตาของความรักในทัศนคติของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ความรักที่ประกอบสร้างเป็นตัวเรา โดยนักทฤษฎีหญิงอย่าง จูเลีย คริสเตวา (Julia Kristeva) ความรักกับกามารมณ์ภายใต้กรอบการอธิบายของ ฌอร์จส์ บาตายล์ (Georges Bataille) ความเจ็บปวดและหายนะจากความรักตามแนวคิดของ บารุค สปิโนซา (Baruch Spinoza) และทฤษฎีความรักจากนักคิดคนอื่นๆ ที่จะชวนให้เราสงสัยและไขคำตอบให้ในภายหลัง 

แม้จะนำเสนอความรู้เรื่องความรักออกมาในรูปแบบของคำอธิบายเชิงทฤษฎี แต่ผู้เขียนมีลีลาในการเล่าเรื่องที่ชวนให้ติดตาม ด้วยความสนใจในด้านวรรณกรรมเป็นทุนเดิม เขาจึงได้หยิบยกเอาความรักและความสัมพันธ์ของตัวละครจากวรรณกรรมชื่อดังหลายเรื่องมาขยายความให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น 

หนังสือเล่มนี้ทำให้เรามองเห็นนิยามความรักความสัมพันธ์ผ่านทฤษฎีหลายบทจากหลายนักคิด ซึ่งเป็นดังแว่นต่างมุม จากต่างบริบท ต่างสังคม ต่างช่วงเวลา เพื่อทำความเข้าใจว่าทฤษฎีความรักทั้งหลายเป็นเพียงกรอบอธิบายหนึ่งของแต่ละบุคคล ความรักที่เราเคยประสบอาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างจากทฤษฎีเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง ราวกับผู้เขียนกำลังเน้นย้ำให้เห็นว่าแท้จริงแล้วความรักไม่มีรูปแบบหรือทฤษฎีที่ตายตัว สำหรับบางคนความรักอาจเป็นเรื่องของเหตุผล ในขณะที่บางคนเหตุผลไม่จำเป็นกับความรักเลย 

สต็องดาล (Standhal) (Photo : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3d/Stendhal.jpg)

ความรักไม่มีสูตรสำเร็จ ต่อให้เก่งกาจด้านทฤษฎีก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่พบเจอกับความผิดหวัง เห็นได้จากกรณีของ  มารี-อองรี แบ็ล (Marie-Henri Beyleนักเขียนชาวฝรั่งเศสนามปากกา สต็องดาล (Stendhal) เจ้าของแนวคิดว่าด้วยการก่อรูปอุดมคติ ที่พยายามทำความเข้าใจความว่ารักก่อตัวขึ้นในใจเราได้อย่างไร แนวคิดของเขาอยู่ในงานเขียนชื่อ De L’Amour หรือ On Love ที่เขียนขึ้นหลังจากถูกสุภาพสตรีคนหนึ่งปฏิเสธ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าแม้แต่เจ้าของแนวคิดผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องความรักอย่างลึกซึ้งก็ไม่พ้นต้องประสบความผิดหวังในชีวิตรักเช่นกัน 

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทฤษฎีความรักถูกนำเสนอผ่านตำรามากมาย แม้แต่ในชีวิตประจำวันเราเองสามารถมองเห็นความรักได้จากผู้คนรอบตัว หรือในวงสนทนาของกลุ่มเพื่อนประเด็นความรักก็มักถูกยกขึ้นมาพูดอยู่เสมอ แม้กระทั่งความรักที่ถูกผลิตและถ่ายทอดผ่านสื่อ ทั้งละครโทรทัศน์ที่ใช้ความรักเป็นตัวดำเนินเรื่อง พอดแคสต์ที่พยายามอธิบายรักและความสัมพันธ์ รายการให้คำปรึกษาปัญหาหัวใจต่างๆ แม้จะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่การเรียนรู้และเข้าใจในความรักอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราตกหลุมรักใครสักคน ด้วยเหตุนี้ความรู้เกี่ยวกับความรักจึงมักถูกมองในเชิงปฏิบัติมากกว่าจะเป็นทฤษฎี เข้าทำนอง ‘สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ’  

ความรักไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมดาที่สามารถทำความเข้าใจได้จากการศึกษาเพียงตัวบททฤษฎี แต่เป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่จะส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้มีรัก บ่อยครั้งความรักมักก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา ซึ่งการจะแก้ปัญหาหัวใจอันสลับซับซ้อนนี้ได้ก็ย่อมมีวิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังข้อความตอนหนึ่งในหนังสือระบุไว้ว่า 

ในความรัก เราทั้งหลายต่างเป็นนักทฤษฎี เพราะสิ่งที่เรารู้เป็นเพียงแค่กรอบอธิบายหนึ่งของความรัก จริงอยู่ว่ามันอาจช่วยให้เราเข้าใจบางสิ่งบางอย่าง แต่ก็ไม่ใช่คำตอบของจักรวาล 

 

ต่อให้ศึกษาแนวคิดทฤษฎีมากมายเท่าไหร่ คงไม่มีวันเข้าใจหากไม่ได้ลองลิ้มรสรักด้วยตัวเอง แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางครั้ง เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทฤษฎี เพื่อปลอบประโลมจิตใจให้ก้าวผ่านความร้าวรานในวันที่บอบช้ำ เช่นเดียวกับสต็องดาล ที่พยายามใช้แนวคิดของตนไขปัญหาว่าเหตุใดเขาจึงต้องเผชิญกับความผิดหวังจากหญิงสาวผู้เป็นที่รัก