©ulture

เด็กหนุ่มกลุ่มหนึ่งกำลังควบควายของพวกเขาอย่างแข็งขัน โดยมีจุดหมายปลายทางคือเส้นชัย

พวกเขาเอาควายมาวิ่งแข่งกันทำไม

ถ้าเป็นม้าฉันก็พอจะเข้าใจ แต่ควายนี่สงสัย

สงสัยจริงๆ…

(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

เปรต ผี พุทธ จุดกำเนิดวิ่งควาย

การวิ่งควายเกิดขึ้นเมื่อไหร่? คำถามนี้พาฉันที่อยู่ใน พ.ศ.2562 ต้องย้อนกลับไปถึงตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาร้อยกว่าปี

ตำนานแรกเล่าว่าเกิดจาก ‘เปรตใหญ่’ ที่เป็นวิญญาณชั่วร้ายที่ชอบหลอกหลอนผู้คนให้หวาดกลัว โดยเปรตตนนี้ชอบดูควายวิ่งแข่งกันจึงได้ออกปากให้ชาวบ้านจัดแข่งควายให้ดูเป็นงานประจำปี หากปีใดไม่จัดเพื่อเซ่นไหว้ก็จะบันดาลให้เกิดอาเพศต่างๆ

ตำนานต่อมาเป็นความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ เล่ากันว่าถ้าควายของใครเจ็บป่วยเจ้าของควายควรนำควายของตนไปบนกับเทพารักษ์ และเมื่อหายเป็นปกติ จะต้องนำควายมาวิ่งแก้บน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาชาวบ้านจึงนำควายของตนมาวิ่งเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยเสียแต่เนิ่นๆ

ส่วนตำนานสุดท้าย เป็นความเชื่อในเชิงพุทธศาสนา ว่ากันว่าเกิดจากการที่ชาวบ้านมาชุมนุมกันที่วัดใหญ่อินทาราม จังหวัดชลบุรี โดยนำเครื่องกัณฑ์ใส่ควายเทียมเกวียนมาพักที่วัด เพื่อจะรอการติดกันเทศน์ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ ขณะที่รอ เด็กเลี้ยงควายต่างนำควายของตนไปอาบน้ำที่สระบริเวณวัด แล้วก็นึกอยากทดสอบสุขภาพความแข็งแรงของควาย จึงมีการประลองฝีเท้าควายเกิดขึ้น

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

วิ่งควายไม่ใช่แค่เรื่องเล่า

ทั้งสามตำนาน ‘วิ่งควาย’ ที่เล่ามา แม้ฉันจะไม่สามารถยืนยันได้ว่าตำนานใดจริงแท้ที่สุด แต่อย่างน้อยตำนานเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างชาวนาไทย ควายไทย และอาชีพเกษตรกรรมทำนาของไทย

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

ส่วนประเพณีวิ่งควายเริ่มขึ้นตอนไหน ก็ยังไม่มีหลักฐานปรากฏ จะมีก็เพียงหลักฐานที่ระบุว่า มีการเล่นวิ่งวัววิ่งควายกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ชัชชัย โกมารทัต, 2527)

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นราวรัชกาลที่ 2 พบหลักฐานการเล่นวิ่งควายในวรรณคดีเรื่อง พระอภัยมณี ตอนงานสมโภชอภิเษกศรีสุวรรณกับนางเกษรา มีความตอนหนึ่งกล่าวถึงการเล่นวิ่งควายว่า

“…พอกลองหยุดจุดดอกไม้ไฟสว่าง แสงกระจ่างแจ่มเหมือนดังเดือนหงาย ดอกไม้กลคนชิงกันวิ่งควาย พวกผู้ชายสรวลเสเสียงเฮฮา…” (สุนทรภู่, 2514)

จากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่าการวิ่งควายกลายเป็นที่นิยมเล่นในเชิงการพนัน ถึงขนาดทางราชการต้องกำหนดให้เสียภาษีอากรบ่อนเบี้ย (กรมศิลปากร, 2507)

จนกระทั่ง พ.ศ.2555 จากประเพณีพื้นบ้าน วิ่งควายก็ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญา ประเภทกีฬาภูมิปัญญาไทย

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

ปัจจุบันของวิ่งควาย

ภาพประเพณีวิ่งควายที่ฉันเห็นเกิดขึ้นในพ.ศ.2561 ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 147

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)
วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)
วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

โดยทั่วไปชาวบ้านจะจัดประเพณีวิ่งควายในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ซึ่งเป็น 1 วันก่อนออกพรรษา  แต่ทั้งนี้กำหนดการอาจช้าเร็วแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่

เช่น เขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 อำเภอบ้านบึง จัดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตลาดหนองเขิน ตำบลหนองชาก อำเภอบ้านบึง จัดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และวัดกลางดอน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดในการทอดกฐินประจำปีของวัด

ส่วนการแข่งวิ่งควายนั้นก็ออกจะจริงจังทีเดียว เพราะมีการแบ่งประเภทตามรุ่นเหมือนนักมวยซึ่งแบ่งตามอายุของควายที่ดูจากลักษณะฟันน้ำนมและฟันแท้ของควาย โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  1. รุ่นซุปเปอร์จิ๋ว
  2. รุ่นจิ๋วพิเศษ
  3. รุ่นจิ๋วเล็ก
  4. รุ่นจิ๋วใหญ่
  5. รุ่นใหญ่

โดยก่อนลงแข่งขัน เจ้าของควายจะตกแต่งควายอย่างงดงามด้วยผ้าแพรพรรณ จากนั้นเมื่อเข้าสู่สนาม ก็จะปลดเครื่องประดับทั้งหมดให้เหลือเพียงตัวกับหัวใจ เพื่อให้พร้อมประชันความเร็ว และที่หลังเส้นเริ่มผู้เล่นแต่ละคนจะขึ้นขี่หลังควายของตน ทันทีที่ได้ยินสัญญาณพวกเขาก็จะควบควายให้วิ่งรุดไปข้างหน้าให้เร็วที่สุด โดยมีปลายทางคือเส้นชัย

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)
วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)
วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

ปัจจุบันถึงแม้เกษตรกรไทยจะใช้เครื่องจักรกลและ ‘ควายเหล็ก’ ทุ่นแรงในการทำนาแต่พวกเขาเหล่านั้นยังคงอนุรักษ์ประเพณีวิ่งควายนี้ไว้

อย่างน้อยที่สุดเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของชาวชลบุรีและประเทศไทย

หรือที่มากกว่านั้น คือการระลึกว่า ‘คน’ กับ ‘ควาย’ เราคือเพื่อนกัน.

วิ่งควาย ควาย
(Photo: Jewel SAMAD / AFP)

 

อ้างอิง:

  • Wikipedia. วิ่งควาย. https://th.wikipedia.org/wiki/วิ่งควาย
  • หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี. ประเพณีวิ่งควาย จังหวัดชลบุรี. https://bit.ly/2LLpw8H
  • บ้านจอมยุทธ. ประเพณีวิ่งควาย. https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/traditional_buffalo_race/index.html
  • มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. วิ่งควาย. http://ich.culture.go.th/index.php/th/ich/folk-sports-games-and-martial-arts/261-sport/411–m-s
  • ประเพณีไทยดอทคอม. ประเพณีวิ่งควาย. http://www.prapayneethai.com/ประเพณีวิ่งควาย