©ulture

แม้ไม่มีใครเคยไปเยือนโลกหลังความตายมาก่อน แต่ลึกๆ แล้วคนเราก็เชื่อว่าที่นั่นมีอยู่จริง

ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อนี้มักจะเป็นตัวกำหนดการกระทำในตอนที่มีชีวิตอยู่ และบ่อยครั้งที่เราก็หวังว่าการทำสิ่งดีๆ จะพาเราไปสู่ ‘ที่ชอบ ที่ชอบ’ ได้สักวัน

ถ้าที่ชอบมีจริง แล้วมันจะเป็นแบบไหนกันนะ ?

common the good place
(Photo : www.nbc.com)

“What the fork!”

เป็นคำที่ เอเลนอร์ ตัวละครใน The Good Place เผลออุทานออกมาเมื่อตระหนักถึงความจริง 3 ข้อที่ว่า 

1.เธอตายไปแล้ว 

2.เธออยู่บนสวรรค์ 

และ 3.มันต้องมีอะไรผิดพลาด 

เพราะว่าตอนมีชีวิตอยู่ เธอได้ชื่อว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวที่สุดคนหนึ่งที่โลกเคยมีมา

common the good place
(Photo : Justin Lubin/NBC)

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก The Good Place นี่คือซีรี่ส์เกี่ยวกับโลกหลังความตายของมนุษย์ 4 คน ได้แก่ เอเลนอร์ หญิงสาวจากแอริโซน่า ที่เห็นแก่ตัวและขวางโลกมาทั้งชีวิต จีดี ศาสตราจารย์ด้านจริยธรรม ที่มักจะตัดสินใจอะไรยาก เพราะทุกการกระทำล้วนมีเหตุผลดีๆ มารองรับ ทาฮานี ไฮโซสาวใจบุญ ผู้หลงรักชีวิตหรูหราและการเป็นจุดสนใจของทุกคน และ เจสัน (เจียนหยู) ที่แรกๆ เป็นนักบวชชาวพุทธแต่ตอนหลังเผยตัวว่าเป็นหนุ่มข้างถนนผู้รักการเต้นเป็นชีวิตจิตใจ 

แม้ว่าแต่ละคนจะมีชีวิตแตกต่างกันสุดขั้ว แต่ทุกคนก็มาลงเอยอยู่ในดินแดนชื่อ ‘ที่ชอบ’ เช่นกัน

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

 

The Good Place โลกหลังความตายและนิยามของ ‘ความดี’

มนุษย์ทั้ง 4 และเหล่าคนดีอีกราวๆ 300 คน ถูกคัดเลือกจากผู้พิพากษาในโลกคู่ขนานให้มาอยู่ในดินแดนสรวงสวรรค์ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อ ไมเคิล ที่ควงคู่มากับ เจเน็ต เลขา สาวปัญญาประญาประดิษฐ์ผู้รู้ทุกเรื่องในจักรวาล

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

ที่นี่ทุกคนจะได้อาศัยอยู่ในบ้านแบบที่เคยฝันไว้ตอนเป็นมนุษย์ และใช้ชีวิตร่วมกับคู่แท้ (ที่อาจไม่ได้พบกันตอนอยู่บนโลก) อย่างมีความสุข เป็นดินแดนที่แม้จะพยายามพูดคำหยาบแค่ไหนก็จะกลายเป็นภาษาดอกไม้ และดูเหมือนว่าทุกคนจะมีความสุขตลอดไป

แต่การจะได้มาอยู่ในที่ชอบนั้นต้องมีคะแนนความดีถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะมีคณะกรรมการฝ่ายบัญชีของโลกหลังความตายคอยตัดสินและให้คะแนนทุกการกระทำของมนุษย์ แน่นอนว่าถ้าทำชั่วก็จะถูกส่งไปอยู่ใน ‘ที่แย่’ ที่เรียกง่ายๆ ว่านรก และจะโดนทรมาอย่างโหดร้าย

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า การกระทำไหนที่เรียกว่า ‘ดี’

common the good place
(Photo : Ron Batzdorff)

เพราะเอเลนอร์แทบจะเป็นคนที่ไม่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘คนดี’ ทำให้เธอสงสัยว่ากำลังมีบางอย่างผิดพลาด เธอจึงพยายามปิดบังไมเคิลเพื่อให้ได้อาศัยอยู่ที่นี่ต่อไป สิ่งที่เอเลนอร์ทำคือเรียนรู้ ‘วิธีการเป็นคนดี’ จากจีดี อาจารย์สอนปรัชญาศีลธรรมที่เป็นคู่แท้ของเธอ จนกระทั่งจับใจความได้ว่า นิยามของความดีที่เหล่านักปรัชญาชาวตะวันตกพูดถึงแบ่งได้ 3 แบบหลักๆ ได้แก่

สัมบูรณ์นิยม (Absolutism)– ความดี-ชั่วเป็นสิ่งตายตัวที่เรารู้ได้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่เกิด มีแก่นแท้แน่นอน ไม่ว่าใครก็เข้าใจคำว่าความดี เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝนและเรียนรู้เพื่อให้แสดงการกระทำดีๆ ออกมาได้ เอเลนอร์ก็เช่นเดียวกัน 

สัมพัทธ์นิยม (Relativism) – ความดีนั้นผันแปรไปตามกฎเกณฑ์หรือวัฒนธรรมของแต่ละสังคม 

ประโยชน์นิยม (Utilitarianism) – สิ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อสังคมและคนหมู่มาก แม้ว่าการตัดสินใจนั้นจะทำให้เกิดสิ่งร้ายๆ แต่หากมีผลดีมากกว่าผลเสีย มีคนได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ นั่นหมายความว่าเป็นความดี

แต่ถึงแม้จะเรียนรู้ว่าความดีคืออะไร ปัญหาของเอเลนอร์และเพื่อนมนุษย์อีก 3 คนคือ ไม่สามารถเป็นคนดีได้ในแบบที่หนังสือบอก เพราะมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น แม้กระทั่งจีดีที่เข้าใจนิยามของสิ่งที่ดีอย่างถ่องแท้ ยังต้องพ่ายแพ้ให้กับความซับซ้อนของตัวเอง

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

มีปัญหาทางจริยธรรสุดคลาสสิกอยู่ข้อหนึ่ง ที่ชวนให้เรามาให้เราหาเหตุผลว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูก ปัญหานั้นมีใจความว่า

บนรางรถไฟสองราง รางแรกมีคนยืนอยู่ 5 คน อีกรางมีคนยืนอยู่ 1 คน ถ้ารถไฟขบวนหนึ่งกำลังวิ่งมาและไม่สามารถเบรกได้ เราในฐานะคนขับรถไฟที่สามารถสับรางให้ไปทางใดทางหนึ่งได้

เราจะเลือกแบบไหน?

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

เมื่อเอเลนอร์ จีดี ทาฮานี และเจสันจะได้เรียนรู้เรื่องความผิด-ถูก มาอย่างแน่นปึ้กแล้ว ไมเคิลลองท้าให้จีดีเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ข้างต้น โดยจำลองภาพเสมือนนั้น แล้วให้จีดีเป็นคนขับรถไฟ โดยกำหนดให้ 5 คนที่ยืนบนรางรถไฟเส้นหนึ่งเป็นช่างซ่อมถนนนิรนาม และอีกรางหนึ่งเป็นเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขา

แน่นอนว่าจีดีสติแตกและไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงทำให้เขาตอบไมเคิลไม่ได้ว่าการกระทำไหนจะดีกว่ากัน 

คงจะจริงที่การนิยามความดีนั้นเป็นเรื่องยากและซับซ้อนกว่าที่คิด เพราะมนุษย์เรามีเรื่องของความรัก ความรู้สึก และอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่มนุษย์จะพัฒนาเป็นคนที่ดีและเข้าใจความดีอย่างถ่องแท้และสมบูรณ์แบบนั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

 

หรือว่าการเป็นคนดีมันยากเกินไป

นอกจากอคติส่วนตัวที่ทำให้มนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกอย่างเราทำความดีได้ยากแล้ว โลกที่พัฒนาขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อนก็ยังทำให้เราเป็นคนดีได้ยากขึ้น แม้ว่าการกระทำเหล่านั้นถ้ามองผิวเผินแล้วดูเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม 

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

ในตอนแรกไมเคิลคิดว่าระบบการวัดความดีของจักรวาลกำลังมีปัญหา แต่นักบัญชีบนสรวงสวรรค์ได้เผยให้เห็นความจริงเบื้องหลังความดีอันน่าสะพรึงกลัว และไขข้อสงสัยว่าเหตุใดการเป็นคนดีในโลกมนุษย์ปัจจุบันถึงได้ยากเย็นเสียเหลือเกิน

ยกตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งที่เอาดอกกุหลาบไปให้คุณยายด้วยความหวังดีอย่างสุดซึ้ง แต่กลับถูกหักคะแนนความดีไปมาก เพราะกุหลาบเหล่านั้นมาจากสวนที่เอารัดเอาเปรียบแรงงานผู้ปลูก

แม้แต่การกินกล้วยก็ยังเป็นบาป เพราะอุตสาหกรรมการปลูกกล้วยนั้น ทำให้แรงงานต้องเจอกับสารเคมีอันตรายทุกวัน จนพวกเขาต้องจ่ายสุขภาพดีๆ แลกกับเงินให้พอยังชีพ และเจ็บป่วยอย่างสาหัสในบั้นปลายชีวิต

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

กลับมายังโลกบุบๆ เบี้ยวๆ

จริยศาสตร์ถูกนำไปประยุกต์กับหลายสาขาวิชา เช่น กฎหมาย การแพทย์ การเมือง จิตวิทยา ฯลฯ ทำให้บรรทัดฐานของความถูกต้องและดีงามในโลกใบนี้แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ มากกว่าเดิม 

common the good place
(Photo : Colleen Hayes/NBC)

แม้แต่การที่เอเลนอร์เป็นคนที่เห็นแก่ตัวที่สุด ยังมีคำอธิบายทางจริยศาสตร์ว่าการกระทำของเธอนั้นเป็นผลมาจากภาวะทางจิตวิทยา (Phychological Issues) ที่เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่รักตัวเอง การทำอะไรที่ให้ตัวเองได้ผลประโยชน์นั้นไม่ใช่เรื่องผิด 

common the good place
(Photo : Vivian Zink)

เห็นได้ว่าซีรี่ส์เรื่องนี้ได้พาคนดูไปท่องเที่ยวในที่ชอบ ที่แย่ ที่กลางๆ เพื่อหาความหมายของ ‘ความดี’ จากการกระทำของพวกมนุษย์สีเทาๆ อย่างพวกเรา ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า ‘ความดี’ แต่ละแบบมีจุดขัดแย้งอยู่มากมายเกินกว่าจะตัดสินเด็ดขาดได้

ท้ายที่สุดแล้ว ซีรี่ส์เรื่องนี้ก็ไม่ได้สรุปว่าแท้จริงแล้วเราควรใช้ชีวิตแบบไหนให้เป็น ‘คนดี’ อย่างที่ดินแดนแห่งที่ชอบต้องการ คล้ายกับจะบอกเป็นนัยๆ ว่า ปรัชญา แนวคิด จริยศาสตร์ และความหมายของความดีเหล่านั้นยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของคำว่า ‘ดี’ แต่กลับเป็นหนทางที่นำไปสู่คำตอบที่แท้จริงของแต่ละคน

ที่ถึงที่สุดแล้ว ‘ที่ชอบ’ ของเราอาจจะไม่เหมือนกันก็เป็นได้ 

อ้างอิง 

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สรรเสริญ อินทรัตน์.จริยศาสตร์.มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต,2552.