ชื่อเรียกขานถนนเจริญกรุงในภาษาอังกฤษ คือ New Road ตามความหมายของการเป็นถนนตัดใหม่สายแรกของเมืองไทย
สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าชื่อกันของกงศุลชาวต่างชาติในสมัยนั้น ที่ต้องการให้บางกอกมีถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนตัดใหม่จากถนนสนามไชยถึงดาวคะนอง ความยาว 8,575 เมตรขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2405 และแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2407
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ถนนเจริญกรุงก็กลายเป็นแหล่งรวมความเจริญแห่งเมืองบางกอกต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยปี
โดยเฉพาะช่วง 70 ปีที่แล้ว เมื่อ เตียงและสัมฤทธิ์ สองพ่อลูกแห่งตระกูลจิราธิวัฒน์ เจ้าของร้านชำเข่งเซ้งหลีในตึกแถวทรงสามเหลี่ยมย่านฝั่งธน ได้จดทะเบียนบริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง และย้ายมาเปิดกิจการในห้องแถวเลขที่ 1266 ปากซอยเจริญกรุง 38 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2493 โดยเปิดเป็นร้านจำหน่ายหนังสือนำเข้าและนิตยสารเก่าจากอเมริกา และเรียกขานร้านค้าแห่งนี้ว่า ‘เซ็นทรัล’ จุดเริ่มต้นของแหล่งรวมความทันสมัยที่ช่วยเติมเต็มความศิวิไลซ์บน New Road ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
เพราะนอกจากจะขายสิ่งพิมพ์นำสมัยหลากหลายรูปแบบแล้ว เซ็นทรัลยังนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศมาจำหน่าย จึงเป็นการเสริมทัพความโก้หร่าน (หรูหรา) ของย่านเจริญกรุง ที่มีทั้งแจ๊สบาร์ติดแอร์แห่งเดียวในยุคนั้นอย่าง Chez Eve Club และมีร้านอาหารชื่อดังหลายแห่งรวมพลังกันดึงดูดใจ ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมารวมตัวสังสรรค์ในย่านนี้อย่างคึกคัก
บรรยากาศของห้างเซ็นทรัลเมื่อ 70 ปีที่แล้ว มีลักษณะเป็น Shop House ชั้นบนเป็นที่นอน ชั้นล่างเป็นร้านค้าขายของเบ็ดเตล็ด ที่มีชื่อเรียกในสมัยต่อมาว่า ดีพาร์ทเมนต์ สโตร์
เซ็นทรัล ดีพาร์ทเมนต์สโตร์ ทั้งสาขาวังบูรพา ลาดพร้าว สีลม ชิดลม และบางนาเองจึงมีจุดกำเนิดของวัฒนธรรมการขายของจากช้อปเฮ้าส์ดั้งเดิมหลังนี้ ที่ถูกปลุกให้กลับมามีลมหายใจอีกครั้งใน พ.ศ. 2563 ภายใต้ชื่อ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ กับหน้าที่และหน้าตาที่แตกต่างไปจากเดิม
เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ยังคงตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม แต่ถูกจับแต่งตัวใหม่ ผ่านการเสริมสง่าราศีให้ครบประโยชน์ใช้สอยมากยิ่งขึ้น ด้วยการต่อเติมตัวตึกจาก 2 ชั้น เป็น 5 ชั้น โดยนำเอกลักษณ์ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม อย่างอิฐเทอร์ราคอตต้าสีน้ำตาลแดง มาใช้ในการตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน จึงเกิดเป็นภาพจำที่ทำให้คนที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตลอดช่วง 40 ปีมานี้ เห็นปุ๊บรู้ปั๊บว่า นี่คือห้างเซ็นทรัลที่พวกเขาคุ้นเคย
ในความคุ้นเคยเบื้องหลังบานประตูคละเคล้าไปด้วยกลิ่นอายใหม่-เก่าปะปนกัน กรุ่นด้วยกลิ่นหอมของกาแฟจากเคาท์เตอร์บาร์ของ SIWILAI Cafe เสริมบรรยากาศ หรือเหมาะสำหรับใครที่อยากละเลียดบรรยากาศบนท้องถนนเจริญกรุงผ่าน Window Shopping ไปพลาง
พื้นที่ส่วนที่เหลือเป็นการจำลองบรรยากาศของร้านหนังสือในยุค 70 ปีที่แล้วมาจัดแสดงบนชั้นหนังสือโดยรอบ แบ่งตามหมวดหมู่ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ในยุค 1950 ได้อย่างครบถ้วน หากตั้งใจพิจารณาหนังสือแต่ละเล่มแบบไม่ปล่อยผ่าน
หนังสือและนิตยสารแต่ละเล่มที่ข้ามเวลามาพบกันในยุคนี้ เกิดจากการเลือกเฟ้นและเสาะแสวงหาโดยหนึ่งในผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสิ่งพิมพ์ตัวจริงอย่าง เชน สุวิกะปกรณ์กุล เจ้าของสำนักพิมพ์ Serindia Publications และแกลเลอรี่ชื่อเดียวกัน ทั้งยังเป็นเจ้าของร้านหนังสือ Hardcover: The Art Bookshop และผู้คัดเลือกหนังสือมาวางขายในอาณาจักร Open House บนชั้น 6 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่
“แม้จุดเริ่มต้นของห้างเซ็นทรัลจะมาจากการเป็นร้านขายหนังสือชั้นนำในยุคนั้น แต่เราก็ไม่อยากทำให้ที่นี่เป็นร้านหนังสืออย่างเดียว แต่ตั้งใจให้ภาพรวมดูมีความเป็นดีพาร์ทเมนต์สโตร์ที่เติบโตมาจากธุรกิจขายหนังสือ” เชนเล่าถึงการกำหนดทิศทางของเซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ซึ่งเกิดจากการพูดคุยร่วมกันกับ เต้ – บรม พิจารณ์จิตร ทายาทรุ่นสี่ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้กุมบังเหียนในการชุบชีวิตสินทรัพย์แรกของตระกูลให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง ในรูปแบบที่เข้ากับบรรยากาศของเจริญกรุง พ.ศ. นี้ ที่กำลังเติบโตเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative District)
ดังนั้น วิธีคิดของ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ จึงต้องไม่ใช่แค่การเป็นห้างสรรพสินค้า แต่ต้องใส่ไอเดียลงไปมากกว่านั้น
ที่นี่จึงมีทั้งร้านหนังสือ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด คาเฟ่ บาร์ ร้านอาหาร และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ
เฉพาะตัวชั้น 1-3 ก็บอกเล่าเรื่องราวของเซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ได้ครบถ้วนในใจความ เพราะนอกจากนิตยสารและหนังสือหัวนอกเก่าแก่ ที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ในตัวเป็นอย่างดี ยังมีข้าวของดั้งเดิมของห้างเซ็นทรัลในยุคนั้น รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการจัดแสดงในตู้โชว์ เรียกความคิดถึงให้คนร่วมสมัย และความตื่นตาตื่นใจแก่เยาวชนแห่งปัจจุบัน
“ยุคนั้นทหารอเมริกาเข้ามาในเมืองไทยเยอะ แม็กกาซีนเหล่านี้จึงหลั่งไหลเข้ามามากมาย และด้วยความที่ออกทุกอาทิตย์ พออาทิตย์ถัดไปก็เก่าแล้วจึงซื้อได้ในราคาถูก คนไทยที่เพิ่งจะเคยเห็นนิตยสารเหล่านี้ก็ตื่นตาตื่นใจกับการได้ดูหนังสือที่มีภาพถ่ายสวยๆ และมีหลายคนที่ต่อมากลายเป็นช่างภาพชื่อดัง เช่น จิตต์ จงมั่นคง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่ายศิลปะ) พ.ศ. 2538) ที่ต่างก็มาซื้อหนังสือที่ห้างเซ็นทรัลกันทั้งนั้น” เชนหยุดยืนตรงแผงนิตยสาร Life และ Time หลายสิบเล่มที่ข้ามเวลามาจากยุค 50 พร้อมกับเล่าถึงบรรยากาศในยุคนั้นที่เขาค้นคว้าเจอและเลือกนิตยสารเก่าแก่ระดับโลกเหล่านี้มาจัดแสดงและจำหน่ายในบางเล่ม
“ในส่วนของความเป็นร้านค้าปลีกของเซ็นทรัล เราก็ต้องเล่าว่ายุคนั้นขายสินค้าอะไรบ้าง ผ่านทางแคตตาล็อกสินค้าชื่อดังในยุคนั้น เช่น Montgomery Ward ที่รวบรวมเอกลักษณ์แห่งยุค 50 เอาไว้ครบถ้วน ทำให้เราได้เห็นแฟชั่นสมัยนั้นว่าสาวๆ แต่งตัวเรียบร้อย สวมเดรสแขนยาว กระโปรงยาว ก่อนจะเข้าสู่ยุคบุปผาชนในทศวรรษถัดมา
“ยุค 60 ผู้คนเริ่มมีอิสระทั้งทางความคิด การใช้ชีวิต และการแต่งกาย วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเกิดค่านิยมขโมยของในห้าง จนแม็กกาซีนฝรั่งหยิบเอาประเด็นนี้มาทำสกู๊ปประจำเล่ม เราก็หามาให้ดู จะได้เข้าถึงบรรยากาศในยุคนั้น” เชนเล่าอย่างออกรสถึงประวัติศาสตร์โลกที่อัดแน่นในหนังสือแต่ละเล่ม
“แฟชั่นผู้ชายก็หาดูได้จากนิตยสาร GQ, Esquire มีแม้กระทั่งไดอารี่ของแมริลีน มอนโร ที่บ่งบอกถึงค่านิยมหลายๆ อย่างในยุค 60-70 ปีที่แล้วได้เป็นอย่างดี หนังสือบางเล่มอย่าง American Fabric ก็ละเอียดมากถึงขั้นมีเนื้อผ้าจริงๆ แทรกอยู่ในเล่ม เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค นิตยสารของไทยอย่างขวัญเรือน หรือสยามนิกร เราก็หามาให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก”
อย่างที่บอกว่าบางเล่มสามารถซื้อหากลับไปได้ แต่บางเล่มที่ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญจนเหมาะแก่การเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้มากกว่า ก็ไม่สามารถจำหน่ายได้ แต่ผู้ที่สนใจสามารถขอเปิดอ่านได้ เพียงเป็นสมาชิกของ The Kolophon (เดอะ โคโลฟอน) ห้องสมุดและศูนย์บริการค้นคว้าข้อมูล ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของที่นี่ โดยอัตราสมาชิกเพียง 1,500 บาทต่อปี หรือใช้บริการรายวัน วันละ 100 บาท ก็เป็นตัวเลือกที่สะดวกอีกทาง
“นอกจากจะเป็นห้องสมุด ที่มีหนังสือเกี่ยวกับแวดวงธุรกิจค้าปลีกให้ค้นคว้าหลากหลายแล้ว เรายังมีบริการทำรีเสิร์ชให้ด้วย อยากรู้อะไรบอก เดี๋ยวหาข้อมูลให้” เชนเล่าด้วยรอยยิ้มสนุก “เช่น อยากจะเปิดร้านอาหารด้วยธีมแบบนี้ อยากรู้เรื่องนี้เป็นพิเศษ เราก็จะหาข้อมูลให้ บริการช่วยค้นคว้ามีตั้งแต่การทำรายงานระดับ 2-3 หน้า ไปจนถึงระดับคอนซัลท์ ตอนนี้ก็มีคนมาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ เพราะปกติเราทำสำนักพิมพ์อยู่แล้ว งานวิชาการและการค้นคว้าจึงเป็นงานที่คุ้นเคย”
พิสูจน์ผลงานการค้นคว้าของเชนได้แบบทันใจเพียงเดินขึ้นบันไดไปบนชั้น 3 สู่พื้นที่ของเซ็นทรัล สเปซ (Central Space) ที่เขารับหน้าที่เรียบเรียงและเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกลุ่มเซ็นทรัลในรูปแบบนิทรรศการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในยุคก่อตั้ง และการเติบโตของห้างเซ็นทรัลที่มีผลต่อไลฟ์สไตล์ของชาวกรุงจากย่านสู่ย่านที่ยังคงยืนหยัดเป็นห้างสรรพสินค้าชั้นนำจนถึงปัจจุบัน
กลิ่นอายของห้างเซ็นทรัลที่ดำเนินการยาวนานมากว่า 70 ปี ไม่เพียงถูกบอกเล่าผ่านตัวหนังสือ แต่รายละเอียดของสินค้าที่ทางห้างคัดสรรมาจำหน่าย ยังบ่งบอกถึงความเป็นตัวจริงในธุรกิจค้าปลีกที่จุดประกายสีสันของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ให้ผู้คนในแต่ละยุคสมัยได้มีหูตาที่กว้างไกลยิ่งขึ้น
เพราะในบรรดาสรรพสินค้าที่หาซื้อได้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นสเวตเตอร์ขนสัตว์ซัมเมอร์แลนด์ เสื้อเชิ้ตแมนฮัตตัน เปตติโคท เนคไท โบว์ไท เครื่องสำอางจากฝรั่งเศส ของเล่นจากอังกฤษ บัตร ส.ค.ส. ของอเมริกัน และสารพันสินค้าสำหรับฤดูหนาว อาจไม่จำเป็นสำหรับชาวเมืองร้อนอย่างคนไทยแม้แต่น้อย
หากห้างสรรพสินค้าก็ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงโลกตะวันตกกับตะวันออกเข้าด้วยกัน การได้หยิบจับและเห็นข้าวของเครื่องใช้นำสมัยด้วยสองมือและสองตา อาจจะเป็นมากกว่าการจับจ่ายใช้สอย แต่เป็นการเติมความรู้ขยายทัศนคติและวิสัยทัศน์ให้กว้างไกลขึ้นกว่าเดิม
และแม้กระทั่งในหลายทศวรรษถัดมา ห้างสรรพสินค้าก็ยังทำหน้าที่ราวกับไทม์แมชีน ที่เชื่อมโยงยุคสมัยเก่าให้เข้ากับ พ.ศ. ปัจจุบัน ได้อย่างแนบเนียน
เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์ ปากซอยเจริญกรุง 38 บางรัก กรุงเทพฯ facebook.com/central.theoriginalstore
เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น.