พูดถึง ‘ชามตราไก่’ คงไม่มีใครไม่รู้จัก
แต่จะมีใครรู้บ้างว่า โรงงานเซรามิคแห่งแรกที่ผลิตชามตราไก่ในประเทศไทย อยู่จังหวัดลำปาง มีเจ้าของกิจการเป็นคนจีนอพยพชื่อ นายอี้ (ซิมหยู) แซ่ฉิน
ชามตราไก่ของนายซิมหยูมีจุดเด่นที่วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของจีน และกลายเป็นที่แพร่หลายในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังมีนโยบายห้ามนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาขาย
แต่เมื่อรัฐบาลหมดอำนาจ จานชามจากต่างประเทศเริ่มเข้าสู่ตลาด บวกกับการขายตัดราคาของผู้ผลิตหลายราย ชามตราไก่ที่เคยแพร่หลาย จึงค่อยๆ สูญหายไป
แล้วชามตราไก่ที่เราเห็นทุกวันนี้มาจากไหน?
พนาสิน ธนบดีสกุล ทายาทรุ่นที่สอง โรงงานธนบดีสกุล ที่ก่อตั้งโดยนายซิมหยู เมื่อ พ.ศ.2508 ผู้ฟื้นชามตราไก่กลับมาอีกครั้ง เล่าในงาน ทายาทรุ่นสอง Good Family Business Conference ที่จัดโดย The Cloud ว่า วันหนึ่งเขาพบชามตราไก่ใบเก่าที่ซุกตัวอยู่ลึกสุดในตู้กับข้าว
“เฮ้ย มันคลาสสิก มันเท่ดีว่ะ” ในสายตาพนาสินที่เรียนจบด้านศิลปะและเป็นนักออกแบบสัมผัสได้ถึงความงามของสีสันและลวดลาย เขาจึงหันไปถามพ่อ-นายซิมหยู ว่าคืออะไร เพราะเขาเกิดไม่ทันได้ใช้
นายซิมหยูก็เล่าถึงที่มาที่ไป พนาสินจึงได้รู้ว่า พ่อที่มาจากแผ่นดินใหญ่คือผู้ผลิตชามตราไก่คนแรกในลำปาง
ตอนนั้นโรงงานภายใต้การดูแลของพนาสินผลิตแต่เซรามิคของตกแต่งบ้าน เน้นส่งออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนชามตราไก่ก็เลิกผลิตไปนานแล้ว แต่พอเล็งเห็นว่าชามใบนี้มีเรื่องราว เขาจึงทำชามตราไก่รุ่นโบราณที่เหมือนเดิมทุกประการขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปตั้งโชว์ในบูทงานแสดงสินค้า เพื่อเป็นกิมมิคให้เห็นว่า โรงงานนี้มีความเป็นมายาวนาน
“ปรากฏว่า ปีนั้นสินค้าขายดิบขายดี ไม่ใช่แจกัน ของตกแต่งบ้านผมนะครับ แต่เป็นชามตราไก่ ขายดีจนผลิตไม่ทัน”
ปีนั้นเป็น พ.ศ.2540 ซึ่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โรงงานกำลังย่ำแย่ ชามตราไก่ได้เข้ามากู้วิกฤตและขยายโอกาสใหม่ให้ธุรกิจได้ฟื้นกลับมา
“ก็เอ๊ะ เกิดอะไรขึ้นกับสินค้าโบราณ”
พนาสินสงสัย ทำไมจู่ๆ ชามตราไก่ถึงขายดี ต่อมาเขาพบคำตอบว่า ยุคนั้นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ (เกิดระหว่าง พ.ศ.2489-2507) เคยใช้ชีวิตกับชามตราไก่มาก่อน พอวันนี้เติบโตขึ้นเป็นเจ้าสัว ชามตราไก่จึงเป็นเสมือนวัตถุแห่งความทรงจำ ที่ทำให้คิดถึงความหลัง
“สิ่งที่เราไม่เคยให้คุณค่ากับมัน แท้จริงมันคือกุญแจขุมทรัพย์ที่พ่อฝากเอาไว้ แต่กว่าจะค้นพบมันได้ คุณต้องผ่านกุญแจสองร้อยด่านของคุณพ่อมาก่อน”
พนาสินบอกว่า คุณพ่อเป็นคนพูดน้อย แต่สอนเยอะ และลงมือทำให้เห็น พอมองย้อนความสำเร็จของโรงงานและแบรนด์ ‘ธนบดี’ (Dhanabadee) ในวันนี้ ที่เป็นแบรนด์เซรามิกของแต่งบ้านจากลำปาง ที่ส่งออกไปยังกว่า 70 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะยุโรป อเมริกา และจีน รวมถึงเป็นผู้เบิกทางให้ชามตราไก่กลับมาโด่งดังอีกครั้ง พนาสินมักจะพูดถึงคำที่พ่อสอนเสมอ
เพราะนอกจากชามตราไก่ คำสอนเหล่านั้นคือขุมทรัพย์สำคัญที่พ่อทิ้งไว้ให้กับเขา
อยากได้ ต้องทำเอง
พนาสินเล่าว่า สิ่งที่ทรมานที่สุดตอนเป็นเด็กคือ การอดไปเที่ยวเล่น เพราะถูกกึ่งบังคับให้ช่วยงานที่บ้าน เนื่องจากพ่อจะสอนว่า ถ้าอยากได้อะไร นอกจากปัจจัยสี่ ต้องหาเอง
“นั่นหมายความว่า เราต้องช่วยงานที่บ้าน ปั้นถ้วยขนม งานเล็กๆ น้อยๆ ถึงจะได้เงินมาห้าบาทสิบบาท เพื่อเอาไปซื้อขนมหรือของเล่นที่อยากได้”
คำสอนนั้นยังคงอยู่แม้ในวันที่พนาสินเติบโต เป็นนักออกแบบที่กำลังไปได้ดีในวิชาชีพ วันหนึ่งซึ่งเป็นช่วงที่เขาได้รับโอกาสไปทำงานที่อิตาลี ยุคนั้นคนทั่วไปยังไม่ใช้โทรศัพท์ เขาจึงเขียนจดหมายบอกข่าวดีกับทางบ้าน
‘ยินดีด้วย ตอนนี้ที่บ้านมีปัญหา…’ จดหมายทางบ้านตอบกลับมา ปีนั้นเป็นช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ส่งผลกระทบให้ถ้วยขนมที่โรงงานผลิตขายไม่ดี พนาสินจึงคิดว่า เขาควรกลับไปกอบกู้ที่บ้าน มากกว่าที่จะเอาตัวรอดคนเดียว เลยตัดสินใจไม่ไปอิตาลี แล้วเดินทางกลับบ้าน
แต่พอถึงบ้าน พนาสินก็พบว่า เรื่องการกอบกู้ธุรกิจ เป็นสิ่งที่เขาคิดไปเองคนเดียว เพราะเมื่อทางบ้านเห็นพนาสิน แทนที่จะให้ทำโรงงานที่บ้าน พ่อบอกให้เขาทำโรงงานของตัวเอง โดยให้เงิน 40,000 บาทเป็นทุนรอนในการตั้งโรงงาน
“พ่อเป็นคนสอนเอง ดูสิว่ามันจะเก่งขนาดไหน จากเงินจำนวนน้อยๆ ทำให้มันรอดสิ ถามว่ารอดไหม เกือบไม่รอดครับ แทบตาย”
พอมองย้อนกลับไป พนาสินบอกว่าการเริ่มต้นทำโรงงานด้วยตัวเอง ทำให้อีโก้ในตัวเขาเล็กลงเรื่อยๆ จากลูกคนที่ห้า เรียนสูงที่สุดในบ้าน ออกไปทำงานก็ได้รับการยอมรับ ต่างจากพี่น้องคนอื่นๆ ที่เรียนจบก็เข้ามาช่วยโรงงานที่บ้าน คือบทเรียนที่ทำให้พนาสินไม่หลงตัวเอง อ่อนน้อมถ่อมตน และเข้าใจความจริงมากขึ้น
ถ้าจะเลี้ยงหมู ให้หัดเลี้ยงหมูตัวเล็กๆ ก่อน
ในวัยเด็ก พนาสินจะคิดถึงภาพที่เขาและพ่อนั่งดูพระจันทร์ด้วยกัน ซึ่งพ่อมักจะใช้เวลานั้นสอนสิ่งต่างๆ
คำสอนของพ่อที่เขาจำได้ดีคือ ถ้าจะเลี้ยงหมู ให้หัดเลี้ยงหมูตัวเล็กๆ ก่อน เพราะถ้ายังเลี้ยงไม่เป็น แล้วเอาหมูตัวใหญ่มาเลี้ยง ถ้าเลี้ยงไม่รอด จะขาดทุนเยอะ
พ่อพูดจบเท่านี้ ไม่มีขยายความหรือชี้แนะใดๆ ต่อ ทุกครั้งก็เป็นเช่นนี้ พ่อมักพูดสั้นๆ
“เราก็เอามาคิดต่อ อ๋อ… ถ้าจะทำอะไร มันต้องเริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อน เอาให้ชัวร์ก่อน ถ้าทำเป็นแล้วค่อยเอาหมูตัวใหญ่ขึ้นมาเลี้ยง”
พนาสินเก็บคำสอนนี้ไว้ในใจ เพื่อเตือนให้ตนไม่ประมาทในการสานต่อธุรกิจโรงงานที่พ่อบุกเบิก
มันบ่ดี บ่ดีคนเดียว
นี่คือคำสอนที่พ่อพูดเสมอ “มันบ่ดี บ่ดีคนเดียว” ทุกครั้งที่พูด พ่อพูดสั้นๆ แค่นั้น ราวกับให้เขาคิดเองว่า ความหมายคืออะไร
กระทั่งวันหนึ่ง เจ้าของโรงงานเซรามิคใกล้ๆ กันที่พ่อเอาสินค้าของเขามาช่วยขาย มายืนด่าที่หน้าบ้าน เพราะไม่พอใจที่พ่อบอกว่า ลูกค้าที่มาซื้อแจ้งเคลมเพราะสินค้าของเขามีปัญหา
“คุณพ่อก็ยิ้ม ยิ้มสู้อย่างเดียว ปล่อยให้เขาด่า …พ่อบอกว่า ถ้าหากเขาเป็นคนไม่ดี เขาก็เป็นคนไม่ดีคนเดียว ถ้าเราไปยุ่งกับเขา ก็แสดงว่าเราเป็นคนไม่ดีเหมือนกัน
“ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือ อยู่ห่างๆ เขาไว้ อย่าไปตอบโต้เขา เพราะฉะนั้น ผมจะไม่เสียเวลากับคนที่ไม่เข้าท่า ” แต่ในทางกลับกัน ถ้าพนาสินเห็นสิ่งใดไม่ดี และสามารถแนะนำให้ดีขึ้นได้ เขาจะไม่ลังเลที่จะบอกกล่าว แม้ว่าคนๆ นั้นจะเป็น ‘ลูกค้า’ ก็ตาม
“ลูกค้าที่ผมทำมาได้ต่อเนื่องยี่สิบกว่าปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผมด่าลูกค้าเป็นประจำ เพราะผมใช้หลักการที่ว่า ลูกค้าไม่ใช่พระราชา แต่ลูกค้าคือเพื่อน ถ้าลูกค้าคือพระราชาเราจะยอมทุกอย่างนะครับ บางทีลูกค้างี่เง่ามา ผมก็ต้องด่ากลับ เพราะถ้าเรารักเพื่อนจริง เราจะกล้าบอกเพื่อนว่า อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่ถูก คุณคิดผิดแล้ว หรือด่าแม้กระทั่งว่า คุณเลือกสินค้าไม่ถูกต้อง อันนี้ขายไม่ดี อย่าเอาไปขายเลย ไม่ใช่ โห เจอหมูล่ะ อยากซื้ออันนี้ ขายไม่ออกพอดี เราต้องบอกว่าอย่าซื้อไปเด็ดขาด อย่างนี้แสดงว่าเราเป็นเพื่อนเขา มันก็เลยเกิดการค้าขายที่ยั่งยืน”
คนซื้อของ เพราะเรื่องราว
ชามตราไก่ที่เริ่มผลิตในปี พ.ศ.2540 ทำให้ธุรกิจของโรงงานฟื้นกลับมาและเฟื่องฟู แต่พอถึง พ.ศ.2555 เมื่อรัฐบาลประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 165 บาทเป็น 300 บาท ขณะที่ค่าแก๊สเพิ่มจากเดิมร้อยละ 60 ต้นทุนที่เพิ่มสูงเกินเท่าตัว ทำให้พนาสินคิดหนัก เพราะกิจการอาจไปไม่รอด
ในห้วงวิกฤตที่ต้องหาทางออก พนาสินก็นึกย้อนไปถึงเวลาไปออกงานแฟร์ที่ต่างประเทศ ไม่ว่ายุโรปหรือญี่ปุ่น แล้วเห็นโรงงานเซรามิคที่ยังอยู่ได้ ในขณะที่โรงงานส่วนใหญ่ปิดตัว ว่าเป็นเพราะอะไร
แล้วเขาก็พบจุดร่วมของโรงงานที่ยืนหยัดอยู่ได้ว่าเกือบทุกที่ล้วนมีพิพิธภัณฑ์ “อ๋อ เขาสร้างแบรนด์ เขาสร้างคุณค่า”
ดูโลกแล้วก็ย้อนกลับมาดูตัวเอง พนาสินเห็นว่าจากเรื่องราวที่มี เขาก็สามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่โรงงานได้เหมือนกัน
พอพิพิธภัณฑ์เกิดขึ้น ไม่นานสินค้าก็กลับมาขายดิบขายดี
“ทุกวันนี้โรงงานยังผลิตชามตราไก่อยู่ และยังผลิตไม่ทันครับ เวลาลูกค้าเดินเข้าไปในร้าน เขาก็มองหาชามตราไก่ ว่ามีที่ไหนบ้าง ทีนี้พอเขามาดูที่โรงงานของผม ชามตราไก่ของผมขายใบละสามร้อยกว่าบาท โห แพงจังเลย เห็นข้างถนนยังขายใบละสามสิบบาทเลย ก็ไม่เป็นไร แต่พอเชิญลูกค้าเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ ออกมาเกือบทุกราย ซื้อชามตราไก่ผมหมด เพราะว่าชามตราไก่ มันไม่ใช่แค่ชามตราไก่ แต่คุณต้องเอาไปเล่าต่อว่า ชามตราไก่นี้มาจากไหน มันดีอย่างไร
“นี่คือสิ่งที่พ่อสอนอีกอย่างคือ คนสมัยนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะมันคือสินค้า เขาซื้อเรื่องราว ซื้อการเล่าต่อ ซื้อเรื่องการโพสต์ต่อ
“ดังนั้น อะไรที่มันมีจิตวิญญาณ มีเรื่องเล่า มันจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้”
และทั้งหมดนี้คือเรื่องชามตราไก่จากทายาทผู้บุกเบิกชามตราไก่ในไทย…ที่ใครๆ ไม่ค่อยรู้.