©ulture

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงในทุกวงการ หนึ่งในนั้นคือ แวดวงสิ่งพิมพ์

โดยเฉพาะรูปแบบสื่ออย่างนิตยสาร ที่ถูกตีตราว่ากำลังจะตาย หรือตายไปแล้ว (Print is Dead) เพราะนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ไม่ทันเท่าสื่อออนไลน์

แต่ทันทีที่เห็นปกนิตยสารต่อไปนี้ หลายคนอาจต้องเปลี่ยนความคิด หรือมุมมองต่อนิตยสารเสียใหม่ ไม่ใช่เหตุผลด้านความสวยงามทางศิลปะ แต่ยังแฝงความหมาย และชวนตั้งคำถามถึงเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงสิ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

becommon ได้คัดสรรหน้าปกชวนคิดกับเบื้องหลังงานออกแบบจากนิตยสาร 10 เล่ม ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า Print is not Dead สิ่งพิมพ์ยังคงมีพลัง และส่งเสียงดังจนผู้อ่านอย่างเราได้ยิน 

 

1
TIME
NOPE: The Long Road Back

Vol.195, No.17 (May 11, 2020)

ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่คำถามสำคัญที่ตามมาหลังจากนั้นคือ แล้วเมื่อไหร่ถึงจะกลับมาเปิดได้อีกครั้ง ทั้งชีวิตที่ต้องประคองให้อยู่รอดบนความไม่แน่นอนรายวัน และสภาพเศรษฐกิจที่กำลังจนตรอก เพราะใกล้ถึงทางตัน กลายเป็นความกดดันและการบีบคั้นให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

ภาพปกจึงทำหน้าที่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ความหวังในการเปิดประเทศ และกลับมาดำเนินกิจการธุรกิจไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน โดยอาศัยความฉลาดในการเล่นคำ เพียงแค่ย้ายตำแหน่งตัวอักษร ก็สามารถเปลี่ยนคำว่า OPEN ให้กลับเป็นคำว่า NOPE

ภาพปก: Ben Wiseman
บรรณาธิการศิลปกรรม: D.W. Pine

 

2
The New Yorker
Innovators issue

Class of 2020 (May 18, 2020)

ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2563

ภาพปกสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายครั้งใหญ่ของบรรดานักศึกษาทั่วโลกที่กำลังจะเรียนจบในปีนี้ ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต โดยเฉพาะคนที่คาดหวังไว้แต่แรกว่าตนเองจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำงานในองค์กรที่ใฝ่ฝัน

เพราะในความเป็นจริง ชีวิตของพวกเขากำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย และไม่มีหลักหรือฐานที่มั่นคงมากพอให้ยึดหรือยืนหยัด ทั้งหมดนี้คือโจทย์สำคัญ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนตลาดแรงงานและระบบเศรษฐกิจทั้งระดับปัจเจก สังคม ประเทศ และโลก

ภาพปก: Anita Kunz
บรรณาธิการศิลปกรรม: Françoise Mouly

 

3
Society
Next Stop: The Unknown

No.130 (April 30 to May 13, 2020)

ฉบับวันที่ 30 เมษายน – 13 พฤษภาคม 2563

ผลงานภาพถ่ายของช่างภาพสตรีทเจ้าของบัญชีอินสตาแกรม @subwayhands ที่บอกเล่าชีวิตและเรื่องราวของคนในรถไฟฟ้าใต้ดินผ่านภาพถ่ายมือของพวกเขา

การใช้มือเพื่อแสดงออกท่าทางต่างๆ คือ ภาษากายที่แฝงไปด้วยความหมายลึกซึ้ง อาจสะท้อนไปถึงความคิดและตัวตนของผู้คนได้อย่างแยบยล เหมือนกับภาพนี้ที่สามารถถ่ายทอดวิถีชีวิตระหว่างการระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ภาพปก: Hannah La Follette Ryan
บรรณาธิการศิลปกรรม: Peggy Cognet

 

4
a day
Work from Home

Vol.20, No.237 (May 2020)

ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563

เมื่อพูดถึง work from home ภาพแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาย่อมเป็นภาพคนทำงานที่บ้าน หรือโต๊ะทำงานสวยๆ แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้ปกเป็นไปตามภาพจำ และการตกลงในทีมว่าฉบับนี้ทุกคนจะคงคอนเซปต์ด้วยการช่วยกันทำนิตยสารเล่มนี้จากที่บ้านจริงๆ การออกกองไปถ่ายบ้านของใครสักคนจึงเป็นอันตกไป

การออกแบบปกจึงใช้วิธีวาดภาพประกอบแทน เป็นมุมมองผ่านบานหน้าต่างที่มองเข้าไปในบ้านของคนเหล่านั้น ขณะที่พวกเขากำลังขะมักเขม้นทำงาน เพราะเนื้อหาหลักในเล่มเกี่ยวข้องกับการงานที่บ้านของคนแต่ละสายอาชีพ 

เพื่อต่อยอดไอเดียไปให้สุดทาง ปกของเล่มนี้จึงเจาะเป็นกรอบหน้าต่างรูปแบบต่างๆ เมื่อผู้อ่านพลิกหน้าปกจะเห็นว่าหน้าต่างบ้านได้เปลี่ยนเป็นหน้าต่างสนทนาบนโลกออนไลน์แทน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวิถีการทำงานของเราทุกคนได้เปลี่ยนไปแล้ว 

ภาพปก: Banana Blah Blah
บรรณาธิการศิลปกรรม: วัชรพงศ์ แหล่งหล้า

 

5
Vogue Italy
Blank White Canvas

No.836 (April 2020)

ฉบับเดือนเมษายน 2563

สีขาวสื่อความหมายได้หลากหลายในเวลาเดียวกัน คือสีที่แสดงถึงการเคารพและให้เกียรติทุกสรรพสิ่ง คือแสงสว่างของการถือกำเนิดหลังจากความมืดมนได้ผ่านพ้นไป คือจุดรวมกันของทุกสีสัน คือสีเครื่องแบบของผู้อุทิศตนเพื่อทำหน้าที่รักษาชีวิตเราทุกคน และเมื่ออยู่บนผืนผ้า สีขาวไร้มลทินเปรียบเสมือนการแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ของปัจจุบัน รวมถึงความหวังในวันข้างหน้า 

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด สีขาวไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนหรือการยอมแพ้ หากแต่เป็นพื้นที่ว่างสำหรับบันทึกเรื่องราวของการเริ่มต้นครั้งใหม่

ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์: Ferdinando Verderi
บรรณาธิการใหญ่: Emanuele Farneti

 

6
The New York Times for Kids
Reminder: You are not Alone!

A part of The New York Times Magazine (Sunday, April 26, 2020)

ฉบับวันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2563

จากเรื่องน่ากังวลว่าเด็กๆ จะรู้สึกโดดเดี่ยวระหว่างกักตัวอยู่แต่ในบ้าน เพราะไม่ได้ออกไปเจอเพื่อนๆ ที่โรงเรียน ผู้ใหญ่ใน The New York Times Magazine จึงรวมตัวกันจัดทำนิตยสารฉบับพิเศษสำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะ ว่าด้วยเรื่องราวอ่านสนุก หยิบยกเรื่องซับซ้อนอย่างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมมาอธิบายใหม่ให้เข้าใจง่าย

หน้าปกจึงเป็นภาพแทนมุมมองของเด็กๆ ที่มองออกไปยังนอกบ้านที่ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เพื่อสื่อความหมายว่า ไม่ใช่แค่หนูคนเดียวหรอกนะที่รู้สึกว่าหลายๆ อย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงไป และหนูก็ไม่ได้มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เพราะทุกคนจะอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ไม่ได้ใกล้ชิดกันเท่านั้น

ภาพปก: Tillie Walden
บรรณาธิการศิลปกรรม: Deb Bishop

 

7
Bahamontes
Quarantine

No.30 (May 2020)

ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563

สำหรับคนที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย โดยเฉพาะนักปั่น การกักตัวอยู่แต่บ้านกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ทุกคนไม่สามารถออกจากบ้านไปปั่นจักรยานได้เหมือนเคย เพื่อชดเชยความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าที่เลือดสูบฉีดทั่วร่างกายขณะปั่น การปั่นจักรยานอยู่กับที่ภายในบ้านจึงเป็นไอเดียที่พอจะช่วยได้ อาจเพิ่มความสมจริงด้วยการเปิดวิวข้างทางประกอบ นอกจากนี้ ยังเป็นวิธีฝึกสมาธิให้จดจ่ออยู่กับทางตรงหน้า ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักปั่นหลายคนยืนยันว่า ทำให้ปั่นได้ระยะทางมากขึ้นด้วย

ภาพปก: Jelle Vermeersch
บรรณาธิการศิลปกรรม: Willems Pieter

 

8
Atlanta
21st Century Plague: At War with an Invisible Enemy

May issue (May 2020)

ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563

ข้อความคัดสรรบนหน้าปก คือคำพูดที่ตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ภายในเล่ม ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมอง ข้อเท็จจริง และประสบการณ์ของบุคคลธรรมดาอย่างเราๆ ทั้ง 17 คน ที่ได้รับผลกระทบจาก ‘โรคระบาดแห่งศตวรรษที่ 21’

ถึงแม้ว่าบทบาทและหน้าที่ของคนทั้ง 17 อาชีพนี้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ลึกๆ ภายในใจของทุกคน กลับกำลังเผชิญความรู้สึกเดียวกัน นั่นคือ ความกลัว บางคนกลัวว่าชีวิตนับจากนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป บางคนกลัวว่าความฝันจะต้องจบสิ้น บางคนกลัวว่าจะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ไม่ได้ และบางคนกลัวว่าวันข้างหน้าอาจไม่ได้อยู่กับคนที่เขารัก

ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ความกลัวจะหายไปจากใจ แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อความสั้นๆ บนปกจะช่วยย้ำเตือนทุกคนว่า เมื่อเราต่างมีความกลัวเหมือนกัน นั่นหมายความว่าเราต้องร่วมมือกัน เพื่อก้าวผ่านความกลัวเหล่านี้ไปด้วยกัน

ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบ: Matt Love
ผู้อำนวยการฝ่ายภาพ: Martha Williams

 

9
The Guardian Review
How to be Creative in a Crisis

No.120 (Saturday, May 2, 2020)

ฉบับวันเสาร์ที่ 2 พฤษภาคม 2563

คนจำนวนหนึ่งเห็นภาพกราฟิกบนปกเป็นหยดน้ำตา ที่เชื่อมโยงกับความเศร้าเสียใจ ซึ่งแตกต่างจากคนอีกจำนวนหนึ่งที่ตีความเป็นสายฝน ไม่มีใครผิด ทั้งหมดคือความถูกต้องที่ขึ้นอยู่กับการตีความผ่านประสบการณ์ส่วนตัว แต่สิ่งสำคัญที่สุดของภาพคือ ทั้งน้ำตาและฝนที่ตกลงมาสื่อความหมายเดียวกันถึงอุปสรรคของชีวิต

ท่ามกลางปัญหาและวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่ผ่านมา ตอนนี้ หรือในอนาคตอันใกล้ ย่อมทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่และรันทดใจ แต่ในอีกมุมหนึ่งอาจเป็นโอกาสที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ไม่ต่างจากช่วงเวลาดีๆ

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลของการออกแบบให้หยดน้ำกลายเป็นส่วนสำคัญของดินสอ เพราะดินสอธรรมดาๆ หนึ่งแท่ง นำไปสู่ผลลัพธ์แห่งการสร้างสรรค์มากมาย แม้ว่าผู้จับดินสอนั้นจะรู้สึกเศร้าก็ตาม

ภาพปก: Andrea Ucini
บรรณาธิการศิลปกรรม: Bruno Haward, Anna Goodson

 

10
BRUTUS
Home Sweet Home

No.915 (May 2020)

ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563

ภาพถ่ายมุมหนึ่งภายในบ้านที่ดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่กลับโดดเด่นในเชิงความรู้สึกและบรรยากาศอันอบอุ่นที่แฝงไปด้วยความหมายบางอย่าง ซึ่งผู้อยู่เป็นคนนิยาม

นิตยสารเล่มนี้จึงนำเสนอภาพบรรยากาศของบ้านทั้งในประเทศญี่ปุ่นและที่อื่นๆ ของโลกรวม 18 หลัง โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองการใช้ชีวิตและการทำงานที่เกี่ยวโยงกับห้องต่างๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านสร้างความหมายให้บ้านของตัวเองเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย

บรรณาธิการใหญ่: Zenta Nishida

 

อ้างอิง