©ulture

ผมเคยเขียนบทความเรื่องนิรุกติศาสตร์ของคำว่าหีกับควย ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ซึ่งสร้างความงุนงงให้กับผู้เขียนพอสมควร

เพราะคิดว่าใครๆ คงตราหน้าว่าไอ้หมอนี่มันทะลึ่ง เขียนเรื่องใต้สะดือเป็นเรื่องเป็นราว แถมยังใช้คำหยาบคายอย่างน่าละอาย

แต่ผมไม่เห็นว่าหีกับควยเป็นคำหยาบ คำๆ หนึ่งจะหยาบต้องอาศัยภูมิของจิตใจมารองรับ หากเราจะพูดถึงหีและควยอย่างคนกระสัน ก็ว่าเป็นเรื่องหยาบก็ไม่แปลก แต่หากพูดถึงมันในแง่วิชาการ มันคือกิจกรรมของปัญญาชน ควรค่าแก่การส่งเสริมและเผยแพร่ให้รับรู้กันทั่วไป

เช่นเดียวกับคำว่า “ดอกทอง” ซึ่งฟังดูแล้วหยาบคาย และถ้าเกิดไปชี้หน้าด่าใครด้วยคำนี้เข้ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ (ถ้าเขาไม่ได้ดอกทองดังที่กล่าว) ดังนั้นคำคำนี้จึงทั้งต่ำช้าในทางสังคมและอันตรายในทางนิติศาสตร์

ไม่เฉพาะแต่กฎหมายแพ่งยุคปัจจุบัน กฎหมายโบราณยุคต้นกรุงศรีอยุธยาก็ยังตราไว้ให้เป็นความผิด หากไปด่าใครว่าอีดอกทองโดยที่ไม่มีมูล นับเป็นเรื่องไม่กี่เรื่องที่นักกฎหมายยุคปัจจุบันเห็นตรงกับตุลาการยุคโบราณ

 

“ดอกทอง” ปรากฎในกฎหมายพระไอยการลักษณวิวาท ตี/ด่า กัน มหาศักราช 1369 (ปี พ.ศ. 1990) กำหนดโทษคนด่ากันต่างๆ นานาว่ามีโทษ เช่น ด่าว่า “อีดอกทอง อีเย็ดซ้อน” ซึ่ง 2 คำนี้เขียนคู่กัน ในลักษณะว่าความหมายเดียวกัน ซึ่งในมาตรานี้ก็เขียนคำด่าคู่แบบเดียวกันนี้อีกหลายคำ

 

แสดงว่า “อีดอกทอง อีเย็ดซ้อน” มีความหมายเดียวกัน นั่นคือ อีคนสังวาสซ้ำซ้อน (อาจจะเอาผัวคนอื่นมาเป็นของตัว)

ส่วนในกฎหมายปัจจุบัน มีฎีกามากมายที่ศาลท่านพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายผิดประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฐานไปด่าโจทย์ว่าอีดอกทอง แต่บางฎีกาท่านก็ว่าไม่ร้ายแรงอะไร ทั้งนี้จึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล

แม้มันจะหยาบและเสี่ยงต่อการถูกฟ้อง แต่คนทุกยุคสมัยนิยมมันเหลือเกิน ทุกวันนี้ ดอกทองมีวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าจนกระทั่งลดรูปเหลือแค่คำว่า “ดอก” ก็เข้าใจได้ว่ากำลังใช้ด่าหรืออุทาน

 

ภาพวาดนางมโนห์รา ฝีมือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ภาพวาดนางมโนห์รา ฝีมือ อ.จักรพันธุ์ โปษยกฤต (photo: pinterest.com)

 

แม้แต่ในวรรณคดีไทยยังใช้คำดอกทองอย่างโจ๋งครึ่ม อย่างน้อยก็ 2 เรื่อง คือ กลอนละครมโนห์รากรุงเก่า แต่งไว้สาแก่ใจนักว่า “นางแม่ของลูกอาแม่ / มาด่าลูกไม่ถูกต้อง / ทั้งพี่ทั้งน้อง / เหล่าเราดอกทองเหมือนกัน / ดอกทองสิ้นทั้งเผ่า / เหล่าเราดอกทองสิ้นทั้งพันธุ์ ดอกทองเสมือนกัน / ทั้งองค์พระราชมารดา”

แต่ดอกทองในกลอนนี้ไม่ได้บอกลักษณะของอาการดอกทอง เป็นแค่คำผรุสวาท

 

อีกเรื่องคือในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน ความว่า “อีดอกทองราวทองธรรมชาติ / พิศวาสมิได้เว้นวันสม / จนโรคันปันทบข้างอุปทม / เสนหาส่าลมขึ้นเต็มตัว” แปลไทยเป็นไทยว่า อีดอกทองคนนี้เสพสังวาสไม่รู้เว้นวัน จนกระทั่งเป็นกามโรค ดอกดวงขึ้นเต็มตัว

ถ้าเป็นเช่นนี้ ชะรอยดอกทองคงจะเป็นอุปมาถึงดอกดวงของกามโรคกระมัง? แต่ดอกของกามโรคมันออกแดงเรื่อเหมือนส่าลม จะเหมือนดอกทองเอาก็ตอนกลัดหนองแล้ว

คำถามเรื่องอีดอกทองมาจากไหน ทำไมถึงใช้ด่ากระทบผู้หญิง? เป็นคำถามที่รบกวนจิตใจนักวิชาการมาเนิ่นนาน ต่างพยายามหาที่มา แต่ก็ได้คำตอบกันอย่างกระท่อนกระแท่น

มีผู้เสนอว่าเพราะเทียบผู้หญิงคนชั่วกับตัวเหี้ยที่มีหนังเป็นลายดอกสีเหลือง แต่เหี้ยมันหาใช่สัตว์สังวาสไม่เลือก หากแต่เป็นสัตว์กินไม่เลือก ถ้าเป็นคนกินของโสโครกแล้วด่าว่าเหี้ยน่าจะเข้าเค้ากว่า อีกอย่างในกฎหมายโบราณก็ไม่ปรากฎคำด่าเหี้ย แสดงว่าเหี้ยเป็นคำด่าที่ใหม่กว่านั้นมาก

ส่วนตัวผมสนใจทฤษฎีเรื่องดอกดวงเพราะกามโรคกับนัยด้านพฤกษศาสตร์

นอกจากข้อสันนิษฐานเรื่องดอกกามโรค ผมยังคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับโทษประจานหญิงมีชู้ ทัดดอกชบาหรือไม่? แต่ดอกชบามันก็แดงอีก ไม่ใกล้เคียงกับคำว่าทองเลย จะอุปมาชบาเป็นดอกทองก็ไม่สมเหตุผล และคนไทยไม่ใช่จำพวกอุปมาซับซ้อนซ่อนเงื่อน จำพวกเอ่ย ถึง ก เพื่ออ้างถึง ฮ เหมือนวรรณคดีสันสกฤตหรือพวกบัณฑิตจีนโบราณ

ดอกไม้อีกประเภทที่คนโบราณมักอุปมาใช้ด่าผู้หญิงร่าน คืออีดอกตำแย เพราะดอกตำแยนั้นคันทะเยอ เปรียบว่าช่องสังวาสของนางนั้นคันทะเยออยู่ตลอดเวลา จนกระสันอยากจะได้ของบุรุษมาช่วยคลายอาการ (คำด่าแบบนี้อยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผน)

ดอกตำแย
ดอกตำแย

ผมสนใจพืชอีกประเภทที่น่าจะเกี่ยวกับคำดอกทองโดยตรง นั่นคือว่านดอกทอง (Curcuma spp.) ซึ่งเป็นวงศ์วานว่านเครือเดียวกับขิง กลับดอกมันขาวโดยรอบแต่โคนในเหลืองสุกเหมือนทอง หัวว่านยังมีสีเหลืองอีก แต่สีสันของมันไม่หวือหวาเท่ากับสรรพคุณ ตำราว่าว่านดอกทองมีฤทธิ์ในทางมหานิยมให้คนลุ่มหลง ร้ายกาจถึงขนาดเพียงแค่ดิมกลิ่นถึงขนาดทำให้กระสันเสียวซ่าน ทำให้หญิงทนกำหนัดไม่ไหวต้องคบชู้สู่ชาย คนโบราณเขาถึงหวงกันนัก เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปใช้ไม่ถูกต้อง

ว่านดอกทอง
ว่านดอกทอง

ในหนังสือเคล็ด ลาง อาถรรพ์ โดย พลูหลวง (ประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ) ท่านว่าไว้อย่างนี้ “ว่านดอกทองออกดอกเมื่อไร หญิงในหมู่บ้านจะเสียคน ว่านดอกทองเป็นเสนียด” และในหนังสือว่านกับคุณลักษณะ ของนายเลื่อน กัณหะกาญจนะ ท่านยังว่า ว่านดอกทองนั้นเป็นเสนียดจัญไร

ถ้าตามอาจารย์พลูหลวงท่าน จะเห็นชัดว่าว่านดอกทองมันทำให้คนดอกทองจริงๆ ไม่ใช่คนเอาคำว่าดอกทองไปเรียกชื่อว่าน

พลูหลวง หรือ ประยูร อุลุชาฎะ
พลูหลวง หรือ ประยูร อุลุชาฎะ

บางคนอาจจะแย้งว่า “ไม่เห็นจะสมเหตุผลกับการเอาชื่อว่านมาด่าคน” แต่เราต้องอย่าลืมว่าคนสมัยก่อนท่านเชื่อเรื่องลี้ลับเป็นปกติ การเลี้ยงและใช้ว่านเป็นศาสตร์สำคัญที่ชายชาตรีต้องเรียนรู้ จะทำนาไร่ก็ต้องหาว่านมากันงู จะชกมวยก็ต้องหาว่านทาตัว จะออกศึกก็ต้องอมว่านไว้ให้หนังเหนียว จะเกี้ยวผู้หญิงก็ต้องใช้ว่านช่วยเร้าอารมณ์ เป็นของครอบจักรวาลในยุคนั้น

จริงอยู่ที่ว่านดอกทองมันมีฤทธิ์ด้านมหานิยม แต่มหานิยมนั้นเจือด้วยราคะ พลิกจิตนิดเดียวจากรักจะกลายเป็นใคร่เอาง่ายๆ เหมือนพวกลิเกแต่เก่า มักเรียนวิชามหานิยมเพื่อให้คนหลงใหลจะได้มาดูละครกันมากๆ แต่ในเวลาเดียวกันด้วยฤทธิ์ของมหานิยม ทำให้พระเอกลิเกเป็นที่หมายปองของสาวน้อยสาวใหญ่  เรื่องความเจ้าชู้ของพวกลิเกเป็นที่ร่ำลืออย่างภาษิตว่า “รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ” พวกคนขับรถเมล์กับเรือไฟกับตำรวจต้องย้ายที่ทางบ่อย จึงมักมีเมียเล็กเมียน้อยไปตามภูมิลำเนา แต่พวกลิเกน่ากลัวว่าจะเจ้าชู้เพราะวิชาไสย์

ดังนั้น โดยส่วนตัวผมจึงเชื่อว่าว่านดอกทองคือตัวการที่ทำให้ผู้หญิงกระสันอยากสมสู่ (ไม่ว่าชายจะเป็นคนใช้ว่านกระทำ หรือเพราะฤทธิ์ของว่านตามธรรมชาติก็ตาม) คำว่าดอกทองพึงมาจากว่านดอกทองนี่เอง

ไม่ว่าดอกทองมาจากที่ใด ความหมายของมันล้วนตรงกัน คือใช้ด่าผู้หญิงแพศยา ดังในบทกล่อมลูกของปักษ์ใต้ ร้องกันว่า “ดอกทอง…เหอ / แต่น้ำนองก็ไม่อาบ / ดอกทองเหม็นสาบ / อาบน้ำในรอยตีนวัว / เพื่อนเขาทังเพเขาผลัดผ้า / ลูกดอกทองขี้ข้าผลัดผัว” (ดูในหนังสือ ท้องถิ่นของเรา จังหวัดชุมพร ของประทีป สายเสน)

อนึ่ง ผมเองไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอาคำด่าดอกทองมากล่อมเด็กก็ไม่ทราบ หรืออาจจะเป็นคำรำพันของเมียต่อลูก ซึ่งถูกพ่อและผัวทิ้งไปหาอีดอกทองก็ไม่ทราบ

ขอแถมอีกนิด ในพระวรสารนักบุญลูกา ฉบับภาษาสยาม (The Gospel of St. Luke in Siamese) แปลเป็นภาษาสยามโดยท่าน C. Gutzlaff บทที่ 15 ท่านแปลคำว่า prostitutes ว่าดอกทอง นับเป็นหลักฐานคำว่าดอกทองยุครัตนโกสินทร์ที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่ง ทำขึ้นในปี 1834 หรือพ.ศ. 2378 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์เมื่อปี 2416  รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านนิยามไว้ว่า “หญิงดอกทอง เปนหญิงคนชั่วนั้น, เหมือนอย่างหญิงพวกกรอกสำเพง” หมายความว่าดอกทองคือพวกขายตัว เหมือนผู้หญิงขายตัวย่านตรอกสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านค้าประเวณีใหญ่ในบางกอก จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “อีสำเพ็ง”

อักขราภิธานศรับท์
หนังสืออักขราภิธานศรับท์ หรือพจนานุกรม (ไทย-ไทย) ของหมอบรัดเลย์

พูดถึงพจนานุกรม เป็นที่น่าสนใจว่า ดอกทองของไทยยังกลายเป็นคำสากลในเอเชียตะวันออก ผมได้อ่านบทความ “ดอกทอง”: ความเป็นมาและนิรุกติศาสตร์ ของ ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล  เห็นผศ.ดร.รุ่งโรจน์ตั้งข้อสังเกตว่า ในพจนานุกรมภาษามลายู —ไทย ของ อาซิซ บิน มูฮัมมัด อีซา ได้ปรากฏศัพท์คำว่า  loktong  หมายถึงหญิงโสเภณี

แต่ท่านยังไม่สรุปว่าไทยนำมาจากมลายูหรือมลายูเอามาจากไหน

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ผมอ่านแล้วไปค้นต่อ จนพบว่าคำๆ นี้เป็นมลายูรุ่นเก่า (arkaik) และในบาฮาซา อินโดนีเซียก็ใช้แบบเดียวกัน ในความหมายถึงหญิงขายตัว ในพจนานุกรม  Loan-Words in Indonesian and Malay (ของ Russell Jones) บอกว่า คำนี้ยืมมาจากภาษาจีนเอ้หมึง หรือภาษาหมิ่นหนานว่า ลกถง (樂桶 / lo̍k-thóng)

คำว่า 樂桶 มีคนแปลว่า enjoy, love แต่เป็นการแปลที่ความหมายขาด เพราะ ลก (樂) แปลว่ารักหรือสำราญ แต่ ถง (桶) แปลว่า ถัง ดังนั้นถ้าจะเอาความทั้งคำ ลกถง ต้องแปลว่า ถังแห่งความรัก ฟังแล้วไม่เข้าที อีกทั้งในภาษาหมิ่นหนานยังไม่เรียกหญิงขายตัวว่า ลกถง แต่เรียกว่า  เปี้ยว (婊) ซึ่งเป็นคำสามัญในภาษาจีนทุกภูมิภาค

ความเป็นไปได้ก็คือ ลกถง เป็นการเลียนเสียงคำจากภาษาอื่น แต่จากภาษาไหนล่ะ?

 

คุณ Poonsak Liurat เสนอว่า หลกท่ง (錄寵) เรียกเพี้ยนเป็น ดอกทอง แปลว่า กะหรี่ ผู้หญิงไม่ดี อ้างอิงจาก พจนานุกรมเตี่ยซัว(新潮汕字典) หน้า 364 พจนานุกรมเตี่ยซัว คือ พจนานุกรมสำเนียงแต้จิ๋ว

แต่เมื่อผมเช็คกับพจนานุกรมแต้จิ๋วออนไลน์ (潮州音字典) ได้ความว่า หลกท่ง หมายถึงผู้หญิงไม่ดี (หรือหญิงคนชั่วในภาษาไทย) แต่เมื่อคำสองคำรวมกันแล้วไม่ได้ความหมายในจีนพากย์ ชะรอยจะเป็นคำเลียนเสียงภาษาอื่นอีกเช่นกัน

คำว่า หลกท่ง ของแต้จิ๋ว กับ ลกถง ของจีนเอ้หมึง มันน่าจะมาจากที่เดียวกัน ทั้ง 2 คำเป็นคำเลียนเสียง เพราะเป็นคำจีนแล้วไม่มีความหมาย แถมยังเป็นต้นเค้าให้ภาษามลายูและภาษาอินโดนีเซีย

แต่เสียง ด นั้นสามารถเลือนเป็นเสียง ล ได้ (เช่นคำว่า ดอย เป็น หลอย หรือ ดาว เป็น ลาว ในภาษาไท-กะไดบางกลุ่ม) หลกท่งและลกถง จึงน่าจะเลือนมาจากคำว่าดอกทองในภาษาไทย

สรุปคือ ลกถ่งจีน ลกถงมลายู มาจากดอกทองในภาษาไทยทั้งสิ้น

 

คราวนี้ผมหันไปดูภาษาเขมร ในกัมพุชพากย์มีคำเรียกโสเภณีเยอะพอๆ กับภาษาไทย จะลองถอดให้ฟังที่คล้ายกัน เช่น หญิงแพศยา (ស្រីពេស្យា) นครโสเภณี (នគរសោភិនី) หญิงสาวใช้ (ស្រីសាវជៃ) อันนี้แปลถอดคำออกมาเลยนะครับ เห็นไหมว่าใกล้เคียงกันมาก ที่น่าตกใจก็คือทางเขมรเรียกหญิงขายตัวว่า หญิงสำเพ็ง (ស្រីសំផឹង) เหมือนภาษาไทยอย่างกับแกะ

มีคำหนึ่งน่าสนใจว่า คำว่า เสรยผกาเมียะ (ស្រីផ្កាមាស) หรือ หญิงผกามาส คำว่าผกามาส แปลว่า ดอกทองนั่นเอง คำนี้ใช้เรียกหญิงขายตัวเหมือนข้างบน พจนานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (จวน นาถ) ท่านว่ามาจากคำว่า ดอกทอง (ដកទង) ในภาษาสยาม ใช้ด่าผู้หญิงคนชั่ว ใช้กันว่า แม่ดอกทอง (មេដកទង) หรือ แม่โจรดอกทอง (មេចោរដកទង)

คำว่า แม่โจรดอกทอง ฟังแปลกหู แต่ในเขมร โจร (ចោរ) แปลว่าผู้ร้ายที่ปล้นทรัพย์ก็ได้ แปลว่าผู้หญิงคบชู้สู่ชายก็ได้

ตอนนี้เราทราบแล้วว่า ไทยกับเขมรเรียกผู้หญิงขายตัวว่า “อีดอกทอง” เหมือนกัน และแน่ชัดว่ามาจากไทยเพียงแต่เมื่อไปถึงเมืองกัมพูชาธิบดี อีดอกทองกลายเป็นผกามาสไป

ฟังดูเพราะพริ้ง แต่จริงๆ แล้วร้ายกาจ