เราต่างเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมทุกๆ ด้านของมนุษย์ผ่าน ‘โบราณวัตถุ’
และบนโลกที่มีสัดส่วนพื้นน้ำมากกว่าพื้นดินเกือบ 2 เท่า วัตถุหรือสิ่งก่อสร้างในอดีตจมใต้น้ำจำนวนมาก
งาน ‘โบราณคดีใต้น้ำ’ จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการค้นหาของเก่าที่มีคุณค่าบนบกหรือในดิน
‘กองโบราณคดีใต้น้ำ’ มีบทบาททำให้ทุกคนได้ทำความรู้จักความสัมพันธ์ของชีวิตมนุษย์กับแหล่งน้ำ
โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้คนใช้ชีวิตท่ามกลางสายน้ำมาอย่างยาวนาน
‘โบราณคดีใต้น้ำ’ คืออะไร?
‘งานโบราณคดีใต้น้ำ’ ไม่ใช่การดำน้ำหาของเก่าหรือซากไดโนเสาร์ แต่เป็นการปฏิบัติงานใต้น้ำเพื่อค้นหา ศึกษา วิจัย ปกป้องคุ้มครอง และอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีใต้น้ำและแหล่งเรือจม ซึ่งถือเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชั้นดีที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการเรียนรู้สภาพสังคมและชีวิตคนในยุคสมัยก่อน และได้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การคมนาคม การติดต่อค้าขายทางทะเล แหล่งผลิตสินค้า การเดินเรือ รวมทั้งชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเรือและชาวบ้านตามท่าเรือต่างๆ ในอดีต
เพราะเรือเดินทะเลลำหนึ่งเป็นมากกว่าแค่ยานพาหนะ เปรียบเสมือนบ้าน ที่ทำงานอันเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ในชีวิต อาหาร อาวุธ อุปกรณ์ทำมาหากิน โดยเฉพาะเรือที่มีอายุการใช้งานยาวนานและเดินทางไปรอบโลก
งานโบราณคดีใต้น้ำถือเป็นงานเฉพาะด้าน มีขั้นตอนการทำงานคล้ายการสำรวจทางโบราณคดีภาคพื้นดิน แต่มีเทคนิค ขั้นตอน กระบวนการในการจัดการกับหลักฐานแตกต่างกัน และมีข้อจำกัดมากกว่า เพราะเป็นการทำงานใต้น้ำ นักโบราณคดีด้านนี้จึงจำเป็นต้องฝึกการงานในโลกใต้น้ำ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนทำงานบนบกโดยสิ้นเชิง
นักโบราณคดีใต้น้ำทำงานที่ไหน?
ที่ทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำไม่ได้จำกัดอยู่เพียงใต้ทะเลหรือมหาสมุทรเท่านั้น
แต่รวมไปถึง แม่น้ำ คลอง ลำธาร บึง หนอง กว๊าน หรืออ่างเก็บน้ำที่เกิดจากการสร้างเขื่อน
ส่วนเวลาการทำงานภาคสนามของนักโบราณคดีใต้น้ำส่วนใหญ่ มักถูกกำหนดด้วยกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ เพราะว่าหลายครั้งอาจพบซากเรือจมแถวชายหาด ซึ่งการทำงานบริเวณนี้จะได้รับผลกระทบจากน้ำขึ้น-น้ำลงโดยตรง จึงต้องอาศัยการคำนวณเวลาน้ำทะเล ร่วมกับการวิเคราะห์ระดับน้ำจากหน้าไซต์งาน โดยช่วงเวลาก่อนน้ำลง จะเป็นเวลาที่ทีมงานประชุมวางแผนการทำงานอย่างรัดกุมที่สุด เพื่อหาเวลาที่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมและไม่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตของนักโบราณคดีใต้น้ำ
‘เรือแววมยุรา’ เรือสำรวจโบราณคดีใต้น้ำไทย
กองโบราณคดีใต้น้ำของเมืองไทยมีสำนักงานประจำอยู่ที่จันทบุรี สำหรับงานในน่านน้ำ มี ‘เรือแววมยุรา’ เป็นเรือพระเอก คอยประจำการทำงานสำรวจและขุดตรวจแหล่งโบราณคดีใต้น้ำ เรือลำนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “เรือโบราณคดีใต้น้ำ” เป็นเรือเหล็ก 3 ชั้น ตัวเรือยาว 21 เมตร กว้าง 5.5 เมตร สูง 6.20 เมตร กินน้ำลึก 1.5 เมตร น้ำหนักบรรทุก 40 ตัน
เมื่อชื่อเรือโบราณคดีใต้น้ำฟังดูเรียกยากและยาวจนเกินไป ทางกองโบราณคดีใต้น้ำจึงตั้งชื่อเล่นให้ใหม่เรียกสั้นๆ ว่า “เรือแววมยุรา” มาจากเนื้อร้องในเพลง “แววมยุรา” หนึ่งในเพลงประจำคณะโบราณคดี ที่กล่าวถึงดอกแววมยุราสีม่วงที่ล่องลอยอยู่ในสายน้ำ ดังนั้นเรือแววมยุราจึงเป็นเรือสีม่วงตามสีของดอกแววมยุราที่ลอยลำปฏิบัติงานสำรวจขุดตรวจแหล่งโบราณคดีใต้น้ำในเมืองไทย
ติดตามเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอารยธรรม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ผ่านการสำรวจโลกใต้น้ำโดยกองโบราณคดีใต้น้ำไทยในได้ที่เว็บไซต์ common.
Fact Box
- งานโบราณคดีใต้น้ำในประเทศไทยเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 2517 ในช่วงนั้นยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ และไม่มีอุปกรณ์สำหรับการทำงานใต้น้ำ การทำงานโบราณคดีใต้น้ำในช่วงเริ่มต้น ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพเรือ และได้มีการจัดตั้งกิจการงานโบราณคดีใต้น้ำอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ 2520 โดยสังกัดกรมศิลปากร