กรุงเทพฯ คือเมืองแห่งความหลากหลาย แต่น่าแปลกที่ทุกอย่างกลับอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน
แม้บางแง่มุมจะตัดสลับกันเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างความเก่าและความใหม่ เรียบง่ายและซับซ้อน มีระเบียบและยุ่งเหยิง สงบนิ่งและเดือดดาล งดงามน่ามองและเน่าหนอนชวนเบือนหน้าหนี เมืองแห่งนี้จึงเป็นได้ทั้งสวรรค์และนรกบนดินที่ตัดสินได้จากประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน
เช่นเดียวกับมุมมองของผู้สร้างหนังและซีรีส์ที่เห็นเสน่ห์บางอย่างของเมืองฟ้าอมร จึงเลือก กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ถ่ายทำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านบทบาทตัวละครสมมุติ ซึ่งสะท้อนกลับมายังสังคมและสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวในความเป็นจริงซึ่งหาจากที่อื่นไม่ได้
becommon จึงคัดสรรผลงานหนังและซีรีส์เรื่องดัง ที่รับรองว่าคุณน่าจะรู้จักหรือไม่ก็เคยผ่านตากันมาบ้าง เพื่อตามรอยไปยังสถานที่จริงซึ่งปรากฏเป็นฉากสำคัญ และทำความเข้าใจเบื้องหลังงานสร้างว่าทำไมถึงต้องถ่ายทำในสถานที่เหล่านี้
ศุลกสถาน ซอยโรงภาษี เจริญกรุง 36
ใน In the Mood for Love (2000)
ไม่รู้ว่าในสายตาของผู้สร้างมองเห็นกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2542 ว่าคลาสสิก เก่าแก่ หรือทั้งสองอย่าง จึงเลือก ศุลกสถาน หรือ อาคารโรงภาษีร้อยชักสาม สถานีดับเพลิงเขตบางรัก ในซอยโรงภาษี เจริญกรุง 36 ซึ่งมีอายุมากกว่าร้อยปี เพราะเริ่มก่อสร้างประมาณ พ.ศ. 2429-2431 มาเป็นสถานที่ถ่ายทำใน In the Mood for Love ของผู้กำกับ หว่อง กาไว (Wong Kar-wai)
ความเก่าของศุลกสถานที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ ทั้งสภาพพื้นผิวผุกร่อนที่มีรอยเชื้อราสีดำและคราบสนิมซึ่งซึมฝังร่องของผนัง กลายเป็นภาพจำลองของตรอกเก่าและตึกรามบ้านช่องในฮ่องกงช่วงต้นทศวรรษ 1960 แม้บางฉากในหนังทำให้รู้สึกขัดใจไปบ้าง เพราะปรากฏป้ายร้านค้าและป้ายโฆษณาภาษาไทยอยู่ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ถ่ายทำอื่นๆ อีก เช่น ภายในโรงแรมแอตแลนตา (Atlanta Hotel) สุขุมวิท และย่านเยาวราช
เดิมทีศุลกสถานเปิดให้เข้าไปถ่ายรูปและเดินชมรอบๆ ได้ แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างปิดบูรณะครั้งใหญ่ เพราะจำเป็นต้องยกตัวอาคารซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 8,100 ตัน ขึ้นสูง 1.20 เมตร เพื่อเสริมสร้างรากฐานให้แข็งแรงคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี พ.ศ. 2568
ซอยคาวบอย และอาบ-อบ-นวด
ใน Bridget Jones: The Edge of Reason (2004)
หลังจาก Bridget Jones’s Diary ประสบความสำเร็จในภาคแรก หนังโรแมนติกคอมเมดี้ภาคต่อเรื่องนี้ จึงเปลี่ยนบรรยากาศจากการใช้ชีวิตของสาวสุดโป๊ะจอมเปิ่นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นการทำงานถ่ายสารคดีต่างสถานที่ในประเทศไทย พร้อมกับเรื่องว้าวุ่นมากมายที่คอยสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ไม่รู้ลืมให้กับตัวละคร
ฉากเกี่ยวกับประเทศไทยทั้งหมดที่ปรากฏใน Bridget Jones: The Edge of Reason จึงมีทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำหรับในเขตเมืองผู้สร้างเลือกถ่ายทำที่ ซอยสุขุมวิท 23 หรือ ซอยคาวบอย ซึ่งเป็นแหล่งสถานบันเทิงยามค่ำคืน ย่านอโศก โดยนำเสนอผ่านบทบาทพิธีกรรายการสารคดีของตัวละครที่ลองใช้ชีวิตเป็นนักท่องราตรีและเที่ยวอาบ-อบ-นวด
ประเด็นของหนังอยู่ตรงที่บางฉากนำเสนอความจริงในอดีต อย่างคนจูงช้างเดินเรี่ยไรให้นักท่องเที่ยวซื้ออาหารป้อน ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดมักจะคงภาพลักษณ์เดิมๆ ไว้ ต่อให้ในปัจจุบันไม่มีให้เห็นแล้วก็ตาม คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ความต้องการให้หนังน่าสนใจและเกิดภาพจำมากขึ้น เพราะยังมีฉากตื่นตาตื่นใจอย่างตัวละครลองกินตั๊กแตนทอดเป็นครั้งแรกด้วย
ส่วนฉากที่ถ่ายทำต่างจังหวัด คือ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เกาะปันหยี จังหวัดพังงา และหาดในยาง จังหวัดภูเก็ต
รถตุ๊กตุ๊ก วัดเบญจมบพิตร และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ใน Princess Hours (2006)
ช่วงที่ซีรีส์เกาหลีดังเป็นพลุแตกเพราะได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนดูชาวไทย อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีจึงใช้โอกาสนี้ผลิตผลงานเอาใจคนไทยเพื่อโน้มน้าวและดึงดูดความสนใจให้ผู้คนหลงใหลความเป็นเกาหลีผ่านเครื่องมือทางสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างซีรีส์และศิลปินกลุ่มจนประสบความสำเร็จสูงสุด เกิดเป็นกระแสเกาหลีฟีเวอร์ไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่โด่งดังไปทั่วโลก
ซีรีส์ Princess Hours หรือ เจ้าหญิงวุ่นวายกับเจ้าชายเย็นชา ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่ทำหน้าที่นี้ เพราะผู้สร้างตั้งใจกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เกาหลี และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ได้รับประโยชน์ทั้งสองประเทศ ผ่านบทบาทตัวละครเอกที่เดินทางมาใช้ชีวิตและพยายามซึมซับวัฒนธรรมไทยแบบคนเมืองที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ
แต่ละฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทย ผู้สร้างจึงตั้งใจถ่ายทอดให้เห็นเอกลักษณ์ของไทยตามมุมมองของนักท่องเที่ยวที่ต้องการชื่นชมความสวยงามของสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ เช่น จำลองวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเป็นสถานทูตเกาหลีใต้ นั่งรถตุ๊กตุ๊กชมย่านเมืองเก่า นั่งรถสองแถวผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน ชมการแสดงโขน และเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร
แม้สุดท้ายตัวละครจะไปโผล่ที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรีแบบงงๆ ในสายตาของคนไทยก็เถอะ แต่ก็เป็นเรื่องที่พอจะปล่อยผ่านไปได้
ซอยพิพากษา 1 ถนนทรงวาด และคลองเขตธนบุรี
ใน The Hangover Part II (2011)
ความจัดจ้านของกรุงเทพฯ อาจเป็นภาพจำแรกของนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมาถึงและสัมผัสได้ด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจว่าเป็นเมืองที่เปิดโอกาสให้ทำกิจกรรมมากมายที่สร้างประสบการณ์หลากหลาย ทั้งความงามตามประเพณี ความสุนทรีย์ตามอำเภอใจ และความกล้าบ้าบิ่นจากอบายมุขและสิ่งยั่วยุมั่วโลกีย์
จากท้องเรื่องของหนัง The Hangover Part II เมื่อเพื่อนคนหนึ่งมีแฟนเป็นสาวไทยและกำลังจะแต่งงาน เพื่อนสนิทอีก 3 คนจึงต้องเดินทางมากรุงเทพฯ ตั้งใจว่าจะร่วมงานอย่างเรียบง่าย แต่กลายเป็นว่าพวกเขาเมาหัวราน้ำ หลังดื่มฉลองให้กับชีวิตบทใหม่ของเพื่อนเจ้าบ่าวซึ่งกำลังจะเริ่มต้นในอีกไม่ช้า เรื่องราวชุลมุนจึงเกิดขึ้นตามมา
ผู้กำกับเลือก ซอยพิพากษา 1 ในย่านเยาวราชเป็นสถานที่ถ่ายทำหลัก กำหนดให้ตัวละครทั้ง 3 ตื่นขึ้นมาด้วยความสับสนหลังเมาไม่ได้สติ โดยอาศัยปรับเปลี่ยนมุมกล้องแทน เพื่อสร้างความแตกต่างในแต่ละฉาก จากนั้นเปลี่ยนมาถ่ายทำบริเวณวงเวียนของถนนทรงวาด ดาดฟ้าโรงแรมเลอบัว ซอยคาวบอย ซอยสุขุมวิท 7/1 และคลองในย่านพักอาศัยของเขตธนบุรี
ส่วนฉากสำคัญอื่นๆ อย่างฉากพิธีเลี้ยงฉลองงานแต่ง ถ่ายทำที่รีสอร์ทในจังหวัดกระบี่ ส่วนฉากวัดจีน ถ่ายทำในเมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ
ร้านนิวยืนยง และซอยนานาเหนือ
ใน Only God Forgives (2013)
หนังแนวต่อสู้ ไล่ล่า ตามฆ่า และแก้แค้นของอาชญากรมาเฟียที่เปลี่ยนเมืองจุดเทพสร้างให้กลายเป็นดินแดนคนเถื่อน โดยเลือกนำเสนอมุมมืดและเครือข่ายทางธุรกิจสีเทาในกรุงเทพฯ ที่แม้กระทั่งกฎหมายยังเลือกเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ตลอดทั้งเรื่อง
แต่การออกแบบงานสร้างของ Only God Forgives ไม่ได้สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเหมือนบทหนัง เพราะต้องตีความผ่านแสงที่ดูแปลกตาและสีฉูดฉาดในแต่ละฉาก ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากจินตนาการของผู้กำกับที่ต้องการทำให้กรุงเทพฯ สวยงามชวนค้นหาท่ามกลางความหม่นดำ ในขณะเดียวกันก็แสดงท่าทีถึงความไม่น่าไว้วางใจ ทั้งหมดเป็นความแตกต่างจากสถานที่ในความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
สถานที่ถ่ายทำหลักของหนังเรื่องนี้คือ โรงแรมเอ็มโพเรียม สวีทส์ บาย ชาเทรียม (Emporium Suites by Chatrium) The China House ห้องอาหารจีนกวางตุ้งในแมนดาริน โอเรียนเต็ล และซอยสุขุมวิท 3 หรือซอยนานาเหนือ ในเขตคลองเตย
สำหรับฉากสำคัญของเรื่อง หรือฉากกราดยิงในร้านอาหาร ถ่ายทำที่ ร้านนิวยืนยง ซึ่งตั้งอยู่ตรงแยกเฉลิมบุรี ย่านเยาวราช ส่วนฉากสนามมวยถ่ายทำที่ Rangsit Boxing Stadium หรือเวทีมวยนานาชาติรังสิต จังหวัดปทุมธานี
โรงแรมหรูย่านลุมพินี ตลาดกลางคืน และท่าเรือประตูน้ำ
ใน The Flight Attendant (2020)
หากไม่ใช่นักเดินทาง กรุงเทพฯ อาจไม่ใช่สวรรค์อย่างที่หลากคนอยากให้เป็น เพราะใน The Flight Attendant มินิซีรีย์ของ HBO Max ความยาว 8 ตอน ได้ฉายภาพความขัดแย้งระหว่างความหรูหราแบบที่นักท่องเที่ยวผู้มีทรัพย์กำลังมองหา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นความยากลำบากที่ชีวิตเอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะตกอยู่ในสถานะคนที่ต้องเอาตัวรอดจากเมืองหลวงที่หละหลวมแห่งนี้
ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายขายดีในชื่อเดียวกัน เมื่อแอร์โฮสเตสสาวกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม เธอร่วมหลับนอนกับหนุ่มผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่รู้สึกดึดดูดกันและกันตั้งแต่อยู่บนเครื่องบิน แต่หลังจากตื่นขึ้นมาบนเตียงในโรงแรมใจกลางเมืองติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถ่ายทำในโรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ (Anantara Siam Bangkok Hotel) ย่านลุมพินี เขากลับกลายเป็นศพนอนแน่นิ่งอยู่ข้างๆ ส่วนเธอก็จำอะไรแทบไม่ได้เพราะเมา
ผู้สร้างตัดสินใจเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจากดูไปเป็นกรุงเทพฯ ทำให้เรื่องราวตลกร้ายชวนตื่นเต้นและลุ้นละทึกของตัวละครทวีความวุ่นวายยิ่งกว่าเดิม
นอกจากบรรยายที่คนไทยคุ้นตาอย่างวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตลาดกลางคืน และท่าเรือประตูน้ำ บทพูดของตัวละครก็ช่วยขับเน้นลักษณะบางอย่างของสังคมไทยได้อย่างเจ็บแสบ เช่น ทันทีที่เพื่อนรู้ว่าตัวละครเอกอยู่กรุงเทพฯ เธอรีบเตือนว่าอย่าผลีผลามไปทำอะไรไม่เข้าท่า เพราะกระบวนการกฎหมายของประเทศไทยมีปัญหาจนไม่ควรเอาตัวเข้าไปเสี่ยง
อิมพิเรียลเวิลด์ สําโรง
ใน ユーリ!!! on ICE (2016)
เรื่องสุดท้ายแม้ไม่ใช่หนังและไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพฯ แต่ควรค่าแก่การกล่าวถึงร่วมด้วย
คงเป็นเพราะบนชั้น 5 คือที่ตั้งของ Imperial World Ice Skating ลานสเก็ตน้ำแข็งระดับมาตรฐานสากลแห่งเดียวของประเทศไทย ศูนย์การค้าเก่าแก่ที่อยู่คู่จังหวัดสมุทรปราการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 แห่งนี้ จึงปรากฏเป็นหนึ่งในฉากหลังให้กับ ユーリ!!! on ICE หรือ Yuri on Ice อนิเมะสัญชาติญี่ปุ่นความยาว 12 ตอนที่บอกเล่าเรื่องราวมิตรภาพและความฝันของบรรดานักกีฬาสเกตน้ำแข็งลีลา ผ่านตัวละครทีมชาติไทยวัย 20 ปีในชื่อ ピチット・チュラノン ถอดภาษาไทยได้ว่า พิชิต จุฬานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับตัวละครเอก
ถึงจะเป็นเพียงอนิเมะที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในประเทศญี่ปุ่น แต่ผู้สร้างกลับวาดภาพเก็บรายละเอียดของสถานที่จริงได้อย่างครบถ้วน เช่น สายไฟไร้ระเบียบดูรกตา ผู้คนที่กำลังเดินพลุกพล่านด้านหน้าศูนย์การค้า และรถเมล์ร้อนสีครีม-แดงซึ่งเดินทางระหว่างตัวเมืองสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ที่ขับผ่านไปอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะภายในลานสเก็ตน้ำแข็ง ที่ใช้เป็นพื้นที่ฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทยจริงๆ ซึ่งสหพันธ์สเก็ตน้ำแข็งนานาชาติ (International Skating Union) รับรองให้เป็นสนามจัดรายการแข่งขันมาตรฐานในประเทศเขตร้อนด้วย แสดงให้เห็นว่าผู้สร้างศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกีฬาสเก็ตน้ำแข็งมาเป็นอย่างดี จึงถ่ายทอดภาพออกมาได้สมจริงที่สุด
ปัจจุบัน Imperial World Ice Skating เปิดให้คนทั่วไปที่สนใจเล่นสเก็ตน้ำแข็งเข้าใช้บริการได้ ในอัตราค่าบริการชั่วโมงละ 200 บาท พร้อมให้ยืมรองเท้าสเก็ต ส่วนการเดินทางก็สะดวกมากกว่าเมื่อก่อน เพราะอิมพิเรียลเวิลด์ สําโรง มีทางเดินเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสำโรงโดยตรง
อ้างอิง
- Abigail Gillibrand. Inside Kaley Cuoco’s The Flight Attendant. https://bit.ly/3cvAejo
- Jennifer Kester. A Bangkok Hotel Lands A Cameo In ‘The Flight Attendant’. https://bit.ly/3w7ZaVU
- Rebecca Sharp. Bridget Jones: The Edge of Reason Film Locations in Thailand. https://bit.ly/3cqJFAj
- Rebecca Sharp. Only God Forgives Filming Locations in Bangkok. https://bit.ly/3wfTfOI
- Rebecca Sharp. The Hangover Part II Filming Locations in Bangkok. https://bit.ly/3x6jo2n
- ษมาวีร์ พุ่มม่วง. คุยกับทีมงานชาวไทย “In the mood for love”. https://onelapap.com/?p=712
- สมาคมกีฬาฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้งแห่งประเทศไทย. ความรู้เรื่องกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตและสปีดสเก็ตระยะสั้นในไทยและสากล. https://www.fsat.or.th/history