©ulture

ศิลปินญี่ปุ่นในยุคเอโดะคงไม่คาดคิดว่าผลงานที่ตนสร้างขึ้น จะกลายเป็น ‘ของฟรี’ ที่คนทั่วโลกเข้าถึงได้

Library of Congress หรือหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ เปิดให้ผู้คนเข้าถึงฐานข้อมูลภาพพิมพ์แกะไม้หรือ “อุกิโยะ” (ukiyo) และภาพวาดของศิลปินญี่ปุ่นตั้งแต่ยุคเอโดะจนถึงต้นยุคไทโช (pre-1915)

ภาพศิลปะราว 2,661 ภาพในฐานข้อมูล มีทั้งภาพของศิลปินญี่ปุ่นที่คนทั่วไปอาจไม่รู้จัก จนถึงระดับปรมาจารย์แห่งยุค เช่น คะสึชิกะ โฮะกุไซ, อันโด ฮิโระชิเงะ, อิโซดะ โคริวไซ

 

Kanagawa oki nami ura, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.
Kanagawa oki nami ura, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.

 

ภาพทั้งหมดเปิดให้ดาวน์โหลดได้ ตั้งแต่ไฟล์ .jpeg ขนาดเล็กและกลาง จนถึงไฟล์ .tiff ขนาดใหญ่ราว 40 MB ขึ้นไป

ด้วยขนาดไฟล์ระดับนี้ คนที่ชื่นชอบศิลปะญี่ปุ่น สามารถปริ้นภาพอุกิโยะไซส์โปสเตอร์ แล้วใส่กรอบติดผนังห้องได้

 

Pink flower blossoms on low stalk and two on a tall stalk, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.
Pink flower blossoms on low stalk and two on a tall stalk, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.

 

นอกจากความสวยงาม ภาพอุกิโยะยังมีมิติด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เพราะภาพเหล่านั้นเป็นเสมือนบันทึกชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน

 

 

เนื้อหาของภาพอุกิโยะส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงบันเทิงเริงรมย์ เช่น การขับร้อง เกอิชา ทิวทัศน์ ละครคะบุกิ หรือกระทั่งกิจกรรมทางเพศ ที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เพราะผู้คนในยุคนั้นมีแต่ความสุข แต่เป็นเพราะพวกเขาพยายามหันหลังให้กับความทุกข์

 

Teahouse at Koishikawa the morning after a snowfall, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.
Teahouse at Koishikawa the morning after a snowfall, Katsushika, Hokusai, 1760-1849.

 

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
Fukeiga, Ando, Hiroshige, 1797-1858.

 

คำว่า อุกิโยะ (ukiyo) ความหมายเดิมได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ เขียนเป็นตัวหนังสือญี่ปุ่นว่า 憂世 หมายถึง โลกนี้มีแต่ความทุกข์ หลังจากนั้นรับความหมายของคำว่า 浮生 จากภาษาจีน หมายถึง ชีวิตนี้ไม่เที่ยง

รวมกันเป็นคำใหม่เขียนว่า 浮世 ซึ่งหมายถึง “โลกนี้ไม่เที่ยง”

ในเมื่อโลกนี้คือทุกข์และไม่เที่ยง ผู้คนจึงเกิดความคิดว่าควรปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่ให้ความบันเทิง คำว่าอุกิโยะก็พบสัจธรรมแห่งชีวิตเช่นกัน เมื่อความหมายแปรผันไปตามความคิดของผู้คน

จากความหมายแห่งความทุกข์ กลับกลายเป็นความสุขอันเริงรมย์

 

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
Futon no ue no sinzou to sore o nagameru yujo, Kitao, Shigemasa, 1739-1819, Isoda, Koryusai, active 1764-1788.

 

ดังเช่น อะซะอิ เรียวอิ (Asai Ryoi) นักประพันธ์ในยุคนั้น บรรยายไว้ในนิยายชื่อ Ukiyo monogatari (浮世物語 หรือ “ตำนานของ อุกิโยะ”) ที่เขียนในปี 1661 ว่า

 

…ใช้ชีวิตอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง, ดื่มด่ำกับความงามของดวงจันทร์ หิมะ ดอกซะกุระ ใบเมเปิล, ร้องเพลง, ดื่มเหล้าสาเก, ไม่วิตกกับความขัดสนที่จะตามมา ปล่อยตัวปล่อยใจ ไม่มีความกังวล… เฉกเช่น น้ำเต้าที่ล่องลอยไปกับสายน้ำ… นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “อุกิโยะ”

 

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
Inokashira no ike benzaiten no yashiro, Ando, Hiroshige, 1797-1858.

 

การเข้าไปดูภาพอุกิโยะในฐานข้อมูล Library of Congress ในมุมหนึ่งจึงให้ความรู้สึกเหมือนการกลับไปมองภาพความสุขความทรงจำ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันแสนสั้น

และก่อนที่ทุกสิ่งจะเลือนลับ ศิลปินญี่ปุ่นในอดีตได้เก็บความเปราะบางของชั่วขณะนั้นในภาพวาดที่มีความหมายเดิมว่า “โลกนี้ไม่เที่ยง”

 

ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น
Fukeiga, Ando, Hiroshige, 1797-1858.

 

เข้าชมและดาวน์โหลดภาพอุกิโยะได้ที่ https://www.loc.gov/collections/japanese-fine-prints-pre-1915/

 

อ้างอิง

  • Openculture. Download 2,500 Beautiful Woodblock Prints and Drawings by Japanese Masters (1600-1915). https://bit.ly/2somW2O
  • Wikipedia. ภาพอุกิโยะ. https://bit.ly/2E48xiB