©ulture

“จากเอกสารทุกชิ้นที่ผมมี ผมคิดว่าตอนนี้ผมรู้จักอาจารย์เฟื้อมากกว่าหลายๆ คน”

ประโยคนี้ของ ธีระ วานิชธีระนนท์ นักสะสมงานศิลปะเจ้าของ 333 Gallery ยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงจำนวนอันมากมายของชิ้นงาน ไดอารี จดหมายราชการ จดหมายส่วนตัว ภาพถ่าย และสมบัติอื่นๆ ของ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่เขาเก็บรวบรวมเอาไว้ ณ 333 Gallery บนถนนสุรศักดิ์ ได้เป็นอย่างดี

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยากมาเยือนที่นี่ ในเดือนครบรอบวาระที่ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะลาจากโลกนี้ไป (อาจารย์เฟื้อเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2536) ทิ้งไว้ก็แต่มรดกทางวัฒนธรรมในฐานะผู้จุดประกายงานอนุรักษ์ศิลปะไทย โดยเฉพาะจิตรกรรมฝาผนังตามวัดสำคัญๆ ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา

333Gallery
ภาพถ่ายอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

แน่นอนว่าไม่ใช่คนไทยทุกคนจะรู้จักศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2528 ที่ชื่อเฟื้อ หริพิทักษ์ เพราะแม้แต่นักสะสมงานศิลปะอย่างธีระเองยังเพิ่งรู้จักอาจารย์เฟื้อเมื่อสิบปีที่ผ่านมานี้เอง

333Gallery
ธีระ วานิชธีระนนท์
นักสะสมงานศิลปะ เจ้าของ 333 Gallery

“ก่อนหน้านี้ผมทำงานอยู่ที่ประเทศเวียดนามมานานกว่า 30 ปี จึงสะสมแต่งานของศิลปินเวียดนามระดับมาสเตอร์ จนมีเพื่อนบอกว่าน่าจะสะสมผลงานระดับมาสเตอร์ของไทยบ้าง เขาก็แนะนำชื่อของอาจารย์เฟื้อให้รู้จัก ซึ่งตอนนั้นผมยังไม่ทราบเลยว่าอาจารย์เฟื้อคือใคร

“จนกระทั่งมีพรรคพวกในแวดวงนักสะสมงานศิลปะมาเสนองานให้ชุดนึง เป็นพวกเอกสาร สเก็ตช์ โน้ตบุ๊ก และไดอารีของอาจารย์เฟื้อ ผมก็เริ่มศึกษา เปิดดูว่ามีโน้ตอะไรบ้าง เอกสารอะไรบ้าง จดหมายอะไรบ้าง”

ธีระลุกไปหยิบเอกสารบางฉบับและไดอารีบางเล่มที่มีอายุเฉียดร้อยปีของอาจารย์เฟื้อมากางให้เราดูบนโต๊ะ ซึ่งถือเป็นกิจวัตรปกติของเขาในการพาผู้ที่สนใจและติดต่อนัดหมายมาล่วงหน้า เยี่ยมชมกรุสมบัติอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ด้วยตัวเอง

333Gallery
ตำราเรียนต่างๆ เมื่อครั้งอาจารย์เฟื้อใช้ชีวิตที่ประเทศอินเดีย

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ที่สนใจรู้จักตัวตนและผลงานของอาจารย์เฟื้อมากขึ้น มักมาจากหนังสือเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของท่าน ที่มีผู้เขียนขึ้นมากมายหลายเล่ม แต่สำหรับธีระ เขาทำความรู้จักอาจารย์เฟื้อผ่านลายมืออ่านยากบนกองกระดาษเก่าเก็บ ที่เขาค่อยๆ แกะความหมายไปทีละใจความนานร่วมปี โดยเอกสารชุดแรกที่เขาได้มาไว้ในครอบครอง เป็นไดอารีสมุดโน้ต จดหมายติดต่อราชการ จดหมายติดต่อภรรยา ฯลฯ ทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้ในตู้เหล็กขนาดใหญ่ 2 ตู้ ที่ธีระเหมาะซื้อมาในราคาเจ็ดหลัก

นอกจากนี้ ยังมีกระดาษแก้วอีกเป็นจำนวนมาก ที่อาจารย์เฟื้อใช้สำหรับคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ โดยแทบทุกชิ้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม กรอบ หรือเปราะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ จนธีระต้องส่งต่อให้หมอศิลปะอย่างอาจารย์ขวัญจิต เลิศศิริ เป็นผู้ซ่อมแซม และสามารถคืนชีวิตให้กับกระดาษแก้วบางส่วนได้ ในขณะที่ยังมีผลงานของอาจารย์เฟื้ออีกเป็นจำนวนมากกำลังรอการอนุรักษ์ซ่อมแซม

333Gallery
ไดอารีส่วนตัวของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

“ผมก็เริ่มต้นศึกษาจากตรงนั้นมาเรื่อยๆ และคัดเลือกชิ้นที่ดีๆ ชิ้นที่คิดว่ามีประโยชน์ นำมาใส่กรอบ แล้วจัดแสดงนิทรรศการ บวกกับการเริ่มอ่าน หาความรู้ ถามคนโน้นคนนี้ว่าอาจารย์เฟื้อเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไร จนได้รู้ว่าผลงานชิ้นสำคัญที่สุดของอาจารย์เฟื้อ คือ การอนุรักษ์หอไตรที่วัดระฆัง”

งานอนุรักษ์หอพระไตรปิฎกที่วัดระฆังโฆษิตาราม ถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่บุกเบิกให้เกิดการอนุรักษ์ศิลปกรรมในวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยตามมา

เฉพาะงานอนุรักษ์หอไตรเพียงแห่งเดียว อาจารย์เฟื้อใช้เวลาร่วม 20 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ และผลงานชิ้นนี้ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานบูรณะที่มีรูปแบบของการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สมบูรณ์ที่สุด

333Gallery

333Gallery
แฟ้มรวมงานอนุรักษ์ศิลปะไทยของอาจารย์เฟื้อ

ระหว่างที่ธีระรู้จักอาจารย์เฟื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มีผู้ติดต่อนำเอกสารและผลงานของอาจารย์เฟื้อมาให้เขาเก็บรักษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จนทำให้ 333 Gallery กลายเป็น archive หรือหอจดหมายเหตุที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ไว้มากชิ้นที่สุด

333Gallery
ภาพสเก็ตช์ทัชมาฮาล

“ล่าสุดเมื่อประมาณ 1-2 ปีทีแล้ว ผมเพิ่งได้เอกสารชุดของอินเดียมา จากการแนะนำของพรรคพวกที่สิงคโปร์ที่ทำงานเกี่ยวกับนักศึกษาที่ไปเรียนต่อที่ศานตินิเกตัน ซึ่งอาจารย์เฟื้อเคยไปเรียนที่นั่น โดยเจ้าหน้าที่ที่เก็บชิ้นงานเอาไว้ก็ไม่รู้จักว่าอาจารย์เฟื้อเป็นใคร และในเวลานั้นผมกำลังจะจัดงาน 108 ปีชาตกาลอาจารย์เฟื้อพอดี เลยอีเมลติดต่อเขา เพื่อขอยืมชุดงานที่เขามีมาจัดแสดงที่นี่ เขาก็เลยหอบงานชุดนั้นมาร่วมจัดแสดง และพอเขาเห็นว่าผมเก็บงานอาจารย์เฟื้อไว้เยอะมาก เขาจึงยกให้ผมเก็บชิ้นงานจากอินเดียเอาไว้ทั้งหมด”

333Gallery
หนังสือที่อาจารย์เฟื้ออ่านสมัยที่ใช้ชีวิตในประเทศอินเดีย
333Gallery
อาจารย์เฟื้อมักใช้พื้นที่ว่างในหนังสือสเก็ตช์ภาพที่เห็นแบบทันทีทันใด
333Gallery
หรือต่อให้ไม่มีหน้าว่าง แต่เพื่อบันทึกสิ่งที่ตาเห็นให้ทันใจที่สุด ต่อให้ต้องวาดทับบนตัวหนังสือก็ไม่ใช่ปัญหา ภาพนี้เป็นบันทึกลวดลายศิลปะโมกุลภายในเพดานของทัชมาฮาล

หากชุดผลงานในประเทศอินเดียเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยเติมภาพผลงานแห่งชีวิตของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ให้ค่อยๆ เต็มยิ่งขึ้น ผลงานภาพเขียนสีน้ำมัน Jama Masjid ที่ธีระเพิ่งได้มาไว้ในครอบครองเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ก็ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญอีกชิ้นที่เพิ่งมาเสริมภาพใหญ่ภาพนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

333Gallery
ภาพวาด Jama Masjid ที่น้อยคนจะได้เห็น

หลังจากชมเอกสารและชิ้นงานจำนวนหนึ่งที่เก็บไว้บริเวณชั้นล่างเป็นที่เรียบร้อย ธีระก็พาเราขึ้นลิฟต์ไปยังชั้น 3 เพื่อเยี่ยมชมผลงานที่ถูกคัดเลือกและแบ่งหมวดหมู่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ โดยธีระนำงาน Archive บางส่วนมาจัดแสดงเป็นครั้งแรกในวาระครบรอบ 107 ปีชาตกาลอาจารย์เฟื้อ เมื่อ พ.ศ. 2560

333Gallery
เจ้าของแกลเลอรี่นำชมทุกชิ้นงานด้วยตัวเอง

และหลังจากนั้น เขาก็จัดงานชาตกาลเพื่อรำลึกถึงอาจารย์เฟื้อเป็นประจำในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเดือนเกิดของอาจารย์เฟื้อ โดยในแต่ละปีก็จะมีชิ้นงานของอาจารย์เฟื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่คาดคิด ราวกับว่าผลงานแต่ละชิ้นถูกแม่เหล็กดึงดูดให้มารวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่นี่

333Gallery

333Gallery
ห้องจัดแสดงผลงานอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

บนผนังทั้งสี่ด้านของหัองจัดแสดงนิทรรศการบนชั้น 3 เรียงรายด้วยผลงานในแต่ละช่วงชีวิตที่บอกเล่าเรื่องราวถึงแต่หนหลังของเจ้าของลายเส้นได้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่ครั้งที่เขายังเป็นศิษย์ก้นกุฏิของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ผลักดันให้เฟื้อเดินทางไปศึกษาต่อด้านศิลปะ ทั้งในประเทศอินเดียและอิตาลี โดยความขบถในตัวศิษย์รักทำให้เจ้าตัวไม่เคยมีปริญญาบัตรรับรองการศึกษาของตัวเองสักใบ แม้จะเคยเล่าเรียนในสถาบันศิลปะชั้นนำของไทยอย่างสถาบันเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้อาจารย์ศิลป์ต้องร่างหนังสือรับรองพร้อมลายเซ็นกำกับ เพื่อให้เฟื้อใช้เป็นหลักฐานยืนยันความสามารถของตน

อาจารย์เฟื้อเก็บรักษาจดหมายรับรองที่มีลายเซ็นของอาจารย์ศิลป์ไว้เป็นอย่างดีทุกฉบับ และถูกนำมาจัดแสดงไว้ ณ ที่แห่งนี้

333Gallery
หนังสือรับรองโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

“ข้าพเจ้าขอรับรองว่านายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นนักเรียนศิลปะของข้าพเจ้า ที่มีพรสวรรค์อันหาตัวจับยาก และเป็นศิลปินผู้อุทิศตนเพื่องานทางศิลปะอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาศิลปะรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง บางที นายเฟื้อ หริพิทักษ์ อาจจะเป็นศิลปินที่ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งของสยามประเทศเวลานี้”

ศิลป์ พีระศรี

นอกจากจดหมายราชการต่างๆ แล้ว หนึ่งในจดหมายฉบับสำคัญที่ถูกนำมาจัดแสดงเป็นจดหมายส่วนตัวที่ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร ภรรยาคนแรกของอาจารย์เฟื้อ เขียนถึงผู้เป็นสามีที่เดินทางไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2484

333Gallery
จดหมายที่ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร เขียนถึงอาจารย์เฟื้อ

จดหมายที่มีเนื้อความเป็นภาษาอังกฤษฉบับนี้ “เฟื้อเก็บเอาไว้อย่างทะนุถนอม โดยผนึกกาวไว้กับผืนผ้า และม้วนไว้ในกลักป้องกันแมลงกัดทำลาย” คือ ถ้อยความที่ ’รงค์ วงศ์สวรรค์ บันทึกไว้ในงานเขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเฟื้อ หริพิทักษ์ 

นอกจากจดหมายที่ได้รับคัดเลือกมาจัดแสดง ธีระยังมีจดหมายส่วนตัวของอาจารย์เฟื้อเก็บไว้อีกเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นฉบับสำเนาที่อาจารย์เฟื้อมักคัดลอกเก็บไว้ชุดหนึ่ง และส่งถึงมือผู้รับอีกชุดหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงความละเอียดรอบคอบและการเป็นคนช่างเก็บของอาจารย์เฟื้อได้เป็นอย่างดี

333Gallery

333Gallery
ภาพสเก็ตช์ผู้คนในอินเดีย

บนผนังกลางห้อง ฟากหนึ่งจัดแสดงภาพสเก็ตช์จากถ่านและดินสอสีรูปผู้คนและทิวทัศน์ที่อินเดีย อีกฟากหนึ่งเป็นงานคัดลอกจิตรกรรมไทย รวมถึงประติมากรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ที่ปรากฏในวัดวาอารามทั่วประเทศ ซึ่งอาจารย์เฟื้อออกตระเวนบุกป่าฝ่าดงเดินทางแข่งกับเวลา เพื่อตามเก็บชิ้นส่วนของวัฒนธรรมก่อนจะสูญหายไป การเดินทางของอาจารย์เฟื้อปรากฏบนแผนที่ประเทศไทยที่แสดงถึงเส้นทางและจุดหมายที่เจ้าตัวเคยไปเยือน

333Gallery
ภาพสเก็ตช์วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน

333Gallery

333Gallery

333Gallery
ภาพสเก็ตช์และงานคัดลอกเพื่ออนุรักษ์ศิลปะไทย

นอกจากพื้นที่จัดแสดงผลงานคัดสรรบนกำแพงแล้ว ยังมีรายละเอียดในชีวิตของอาจารย์เฟื้ออีกเป็นจำนวนมากถูกเก็บไว้ในหีบใบเขื่อง ที่เคยเดินทางข้ามทะเลไปกับเขาไกลถึงชมพูทวีปและแผ่นดินยุโรป

333Gallery
บันทึกจากหีบเดินทาง
333Gallery
ภาพถ่ายของอาจารย์เฟื้อระหว่างเดินทาง

รวมถึงหนังสือทุกเล่มที่อาจารย์เฟื้อเคยอ่านก็ถูกรวบรวมไว้ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นตำราเรียนภาษาอังกฤษ ตำราโยคะ หนังสือธรรมะ อนุทินจดบันทึกเรื่องราวในแต่ละขวบปีของชีวิต ไปจนถึงแฟ้มบันทึกเกียรติประวัติเมื่อครั้งได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการชุมชน เมื่อ พ.ศ. 2526

333Gallery
หนังสือที่อาจารย์เฟื้อเคยอ่าน
333Gallery
หนังสือที่อาจารย์เฟื้อเคยเขียน

เป็นเวลาหลายชั่วโมงที่เราขลุกอยู่กับสมบัติส่วนตัวของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ โดยมีธีระ วานิชธีระนนท์ ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ชั้นดี คอยหยิบเอกสาร ภาพถ่าย และหนังสือเล่มแล้วเล่มเล่า พร้อมบรรยายเรื่องราวแต่หนหลังให้ฟัง ทั้งโดยละเอียดหรือพ่วงมากับการคาดคะเนบ้างก็เป็นไปตามธรรมชาติของการศึกษาประวัติศาสตร์ ที่มาพร้อมการสันนิษฐาน และยังไม่มีบทสรุปที่แน่นอน

เพราะในวันข้างหน้า ผลงานชิ้นอื่นๆ ของอาจารย์เฟื้อ อาจเดินทางมาสมทบยังแกลเลอรี่แห่งนี้เพิ่มเติม เพื่อเรียงร้อยเรื่องราวในชีวิตของศิลปินผู้อุทิศชีวิตให้การทำงานศิลปะคนนี้ ให้คนรุ่นหลังได้ศีกษาต่อไป

333Gallery

สมกับที่ครั้งหนึ่งอาจารย์เฟื้อเคยกล่าวไว้ว่า

“ข้าพเจ้าทำศิลปะ ด้วยใจรัก ใจเลื่อมใส และจริงใจ มิได้ทำไปเพราะใยแห่งอามิส

ข้าพเจ้าทำศิลปะเพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริงในความงามอันเร้นลับ อยู่ภายใต้สภาวะธรรมฯ

ผลงานอันเกิดจากกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจของข้าพเจ้า ขอน้อมอุทิศให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า”

เฟื้อ หริพิทักษ์

333Gallery

ความรู้สึกของการได้มาเยือนหอจดหมายเหตุอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่ 333 Gallery เหมาะกับคำว่า “เกินอิ่ม” เพราะนอกจากจะได้เห็นชิ้นงานหายากที่เปี่ยมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว การได้สัมผัสรายละเอียดของการเก็บรักษาข้าวของและเอกสารทุกชิ้นเป็นอย่างดีของอาจารย์เฟื้อ ที่เก็บแม้กระทั่งบิลค่าล้างอัดรูป และใบเสร็จค่าอาหารบนเรือ ยังเป็นการส่งต่อความหมายที่แท้จริงของงานอนุรักษ์ ที่ช่วยให้รากเหง้าของบางสิ่งบางอย่างยังคงอยู่สืบไป

ผู้ที่สนใจชมงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ สามารถนัดหมายเข้าชมล่วงหน้าได้ที่ โทร 08-1845-1371 หรืออินบ๊อกซ์ไปที่ 333Gallery ได้โดยตรง 

แนะนำว่าควรศึกษาชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มาก่อนพอสังเขป เพื่อเพิ่มอรรถรสในการเยี่ยมชม