©ulture

เทศกาลโอบ้ง (Obon) ทุกปลายฤดูร้อน ชาวญี่ปุ่นจะพากันกลับบ้านไปไหว้บรรพบุรุษ ไม่ว่าลูกๆ หลานๆ จะอาศัยอยู่ที่ไหนก็จะต้องเดินทางไกลมาอย่างพร้อมเพรียงกันเพื่อปัดกวาดเช็ดถูสุสาน โดยมีลูกชายคนโตของตระกูลเป็นหัวเรือใหญ่ 

หลายปีให้หลังมานี้ วิถีชีวิตของพวกเขาเริ่มเปลี่ยนไป เพราะ ‘คนเกิดน้อย คนตายเยอะ สุสานแยะ’

Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

ในอดีต โทะโมะฮิโระ ฮิโระเสะ (Tomohiro Hirose) พระลูกวัดชินเคียวจิ (Shinkyouji) ในโตเกียวต้องรับหน้าที่ดูแลสุสานของผู้ล่วงลับกว่า 300 สุสาน ในจำนวนทั้งหมดนี้เป็นสุสานที่ถูกปล่อยร้าง ไร้คนเหลียวแลเกินครึ่ง เพราะการจะมาเยี่ยมสุสานแต่ละครั้งนั้นไม่ง่ายเลย หลายๆ ครอบครัวต้องออกจากตัวเมือง ใช้เวลาขับรถทางหลายชั่วโมง นั่งรถไฟจนเมื่อย กว่าจะไปถึงสุสานที่บ้านเกิด ซึ่งเปลืองทั้งเงินและเวลา

พระโทะโมะฮิโระ ฮิโระเสะ (Photo : Behrouz MEHRI / AFP)
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุที่แต่ละวันมีคนตายมากกว่าคนเกิด ในเอเชียเองก็เช่นกัน รายงานของสหประชาชาติเผยว่าในปี 2050 ในญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไทย ประชากร 1 ใน 10 จะมีอายุเกิน 80 ปี ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น 

ในปี 2559 ญี่ปุ่นมีผู้เสียชีวิต 1.3 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในครอบครัวหนึ่งคนตายอาจจะมากกว่าคนเกิด ค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีศพก็สูงขึ้น สวนทางกับขนาดครอบครัวที่เล็กลงเรื่อยๆ พิธีแบบดั้งเดิมอาจไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้คนอีกต่อไป จึงทำให้เกิดทางเลือกใหม่ๆ มากมาย ที่จะจัดพิธีศพได้อย่างรวดเร็ว จัดการเถ้ากระดูกได้อย่างง่ายดาย ไปเยี่ยม ไปไหว้ใกล้บ้าน

Photo : Behrouz MEHRI / AFP

หลายปีให้หลังมีบริการจัดการศพใหม่ๆ มากมาย และมีสุสานแบบใหม่อยู่ทั่วเมืองที่มักตั้งอยู่อาคารสมัยใหม่ที่กลมกลืนกับตึกรามบ้านช่อง

คุระมะเอะ-เรียวเอ็น (Kuramae- Ryoen) เป็นหนึ่งในสุสานสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ปี 2011 ตัวอาคารของวัด ชินเคียวจิน (Shinkyouji) วัดเก่าแก่ในโตเกียวเสียหายเกือบทั้งหลัง วัดจึงใช้โอกาสนี้สร้างอาคารใหม่ขึ้นมาเป็นสุสานโมเดิร์นที่ใช้จัดเก็บเถ้ากระดูก ให้ผู้คนมาไหว้บรรพบุรุษ

Photo : Behrouz MEHRI / AFP

เถ้ากระดูกผู้ล่วงลับจะถูกเก็บไว้ใน ‘กล่องซูชิ’ หรือ ‘Zushi box’ ซึ่งเรียงกันเป็นระเบียบอยู่ในโกดังหลังบ้าน 7,000 กล่อง แต่ละกล่องจะบรรจุเถ้ากระดูกได้ 8 คน มีแท่นบูชาเรียงรายอยู่นับสิบสำหรับญาติมาไหว้ เพียงสแกนไอดี รูปของผู้ล่วงลับจะปรากฏบนจอมอนิเตอร์ จากนั้นเครนอัตโนมัติจะนำแผ่นศิลาคล้ายกับป้ายหน้าหลุมศพที่สลักชื่อและ QR Code มายังแท่นให้ไหว้

Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

ระบบโกดังเถ้ากระดูกของที่นี่ออกแบบโดย Daifuku บริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องระบบเครนในโกดังสินค้า นอกจากคุระมะเอะ-เรียวเอ็นแล้ว ที่นี่ยังออกแบบระบบหลังบ้านให้กับสุสานโมเดิร์นว่า 60 แห่งทั่วญี่ปุ่น โดยลูกค้ารายแรกๆ ที่ใช้บริการมีมาตั้งแต่ยุค 90s

Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

แม้บางวัดมีพื้นที่เล็ก ไม่เพียงพอสำหรับทำระบบโกดัง ก็มีฟีเจอร์เจ๋งๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับญาติๆ เช่น ที่วัดโคะโคะคุจิ ในโตเกียว ก็มีสุสานสมัยใหม่อยู่ในห้องเล็กๆ แสงไฟแอลอีดีทำให้ห้องมืดๆ สว่างขึ้น แต่ทว่ายังสงบ ไฟเปลี่ยนสี เล่นแสงไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกผ่อนคลาย เมื่อเพ่งเข้าไปมองใกล้ๆ จะเห็นว่าแสงเหล่านั้นมาจากองค์พระพุทธรูปเล็กๆ กว่า 2,000 องค์ที่เรียงกันจนเต็มผืนผนัง แต่ละองค์เป็นตัวแทนของผู้ล่วงลับที่อยู่ในสุสานแห่งนี้ เมื่อญาติระบุไอดีของผู้ล่วงลับเพื่อไหว้เคารพ พระพุทธรูปองค์นั้นก็จะเปลี่ยนเป็นอีกสีได้อีกด้วย

Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

สุสานสมัยใหม่นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาเดินทางและใช้พื้นที่น้อยแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหลุมศพแบบดั้งเดิมเกินครึ่ง เหลือเพียง 7,100 ดอลลาร์ (~244,000 บาท) เพราะไม่ต้องก่อสร้างมากมาย ใช้วัสดุน้อย แถมยังเก็บเถ้าไว้ได้นานถึง 30 ปี นับว่าตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนได้แทบทุกด้าน

อีกทั้งเปลี่ยนให้สุสานไม่ใช่ที่ที่น่ากลัว ไม่ได้อยู่ในสวนที่เศร้าโศก แต่อยู่ในตึกธรรมดาใกล้บ้าน ที่ทำให้คนเป็นไม่ต้องห่วงว่าตนตายจะเหงา และทำให้พวกเขาได้ใกล้กันมากขึ้น

Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP
Photo : Behrouz MEHRI / AFP

อ้างอิง