©ulture

‘เกาหลีเขามีลูกเล่น’ 

ตั้งแต่ซารางเฮโยมาจนมินิฮาร์ต เกาหลียังไม่หยุดคิดเทรนด์ถ่ายรูป ล่าสุด ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ท่าที่นิยมกันในหมู่ไอดอลเกาหลีอยู่ช่วงหนึ่งเห็นจะเป็น ‘เกียรุพีซ’ ชูสองนิ้ว หงายมือยื่นไปทางกล้องแบบซนๆ 

หลายคนอาจคิดว่านี่เป็นเทรนด์ใหม่ของเกาหลี แต่ที่จริงแล้วเกียรุพีซนั้นเป็นลูกเล่นที่ถูกหยิบยืมมาจาก พี่สาวชาว ‘แกล’ หนึ่งในวัฒนธรรมย่อยยุค 90s ที่มีสีสันบนหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

(Photo : flickr – tokyofashion)

‘Gyaru’ (เกียรุ) หรือ แกล (Gal) เป็นวัฒนธรรมย่อยของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างถึงขีดสุดในปี 2000 สมัยนั้นถ้าเดินไปตามย่านชิบูย่าหรือฮาราจุกุ แหล่งรวมตัวของวัยรุ่น ถนนทุกเส้นคงเต็มไปด้วยกลุ่มสาวแกลที่มาเดินอวดชุด เล่นสนุก เสียงดังโหวกเหวก ครึกครื้นไปทั้งย่าน 

จุดเด่นของพวกเธอคือผิวสีแทน ผมสีบลอนด์ แต่งหน้าจัด ขนตาหนาเป็นแพ แต่งตัวเก่ง และมักจะโพสท่าชูสองนิ้วหงายเวลาถ่ายรูปเรียกว่า ‘เกียรุพีซ’

‘เรย์’ จากวงไอฟ์

แฟชั่นสาวแกลคืนชีพอีกครั้งในหมู่ไอดอลเกาหลีตั้งแต่เมื่อราวๆ ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ‘เรย์’ สมาชิกชาวญี่ปุ่นหนึ่งเดียวจากเกิร์ลกรุ๊ปวง ไอฟ์ (IVE) เซลฟี่ด้วยท่า ‘เกียรุพีซ’ หลังจากนั้นไอดอลเกาหลีเกือบทั้งวงการก็พากันสแนปภาพสองนิ้วฉบับพี่สาวชาวแกลลงไอจีกันเป็นว่าเล่น

จนกระทั่ง PANXI ศิลปินชาวเกาหลีใต้ก็ได้นำเพลง GAL ของ OHAYO feat. Shake Pepper & Yvngboi P ไปรีมิกซ์เป็นเวอร์ชันเกาหลีด้วยบีตแน่นๆ กับเสียงร้องกวนๆ กลายเป็นชาเลนจ์ ‘Gal Jjang Yeppeuda’ ที่เป็นกระแสใน TikTok ตีตื้นเกียรุพีซมาอย่างรวดเร็ว

@aespa_official 뒤늦게 합류🫡#aespa #KARINA #GISELLE ♬ 갸루 짱 예쁘다 GAL Kor ver by 판시 – *⸜ PANXI ⸝*

‘เกียรุพีซ’ ฟีเวอร์ไม่ได้ฮิตแค่ในเกาหลีเท่านั้น แต่ระบาดไปยังฝั่งยุโรปด้วย แม้แต่ ทอม ครูซ (Tom Cruise) นักแสดงฮอลลีวูดรุ่นเก๋ายังแพ้เสียงเรียกร้อง ต้องชูสองนิ้วใส่กล้องเรียกเสียงกรี๊ดจากแฟนๆ ชาวเกาหลีใต้สนั่นในงานพรมแดงเปิดตัวภาพยนตร์เรื่อง Top Gun: Maverick ณ กรุงโซล เมื่อ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา

 

เกียรุพีซและแดนซ์ชาเลนจ์ที่เพิ่งกลับมา ได้พาให้แฟชั่นสาวแกลฟื้นคืนชีพด้วย ล่าสุดเจนนี่ (Jennie Kim) แบล็คพิงค์ (Blackpink) ที่ถ่ายแบบคอลเล็กชันใหม่ของชาแนลให้กับนิตยสาร W Korea ฉบับเดือนกรกฎาคม 2022 ก็มาในลุคผมบลอนด์ทองเหยียดตรง ผิวสีแทน ลิปสีนู้ด และกรีดอายไลน์เนอร์สีดำแบบสาวแกลไม่มีผิด ส่วนสองไอดอลฝั่งญี่ปุ่นจาก 48 กรุ๊ป ฮอนดะ ฮิโตมิ (Honda Hitomi) และ ยาบุกิ นาโกะ (Yabuki Nako) อดีตสมาชิกวงไอโซน (I*ZONE) ก็จับคู่กันมาถ่ายแบบธีมสาวแกลก๋ากั่น หยิบมินิสเกิร์ตสั้นๆ แมทช์กับเสื้อยืดรัดรูปพาลุคของสาวแกลกลับมาอีกครั้งในนิตยสาร NYLON Japan ฉบับเดือนกรกฎาคม 2022


คำว่า ‘แกล’ คือภาษาอังกฤษที่เพี้ยนจากคำว่า Girl  มาเป็น Gal และเขียนทับศัพท์ในภาษาญี่ปุ่นได้ว่า Gyaru (ギャル) อ่านว่า ‘เกียรุ’ ในยุคนั้นนี่คือวัฒนธรรมย่อยอันแข็งแรงที่ได้รับความนิยมในวงกว้างในหมู่หญิงสาวชาวญี่ปุ่น

พวกเธอมักจะฟอกสีผิวให้แทน กัดสีผมให้บลอนด์ทอง แต่งตัวจัดจ้านตามซึ่งแตกต่างกันไปตามความชอบส่วนบุคคล ช่วงที่วัฒนธรรมแกลได้รับความนิยม มีแบรนด์เสื้อผ้ามากมายทำคอลเล็กชันออกมาตีตลาดสาวแกลแทบทุกซีซัน ไม่ว่าจะเป็น Cocolulu, LIZ LISA หรือ ma*rs ฯลฯ บ้างเป็นแนวพังค์ บ้างเป็นตุ๊กตาหวานๆ บ้างเป็นเอี๊ยมแบบฝั่งตะวันตก แต่ทุกแบบล้วนเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความแปลกใหม่ เป็นแฟชั่นสมัยนิยม (ในยุคหลังๆ สาวแกลหันมาแต่งตัวตามแฟชั่นกระแสหลักอย่าง Zara หรือ H&M)

สไตล์การแต่งหน้าก็เป็นเอกลักษณ์ เพราะพวกเธอจะให้ความสำคัญกับดวงตาเป็นพิเศษ ขนตาต้องหนาเป็นแพ ดัดให้งอน กรีดอายไลน์เนอร์สีดำขลับและใส่คอนแท็กเลนส์แฟชั่น รวมถึงไฮไลต์จัดๆ ที่แก้มพร้อมปาดลิปสติกสีนู้ดไปจนเกือบขาว

ในปี 2008 ช่วงที่แกลกำลังรุ่งเรือง คอนแทคเลนส์แฟชั่นได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้หญิงญี่ปุ่น จนกลายเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติ เนื่องจากใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นทำให้เกิดเคสตาอักเสบหลายร้อยเคส

(Photo : นิตยสาร Egg)

นอกจากหน้าตาจะดูเข้มคม ผมยังกัดให้เป็นสีบลอนด์ทอง จัดทรงตามอัธยาศัย บ้างหนีบตรง บ้างม้วนให้เป็นวอลลุ่มเหมือนตุ๊กตา แต่ทรงผมที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ ซุจิโมะริ (Sujimori : スジ盛り) ทรงนี้ทำได้หมดไม่ว่าจะผมสั้น ผมยาว จะเป็นสาวแกลหรือหนุ่มแกล วิธีทำค่อนข้างซับซ้อน เพราะใช้หลายเทคนิคผสมผสานกัน ส่วนใหญ่จะม้วนผมให้เป็นวอลลุ่ม ยีให้พองฟูใหญ่ๆ เข้าไว้ ถ้าใหญ่ไม่พอก็ใช้วิกช่วยเสริมอีกชั้น เพราะสาวแกลเชื่อว่ายิ่งใหญ่ยิ่งสวย ยิ่งพองยิ่งเด่น  

ทรงผมแบบซุจิโมะริ (Photo : Youtube – Kinowear)

แกลเป็นวัฒนธรรมย่อยที่เหมือนต้นไม้ใหญ่ มีรากแก้วเดียวกันและเติบโตแผ่กิ่งก้านไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แบ่งเป็นกลุ่มตามสไตล์และความสนใจ ผสมผสานความเป็น ‘แกล’ เขากับแฟชั่นแห่งยุคสมัยจนบัญญัติชื่อเรียกประเภทไว้ได้ไม่หมด ที่โดดเด่น เช่น

แกงกุโระ (Ganguro) สาวแกลที่ฟอกผิวแทนเข้มจัด กัดผมสีอ่อน สไตล์การแต่งหน้าโดดเด่น เพราะมักจะไฮไลต์สีขาวรอบดวงตาเป็นวงใหญ่ๆ ทาลิปสติกสีนู้ดสว่างจนเกือบขาว ติดขนตาปลอมเป็นแพหนาๆ ติดกลิตเตอร์วาววับหรือสติกเกอร์ดอกไม้ประดับรอบดวงตา เรียกได้ว่าค่อนไปทางแฟนซีที่สุดในหมู่สาวแกลเลยก็ว่าได้ ชื่อเรียก ‘แกงกุโระ’ นั้นมาจากการผสมคำว่า คะโอะ (Kao : 顔) ซึ่งหมายถึงใบหน้า และ คุโระ (Kuro : 黒) ซึ่งหมายถึงสีดำ โดยรวมหมายถึงสาวแกลที่ใบหน้ามีสีแทนจัดๆ นั่นเอง

เอริมกโกะริ (Erimokkori) ตอนอายุ 24 ปี ซึ่งเป็นแกลกุโระมานานกว่า 10 ปี (Photo : www.fragmentsmag.com)

โคเกียรุ (Kogyaru) หรือ โคแกล สาวแกลวัยกระเตาะในชุดนักเรียนม.ปลาย (แบบผิดระเบียบ) ที่สวมกระโปรงสั้นกว่าปกติ มีทั้งที่เป็นนักเรียนจริงๆ และคนที่อยากจะแต่งชุดนักเรียนเนียนเป็นโคแกลกับเขาด้วย จุดเด่นของสไตล์นี้คือถุงเท้าย้วยๆ ที่ลงมากองอยู่ตรงข้อเท้า แม้จะผิดระเบียบแต่ก็ฮิตมากในหมู่นักเรียนม.ปลายยุคนั้น แบรนด์ถุงเท้าที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ E.G. Smith จากฝั่งอเมริกา

โคแกลในปี 2015 (Photo : flickr – tokyofashion)

เกียรุโอะ (Gyaruo) ผู้ชายที่แต่งตัวสไตล์แกล ยังคงคอนเซ็ปต์ผมสีบลอนด์ทองและผิวสีแทนเช่นเดียวกัน และมักควงคู่มากับสาวแกลเป็นคู่รัก แต่งตัวมาเดินเล่นกันในย่านการค้าของญี่ปุ่น

(Photo : flickr tokyofashion)

นอกจากหนุ่มสาววัยรุ่นแล้ว ยังมี เกียรุมามา (Gyaru mama) หรือ แกลมามา คุณแม่ที่มีใจรักจะเป็นแกล พวกเธอแต่งตัวและมีไลฟ์สไตล์เหมือนสาวแกลปกติ เพียงแต่บางทีอาจจะกระเตงลูกมาด้วย พามาพบปะเพื่อนๆ เป็นแก๊งหรือแต่งตัวให้เข้าชุดกันกับคุณแม่ อายุไม่ใช่ปัญหาเมื่อมีใจรักแกล ปรากฏการณ์ของแกลมาม่านั้นน่าสนใจ ถือว่ามีอิทธิพลเปลี่ยนแปลงเทรนด์ตลาดแม่และเด็กในญี่ปุ่นยุคนั้นไปเลยด้วย 

(Photo : นิตยสาร I Love Mama)

อะยะโคะ ยะมะชิตะ (Ayako Yamashita) บรรณาธิการนิตยสาร I love Mama เผยว่าคุณแม่ชาวแกลนั้นมีรสนิยมที่แปลกใหม่ พวกเธอมักจะเลือกของเล่นสีดำที่ประดับด้วยเพชรสีชมพูแสบสันให้ลูกแทนที่จะเป็นสีพาสเทลซอฟต์ๆ แบบเดิม จนกระทั่งหลังๆ ของเล่นที่คุณแม่ชาวแกลเลือกก็ขายดิบดีในหมู่คุณแม่คนอื่นๆ ด้วย

มิโฮะโกะ นิชิอิ (Mihoko Nishii) จากเครือ เดนสึ (Denstu) เอเจนซี่โฆษณาขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นได้ทำการสำรวจในผู้หญิงชาวญี่ปุ่นอายุระหว่าง 18-34 พบว่า 12 เปอร์เซ็นต์เป็นสาวแกลเต็มตัว และในจำนวนนั้นกว่าครึ่งเป็น ‘พาแกล’ (Pa gal) ที่ไม่ได้ระบุว่าตัวเองเป็นแกล แต่กลับแสดงออกผ่านสไตล์การแต่งหน้า เช่น ใส่คอนแทคเลนส์แฟชั่น ติดขนตาปลอมหนาๆ ใช้ข้าวของวิบวับ

แต่งตัว แต่งหน้าแล้วไปไหน? 

พอสวยพร้อมแล้ว สาวแกลทั้งหลายก็พากันมาเดินเล่นอวดชุดกันในย่านฮาราจูกุหรือชิบูย่า ซึ่งเป็นย่านคึกคักที่วัยรุ่นมารวมตัวกัน แต่จะให้เดินเล่นเฉยๆ ก็กระไร เพราะสาวแกลมักจะอยู่กันเป็นแก๊งและชวนกันไปทำกิจกรรมสนุกๆ กัน ไม่ว่าจะไปร้องคาราโอเกะ ปะสังสรรค์กันในกลุ่ม นั่งเม้าท์ในคาเฟ่ ไปเต้นสตรีทแดนซ์ กิน ดื่ม เที่ยว และใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยง 

ตู้ถ่ายภาพปุริคุระ (Photo : Laurent Neyssensas)

ที่ฮิตสุดๆ เห็นจะเป็นถ่ายรูปสติกเกอร์ในตู้ ‘ปุริคุระ’ (Purikura) ยอดนิยมตลอดกาลของญี่ปุ่น เป็นตู้ที่เปลี่ยนคนธรรมดาให้ตาโต หน้าใส เป็นตุ๊กตาได้ในพริบตา นอกจากจะได้รูปกลับบ้านแล้ว ยุคแกลเฟื่องฟูเจ้าตู้นี้ยังเป็นประตูสู่การเป็นคนดังอีกด้วย เพราะภาพถ่ายจากตู้จะถูกส่งตรงไปยัง Egg นิตยสารแฟชั่นแห่งยุค ถ้าคนไหนถูกใจแมวมอง ก็อาจเป็นนางแบบคนต่อไปที่ได้ขึ้นปกฉบับหน้าเลยก็ได้

แต่ถึงอย่างนั้น สาวแกลก็ไม่ได้เป็นแค่ตัวแทนของความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว

เพราะบางครั้งแกลก็ถูกมองในแง่ลบว่าเป็น ‘ผู้หญิงอันตราย’ อีกด้วย

‘โคะโคะโระ’ (Photo : ภาพยนตร์เรื่อง Sunny : Our heart beat together)

เราขอยกตัวอย่างตัวละคร ‘โคะโคะโระ’ หนึ่งในสมาชิกแก๊งซันนี่ จากภาพยนตร์เรื่อง Sunny : Our heart beat together เธอเป็นนักเรียนชั้นม.ปลายที่เริ่มหัดเป็นสาวแกล ชอบไปเตร็ดเตร่ตามย่านคึกคัก แต่งตัวจัด สวมถุงเท้าข้อยาวที่ย่นลงมากองตรงข้อเท้าแบบสาวแกลเต็มขั้น โคะโคะโระมักมีของแบรนด์เนมมาอวดชาวแก๊งเสมอ จนถูกเพื่อนแซวว่าเธอรวยเพราะไปรีดเงินพวกพนักงานออฟฟิศผู้ชายมาแน่ๆ

ในยุคนั้นจะเป็นแกลต้องมีต้นทุน เพราะต้องแต่งตัว แต่งหน้า ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย ทำให้มีสาวแกลบางคนที่ไปเกาะแกะน้าๆ ลุงๆ พนักงานออฟฟิศเพื่อหลอกเอาเงินมาปรนเปรอตัวเองและซื้อของแพงๆ ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงมีข้อแลกเปลี่ยนบางอย่างระหว่างกันด้วย 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสาวแกลทุกคนตั้งใจจะมาหลอกเอาเงินจากผู้ชาย เพราะสาวแกลส่วนใหญ่แค่ชอบแต่งตัวแล้วอยากออกมาใช้ชีวิตสนุกๆ กับกลุ่มเพื่อนแกลด้วยกันเท่านั้น

(Photo : ภาพยนตร์เรื่อง Liar x Liar)

ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่น แม้ว่าปัจจุบันแกลจะเสื่อมความนิยมลงจนแทบไม่มีให้เห็น แต่ภาพของ ‘สาวแกล’ ยังคงโลดแล่นอยู่ในสื่อญี่ปุ่นมากมาย เช่น ‘มินาโตะ’ ตัวเอกจากภาพยนตร์เรื่อง Liar x Liar ที่แต่งตัวเป็นสาวแกลตลอดทั้งเรื่องเพื่อปลอมตัวหลอกน้องชายของตัวเอง เธอสวมวิกผมสีบลอนด์ทองและใส่ชุดนักเรียนญี่ปุ่นกระโปรงสั้นๆ แบบโคแกลเต็มตัว หรือ ‘มิโกะจัง’ จากมังงะเรื่อง ‘ไซคิ หนุ่มพลังจิตอลเวง’ (Saiki Kusuo no Sai Nan) นักเรียนใหม่นักพยากรณ์ มาในลุคสาวแกล ผิวแทน สุดเซ็กซี่ มีญาณวิเศษเห็นออร่าของคนและชอบดูดวง

‘มิโกะจัง’ (Photo : อนิเมะเรื่อง ‘ไซคิ หนุ่มพลังจิตอลเวง’)

แกลในบริบทแฟชั่นนั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีสีสันของญี่ปุ่น ส่วน ‘แกล’ ในบริบทสังคม มุมหนึ่งพวกเธอเปรียบได้กับดอกไม้ที่เบ่งบานบนพื้นคอนกรีต เป็นความสนุกสนานที่ท้าทายสังคมเคร่งเครียด

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่ามี ‘ปิตาธิปไตย’ เข้มข้น หากจะสืบสาวราวเรื่องว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นเราคงต้องหยิบยกประวัติศาสตร์การสร้างชาติมาเล่าได้อีกยาว แต่พอจะสรุปอย่างกระชับได้ว่าในญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงนั้นมีหน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงคนในบ้าน ส่วนผู้หญิงนั้นเมื่อถึงวัยอันสมควรก็ต้องแต่งงาน มีฐานะเป็นภรรยา เป็นแม่ และเป็นคนที่ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว 

หนึ่งสาเหตุที่ทำให้วัฒนธรรมของสาวแกลได้รับความนิยมมาเป็นทศวรรษเป็นเพราะญี่ปุ่นมีแรงกดดันที่เรามองเห็นในรูปแบบของบทบาททางเพศ ในยุคสังคมที่กำหนดสถานะผู้หญิงเป็นได้เท่านี้ ก็ยิ่งทำให้วัฒนธรรมแกลเบ่งบาน เพราะ ‘แกล’ หมายถึงการต่อต้าน ภาพลักษณ์ของ ‘สาวแกล’ นั้นแตกต่างจากผู้หญิงญี่ปุ่นในอุดมคติอย่างสิ้นเชิง

ถ้าผู้หญิงต้องผมดำ ฉันจะทำผมทอง

ถ้าผู้หญิงต้องผิวขาว ฉันจะทำผิวแทน

ถ้าผู้หญิงต้องเรียบร้อย ฉันจะร่นกระโปรงให้สั้น

ถ้าผู้หญิงต้องเงียบ ฉันจะตะโกนเสียงดังๆ

ถ้าผู้หญิงต้องอยู่บ้าน อย่างนั้น…ฉันจะออกมาเต้นให้สุดเหวี่ยง

(Photo : ภาพยนตร์เรื่อง Flying Colors)

เมื่อสังคมพยายามยัดผู้หญิงคนหนึ่งลงไปในกล่องแคบๆ ที่ชื่อว่าภรรยาหรือแม่ และยิ่งพยายามจะปิดกล่องขังพวกเธอไว้ในนั้น กล่องก็ยิ่งปริขาด ‘สาวแกล’ นั้นพยายามฉีกทุกกฎ ทำสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นปรากฏการณ์ต่อต้านสังคมที่มีสีสันครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ยุคของแกลนั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายๆ ปี 70 ทั้งแบรนด์เสื้อผ้าและนิตยสารต่างก็พากันนำเสนอเรื่องราวของแกลมาเป็นทศวรรษทำให้วัฒนธรรมนี้ยังคงรุ่งเรืองมาเรื่อยๆ และพุ่งสู่จุดสูงสุดในปี 2000 ก่อนที่ความนิยมจะค่อยๆ ร่วงลงมาและค่อยๆ หายไปในที่สุดราวๆ ปี 2015

(Photo : นิตยาร Egg)

และส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้แกลได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ คือ ‘นิตยสาร’ อันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงนำเทรนด์ของแกลนั้นทยอยปิดตัวลง เช่น นิตยสาร Egg ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1995 ก็ปิดตัวลงในปี 2014 ประกอบกับเรื่องราวของแกลนั้นไม่ได้น่าสนใจอีกต่อไป แฟชั่นเริ่มเปลี่ยนทิศทาง ผู้หญิงเริ่มกลับมาแต่งหน้าธรรมชาติ สบายๆ มากขึ้น แกลเซเลปซึ่งเป็นผู้นำเทรนด์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงสไตล์การแต่งตัวไปเป็นตามสมัยนิยม ทำให้สมาชิกชาวแกลเริ่มบางตาลงไป จนปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว

วัฒนธรรมแกลเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่ทำให้ชีวิตวัยรุ่นมีสีสันและแสดงตัวตนออกมาเต็มที่ ก่อนที่หนุ่มสาวฮาราจุกุที่เคยแตกแถวจะเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่กลับเข้ามาต่อแถวอีกครั้ง พวกเขาก็เริ่มปล่อยให้ผมสีดำขลับธรรมชาติก็ค่อยๆ ยาวมาแทนที่สีบลอนด์ทองซีดๆ 

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าครั้งหนึ่งพวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างยุคสมัยอันน่าจดจำ มีสีสัน สนุกสนาน และมีพลังเอาไว้

 

อ้างอิง