©ulture

เบคอนที่ย่างบนกระทะพร้อมกับไข่ดาวฟองโต

เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Howl’s Moving Castle จากค่าย Ghibli ที่ดูกี่ครั้งก็ชวนให้น้ำลายสอ จนอยากให้จอทีวีที่บ้านส่งกลิ่นเบคอนย่างชิ้นนั้นออกมาได้

ภาพยนตร์ทุกเรื่องของ ‘ฮายาโอะ มิยาซากิ’ มักจะมีซีนอาหารที่ชวนให้จดจำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้าแรกของโซฟีที่ไปเยือนปราสาทของพ่อมดฮาวล์ พระเอกเรื่อง Howl’s Moving Castle หรือข้าวปั้นเคล้าน้ำชาของจิฮิโระในเรื่อง Spirited Away

แม้แอนิเมชั่นของ Ghibli จะไม่ได้เล่าเรื่องอาหารเป็นหลัก ทว่าแต่ละเมนูที่ปรากฏในเรื่องล้วนพาให้เราไปรู้จักตัวตน บ้านเกิด และวิถีชีวิตของตัวละคร รวมทั้งสะท้อนถึงความใส่ใจในดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ของค่ายการ์ตูนดังแห่งนี้ ฮายาโอะให้ความสำคัญกับลายเส้นทุกเส้นอย่างพิถีพิถัน ยิ่งในอาหารด้วยแล้ว แต่ละภาพยิ่งดูสมจริง น่ากินจนอยากไปลิ้มลองอาหารจริงๆ ดูสักครั้ง

แล้วคุณล่ะ ชอบเมนูไหน จากแอนิเมชั่นเรื่องอะไรของค่าย Ghibli

เบคอนกับไข่ดาว (Bacon and Egg)
Howl’s Moving Castle, 2004
มื้อแรกของโซฟีในปราสาทเวทมนต์

เบคอนกับไข่ดาวเป็นอาหารเช้าง่ายๆ สไตล์อเมริกัน เดิมทีพวกเขากินข้าวโอ๊ตต้มเป็นมื้อเช้า ภายหลังจึงมีการเสนอแคมเปญให้กิน ‘เบคอนกับไข่’ เพื่อเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกาย ภายหลังอาหารจานนี้ได้กลายมาเป็นมื้อเช้าสไตล์อเมริกันไปโดยปริยาย

เบคอนกับไข่เป็นวัตถุดิบที่เก็บรักษาได้นาน ที่สำคัญคือปรุงได้ง่าย แม้คนที่ไม่พิถีพิถันเรื่องอาหารก็สามารถทำทานได้ เช่นเดียวกับฮาวล์พ่อมดหนุ่มผู้มีงานรัดตัว แค่วางเบคอนและตอกไข่ใส่กระทะร้อนๆ เสิร์ฟพร้อมกับขนมปังและซุปก็นับว่าเป็นมื้อเช้าที่สมบูรณ์แบบในปราสาทเวทมนต์ของเขา

ราเม็ง (Ramen)
Ponyo, 2008
ราเม็งแฮมของโปรดโปเนียว

อาหารยอดนิยมของญี่ปุ่นที่มีขายอยู่ทั่วไปแม้ในซอกซอยเล็กๆ เส้นเหนียวนุ่มทำจากข้าวแป้งสาลี ราดด้วยน้ำซุปหอมกรุ่น ไม่ว่าจะเป็นโชะยุ มิโสะ ทงคัตสึ พร้อมด้วยเครื่องเคียงยอดนิยมอย่างหมูชาชู หน่อไม้ดอง ต้นหอมญี่ปุ่น ข้าวโพด
ราเม็งเป็นอาหารที่หารับประทานได้ง่าย ปัจจุบันมีแบบกึ่งสำเร็จรูปวางขายในร้านสะดวกซื้อ แค่เติมน้ำซุป เนื้อและผักก็อร่อยได้ง่ายๆ ที่บ้าน

Afternoon Tea
Spirited Away, 2001
จิบชาในบ้านของคุณยายเซนีบ

Afternoon tea เป็นธรรมเนียมการจิบชาของชาวอังกฤษที่เกิดขึ้นราวๆ ปี 1840 โดยโต๊ะน้ำชาจะเริ่มตั้งแต่บ่ายคล้อยไปจนถึง 6 โมงเย็น บนโต๊ะจะประกอบไปด้วยชาร้อนชนิดต่างๆ และเหล่าขนมหวานที่เป็นเครื่องเคียง afternoon tea มี 3 แบบ คือ

● Light Tea : ชาร้อน สโคน และขนมหวานชิ้นเล็กๆ เช่น คุกกี้
● Cream Tea: ชาร้อน สโคน มาพร้อมกับคอตเทจครีมหรือแยมที่ทานคู่กัน
● Full Tea : ชาร้อน สโคน แซนด์วิช และขนมหวานหลากชนิด เช่น มาการอง เค้ก ฯลฯ

ปลาดิบ (Sashimi)
When Marnie was There, 2014
ปลาดิบต้อนรับแอนนา

ซาชิมิคือการรับประทานเนื้อชนิดต่างๆ แบบสดๆ เพื่อสัมผัสรสชาติดั้งเดิมของอาหาร เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาะที่ติดทะเลรอบทิศ ปลาชนิดต่างๆ จึงเป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นแซลมอน ทูนา ฮามาจิ ซาบะ ฯลฯ และมักจะทานคู่กับวาซาบิ โชยุ และใบชิโสะเพื่อดับคาว

Sakuma’s Drop
Grave of the Firefly, 1988
ขนมหวานกล่องสุดท้ายของเด็กหญิง

Sakuma’s Drop แคนดี้หลากรสไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ ฯลฯ บรรจุอยู่ในกระป๋องพิมพ์ลายคลาสสิก ขนมหวานกล่องนี้ผลิตขึ้นมานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยบริษัท Sakuma Candy Co. ตั้งอยู่ที่โตเกียว เมืองอิเกบูกูโระ

กระป๋องของขนมจะเปลี่ยนดีไซน์ไปตามยุคสมัย แต่ทว่าตั้งแต่ที่เข้าไปปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Grave of Firefly ทำให้คนตามสะสมมากมาย บริษัทจึงผลิตรุ่น limited edition ที่มีรูปเด็กหญิงเซ็ตสึโกะแปะอยู่ตรงกล่องด้วย

ข้าวปั้น (Onigiri)
Spirited Away, 2001
ข้าวปั้นเคล้าน้ำตาของจิฮิโระ

ข้าวหุงปั้นเป็นก้อนกลมๆ หรือสามเหลี่ยม ในอดีตมักสอดไส้ปลาเค็ม (คัตสึโอบูชิ) หรือบ๊วยดองเค็ม (อูเมโบชิ) ปัจจุบันมีรสชาติที่หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะเป็นไข่กุ้งซอสมาโย ปลาไหล ผักดอง ฯลฯ บ้างก็มีสาหร่ายพันตรงกลาง เพื่อให้หยิบทานได้สะดวก ไม่มีข้าวติดมือ

ข้าวปั้น หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า ‘โอนิกิริ’ เป็นอาหารที่ทำง่าย คุณแม่มักจะทำให้ลูกๆ พกไปทานในวันที่ไปทัศนศึกษาเพราะพกพาได้สะดวก ทานง่ายและอิ่มท้อง เราจึงสังเกตได้ว่ามีข้าวปั้นขายอยู่ทุกที่ในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน

ข้าวกล่อง (Bento)
Totoro, 1988
ข้าวกล่องของเมย์

เบนโตะ (bento) มาจากคำว่า โอเบนโตะ (Obento) ซึ่งแปลว่าข้าวกล่อง ไม่ว่าจะเป็นชั้นอนุบาลหรือมัธยมปลายชาวญี่ปุ่นก็นิยมพกข้าวกล่องไปทานเป็นมื้อกลางวันที่โรงเรียนหรือที่ทำงา

ในกล่องเล็กๆ นี้แบ่งเป็นสัดส่วน ประกอบไปด้วยข้าว เนื้อสัตว์ ที่นิยมคือปลาและเนื้อ ผักหรือผักดอง แล้วแต่ความชื่นชอบ บางครั้งจะใส่บ๊วยดองเค็มมาบนข้าวด้วย เพราะบ๊วยดองมีคุณสมบัติช่วยฆ่าเชื้อโรค ทำให้ข้าวไม่บูดง่าย และยังช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร

Castella Cake
The Wind Rises, 2013
รสชาติที่คุ้นเคยจากนางาซากิ

คัสเตลลา คือ สปันจ์เค้กเนื้อละมุนอันเป็นที่เลื่องลือของจังหวัดนางาซากิ มีส่วนผสมเรียบง่าย คือ แป้ง น้ำตาล ไข่ และไซรัปหวานหอม เป็นขนมที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลและมักจะพบเจอได้ในทุกร้านเบเกอรี่ของญี่ปุ่

ขนมชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากประเทศโปรตุเกส เพราะสามารถเก็บไว้ได้นาน ในอดีตชาวประมงจึงนิยมพกติดตัวไว้เมื่อต้องออกเรือหาปล

เทมปุระ (Tempura)
From up on the Poppy Hill,2011
อาหารที่มะสึซากิทำเอง

เทมปุระ คือ ของทอดแบบญี่ปุ่น เป็นการนำเนื้อสัตว์หรือผักชนิดต่างๆ มาชุบแป้งบางๆ แล้วทอดจนเหลืองกรอบ ที่นิยมได้แก่กุ้ง ปลา มะเขือม่วง ทานคู่กับข้าวหรือราเม็งเข้ากันเป็นอย่างดี

อาหารชนิดนี้เดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่นพร้อมกับเหล่ามิชชันนารีชาวโปรตุเกส ภายหลังกลายมาเป็นอาหารยอดนิยมของผู้คน ที่มีขายตั้งแต่ร้านริมทางจนถึงห้างสรรพสินค้า

The Ploughman’s Lunch
Tale of Earthsea, 2006
มื้อเที่ยงบนภูเขากับครอบครัว

อาหารเก่าแก่ของชาวอังกฤษที่ประกอบด้วยขนมปัง วางทับด้วยเนยแข็งและหัวหอม มีเครื่องเคียงเป็นผักดอง เมนูนี้กลายมาเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นหลังจากที่สมาคมเนยแข็งชนบทแห่งอังกฤษออกมารณรงค์ให้คนหันมาบริโภคเนยแข็งมากขึ้นเมื่อปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1970 ปัจจุบันจานนี้กลายเป็นอาหารว่างที่ทานคู่กับไวน์ เบียร์ หรือไซเดอร์

พายฟักทอง (Pumpkin Pie)
Kiki’s Delivery Service, 1989
ออร์เดอร์แรกที่จัดส่งโดยแม่มดน้อยกิกิ

พายฟักทองหอมๆ ขนมอบจากครัวในบ้านที่มักจะได้ทานในวันขอบคุณพระเจ้า เดิมทีมีแค่ฐานแป้งและเนื้อพายฟักทองนุ่มนวล ปัจจุบันมักจะใส่แอปเปิ้ลกับลูกเกดเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัสให้หวานกรุบกรอบ หากได้อบร้อนๆ ในเตาแบบดั้งเดิมเหมือนที่บ้านของคุณยาย จะยิ่งทำให้พายฟักทองจานนี้หอมกรุ่นกว่าที่เคย

ไข่ดาว แฮม และซุปมิโซะ (Egg Ham and Miso Soup)
When Marnie was There,2014
มื้อเช้าของแอนนา

ไข่ดาว แฮม และซุปมิโซะ เป็นมื้อเช้าง่ายๆ ของแอนนาและครอบครัว อาหารจานนี้คืออาหารแบบ ‘โยโชคุ’ ซึ่งเป็นเมนูร่วมสมัยที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่น และกลายมาเป็นเมนูประจำที่ทำกินกันในบ้าน อาหารเหล่านี้เป็นเมนูแบบตะวันตกที่ประยุกต์ให้เข้ากับอาหารญี่ปุ่น เช่น ทงคัตสึ ข้าวหน้าหมูทอด เกี๊ยวซ่า และแฮมเบิร์ก