ขาประจำญี่ปุ่นที่ติดตามภาพยนตร์ ‘มังงะ’ หรือ ‘อนิเมะ’ คงคุ้นเคยกับภาพของเด็กสาวในชุดนักเรียนสารพัดแบบ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปตามสื่อร่วมสมัยของญี่ปุ่น
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะมาเป็นชุดนักเรียนในวันนี้ เหล่า JK (ย่อมาจาก Joshi Kousei หมายถึง เด็กสาว ม.ปลาย) ทั้งหลายเคยใส่ชุดอะไรกันมาบ้าง
เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยของตัวเอง ผมเลยลองค้นข้อมูลดู และเรียบเรียงออกมาเป็นบทความชิ้นนี้
ค.ศ.1872
ปีเมจิที่ 5 จุดเริ่มต้นสถาบันการศึกษา และชุดนักเรียนแบบ ‘กักคุรัน’
เมื่อญี่ปุ่นเริ่มปฏิรูปประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ในปี ค.ศ.1868 (ปีแรกของรัชศกเมจิ) สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือการให้การศึกษากับประชาชน
หลังเริ่มปฏิรูปได้ 5 ปี (ปีเมจิที่ 5 : ค.ศ.1872) ได้มีการประกาศจัดการศึกษา และตั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ ขึ้น
เช่น ม.เทโคคุ (帝国大学 : Imperial University) และ กักคุชูอิน(学習院)ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เน้นให้การศึกษากับเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูง
เนื่องจากตอนนั้นสังคมตะวันตกใช้เครื่องแบบเป็นตัวระบุอาชีพและสังกัดทางสังคม สถาบันการศึกษาที่เพิ่งตั้งขึ้น จึงมีการกำหนดเครื่องแบบมาตรฐานขึ้นเลียนแบบกัน
ชุดนักเรียนแขนยาวสีดำ กับกางเกงขายาวสีดำ พร้อมด้วยหมวกปีกทรงเหลี่ยม หรือกลมที่มีตราของโรงเรียนติดอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องแบบของนักเรียนชายก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้นี่เอง
ชุดนี้เรียกกันว่า กักคุรัน (学ラン) สันนิษฐานว่าหมายถึง ผู้ศึกษาวิชาฝรั่ง (รัน = ฮอลันดา : คำเรียกศาสตร์ตะวันตกในสมัยเอโดะ) หรือ สึเมะเอริ (詰襟= เสื้อคอปก)
ว่ากันว่ากักคุรันนั้นมีต้นแบบมาจากเครื่องแบบของทหาร โดยชุดนักเรียนของ ม.เทโคคุ ซึ่งประกาศใช้ในปี 1886 นั้น มีที่มาจากทหารบก ส่วนชุดของกักคุชูอินซึ่งประกาศใช้ในปี 1879 นั้น มีที่มาจากทหารเรือ ตั้งแต่ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่า ชุดของนักเรียนชายนั้นไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนอะไรมาก
ในทางกลับกัน ชุดของนักเรียนหญิงกลับมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยน ก็คือความชอบของผู้สวมใส่
เสียงวิจารณ์ ทางแยกของชุดนักเรียนหญิงและชาย
ในตอนนั้น ชุดนักเรียนถูกออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่า ชุดแบบตะวันตก = นักเรียนชาย ส่วนชุดแบบญี่ปุ่น = นักเรียนหญิง
ซึ่งตรงนี้ รศ.โทโมโกะ นัมบะ (難波知子) นักวิจัยเรื่องเครื่องแต่งกาย ให้ความเห็นไว้ว่างานออกแบบดังกล่าวอาจแฝงความนัยว่า ชุดผู้ชาย = ก้าวสู่อารยะ ส่วนชุดผู้หญิง = อนุรักษ์ขนบเดิม ก็เป็นได้
เมื่อมีการเปิด โรงเรียนสตรีโตเกียว (東京女学校) ขึ้น ในปี 1872 ทางกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นจึงได้อนุญาตให้นักเรียนสวมชุดฮากามะแบบผู้ชาย (男袴)
แต่การแต่งกายเลียนแบบผู้ชาย (โดยไม่ตั้งใจ) นี้ถูกวิจารณ์จากสังคมสมัยนั้นอย่างหนัก จนในที่สุดทางกระทรวงจึงต้องออกประกาศห้ามผู้หญิงแต่งชุดฮากามะแบบนั้นอีก ตอนนี้เองที่มีการหาเครื่องแบบใหม่ให้เด็กสาว
ซึ่งโรงเรียนสตรีชั้นสูง (華族女学校 : ม.สตรีกักคุชูอินในปัจจุบัน) หรือโรงเรียนสาธิตแห่งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีโตเกียว (東京女子師範学校 : ม.สตรีโอฉะโนะมิสึในปัจจุบัน) ได้ลองนำชุดแบบฝรั่งมาให้นักเรียนสวมอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะค่าใช้จ่ายต่อชุดที่ค่อนข้างสูง
ในเวลานั้น ชิโมดะ อุตะโกะ (下田歌子) ครูใหญ่ของโรงเรียนสตรีชั้นสูงได้ออกแบบชุดฮากามะแบบสตรี (女袴) ขึ้น โดยประยุกต์จากแบบผู้ชายเดิม ด้วยการเปลี่ยนกางเกงเป็นกระโปรงแบบกิโมโน และเปลี่ยนรองเท้าจากแบบญี่ปุ่นมาเป็นรองเท้าหนัง
กล่าวกันว่าชุดนี้ได้มอบมรดกให้แก่ชุดนักเรียนหญิงในปัจจุบันหลายอย่าง เช่น การปักตราโรงเรียนหรือ คำขวัญ ไว้ที่เข็มกลัดหน้าอก หรือสายคาดเอว เพื่อความสะดวกในการจำแนกว่านักเรียนหญิงที่พบเรียนอยู่โรงเรียนใด ปัจจุบัน ชุดฮากามะแบบนี้ยังคงสวมกันอยู่ในพิธีจบการศึกษา
ค.ศ.1916
เศรษฐกิจตกต่ำ การมาถึงของชุดนักเรียนหญิงแบบ ‘กะลาสี’
ถึงปี 1916 ชุดนักเรียนแบบฝรั่งชุดแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในญี่ปุ่น โดยการออกแบบของ ฟุซาโกะ ยามาวาคิ (山脇房子) ครูใหญ่ของโรงเรียนมัธยมสตรียามาวาคิ (山脇高等女学校) ที่เล็งเห็นว่าการให้นักเรียนแต่งชุดแบบญี่ปุ่นมาเรียนในยามเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียน
ฟุซาโกะจึงได้ออกแบบชุดนักเรียนใหม่ โดยอาศัยต้นแบบมาจากชุดนักเรียนหญิงของอังกฤษ ชุดนักเรียนแบบใหม่นี้สามารถลดค่าใช้จ่ายเรื่องชุดจากเดิม ชุดละ 150-160 เยน เหลือเพียงชุดฤดูหนาว ชุดละ 29 เยน และชุดฤดูร้อนชุดละ 20 เยน เท่านั้น
อีกทั้งเมื่อสอบถามคำติชมจากนักเรียนและผู้ปกครอง ก็ยังได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก เป็นอันว่า ชุดดังกล่าวผ่านเงื่อนไขสำคัญของชุดนักเรียนหญิงที่ว่า จะทำอย่างไรให้ใส่แล้วดูน่ารัก กระฉับกระเฉง และดูอินเทรนด์ ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของสาวๆ ทุกยุคทุกสมัย ได้อย่างงดงาม และยิ่งเมื่อหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นลงข่าวชุดนักเรียนใหม่ของโรงเรียนยามาวาคินี้ออกไป หลายโรงเรียนก็เริ่มสนใจ และเปลี่ยนมาใช้ชุดแบบฝรั่งมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือชุดนักเรียนแบบกะลาสีที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
การค้นหาต้นกำเนิดของชุดนักเรียนแบบกะลาสีนั้นทำได้ยาก เพราะหลายโรงเรียนหันมาใช้ชุดแบบนี้ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งจากเอกสารพบว่าในปี 1920 วิทยาลัยสตรีเฮอัน (平安女学院) ได้เปลี่ยนมาใช้ชุดกะลาสีเป็นเครื่องแบบของนักเรียนหญิง หรือบางโรงเรียนก็ใช้โอกาสอย่างการเปลี่ยนสังกัดจากโรงเรียนประจำแขวงมาเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดในการเปลี่ยนเครื่องแบบ ดังนั้นการเปลี่ยนเครื่องแบบมาสู่ชุดกะลาสีจึงเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายโรงเรียน
เมื่อถึงปี 1930 ชุดนักเรียนหญิงหลักๆ ในตอนนั้นจึงมีอยู่ 3 แบบ ได้แก่ ชุดกะลาสี ชุดแบบวันพีซ และชุดกระโปรงเอี๊ยม (ญี่ปุ่นเรียก ‘จัมเปอร์สเกิ้ต’)
สาเหตุหนึ่งที่ชุดกะลาสีได้รับความนิยมมากที่สุด สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเด็กสาวรู้สึกภูมิใจเมื่อได้เห็นตนเองในชุดกะลาสี นอกจากนั้น อาจเป็นเพราะชุดกะลาสีนั้นตัดเย็บง่าย รุ่นพี่ปีสูงกว่าสามารถสอนรุ่นน้องให้ตัดเย็บได้ง่าย ก็เป็นได้
ค.ศ.1938
ไฟสงคราม ระบบการศึกษาใหม่ และความหมายของชุดนักเรียนที่เปลี่ยนไป
แต่เมื่อญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ผ้าสำหรับตัดชุดก็ถูกจำกัด เนื่องจากต้องใช้ในการตัดเครื่องแบบทหารเป็นหลัก และเมื่อถึงปี 1938 การผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอก็ถูกสั่งห้ามโดยเด็ดขาด ช่วงนี้กระโปรงของนักเรียนหญิงได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นกางเกงเพื่อสะดวกในยามสงคราม
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ได้มีการปรับระบบการศึกษาใหม่ มีการเพิ่มชั้น ม.ต้น เข้าสู่ระบบ บวกกับการมาถึงของผ้าสำเร็จและเส้นใยสังเคราะห์ ชุดนักเรียนหญิงจึงได้รับอนุญาตให้ผลิตและใส่อีกครั้ง
ในตอนนี้ชุดนักเรียนหญิงได้กลายเป็นเครื่องแบบแสดงอัตลักษณ์ของเหล่าเด็กสาวผู้มีการศึกษาไปเรียบร้อยเสียแล้ว จากบันทึกของเด็กสาวหลายคนในช่วงนี้ ทุกคนล้วนรู้สึกว่าการใส่ชุดนักเรียนนั้นเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ทุกคนมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในชีวิตเท่านั้น ที่จะได้ใส่เครื่องแบบนี้ ซึ่งนั่นก็ยิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้ชุดนักเรียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากขึ้น
ค.ศ.1970-1980
แฟชั่นแยงกี้ กระโปรงครึ่งเข่า ถุงเท้าสูง
ในช่วงปี 1970-80 ได้มีชุดนักเรียนหญิงแบบหนึ่งปรากฎขึ้น โดยเด็กสาวในสมัยนั้นนิยมใส่เสื้อกะลาสีที่เอวลอย เปิดให้เห็นซับในบริเวณช่วงท้อง กระโปรงยาว และถุงเท้าที่ม้วนชายให้เป็นทรงกลมแนบรองเท้า ซึ่งแฟชั่นนี้เรียกว่า ‘ซุเคะบัน’ (หรือแยงกี้)
การใส่กระโปรงยาวในยุคนี้ถือเป็นสิ่งที่ทันสมัยมาก ในขณะเดียวกันโรงเรียนอาโอยามะกักคุอิน (青山学院) กับโรงเรียนสตรีเคโอ (慶応女子) ก็เริ่มมีการใส่กระโปรงที่มีความยาวประมาณเข่า คู่กับถุงเท้าทรงสูง (Hi-sock) ซึ่งนักเรียนของสองโรงเรียนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการแต่งกายของนักศึกษาหญิงในมหาวิทยาลัยชื่อเดียวกัน การจับคู่ของกระโปรงกับถุงเท้าแบบนี้ ต่อมาได้พัฒนาไปสู่ชุดนักเรียนหญิงยุค 80s ที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน
ติดตามพัฒนาการชุดนักเรียนญี่ปุ่นจากยุค 80s ถึงปัจจุบันต่อได้ที่ เลาะตะเข็บ ‘ชุดนักเรียนญี่ปุ่น’ (2/2) : กระโปรงสั้น ไอดอลชุดนักเรียน และแฟชั่นปัจจุบัน
อ้างอิง:
- Tomoko Nanba (2016) “Kindai Nihon Gakkou Seifuku Zuroku (Record of Japanese Contemporary School Uniforms)” Sogensha.
- Nobuyuki Mori and Shizue Uchida (2019) “Nihon Seifuku Hyakunenshi : Jogakusei Fuku ga Popu Karucha ni natta (100 Years History of Japanese Uniforms : when Girl Students Uniform become Popculture)” Kawade Shobou Shinsha.