©ulture

“แม้ขอได้สิ่งใดในชีวิต จักขอพรจากบพิธอดิศร 

“ขอความสุขอันเป็นนิรันดร มอบเป็นพรปีใหม่ให้กับคุณ”

ข้อความนี้ถูกเขียนด้วยลายมือบรรจง ลงบน ส.ค.ส. ปีใหม่ พ.ศ.2530 

ในกล่องไม้ที่นานมาแล้วไม่ได้เปิดดู นอกจากจะเต็มไปด้วยจดหมายเก่าๆ รุ่นคุณพ่อคุณแม่แล้ว ยังมี ส.ค.ส.อยู่จำนวนหนึ่ง ด้านในระบุคำอวยพรเรียบง่าย พร้อมชื่อคนส่งที่เขียนอย่างประณีต เมื่อเปิดอ่านครั้งใด ก็ทำให้คิดถึงเจ้าของลายมือนั้นทุกครั้ง

นานมาแล้วที่เราต่างก็ไม่ได้ส่งและไม่ได้รับการ์ดอวยพรจากใครเฉกเช่นวันก่อนๆ 

ในแต่ละปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป ธรรมเนียมการอวยพรให้คนที่เรารักมีความสุขยังคงมีอยู่เสมอ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปตามกาลเวลา และครั้งหนึ่งส.ค.ส. เคยเป็นตัวกลางที่หอบเอาความหวังดีและความคิดถึงไปส่งถึงผู้คนเหล่านั้น

แล้วส.ค.ส.เหล่านี้เริ่มต้นมาจากไหนกันนะ ?

‘Au ab nap’ แปลว่า ‘ขอให้โชคดี’ เป็นข้อความที่ถูกจารึกลงบนขวดน้ำหอมหรือแมลงปีกแข็ง ซึ่งเป็นของที่ระลึกที่ชาวอียิปต์มอบให้กันในวันปีใหม่ เช่นเดียวกับ ‘Anno novo faustum felix tibi sit’ หมายถึง ‘ขอให้เป็นปีใหม่ที่สุขสันต์และโชคดี’ ข้อความนี้สลักลงบนตะเกียงอันวิจิตรงดงามของชาวโรมันที่มอบให้กันเมื่อศักราชใหม่มาเยือน 

วิถีของการส่งความสุขต้อนรับปีใหม่ของชาวโลกนั้นมีมาอย่างยาวนานและแตกต่างกันไป และเริ่มได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในศตวรรษที่ 15 เมื่อช่างไม้ได้แกะสลักแท่นพิมพ์รูปพระเยซูคริสต์วัยเด็ก มีข้อความอวยพรว่า ‘Ein guot selig ior’ แปลว่า ‘ปีที่ดีและมีความสุข’ ทำให้ตั้งแต่นั้นจนถึงช่วงศตวรรษที่ 18 มีภาพพิมพ์ลักษณะนี้ถูกผลิตออกมามากมายเพื่อจำหน่ายสำหรับเป็นของที่ระลึกในวันปีใหม่ 

จากนั้นในปี ค.ศ.1843 (พ.ศ.2386) การ์ดอวยพรปีใหม่ฉบับแรกของโลกก็ถูกจัดพิมพ์ขึ้นอย่างเป็นทางการและจัดจำหน่ายเป็นครั้งแรก โดย เฮนรี โคล (Henry Cole) ข้าราชการระดับสูง ผู้ร่วมจัดตั้ง ‘Public Record Office’ และนักปฏิรูประบบไปรษณีย์ชาวบริติช

เฮนรี โคล (Henry Cole) (Photo : https://eu.wikipedia.org/wiki/Fitxategi:Portrait_of_Sir_Henry_Cole.jpg)

บัตรอวยพรวันคริสต์มาสฉบับแรกออกแบบโดย จอห์น คลค็อตต์ ฮอร์สลีย์ (John Callcott Horsley) ซึ่งเป็นเพื่อนของเฮนรี ใช้กระดาษขนาด 13 x 8 เซนติเมตร ปรากฏภาพครอบครัวหนึ่งกำลังเฉลิมฉลองและทานอาหารค่ำ ละเลงสีซีเปียเข้มๆ ด้วยมือ ระบุข้อความ ‘A Merry Christmas and a Happy New Year to You’ 

การ์ดคริสต์มาสฉบับแรก (Photo : https://www.bl.uk/collection-items/first-christmas-card)

บัตรอวยพรฉบับนี้จัดพิมพ์ออกมาจำนวน 1,000 ใบ และวางขายในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกอบกับช่วงปีนั้นประชาชนเริ่มเข้าถึงการส่งไปรษณีย์ได้ทุกคน ทำให้การส่งการ์ดอวยพรได้รับความนิยมอย่างล้นหลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

การ์ดอวยพรวันปีใหม่ของประเทศไทยเอง ก็ถือกำเนิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 -18 นี้เช่นเดียวกัน 

ครั้งหนึ่ง ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช นักเขียนและนักวิชาการอิสระผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ บังเอิญพบบัตรอวยพรปีใหม่ฉบับแรกของไทยโดยบังเอิญที่ร้านหนังสือ Maggs Bros. Ltd. ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้นำกลับมายังประเทศไทย

ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช (Photo : https://www.silpa-mag.com/old-book/article_41655)

บัตรอวยพรฉบับนี้มีอายุกว่า 154 ปี เป็นบัตรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมอบให้กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิษฐ์  ผู้ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่สากล 1 มกราคม พ.ศ.2409 

นอกจากจะมอบเพื่อเป็นการส่งความสุขให้ในวันปีใหม่แล้ว บ้างยังสันนิษฐานว่าพระองค์ยังมีนัยยะแฝง เพื่อต้องการจะบ่งบอกชาวต่างชาติว่าประเทศไทยนั้นไม่ได้ล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ 

ส.ค.ส. ชิ้นนี้ไม่ได้มีลักษณะกะทัดรัดและเรียบง่ายเช่นปัจจุบัน แต่กลับเป็นกระดาษสีครีมพับครึ่ง คล้ายจดหมายทั่วไป มีขนาดกว้าง 18 ยาว 23 เซ็นติเมตร ระบุพระราชสาสน์อวยพรยาว 4 หน้ากระดาษ และปิดท้ายจดหมายด้วยลายมือชื่อของพระองค์

ส.ค.ส.จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (Photo : https://teen.mthai.com/variety/53037.html)

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ชาวสยามก็นิยมส่งบัตรอวยพรถึงกันทั้งในวันปีใหม่ไทยและปีใหม่สากลของทุกปี พอถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ก็เกิดคำว่า ‘ส.ค.ส.’ ซึ่งย่อมาจาก ‘ส่งความสุข’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก 

นอกจาก ส.ค.ส. ที่ประชาชนนิยมส่งถึงกันแล้ว ในปี 2530 ยังมี ส.ค.ส.พระราชทาน จาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถึงประชาชนเป็นครั้งแรก โดยทรงพิมพ์ออกจากคอมพิวเตอร์ และส่งแฟกซ์ให้แก่หน่วยงานต่างๆ และเป็นเช่นนั้นมาเรื่อยๆ มาทุกปี 

ส.ค.ส. พระราชทานปี 2557 (Photo : http://www.rdpb.go.th/)

ในยุคแรก ส.ค.ส.มีขนาดเท่ากับนามบัตรเล็กๆ นิยมระบุชื่อผู้ส่ง ผู้รับ ปีพ.ศ. และคำอวยพรที่ขอให้มีความสุขในวันปีใหม่ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ส.ค.ส. ก็ได้พัฒนาและเปลี่ยนรูป ทั้งขนาด รูปทรง ภาพวาดแปลกใหม่ มีสีสัน และลูกเล่นมากขึ้น

เช่น ไอเท็มสุดฮิตของเด็กๆ ยุค 90s เห็นจะเป็น ส.ค.ส. กากเพชรที่ต้องเอามาอวดเพื่อนๆ ในห้องเรียนทุกเช้า นั่นคงเป็นความทรงจำครั้งล่าสุดที่มีต่อส.ค.ส. ก่อนจะค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับการมาเยือนของ SMS และอินเตอร์เน็ต ที่ทำให้คำอวยพรส่งถึงผู้รับรวดเร็วทันใจกว่าการเขียนการ์ดใบเล็กๆ 

ปีใหม่ของพวกเราค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จนแทบไม่ทันได้สังเกตว่า ส.ค.ส.ค่อยๆ หายไปจากบนแผงในร้านค้า พร้อมๆ กับสิ่งพิมพ์อื่นๆ

แต่เมื่อไหร่ที่ได้กลับไปเปิดกล่องใบเก่า และหยิบ ส.ค.ส.เหล่านั้นขึ้นมาอ่านอีกครั้ง ก็ทำให้พบว่า นอกจากข้อความบนบัตรจะชวนให้อิ่มเอมใจแล้ว ความทรงจำอันอบอุ่นของปีใหม่ ยังบันทึกอยู่ใน ส.ค.ส.ใบนั้นและชวนให้ระลึกถึงอยู่เสมอ