©ulture

กาแฟมาเยือนแผ่นดินไทยเป็นครั้งแรก ในฐานะพืชแปลกหน้าอันเป็นความหวังใหม่ที่จะหล่อเลี้ยงปากท้องคนบนดอยสูง 

เกษตรกรที่นั่นสละอาชีพดั้งเดิมคือการปลูกฝิ่นทิ้งไป ยอมเสี่ยงกับพืชชนิดใหม่ที่ยังไม่มีอนาคต ไม่นานนักโรงงานกาแฟชาวไทยภูเขาแห่งแรกในภาคเหนือก็ถือกำเนิดขึ้น เครื่องคั่วกาแฟจากเยอรมันถูกนำเข้ามาใช้เป็นครั้งแรก มีการทำวิจัยและส่งขายในตลาดอย่างจริงจัง 

ครอบครัวของ นฤมล ทักษอุดม หรือ ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกในครั้งนั้น อีกทั้งยังเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของภาคเหนือที่ทำกาแฟอาราบิกา 

หลังจากที่พ่อวางมือจากกิจการนี้ ปุ่นจึงตัดสินใจเดินบนทางที่พ่อแผ้วถางไว้ เธอปลุกปั้น Hillkoff บริษัทเกี่ยวกับกาแฟครบวงจรจนเป็นรูปเป็นร่าง และหอบเอาความหวังของพ่อและเกษตรกรผู้ปลูกยุคแรกๆ เอาไว้ด้วย 

ปุ่นพยายามตามกรุยทางต่อเพื่อหาคำตอบว่า ‘ความยั่งยืน’ ของวงการกาแฟไทยคืออะไร และพืชชนิดนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและทำให้เกษตรกรเป็นอิสระจากความยากจนได้อย่างไร 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนพื้นที่บนดอยสูงเพื่อดูแลเรื่องการเลิกปลูกฝิ่น (Photo : www.hillkoff.org)

ในยุคแรกซึ่งเป็นยุคของพ่อ ครอบครัวของคุณทำธุรกิจกาแฟแบบไหน 

ตอนนั้นพ่อซื้อกาแฟจากชาวบ้านมาแปรรูปช่วงฤดูหนาวแล้วขายช่วงฤดูร้อน เขามีเครื่องคั่ว แล้วคั่วเป็นกาแฟดิบขายให้ร้านเจ๊กี เกษมสโตร์ ซึ่งน่าจะเป็นร้านแรกๆ ในเชียงใหม่ที่ขายเมล็ดกาแฟคั่ว ยุคนั้นเชียงใหม่ยังไม่มีร้านกาแฟ จึงไม่มีตลาด คนกลุ่มแรกที่ดื่มคือชาวต่างชาติ มิสชันนารีทั้งหลาย ส่วนใหญ่เราจะส่งให้อุตสาหกรรมที่กรุงเทพฯ ไปทำกาแฟสำเร็จรูป 

กิจการตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

ก็ลุ่มๆ ดอนๆ  มีวิกฤติเป็นระยะ เพราะเรากำหนดราคาไม่ได้ กาแฟเป็นสินค้าเกษตรที่มีตลาดโลก ราคาซื้อขายถูกกำหนดโดยลูกค้า ทำเสร็จก็ส่งเขา ได้กำไรนิดๆ หน่อยๆ ขาดทุนบ้างเป็นบางปี ปัญหาคือเขาไม่รับกาแฟตกเกรด เราต้องแบกรับไว้ทั้งหมด บางทีก็เอาไปเทลงแม่น้ำปิง 

อุปสรรคในธุรกิจกาแฟที่ต้องเผชิญในยุคนั้นคืออะไร 

ส่วนหนึ่งคือเกษตรกรยังมีความเสี่ยง เพราะปลูกพืชที่ยังไม่มีคนกิน อีกหนึ่งสิ่งที่คนไม่ให้ค่าเลยคือเราเป็นพ่อค้าคนกลาง พ่อจะเลิกทำก็ได้เพราะมันไม่มีกำไร แต่ก็ไม่เลิกเพราะบอกว่ามันน่าจะมีอนาคต แต่ก็ต้องกู้ยืมเงิน ครอบครัวเราเจ๊งบ้าง มีกำไรบ้าง 

คิดว่าอะไรที่ทำให้คนไม่ให้คุณค่ากับพ่อค้าคนกลาง 

ทุกวิจัยที่อ่านสมัยเป็นนักศึกษามักสรุปว่าพ่อค้าคนกลางกดราคา แล้วบอกว่านี่คือปัญหาของธุรกิจ เราเรียนจบเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร เคยเป็นอาจารย์สอนด้านเศรษฐศาสตร์ รู้สึกอยากแก้ไขตำราเรียนมาก เพราะเรามองว่าไม่ใช่ พ่อค้าคนกลางมีทั้งดีและไม่ดี คุณยัดเยียดความคิดนี้เข้าไปตั้งแต่วัยเรียน ทำให้เกษตรกรไม่เคยมองพ่อค้าคนกลางอย่างเป็นมิตรเลย จะเริ่มทำงานด้วยกันก็เกลียดกันเสียแล้ว การเหมารวมทำให้ไม่เกิดการร่วมมือในงานเกษตรอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เรามองเรื่องความร่วมมือระหว่างพวกเรากับเกษตรกรเป็นที่ตั้งมาเสมอ 

คุณเริ่มลงสนามทำงานด้านกาแฟอย่างจริงจังตอนไหน 

ปี 2000 – 2001 ซึ่งเป็นปีที่มีวิกฤติกาแฟครั้งใหญ่ ราคากาแฟตกต่ำมาก จากที่เราเคยส่งขายขั้นต่ำ 200 – 300 ตัน เมล็ดมันก็คาอยู่ในโกดัง ยังจำได้ว่าพ่อพาเราขึ้นรถเอากระเช้าไปกราบขอให้เขาซื้อ ปีนั้นคือปีที่เราตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แล้วมาลุยงานกาแฟเต็มตัว ตอนนั้นมีกาแฟอยู่หนึ่งกอง พ่อบอกให้เราเอาไปทำทุน 

เรามองว่าทำไมชาวบ้านยังเจออะไรแบบนี้ พยายามหาต้นตอของปัญหา บางทีเราก็เจอมุมที่เป็นคำตอบ แต่ถึงเจอคำตอบก็ไม่ได้แปลว่าแก้ได้ 

งานกาแฟในรุ่นของคุณเป็นอย่างไรบ้าง 

เราเริ่มคั่วกาแฟ แปรรูปกาแฟเอง แต่เพราะรู้จักกาแฟมานานมันเลยไม่ได้ยากสำหรับเรา จากนั้นก็ทำแบรนด์ ฮิลล์คอฟฟ์ (Hillkoffขึ้นมา เราวิ่งเจาะตลาดกรุงเทพฯ เป็นหลัก ตรงไหนที่มีกาแฟเราไปหมด สมัยนั้นเริ่มมีร้านกาแฟสดบ้างแล้ว แถวๆ ซอยละลายทรัพย์   

สิบกว่าปีผ่านไป วงการบาริสต้าเริ่มเติบโต เต็มไปด้วยคนมากความสามารถ เขาเริ่มเข้ามาพัฒนาวงการกาแฟ ไทยจึงประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมบริโภคขนาดใหญ่ 

จุดที่ทำให้คุณสนใจความยั่งยืนของวงการกาแฟคือตอนไหน 

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นในฐานะที่โตมากับตลาดกาแฟคือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้ยั่งยืนจริงหรือเปล่า ทำไมงานดูแลต้นน้ำยังไปไม่ถึงไหน คำถามเหล่านี้ทำให้นึกสงสัยว่าสังคมกาแฟถูกขับเคลื่อนด้วยอะไรกันแน่ 

ตอนเป็นเด็ก เราเห็นโลโก้บนหลังรถพ่อเขียนว่า ‘โครงการเกษตรที่สูงชาวไทยภูเขาเพื่อความยั่งยืน’ แต่ธุรกิจของพ่อกลับล้มลุกคลุกคลาน เราสงสัยว่าทำไม พอมาทำเองเรามองหามันตั้งแต่วันแรก ขบคิดอยู่ตลอด เราถึงไม่ได้มองแค่เรื่องกำไร เรามองว่าทำไมชาวบ้านยังเจออะไรแบบนี้ พยายามหาต้นตอของปัญหา บางทีเราก็เจอมุมที่เป็นคำตอบ แต่ถึงเจอคำตอบก็ไม่ได้แปลว่าแก้ได้ 

อะไรทำให้เห็นว่าการพัฒนาที่เป็นอยู่ไม่ยั่งยืน 

วันหนึ่งเราเห็นประกาศ FTA (Free Trade Area) ก็เริ่มเห็นแล้วว่าประเทศไทยจะฟรีเทรดทุกอย่าง แม้แต่กาแฟ วันนั้นรู้อยู่แล้วว่าธุรกิจนี้กำลังจะพัง เพราะคนไทยไม่ได้ชอบกาแฟไทยเป็นทุนเดิม ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคบ้านเรายังคลั่งไคล้เทรนด์ต่างประเทศเป็นหลัก แล้วจริตนี้ก็ขับเคลื่อนสังคมเกษตรอย่างรุนแรงมาก ทันทีที่เปิดการค้าเสรี มกราคม มีกาแฟออสเตรเลียนประกาศขายในช้อปปี้ ลาซาดาแล้ว เราตื่นเต้นที่เขาเตรียมตัวกันเร็วขนาดนี้ 

ผลกระทบต่อวงการกาแฟไทยหลังจากเปิดเขตการค้าเสรีคืออะไร 

ทั้งประเทศเราปลูกกาแฟได้ 30,000 ตัน แต่มีความต้องการอยู่ 120,000 ตัน ทันทีที่เปิดเสรีการค้า บริษัทขนาดใหญ่ก็กระโดดเข้ามาทำธุรกิจกาแฟ เมื่อกาแฟไทยไม่พอสำหรับเขา ก็ต้องลากกาแฟอย่างมหาศาลเข้ามาในประเทศ 

จริงๆ ภาครัฐก็เตรียมตัวใช้เงินอัดฉีด แต่ส่วนใหญ่คืออย่างที่คำเมืองบอกว่า “จุหมาน้อยขึ้นดอย” หรือ หลอกให้ดีใจเล่นๆ เพราะเขาบอกให้พัฒนากาแฟสเปเชียลตี้ (specialty) สร้างนักเก็งกำไร พูดถึงราคากาแฟเสียใหญ่โต ทำให้ชาวบ้านแข่งกันในหมู่บ้านเพื่อที่จะทำกาแฟสเปเชียลตี้ 

เราไม่เคยบอกว่าเราเป็นกาแฟที่ดีที่สุด แต่เราเป็นกาแฟที่รับผิดชอบต่องานของตัวเองเต็มที่ 

การแข่งขันในหมู่บ้านส่งผลต่อวงการเกษตรกรอย่างไรบ้าง 

การแตกสลายของสังคมชนบททำให้ฐานรากของเกษตรเปราะบางลงเรื่อยๆ ไม่ควรเกิดการแข่งขันแบบนั้นขึ้น แต่ควรทำให้เกิดความสามัคคีเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ร่วมกันดีกว่า นี่เป็นสาเหตุที่เราไม่เคยส่งกาแฟประกวดที่ไหนเลยเพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้เท่าไหร่ ความจริงแล้วเกษตรกรอยากขายกาแฟทั้งล็อต แม้ไม่ใช่กาแฟสเปเชียลตี้ที่เป็นของดีกลางฤดู เมล็ดงามๆ 

ฮิลล์คอฟฟ์ยึดตามที่พ่อเคยทำมา พ่อเคยซื้อระบบไหน เราก็ซื้อระบบนั้น เราตกลงกันว่าจะซื้อทุกเกรด แล้วค่อยมาคัดแยกเพื่อกระจายไปแต่ละเซคเตอร์อีกที มีตั้งแต่แฟรงก์คอฟฟี่เมล็ดเล็กจิ๋ว กาแฟธงฟ้าซองสีแดง กาแฟเกรดพรีเมียม เราไม่เคยบอกว่าเราเป็นกาแฟที่ดีที่สุด แต่เราเป็นกาแฟที่รับผิดชอบต่องานของตัวเองเต็มที่ 

ในฐานะที่ยืนในฝั่งของผู้ปลูกมาเสมอ คุณมองเห็นปัญหาอะไรในวงการกาแฟในยุคนี้ 

เรายังไม่รู้จักทรัพยากรตัวเองมากพอ ในอดีต กาแฟไม่ใช่ทรัพยากรบ้านเรา มันถูกนำเข้ามาในประเทศไทยและพยายามปรับตัวอยู่เสมอ ใช้เวลา 20-30 ปี กว่าจะรู้ว่าพันธุ์ไหนอร่อย พันธุ์ไหนดี หมดเงินกันไปตั้งเท่าไหร่ แต่ประเทศไทยยังไม่เคยได้รับประโยชน์จากการส่งออกกาแฟเลย 

ความยั่งยืนมันถูกขับเคลื่อนผิดไปหมดเพราะเราเอาเศรษฐกิจเป็นที่ตั้ง ปกติแล้วเราจะเดินหน้าเพื่อความยั่งยืน เรื่องพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทุกวันนี้เศรษฐกิจก็ไปไม่ถึงไหน สังคมก็เริ่มเละเทะ สิ่งแวดล้อมก็สาหัส เริ่มมีปัญหาเรื่องฝุ่นควัน เรารู้ว่ากาแฟแก้ปัญหาฝุ่นควันได้เพราะเป็นไม้ยืนต้น ยุคเราเลยต้องต่อสู้เรื่องหมอกควันและไฟป่าไปด้วย เราเริ่มมองเห็นปัญหาในชุมชน แล้วหันกลับมาดูงานที่ตัวเองทำ 

การหันกลับมามองงานที่ทำอยู่ คุณมองในส่วนไหนบ้าง 

เราหันมาทำเรื่องต้นน้ำและการวิจัยพัฒนา หาทางเพิ่มมูลค่าในเมล็ดกาแฟอย่างจริงจัง เราเล่นเรื่องทรัพยากรโดยเฉพาะเนื้อผลกาแฟ (coffee pulp) อาจารย์แพทย์เอาไปทดสอบในเซลล์ไขมัน ปรากฏว่าเซลล์มันขยายตัว หมายความว่ากาแฟลดไขมันได้ วันนั้นทำธุรกิจกาแฟไม่คิดว่าจะได้ยินเรื่องพวกนี้ ตอนศึกษาครั้งแรกมันน่าตื่นเต้น 

เรามองว่าถ้าหาประโยชน์จากเนื้อผลกาแฟได้ ราคาที่ให้เกษตรกรก็สูงขึ้นได้ ไม่ต้องหันไปซื้อกาแฟนอก มองอีกมุม ภาคเกษตรบ้านเราไม่เคยเป็น trend setter เลย คนบอกว่าตอนนี้กำลังฮิตกาแฟ pour over คนทั้งเมืองก็ตามไปฮิต แล้วก็บูมขึ้นมา เราเป็นประเทศปลูกกาแฟที่ไม่เป็นตัวของตัวเองเลย 

บางครั้งธุรกิจจำเป็นต้องคำนึงถึงเทรนด์เป็นหลัก คุณชั่งน้ำหนักเรื่องนี้อย่างไร 

เราแบ่งกำไรเป็น ประเภท มีทั้งกำไรที่ภูมิใจกับกำไรที่ละอายใจ ฮิลล์คอฟฟ์ก็ไปตามเทรนด์ เรารู้แล้วว่าปีหน้าจะทำอะไร ก็นำเข้ามาขาย ไม่ภูมิใจเลยแต่ต้องทำเพราะไม่มีใครที่จะมาให้เงินธุรกิจเรา โชคดีที่เราทำงานหนักมาก่อนหน้านี้ เลยนำกำไรมาพัฒนานวัตกรรมได้ 

อีกอย่างเราไม่ได้มีแค่กำไรจากเมล็ดกาแฟ แต่ยังได้จากอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย กำไรจากส่วนนี้เราเอาไปพัฒนาด้านเกษตร ด้านต้นน้ำ เอาไปลงกับงานวิจัยเกือบหมด เพื่อกลับมาพิสูจน์ว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทิ้งกาแฟ 

สิ่งที่คุณวาดฝันอยากเห็นสำหรับกาแฟไทยคืออะไร 

อยากให้สังคมโลกรู้ว่าประเทศผู้ผลิตก็เป็นคนที่รู้จักทรัพยากรกาแฟได้เหมือนกัน แล้วเราสามารถเป็น trend setter ได้ เป้าหมายก็เพื่อปักหลักซื้อกาแฟไทยได้นานที่สุด จริงๆ มันเป็นการทำธุรกิจที่โง่มาก พูดไปก็เป็นแกะดำเพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้อยากทำแบบนี้ โชคดีที่เรามี ecosystem ไม่เหมือนคนอื่น เนื้องานที่สร้างมันทำให้เรามีตัวตนบนเส้นทางของเราเอง ขอเรียกว่าการขุดถนนเพราะคนอื่นเขาไม่ได้เดินทางนี้ 

เราสร้างนวัตกรรมไปเรื่อยๆ จนพบกว่าระบบการผลิตนี้มันเรียกว่า circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แล้วยังเป็น green economy ด้วย ที่มากไปกว่านั้นคือการเพิ่มมูลค่าให้ทรัพยากร ไม่แน่ตลาดอาหารเสริมสุขภาพอาจใหญ่กว่าตลาดเมล็ดกาแฟที่เคยทำก็ได้ และอาจทำให้เราเพิ่มราคาขายของเกษตรกรได้อีก 

ตอนนี้คุณทำอะไรบ้างเพื่อสานฝันนั้นให้เป็นจริง 

ทุกวันนี้เลิกส่งเสริมให้คนปลูกกาแฟแล้ว เพราะชาวบ้านเขาชำนาญ ขยายเองได้ เพาะเมล็ดเองก็เป็น ขายต้นกล้าเป็น แปรรูปเป็น นั่นไม่ใช่งานเราแล้ว เราขยับไปทำเรื่อง food forest ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ใหม่จากแคมเปญ Jump out of the cup หรือ การกระโดดออกจากถ้วยกาแฟ 

เราต้องมีป่าที่กินได้ก่อนแล้วค่อยๆ มีพืชที่กินไม่ได้ตามมาทีหลัง 

โมเดลแรกที่ทำคือส่งเสริมให้ปลูกกล้วยล้อมสวนกาแฟ เป็นรั้วกันไฟป่า โมเดลที่สองคือปลูกพืชสมุนไพรและบุกไว้ในสวนกาแฟ เราเริ่มสนุกกับพืชท้องถิ่น โดยมองว่าพืชเหล่านั้น เมื่อจิ้มลงดินแล้วมันพร้อมจะเติบโต ไม่ต้องดูแลมาก คนที่อาศัยอยู่กับป่ามีหน้าที่แค่ปลูก เก็บเกี่ยว และดูแลให้อยู่ในป่าที่สมบูรณ์ ให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลับมา เราต้องมีป่าที่กินได้ก่อนแล้วค่อยๆ มีพืชที่กินไม่ได้ตามมาทีหลัง 

ตอนนี้คุณตั้งใจจะพาธุรกิจไปทางไหน 

เดินทางเส้นสุขภาพแน่นอน พวกพืชที่เป็นซูเปอร์ฟู้ดต่างๆ อย่าง สมุนไพร เคล บุก หญ้าหวาน ข้าวดอย ทุกตัวต้องวิจัยก่อน ต้องแน่ใจว่ามีประโยชน์ที่แข็งแรงพอ เราไม่ได้มองแค่ในเชียงใหม่ แค่ในประเทศไทย แต่เรามองว่าอาจมีชาวต่างชาติมาหยิบของเราออกไปนอกประเทศ วันหนึ่งฮิลล์คอฟฟ์อาจจะเป็นบริษัทที่ทำเรื่องนวัตกรรมเป็นหลัก 

ที่สำคัญเราอยากให้ภาคเกษตรกลายเป็น trend setter เราทำบัลซามิกจากกาแฟที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก เราทำคอฟโฟจีนิกเครื่องดื่มสกัดจากกาแฟที่ช่วยลดไขมัน เราอยากให้มันเป็นตัวอย่างของพืชชนิดอื่นๆ ด้วย 

ถ้าพูดถึงกาแฟไทยคุณอยากเล่าเรื่องไหน 

เล่าเรื่องปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของชุมชนกับป่า ความหมายของกาแฟหนึ่งถ้วยมันลึกซึ้งมากกว่านั้น เช่น กาแฟจากพื้นที่ไหนบ้างที่ลดการเผาป่า คิดว่าถ้าจะช่วยกันพูดเรื่องนี้คนละนิด คนละหน่อยมันคงไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัว 

สังคมคนดื่มจะมองกาแฟลึกซึ้งขึ้นได้อย่างไร 

เมื่อเห็นปัญหาแล้วอยากมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามปัญหาจะค่อยๆ เข้ามาหาคุณและหนักขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนจะเริ่มเรียกร้องความยั่งยืนมากขึ้น มนุษย์ไม่เคยหยุดเรื่องการแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ได้มีความต้องการไหนแค่นั้น แต่จะต้องการอะไรที่สูงขึ้น เราบอกตัวเองเสมอว่าสิ่งที่พัฒนาขึ้นใหม่จะดีกว่าเก่า 

ส่วนตัวมองว่าคนจะค่อยๆ เปลี่ยนไปเอง อย่างเด็กรุ่นใหม่ๆ เขาคิดเป็นตั้งแต่วัยเรียน บางคนไม่ยอมแตะแก้ว แตะหลอดพลาสติกเลย คนเหล่านี้จะมีเพดานที่สูงขึ้น เขาเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดในรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เด็กๆ จะเป็นคนเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงในที่สุด 

หากจะเดินไปสู่ความยั่งยืนอย่างที่คิดไว้คุณเริ่มจากอะไร 

เรามองว่าธุรกิจกาแฟจะยั่งยืนได้ ต้องควบคุมได้ตั้งแต่ต้นน้ำ ตอนนี้เราแทบไม่เหลือป่าต้นน้ำแล้ว มีอยู่ผืนเดียวคือที่อำเภอแม่แตง ติดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เราจะไม่มีป่าชุ่มชื้นที่ซับน้ำไว้ นั่นทำให้สภาพอากาศเริ่มเหมือนทะเลทรายเข้าไปทุกวัน เห็นได้ชัดในหน้าหนาว คือกลางคืนหนาวมาก กลางวันร้อนมาก ระยะห่างของอุณหภูมิในหนึ่งวันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วความหลากหลายของพืชพรรณจะเริ่มหายไป 

เราไม่ต้องการให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่ปลูกไว ใช้ยาเยอะ ได้เงินเร็ว เช่น กะหล่ำที่ต้องเปิดหน้าดินเพราะต้องการแดด พอไม่ยอมให้มีต้นไม้อยู่รอบๆ เห็นได้ว่าเวลาฝนตกลงมา ดินโคลนไหลพรืดเลย มันรุนแรงมาก 

เรามองว่าเกษตรกรไม่ควรขยายพื้นที่อีกต่อไปแล้ว ควรอนุรักษ์ป่าเอาไว้ เจ๋งสุดคือคืนป่าไปเลย ถ้าวางแผนทำเกษตรแบบยั่งยืนที่เรียกว่า Permaculture หรือทำระบบวนเกษตร ปลูกพืชแซมในพื้นที่ป่า จะทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก 

สังคมเกษตรกรสามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง 

ถ้าคนเกษตรคิดเหมือนกันและแชร์กัน มันจะเป็นสังคมที่น่ารักมาก สมุติว่าทุกคนแชร์ทรัพยากรกัน ของเหลือทิ้งในแปลงเกษตรก็จะน้อยลง เช่นการเก็บเกี่ยวข้าวโพด เมื่อเหลือเศษ ก็เอาไปทำเป็นถ่านชีวภาพ ในการเก็บเกี่ยวสับปะรด เมื่อส่งไปที่โรงงาน เปลือกที่ปอกออกมาคือของเน่าเสีย แต่ถ้าร่วมมือกับฟาร์มวัว เหมือนฟาร์มที่ไชยปราการ ที่นมวัวอร่อยเพราะมันกินเปลือกสับปะรด การร่วมมือกันเป็นกลุ่มก้อนแบบนี้ทำให้เราลดค่า carbon footprint และช่วยโลกได้ 

จากวันนั้นถึงวันนี้ได้ทำในสิ่งที่อยากทำไปหมดหรือยัง 

เคยคิดว่าตัวเองโชคดีมากเลย เพราะได้ลงมือทำอะไรที่อยากทำหมดแล้ว แต่ยังมีเรื่องใหม่ๆ ที่อยากทำตลอดเวลา ถึงได้เข้าไปสร้างบริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคมขึ้น เรามองว่าหลังจากนี้คงไม่ใช่เรื่องกำไรแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เราอยากจะมีส่วนร่วมกับสังคม และอยากรู้ว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เดินหน้าเพื่อธุรกิจจริงๆ มันทำได้จริงในโลกหรือเปล่า 

คำตอบที่พอจะเข้าข่ายคำว่า ‘ความยั่งยืน’ ที่ตามหามาตลอดคืออะไร 

เรื่องของเกษตรไม่ใช่เรื่องตัวใครตัวมันหรือมองแต่ผลประโยชน์ตัวเอง เพราะถ้าจะอยู่กันยาวๆ ต้องหาคู่ค้าที่ซื้อกันไปนานๆ แล้วคุยกันด้วยภาษาเดียวกันให้ได้