©ulture

ปกรณัมกับขุนเขาเป็นของคู่กัน

โดยเฉพาะเมื่อขุนเขาแห่งนั้นคือ หิมาลัย เทือกเขาที่ทั้งทอดยาวและอุดมไปด้วยยอดเขาสูงชันสลับซับซ้อนมากมาย จนได้สมญา ‘หลังคาโลก’ และเป็นที่ตั้งของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอเรสต์ หมุดหมายที่นักปีนเขาทั่วโลกยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อพิชิตยอดเขาลูกนี้

ในขณะเดียวกัน เทือกเขาหิมาลัยยังมากด้วยยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อนุญาตให้มนุษย์ก้าวเท้าขึ้นไปย่างกราย เช่น ยอดเขามัจฉาปูรณะ หรือยอดเขาหางปลาในเขตเทือกเขาอันนาปูรณะ ประเทศเนปาล

รวมถึงยอดเขาอีกจำนวนไม่น้อยที่เป็นที่ตั้งของวัด ณ จุดสูงสุดของยอดนั้น ๆ ซึ่งมาพร้อมตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่ผูกโยงกับเรื่องราวที่หลายคนรู้จักกันดีอย่างมหาภารตะ รามายณะ (หรือรามเกียรติ์) รวมถึงคัมภีร์สำคัญ ๆ ในศาสนาฮินดู

วัดเหล่านั้นส่วนมากกระจายตัวอยู่ตามยอดเขาในเขตคุลลู (Kullu) ในรัฐหิมาจัลประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย จนคุลลูได้สมญาว่าดินแดนแห่งเทพเจ้า เพราะยอดเขาส่วนมากในแถบนี้มักมีเรื่องเล่าเข้าทำนองเทพปกรณัมให้เหล่านักเดินทางได้ใช้จินตนาการเพิ่มเติม เสริมความงดงามของทิวทัศน์สุดอลังการเมื่อไปยืนอยู่ ณ ยอดเขา

เช่นเดียวกับเหล่าผู้ศรัทธาในทวยเทพแต่ละองค์ที่ยิ่งได้ไปเยือนในสถานที่ซึ่งตอกย้ำในความเชื่อมั่นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้คอยสถิตและประทานพรอยู่ที่นี่จริง ๆ ก็ยิ่งทำให้ความหมายของการดั้นด้นไปเยือนแต่ละยอดเขาเปี่ยมคุณค่ายิ่งไปกว่าเดิม

เหล่านี้คือ 9 วัดบนขุนเขาในแถบหิมาจัลประเทศที่เป็นหมุดหมายซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับนักท่องเที่ยวผู้หลงรักขุนเขาและมากด้วยศรัทธาให้สามารถออกเดินทางได้อย่างครบรสยิ่งขึ้น

1.

ขอพรจากองค์หนุมานให้เจ้านายเอ็นดู

วัดจากู เมืองชิมลา (Shimla)

God Temple
ทางเดินขึ้นไปยังวัดจากู (Jakhu Temple)

ชิมลา อดีตเมืองหลวงฤดูร้อนของอินเดียสมัยอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ปัจจุบันถือเป็นเมืองหลวงแห่งวงการท่องเที่ยวอินเดียโซนเหนือก็ว่าได้ ด้วยความที่มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี และอุดมด้วยอาคารสไตล์ยุโรปเรียงราย ณ ใจกลางเมือง ทำให้ชิมลาเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวทั้งในอินเดียและต่างชาตินิยมแวะไปเช็กอินตลอดปี

และเชื่อว่าขณะที่หลายๆ คนกำลังสนุกกับการช้อปปิ้งและเดินถ่ายรูปอย่างเพลิดเพลินในย่าน Mall Road กลางเมืองชิมลา น่าจะสังเกตเห็นจุดสีชมพูอยู่สูงลิบ ๆ บนยอดเขาด้านหลังตัวเมือง ตรงนั้นแหละคือที่ตั้งของวัดจากู (Jakhu Temple) ที่สถิตของรูปปั้นหนุมานองค์ยืนที่ว่ากันว่าเป็นรูปปั้นที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดที่สูงที่สุดในโลก

God Temple
รูปปั้นหนุมานองค์ยืนสูง 33 เมตร

เหตุผลที่ท่านหนุมานต้องมายืนตระหง่านด้วยความสูงตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าวัดได้ราว 33 เมตรบนภูเขาลูกนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นภูเขาลูกเดียวกับที่ท่านมาหยุดพักกลางทาง ระหว่างกำลังเดินทางเสาะหาต้นสังกรณีตรีชวาเพื่อนำไปปรุงยารักษาพระลักษมณ์ตามตำนานบทหนึ่งจากมหากาพย์รามายณะนั่นเอง

ชาวฮินดูจำนวนมากให้การเคารพศรัทธาองค์หนุมานไม่แพ้เทพองค์อื่น ๆ เพราะหนุมานเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความอ่อนน้อมถ่อมตัว และการอุทิศตนด้วยความจงรักภักดีต่อพระรามอย่างสุดหัวจิตหัวใจ จึงเชื่อกันว่าการบูชาองค์หนุมานจะทำให้เจ้านายรักและเอ็นดู หรือถ้าใครเป็นนาย ลูกน้องก็จะซื่อสัตย์และอยู่ในโอวาทมากขึ้น นอกจากนี้ด้วยความแข็งแกร่ง มากด้วยอิทธิฤทธิ์ของหนุมาน ทำให้หลายๆ คนขอพรให้ตนแข็งแกร่ง และไม่พ่ายแพ้ต่อสิ่งใดเช่นกัน

God Temple
ภายในวิหารวัดจากู

การจะขึ้นไปสักการะองค์หนุมานสามารถทำได้หลายวิธี จะนั่งแท็กซี่ขึ้นไปก็ได้ หรือจะนั่งกระเช้าลอยฟ้า หรือใครชอบเดินป่าก็สามารถเดินเท้าขึ้นไปได้พอให้เหนื่อยหอบเบา ๆ ก็จะมาถึงวัดศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ที่แน่นอนว่าเต็มไปด้วยลูกหลานของท่านหนุมานคอยวนเวียนอยู่ไม่ไกล ศาสนิกชนทั้งหลายพึงระวังข้าวของในมือเอาไว้ก็ดี แต่ส่วนมากลิงเหล่านี้ไม่ดุร้าย อาจจะมือซนบ้างบางตัวก็เท่านั้น

2.

ชนะทุกอุปสรรคด้วยพรจากพระแม่ตารา

วัดตาราเทวี เมืองโชกี (Shoghi)

God Temple
วัดตาราเทวี (Tara Devi Temple)
Photo: mowgli1854

วัดตาราเทวี (Tara Devi Temple) เป็นหนึ่งในวัดศักดิ์สิทธิ์มาผู้คนเดินทางมากราบไหว้มากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองโชกี ที่อยู่ห่างจากชิมลาไปเพียง 13 กิโลเมตร และด้วยความที่วัดตั้งอยู่บนยอดเขาสูง 2,200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทำให้สามารถมองเห็นวิวทิวเขาหิมาลัยได้รอบทิศ

ความเป็นมาของวัดตาราเทวีสร้างขึ้นโดยกษัตริย์ภูเพนตราเซนแห่งราชวงศ์เซนตั้งแต่ ค.ศ. 1766 หลังจากที่พระองค์ทรงมีนิมิตถึงพระแม่ตาราที่ต้องการให้สร้างรูปจำลองขึ้น เพื่อให้ผู้คนมีโอกาสกราบไหว้ขอพรจากพระนางได้ กษัตริย์ภูเพนตราจึงได้ให้ช่างฝีมือแกะสลักพระแม่ตาราขึ้นมา

God Temple
ทิวทัศน์ของทิวเขาเมื่อมองจากวัดตาราเทวี

หลังจากนั้น กษัตริย์บัลบีร์เซนได้เกิดนิมิตถึงพระแม่ตาราอีก โดยครั้งนี้พระแม่ขอให้พระองค์สร้างวัดขึ้นบนยอดเขาตารัฟ (Tarav) แห่งนี้ พระองค์จึงสร้างวัดตาราเทวีขึ้นบริเวณนี้ ทั้งยังมอบหมายให้มีการแกะสลักรูปเหมือนของพระแม่ขึ้นจากธาตุพิเศษ 8 ชนิด และทรงให้พระนามว่า Shankar

God Temple

พระแม่ตาราถือเป็นเทพแห่งสติปัญญาลำดับที่ 2 จากทั้งหมด 10 ลำดับที่เรียกว่า มหาวิทยา ได้ชื่อว่าเป็นขุมคลังแห่งพลังงานทั้งมวล คำว่า ตารา มาจากรากศัพท์สันสกฤต tr (ตริ) ซึ่งหมายถึง การก้าวข้าม พระแม่จึงเป็นตัวแทนของการนำทางข้ามผ่านการเวียนว่ายตายเกิดและความทุกขเวทนาทั้งหลาย ผู้คนจึงนิยมบูชาพระแม่ตาราเพื่อขอให้ช่วยดลบันดาลให้ผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ในชีวิต ช่วยชี้ทางสว่าง และปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง

God Temple
วิหารสลักจากไม้ตามแบบกฐกูนี (Kath Kuni)

วัดตาราเทวีโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบกฐกูนี (Kath Kuni) มีลักษณะคล้ายหอสูง ซึ่งแพร่หลายในแถบหิมาจัลประเทศ คำว่า กฐกูนี มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า มุมไม้ ซึ่งบ่งบอกถึงเทคนิคก่อสร้างด้วยการนำไม้ประจำถิ่นอย่างสนดีโอดาร์ประกบเข้ากับหิน โดยไม่ต้องใช้ปูนในการเชื่อม

สถาปัตยกรรมแบบกฐกูนีเป็นโครงสร้างที่ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้ดีกว่าคอนกรีตสมัยใหม่ เพราะคุณสมบัติของหินช่วยถ่วงน้ำหนักให้โครงสร้าง ทำให้มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ บวกกับการมีไม้เป็นตัวยึดโครงสร้างเข้าด้วยกันอย่างยืดหยุ่น

เอกลักษณ์อีกอย่างของอาคารกฐกูนีคือ มักมีช่องประตูหน้าต่างขนาดเล็ก เพื่อลดแรงกดจากช่องเปิดหากเกิดแผ่นดินไหว และอีกนัยหนึ่งของการมีซุ้มประตูที่เล็กเพื่อให้ผู้คนโค้งคำนับที่ทางเข้า เพื่อเป็นการกราบไหว้เทพเจ้าประจำบ้านด้วยความเคารพนั่นเอง

3.

ขอพรเจ้าแม่กาลีเสริมความแข็งแกร่งทางใจ

วัดกาลีทิบบา เมืองชาเฮล (Chail)

God Temple
รูปเคารพพระแม่กาลีภายในวัดพระแม่กาลี (Kali Tibba Temple)

พระแม่กาลีเป็นหนึ่งในเทพเทวาที่ได้รับการเคารพสูงสุดในแถบหิมาจัลประเทศ ดังนั้น การเลือกทำเลบนยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสามในแถบนี้สำหรับสร้างเป็นวัดพระแม่กาลี (Kali Tibba Temple) ที่สามารถมองเห็นทิวเขาศิวาลิกได้ตลอดแนว จึงเปรียบได้กับการแสดงความเคารพสูงสุดของชาวฮินดูในแถบนี้ก็ว่าได้

God Temple
กำแพงที่ล้อมรอบวัดออกแบบให้เหมือนอยู่ในป้อมปราการบนยอดเขา

ด้วยความที่พระแม่กาลีทรงมีบุคลิกภาพที่ดุดัน เกรี้ยวกราด แลดูลึกลับที่สุดในบรรดาเทพเทวาทั้งปวง แต่ก็เชื่อกันว่าพระนางจะทำลายเฉพาะอสูร ปีศาจ และมนุษย์ที่มีความคิดชั่วร้าย เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเท่านั้น ส่วนผู้ที่กระทำความดีและบูชาพระแม่ด้วยใจบริสุทธิ์ พระแม่กาลีก็จะปกป้องคุ้มครองและประทานพรแก่ผู้นั้นให้มีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ มีอำนาจเหนือผู้อื่น

สำหรับการบูชาพระแม่กาลีที่นี่จะไม่มีการสังเวยพระแม่ด้วยเลือดแพะ น้ำแดง หรือขนมสีแดงแต่อย่างใด เพียงเคารพด้วยการไหว้หรือคำนับด้วยใจศรัทธาก็เพียงพอแล้ว โดยหลังจากไหว้ดสร็จสิ้น พราหมณ์ประจำวัดจะตักน้ำมนต์ใส่ในมือให้จิบและลูบพรมบนศีรษะ พร้อมมอบข้าวพองปลุกเสกให้กินเป็นอันเสร็จพิธี

4.

สักการะนางมณโฑ หนึ่งในสตรีผู้ไร้มลทินที่ชาวฮินดูนับถือ

วัดพระแม่ฮาตู เมืองนากันดา (Narkanda)

God Temple
วัดฮาตูมาตา (Hatu Mata Temple)
Photo: mowgli1854

ยอดเขาฮาตู ครองตำแหน่งยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตชิมลา ณ พิกัด 3,400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และเป็นที่ตั้งของวัดฮาตูมาตา (Hatu Mata Temple) วัดที่สร้างจากไม้แกะสลักประณีตงดงามเพื่ออุทิศแด่มัณโฑทรี หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อนางมณโฑ หนึ่งในมเหสีของทศกัณฐ์จากมหากาพย์รามายณะ เพราะนางมณโฑถือเป็นหนึ่งใน “ปัญจกันยา” หรือ 5 สตรีผู้ไร้มลทิน (ได้แก่ อหัลยา เทราปที สีดาหรือกุนตี ตารา และมัณโฑทรี) ที่ชาวฮินดูให้การเคารพนับถือ

ชาวฮินดูเชื่อกันว่าหากสวดมนต์และกล่าวนามสรรเสริญแก่สตรีผู้ไร้มลทินทั้งห้าจะถือเป็นการขับไล่บาป โดยเฉพาะภรรยาของชาวฮินดูที่มักสวดมนต์ระลึกถึงปัญจกันยาเป็นประจำทุกเช้า ในส่วนของนักท่องเที่ยวอย่างเราก็เพียงรู้ไว้ใช่ว่าถึงความสำคัญของศาสนสถานแห่งนี้ และสำรวมกายใจตามธรรมเนียมการเข้าวัดที่ดีก็เพียงพอแล้ว

God Temple
วิหารวัดฮาตูมาตา

ทั้งนี้ ในแต่ละปีจะมีวันพิเศษที่ฮินดูชนนิยมมารวมตัวกันที่วัดแห่งนี้เพื่อทำพิธีบูชายัญแพะ นั่นก็คือ วันอาทิตย์แรกของเดือนชเยษฐ์ (Jyeshtha เดือนที่ 4 ตามปฏิทินฮินดู สำหรับปีนี้อยู่ระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม – 21 มิถุนายน 2566)

ในขณะที่อีกตำนานซึ่งอิงจากมหาภารตะเชื่อกันว่า บริเวณวัดแห่งนี้เป็นจุดที่ห้าพี่น้องปาณฑพใช้จุดเตาทำอาหารระหว่างที่ถูกเนรเทศนาน 13 ปี โดยมีหลักฐานเป็นหินก้อนยักษ์ตั้งคู่กัน 2 ก้อน มีลักษณะคล้ายเตาถ่านที่ได้รับการขนานนามว่า เตาของภีมะ (Bheem Chullah) ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในบริเวณนั้นนั่นเอง

God Temple
ทิวทัศน์เทือกเขาปกคลุมด้วยหิมะรายล้อมรอบทิศ

นอกเหนือไปจากตำนานเล่าขานที่ทำให้การมาเยือนวัดพระแม่ฮาตูเปี่ยมด้วยสีสันและสารัตถะมากขึ้นแล้ว ทิวทัศน์แบบจัดเต็ม 360 องศาของที่นี่ก็คุ้มค่าแก่การมาเยือน โดยหากโชคดีได้เดินทางไปเยือนวัดพระแม่ฮาตูในวันฟ้ากระจ่างใส จะสามารถมองเห็นหมวกหิมะสีขาวปกคลุมยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อ ชรีขันธ์มหาเทพ (Shrikhand Mahadev) ในเขตคุลลูอยู่ลิบตาได้จากที่นี่

5.

กระซิบขอพรจากพระโคนันทิให้สมปรารถนา

วัดบาจนาถ เมืองบาจนาถ (Baijnath)

God Temple
โบสถ์เก่าแก่วัดบาจนาถ (Baijnath Temple)

ทั่วประเทศอินเดียมีวัดที่บูชาพระศิวะอยู่หลายแสนแห่ง แต่ความพิเศษของวัดบาจนาถแห่งนี้ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 หรือ 9 คือ เป็นที่ประดิษฐานพระศิวะปางชโยติรลึงค์ (Jyotirlinga) ซึ่งเป็นปางปรากฏของพระศิวะที่ได้รับการเคารพบูชาสูง โดยมีลักษณะเปล่งประกายงดงาม และมีเพียง 64 แห่งเท่านั้น ฮินดูชนทางภาคเหนือของอินเดียจึงนิยมมาแสวงบุญ ณ วัดบาจนาถ (Baijnath Temple) แห่งนี้เพื่อบูชาหนึ่งในสุดยอดพระศิวะปางหายากนั่นเอง

God Temple

นอกจากนี้ วัดบาจนาถยังเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์สวายัมภู และมีรูปสลักโคนนทิที่แปลกไม่เหมือนที่อื่น เพราะปกติแล้ว โคนนทิมักอยู่ในท่านอนหมอบด้านนอกวิหารพระศิวะเสมอ แต่สำหรับโคนนทิประจำวัดบาจนาถกลับยืนเด่นเป็นสง่าหันหน้าเข้าหาวิหาร และมาพร้อมความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า หากกระซิบขอพรที่หูโคนนทิ พรนั้นจะเป็นจริง และจะให้ดีควรวาดมืออ้อมไปปิดหูอีกข้างของโคด้วย เพื่อไม่ให้พรรั่วไหล

ทางเดียวที่จะพิสูจน์ว่าพรจากพระโคสัมฤทธิ์ผลจริงหรือไม่ คือต้องเดินทางไปกระซิบที่ข้างหูพระโคด้วยตนเอง

God Temple
กระซิบขอพรข้างหูพระโคนนทิ

6.

สักการะรอยเท้าเทพีฮาดิมบา ผู้ปกปักรักษาเมืองมะนาลี

วัดฮาดิมบา เมืองมะนาลี (Manali)

“ไปเที่ยวมะนาลีแล้วไม่ไปวัดฮาดิมบา ก็เหมือนไปไม่ถึงมะนาลี”

ใครเคยไปเยือนมะนาลี หนึ่งในเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในรัฐหิมาจัลประเทศ ย่อมต้องเคยได้ยินประโยคนี้ ซึ่งอาจไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะนอกจากการเดินช้อปปิ้งในตัวเมืองจนรูปีแทบหมดกระเป๋าแล้ว เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยของนักท่องเที่ยวที่ดั้นด้นไปจนถึงมะนาลีย่อมต้องหาโอกาสไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดเก่าแก่ที่ตั้งตระหง่านท่ามกลางป่าสนมานานร้อยปีแห่งนี้แน่นอน

วัดฮาดิมบา ศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวมะนาลี Photo: Shutterstock/Mubarak_Khan

วัดฮาดิมบา (Hadimba Temple) หรือในอีกชื่อคือ วัดดุงคีรี ก่อสร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. 1553 อุทิศแด่เทวีฮาดิมบาที่ปรากฏอยู่ในเรื่องราวของมหาภารตะ โดยก่อนจะบำเพ็ญตบะจนได้เป็นเทวีในบั้นปลายชีวิต ฮาดิมบามีชาติกำเนิดเป็นน้องสาวของอสูรฮาดิมผู้ปกครองเทือกเขาแถบนี้ แล้ววันดีคืนดีก็มีชายหนุ่มมาตกหลุมรักอสูรสาว เขาคนนั้นคือ ภีมะ หนึ่งในห้าพี่น้องปาณฑพที่ระหกระเหินมายังภูเขาลูกนี้นั่นเอง

God Temple
บรรยากาศวัดฮาดิมบาในฤดูหนาว
Photo: Shuuterstock/ Alex Erofeenkov

ทางเดียวที่ภีมะจะครองรักกับน้องสาวอสูรได้คือ การฆ่าพี่ชายของเธอทิ้งเท่านั้น แน่นอนว่าหลังจากสังหารอสูรฮาดิมเป็นที่เรียบร้อย ภีมะก็ครองรักกับสาวเจ้าจนให้กำเนิดบุตรหนึ่งคนชื่อ Ghatotkachh ที่ต่อมาได้รับมอบหมายจากแม่ให้ดูแลแว่นแคว้นในปกครองทั้งหมด โดยตัวแม่เองขอหลบลี้ไปบำเพ็ญภาวนาในป่าลึกจนได้กลายเป็นเทวีที่ผู้คนให้ความเคารพตราบจนทุกวันนี้

ตัววัดฮาดิมบาเทวีมีลักษณะเป็นหลังคาไม้คลุมซ้อนกันสี่ชั้น ประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นรูปเทพ เทวี และสัตว์ต่าง ๆ ตามตำนานอยู่รอบทิศ ภายในวิหารมีรอยเท้าหินที่ผู้คนให้การกราบไหว้บูชา เชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าของเทวีฮาดิมบาที่คุ้มครองชาวเมืองมะนาลีมาตลอดทุกยุคทุกสมัย การมีโอกาสได้กราบเทพีฮาดิมบาจึงถือเป็นสิริมงคลสูงสุดของชาวมะนาลี

7.

เยือนบึงแห่งอนันตนาคราชกลางป่าสนบนยอดเขา 

วัดอนันต์บาลูนาค เมืองบันจาร์ (Banjar)

God Temple
วัดอนันต์บาลูนาค (Anant Balu Nag Temple)
Photo: mowgli1854

ไม่ไกลจากเมืองท่องเที่ยวเล็ก ๆ ที่คนรักป่าเขาเทใจให้เกินร้อยอย่างจิบิ (Jibhi) เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านบาฮู (Bahu) ซึ่งอยู่บนยอดเขาที่มีวัดศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งแห่งเร้นกายอยู่อย่างสงบท่ามกลางป่าสนเขียวขจี ที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นสีขาวโพลนยามฤดูหิมะโปรยปราย

วัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดอนันต์บาลูนาค (Anant Balu Nag Temple) หรือที่คนไทยเราคุ้นเคยกว่าในชื่อพญาอนันตนาคราช ซึ่งถือเป็น 1 ในเทพ 18 องค์ที่ปกปักรักษาดินแดนแถบเทือกเขาคุลลู และจะถือว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดของพระลักษมณ์ก็ย่อมได้ เพราะพระลักษมณ์เป็นอวตารของพญาอนันตนาคราชนั่นเอง

God Temple
เพิงขายอาหารกลางป่า

ตามตำนานเล่าขานถึงที่มาของบึงเล็ก ๆ ที่อยู่คู่วัดแห่งนี้มาช้านานว่าเกิดขึ้นหลังจากพญาอนันตนาคราชปราบอสูรร้ายที่ชื่อ Pouni Dauint ซึ่งอาละวาดป่วนบรรดาเทพบนยอดเขาแห่งนี้ และหลังจากปราบอสูรเสร็จสิ้น พญาอนันตนาคราชก็ตัดสินใจพำนักบนยอดเขาและเสกบึงน้ำแห่งนี้ขึ้นมา ส่วนตัววัดนั้นสร้างขึ้นภายหลังและเป็นศิลปะไม้แกะสลักตามแบบกฐคูนีอันเป็นเอกลักษณ์ของหุบเขาคุลลู

God Temple

God Temple
รองเท้าถักใยกัญชง (บน) และซิดดู (ล่าง)

ท่ามกลางความสงบเงียบของป่าสน นักเดินทางสามารถเติมพลังให้ท้องอิ่มได้จากแม่ค้าท้องถิ่นที่ปักหลักเปิดเพิงขายอาหารเล็ก ๆ มีทั้งการัมจัย (ชาเครื่องเทศร้อน) โมโม่ แม็กกี้ (มาม่าอินเดีย) และซิดดู อาหารทานเล่นประจำถิ่นอินเดียเหนือ ลักษณะคล้ายซาลาเปานึ่งสอดไส้วอลนัทหรือถั่วต่าง ๆ จะทานเล่นหรือกินเอาอิ่มก็อยู่ท้องได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีรองเท้าถักจากใยกัฐชงสีสันสดใส รวมถึงหมวกและถุงเท้าไหมพรมที่ชาวบ้านถักเอง ขายเอง เป็นงานแฮนด์เมดฝีมือดี ราคาย่อมเยาที่ไม่ควรพลาด

8.

เยือนถิ่นบำเพ็ญตบะของฤาษีหน้ากวาง ต้นแบบแห่งความเพียร

วัดฤาษีศฤงคาร เมืองจิบิ (Jibhi)

God Temple
วัดฤาษีศฤงคาร (Shringa Rishi Temple)
Photo: mowgli1854

ด้วยความที่ คุลลู (Kullu) เป็นดินแดนอันอุดมไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ซึ่งยอดเขาหลายต่อหลายยอดล้วนมีเรื่องราวเกี่ยวพันกับตำนานรามายณะ มหาภารตะ รวมถึงทวยเทพต่าง ๆ อย่างแยกไม่ออก

หนึ่งในสถานที่ซึ่งว่ากันว่าเป็นสถานที่จริงอ้างอิงจากตำนานรามายณะ ก็คือ วัดฤาษีศฤงคาร (Shringa Rishi Temple) แห่งนี้ ที่ในอดีตคือถิ่นพำนักของฤาษีฤษยะสฤงค์ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ ฤาษีกไลยโกฏ หรือฤาษีหน้ากวาง มหาฤาษีผู้บำเพ็ญเพียรจนมีตบะแก่กล้าจากวรรณกรรมเรื่อง รามายณะ และมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ให้กำเนิดพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา

สำหรับผู้ที่ร่ำเรียนทางนาฏศิลป์ก็จะยิ่งคุ้นเคยกับพระฤาษีกไลยโกฏเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นครูแห่งการร้องรำ ตามตำนานกล่าวว่าได้ร้องเพลงอ้อนวอนพระอิศวรจนเสด็จมาประทนพรให้เป็นบรมครูแห่งการขับร้องทั้งปวง

God Temple
ประตูทางเข้าวัดฤาษีศฤงคารแกะสลักจากไม้แต่งแต้มสีสันสดใส

ส่วนความสำคัญของฤาษีกไลยโกฏสำหรับชาวบ้านในแถบคุลลูนั้น ยกย่องให้ท่านเป็นถึง 1 ในเทพ 18 องค์ผู้ทำหน้าที่ปกปักรักษาดินแดนแห่งนี้ (ศักดิ์ศรีเทียบเท่าเทพีฮาดิมบาแห่งมะนาลี) บรรดาผู้ที่ศรัทธาในความเพียรของฤาษีกไลยโกฏจึงนิยมเดินทางมาสักการะพระรูปของฤาษีที่วัดเล็ก ๆ ปากทางขึ้นเขาไปสู่หมู่บ้านเชห์นี (Chehni) ซึ่งเป็นอีกไฮไลท์สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเมืองจิบิ เพราะเชห์นีเป็นหมู่บ้านเพียงแห่งเดียวในรัฐหิมาจัลประเทศที่บ้านทุกหลังเป็นบ้านโบราณแบบกฐกูนี ซึ่งเหลืออยู่น้อยเต็มที

God Temple

นอกเหนือไปจากศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวบ้านที่นี่ที่ดั้นด้นเดินทางมาสักการะสถานที่บำเพ็ญตบะของฤาษีที่ตนนับถือแล้ว สถาปัตยกรรมของวัดเล็ก ๆ แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยรายละเอียดน่ามอง โดยเป็นงานไม้แกะสลักตามบานประตูและหน้าบันต่าง ๆ ที่แต่งแต้มสีสันสดใส รวมถึงทำเลที่แวดล้อมด้วยทิวเขาน้อยใหญ่แห่งหุบเขาบันจาร์จึงยิ่งตอกย้ำตำนานเก่าแก่ทั้งหลาย ที่ยิ่งใช้เวลาอยู่ที่นี่นานเท่าไรก็ยิ่งแจ่มชัดถึงพลังบางอย่างที่ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ผู้คนก็ไม่เคยร้างลาต่อศรัทธาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเขานับถือแม้แต่น้อย

9.

สักการะขอพรเทพเทวี 108 องค์ 

อุทยานมรดกแห่งชาติโมฮันศักติ เมืองโซลัน (Solan)

God Temple
รูปสลักพระศิวะและพระแม่อุมาบนภูเขา

อุทยานมรดกแห่งชาติโมฮัน ชักติ (Mohan Shakti National Heritage Park) เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมในเขตโซลัน โดยนักท่องเที่ยวที่กำลังมุ่งหน้าไปเที่ยวชิมลามักแวะหุบเขาโซลันกลางทาง เพื่อแวะเช็กอินที่อุทยานแห่งนี้ก่อนออกเดินทางต่อ

God Temple
ทิวทัศน์หุบเขาโซลันเมื่อมองจากวัดในอุทยานฯ
Photo: commons.wikimedia/Pankajkukreti03

ไอเดียในการก่อตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้เกิดขึ้นโดย คาปิล โมฮัน (Kapil Mohan) อดีตนายพลจัตวาแห่งกองทัพบกอินเดีย และนักธุรกิจชั้นนำเจ้าของกิจการหลากหลาย รวมถึงสถานะการเป็นทายาทโรงเหล้ารัม Old Monk อันเก่าแก่ของอินเดีย คาปิลทุ่มทุนสร้างกว่า 100 ล้านรูปีในการจ้างช่างฝีมือให้สลักรูปปั้นมหาเทพ 108 องค์ตามตำนานสำคัญ ๆ ของอินเดีย ทั้งรามายณะ มหาภารตะ คัมภีร์พระเวท ฯลฯ นานกว่า 30 ปี ไปพร้อม ๆ กับการเริ่มสร้างอุทยานแห่งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้านปรัชญาและมรดกเก่าแก่ของชาติ โดยอุทยานฯ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา

God Temple
รูปปั้นหนุมานภายในวัด
Photo: mowgli1854

ไฮไลท์ของที่นี่อยู่ที่วัดประจำอุทยาน ซึ่งเป็นที่รวมของรูปสลักเทพเทวี ฤาษี ปราชญ์ยุคโบราณ และบุคคลสำคัญตามตำนานเก่าแก่ของอินเดียรวมกว่า 108 องค์ แต่ละองค์มีความสูงตั้งแต่ 1.2 – 1.8 เมตร จึงทั้งงามสง่าและน่าเลื่อมใสตั้งแต่มองเห็นจากระยะไกล ยิ่งเมื่อได้เดินเข้าไปชมในระยะใกล้ ก็ยิ่งน่าทึ่งในทุกรายละเอียดอันประณีตงดงามของการบรรจงสลักเสลาหินให้เทพทุกองค์ราวกับมีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ

God Temple
ประตูทางเข้าวัด

ความอลังการของรูปสลักที่นี่เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนเดินขึ้นบันไดด้านนอก เพื่อขึ้นไปสู่โถงภายในวัด โดยตลอดสองข้างราวบันไดเรียงรายด้วยรูปสลักพราหมณ์ ฤาษีตนสำคัญ ๆ และนักปราชญ์ตามตำนานเก่าแก่ของฮินดู และเมื่อมาถึงบริเวณเหนือซุ้มประตูทางเข้า ราชรถของสุริยเทพทรงม้า 7 ตัว ก็สะกดทุกสายตาให้แหงนมองคอตั้งบ่ากับที่ลีลาการแกะสลักที่อ่อนช้อย งดงาม ราวกับราชรถกำลังพุ่งไปข้างหน้าไม่มีผิด

God Temple
ความโอ่โถงภายในวัด
Photo: mowgli1854

ภายในตัววัดโอ่โถงงดงามด้วยศิลปะเป็นซุ้มโค้งและลวดลายบนเพดาน รอบด้านทั้งสามทิศเรียงรายด้วยเทพและเทพีองค์สำคัญ ๆ ใครศรัทธามหาเทพหรือเทพีองค์ไหน รับรองว่าจะต้องอิ่มอกอิ่มใจกับความงามของรูปสลักที่ประณีตและยิ่งใหญ่ขรึมขลังที่สุดแห่งนี้

God Temple
รูปสลักพระแม่ทุรคา

ด้านนอกตัววัด หากหันหน้าเข้าวัดแล้วมองไปทางซ้ายมือ จะเห็นรูปสลักสีขาวของพระศิวะและพระแม่อุมาอยู่บนยอดเขา เยื้องลงมาอีกนิดคือ พระแม่ทุรคาทรงสิงโต ที่แค่มองจากระยะไกลก็งดงามจับใจแล้ว ส่วนใครต้องการชมความงดงามระยะใกล้ก็สามารถเดินลัดเลาะขึ้นเขาไปได้ ระยะทางไม่ไกล เดินไม่ถึง 10 นาทีก็ได้สักการะในระยะประชิดองค์เสริมสิริมงคลให้แก่ตนเอง

 

อ้างอิง