life

อีกหนึ่งเมืองที่ดูจะเป็นม้านอกสายตาประจำแดนภารตะ ที่เราภูมิใจเสนอ คือ ชิมลา อดีตเมืองหลวงฤดูร้อนแห่งประเทศอินเดีย 

เหตุผลที่เราอยากให้คุณไต่ระดับความสูงไปเที่ยวเมืองที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,205 เมตรแห่งนี้ ก็เพราะไปชิมลาที่เดียว เหมือนได้เที่ยวอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และบราซิลในทริปเดียว!

ส่วนเหตุผลส่วนตัวที่จูงใจเราให้อยากไปเที่ยวชิมลาเมื่อปีกลายที่ผ่านมานั้น เพียงเพราะอยากลองนั่งรถไฟของเล่น (Toy Train) ในตำนาน เพราะเรารู้สึกว่านี่เป็นวิธีเดินทางไปชิมลาที่คลาสสิคที่สุด แม้จะสามารถนั่งเครื่องบินโดยสารรถบัส หรือเหมาแท็กซี่ไปได้ก็ตาม

shimla
รถไฟตู้นอน ออกจากเดลีเที่ยงคืน ไปถึง Kalka ประมาณ 7 โมงเช้า
shimla 0
แสงแรกที่สถานี Kalka

การเดินทางไปสู่เมืองชิมลานั้นเราตั้งต้นจับรถไฟออกจากสถานีโอลด์เดลี โดยสารตู้นอน หลับยาวๆ ไปหนึ่งคืน ก่อนจะตื่นมาพบกับแสงแรกที่สถานีกัลกา (Kalka) จากนั้นก็แบกสัมภาระขึ้นหลัง เปลี่ยนไปโดยสารรถไฟขบวนเล็ก เพื่อลัดเลาะไปตามเหลี่ยมเขามุ่งหน้าขึ้นสู่เมืองชิมลา

shimla
โฉมหน้ารถไฟสายมรดกโลก
shimla
ขนมปัง ไข่เจียว นมเปรี้ยว เสิร์ฟบน Toy Train

ถึงจะได้รับสมญาว่ารถไฟของเล่น แต่ก็ไม่ได้ไซส์จิ๋วจนต้องนั่งงอก่องอขิงเหมือนนั่งรถไฟตามสวนสนุก
แม้เก้าอี้ในขบวน Toy Train จะมีขนาดเล็กกว่าขบวนรถไฟสายปกติ ก็ยังนั่งสบาย แถมมีอาหารเสิร์ฟอีกด้วย

shimla

หลังจากรถไฟสายมรดกโลกขบวนนี้ แล่นลอดอุโมงค์หลายสิบแห่งจนมาถึงอุโมงค์ที่ยาวที่สุดถึงกว่า 1,143 เมตร หรือนับเป็นระยะเวลาที่ต้องตกอยู่ในความมืดนาน 5 นาที ขบวนรถก็จอดพักที่สถานี Barog นาน 10 นาที เป็นสัญญาณว่าเรามาได้เกินครึ่งทางแล้ว และก็เพื่อให้ผู้โดยสารได้ลงไปซื้อน้ำ ซื้อขนมกิน ยืดเส้นยืดสายพอให้ได้สัมผัสลมหนาวยะเยือกผิวเบาๆ เตรียมพร้อมรับมือสู่ความหนาวที่สุดขั้วยิ่งกว่าเมื่อถึงยอดชิมลา

สถานี Shimla

เราใช้เวลานั่งโขยกเขยกลอดอุโมงค์นับได้เกินร้อยอุโมงค์นาน 5 ชั่วโมง ในที่สุด ก็เดินทางถึงสถานีชิมลา และจับแท็กซี่ไปสู่โรงแรมที่พักระหว่างเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา

shimla

เราพบว่าชิมลายิ่งใหญ่เกินจินตนาการไปมาก ใจคิดว่าจะเป็นแค่เมืองขนาดกำลังดีอารมณ์ประมาณโพคารา เมืองเล็กริมทะเลสาบที่ประเทศเนปาล แต่ที่ไหนได้ชิมลาคืออลังการแห่งงานก่อสร้างบ้านเรือนให้ลดหลั่นไปตามองศาของภูเขาทั้งลูกจนแทบจะไม่เหลือที่ว่าง เราเองก็ลืมไปว่าขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงฤดูร้อนทั้งทีจะมาไก่กามีบ้านแค่ 100-200 หลังได้ไง

shimla

ว่าด้วยประวัติย่อของชิมลานั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นเมืองหลวงฤดูร้อนของบริติชอินเดียในปี ค.ศ. 1864

เนื่องจากชาวอังกฤษผู้เดินทางมาปกครองอนุทวีปแห่งนี้ทนองศาเดือดของกรุงกัลกัตตาในช่วงฤดูร้อนไม่ไหว

รัฐมนตรีทั้งหลายจึงอพยพทั้งรัฐบาลย้ายไปประจำการสร้างบ้านแปงเมืองเสียใหม่หมดบนภูเขาสูงแห่งรัฐหิมาจัลประเทศ ท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายตลอดทั้งปีถึงขั้นมีหิมะโปรยปรายไม่ต่างอะไรจากบรรยากาศในอังกฤษเลยทีเดียว

shimla
สถานีลิฟต์โดยสาร สนนราคาค่าขึ้นคนละ 10 รูปี

พอหมดฤดูร้อนก็ย้ายกลับไปว่าราชการที่กรุงกัลกาตาเหมือนเดิมและหลังจากอินเดียได้รับเอกราช ก็ไม่มีเมืองหลวงฤดูร้อนอีกต่อไปแต่ถึงกระนั้นก็ตาม ชิมลาก็ได้กลายเป็นเมืองตากอากาศแห่งสำคัญไปเสียแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเอง รวมถึงนักเดินทางจากทั่วโลก ต่างก็อยากไปสัมผัสร่องรอยอารยธรรมที่อังกฤษได้ทิ้งไว้ที่นี่ ว่ากันว่าการได้เดินเล่นบน Mall Road เส้นเดียว ก็เหมือนได้ไปเที่ยวกรุงลอนดอนไม่มีผิด ว่าแล้วก็กดลิฟต์ขึ้นไปเดินช้อปเดินชิลที่ Mall Road กันเลย

shimla
บรรยากาศบน Mall Road

อย่างที่บอกว่า ชิมลาเกิดจากการค่อยๆ สร้างเมืองขึ้นตามไหล่เขา ดังนั้นถนนแต่ละสายในเมืองจึงมีความต่างระดับกันถึงขึ้นที่ต้องใช้ลิฟต์โดยสารที่มีความสูงถึง 9 ชั้น เพื่อเดินทางจากถนนเส้นต่ำที่สุดไปยัง Mall Road หรืออีกชื่อคือ The Ridge ซึ่งเป็นถนนเส้นบนสุดของเมือง แล้วค่อยเดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยต่างๆ ลงไปยัง Lower Bazaar จะสะดวกกำลังขากว่าเดินขึ้นบันไดเป็นไหนๆ

shimla
ทางเดินจาก Mall Road สู่The Ridge

เหนือ Mall Road ที่เรียงรายด้วยร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านขายเสื้อผ้าต่างๆ ขึ้นไป เป็นลานโล่งกว้างที่เรียกขานกันว่า The Ridge ศูนย์รวมความศิวิไลซ์ประจำเมืองชิมลา มีทั้ง Christchurch โบสถ์เก่าแก่ที่ถือเป็นแลนมาร์คกลางเมือง มีห้องสมุด โรงหนัง และโรงละคร ที่มีโปรแกรมน่าสนใจต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ชาวชิมลาได้แวะชมความบันเทิงร่วมกันในแต่ละค่ำคืน ด้วยความที่ The Ridge เป็นลานโล่งกว้าง จึงเป็นอีกหนึ่งจุดชมวิวที่มองเห็นเทือกเขาหิมาลัยได้ชัดถนัดตา เดินไปอีกนิดก็สามารถช้อปของฝากจำพวกงานคราฟต์ หรือของทำมือต่างๆ ได้ที่ Lakkar Bazaar ที่อยู่ติดกัน

shimla
เมืองที่มีแต่เนินและเนิน
shimla
Lower Bazaar เมื่อมองลงไปจากร้านค้าแห่งหนึ่งบน Mall Road

ส่วนใครที่ชอบเดินตลาดพื้นบ้านแบบที่ได้ต่อราคาสนทนากับพ่อค้าแม่ขายด้วยตัวเอง ให้มองหาบันไดในตรอกไหนก็ได้จาก Mall Road เดินลงไปยัง Lower Bazaar แค่นี้คุณจะได้พบกับอีกโลกที่แตกต่างจากความหรูหราบนถนนมอลล์อย่างสิ้นเชิง

ณ ตลาดที่อยู่ต่ำกว่าแห่งนี้เต็มไปด้วยสีสันของอินเดียแบบที่คุ้นเคย ทั้งจำนวนผู้คนที่หนาตา ร้านค้าที่เบียดชิดติดกันทุกคูหา และมีข้าวของให้ช้อปครบทุกประเภท รับรองว่าเดินสนุก เดินเพลินจริงๆ

shimla

สีสันของ Lower Bazaar

เติมเต็มบรรยากาศของความเป็นอังกฤษกันต่อที่ Viceregal Lodge อาคารโบราณหน้าตายุโรปจ๋าอายุเกินศตวรรษ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชิมลาไปแค่ 2 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นที่พักอาศัยของผู้รั้งตำแหน่งอุปราชแห่งอังกฤษ

shimla

และหลังจากอินเดียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2490 ที่นี่ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นที่พักตากอากาศในช่วงฤดูร้อนของประธานาธิบดีแห่งอินเดียอยู่พักใหญ่ ต่อมาท่านประธานาธิบดีได้ยกไวซ์รีกัลลอดจ์ให้เป็นแหล่งศึกษาสำหรับค้นคว้าวิจัยของบรรดานักวิชาการหัวกะทิของประเทศ ปัจจุบันที่นี่จึงยังมีสถานะเป็นที่ทำงานของนักวิชาการและนักวิจัยหลายสาขา จึงเปิดให้ทัวร์ริสต์อย่างเราเข้าชมได้แค่บางห้องเท่านั้น

shimla
อาคาร Viceregal Lodge

ประวัติศาสตร์ที่เราสามารถเก็บตกได้จากไวซ์รีกัล ลอดจ์ หนีไม่พ้นบรรยากาศขรึมขลังของห้องประชุมที่มหาตมะคานธีเคยใช้เป็นพื้นที่ในการถกเถียงเหตุบ้านการเมืองหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นและเพดานไม้เก่าแก่ แชนเดอร์เลียร์สวยหรู และนาฬิกาแขวน เมด อิน อัมสเตอร์ดัม อายุเกือบ 200 ปี ที่ยังคงเดินส่งเสียงติ๊กต่อกบอกเวลาอย่างเที่ยงตรงในทุกยุคสมัย น่าจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงเราเข้ากับเรื่องราวเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในคฤหาสน์หลังนี้ได้ดีที่สุด

shimla

ออกจากอังกฤษกันดีกว่า ได้เวลาไปเยือนบราซิลเบาๆ ณ ยอดเขา Jakhoo ซึ่งเปรียบเหมือนภูเขาหลังบ้านของชิมลา แนะนำว่าตอนเดินเล่นที่ Mall Road ให้สังเกตบนยอดเขาสูงทางด้านหลัง คุณจะเห็นเหมือนมีรูปปั้นสีชมพูยืนเด่นอยู่ลิบๆ ท่ามกลางทิวสน และนั่นเองคือที่สถิตของกริชตูเรเดงโตร์แห่งชิมลา

เอ่ยชื่อ กริชตูเรเดงโตร์ อาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่าประติมากรรมพระเยซูที่ตั้งอยู่บนยอดเขากอร์โกวาดูแห่งประเทศบราซิล หลายคนคงร้อง อ๋อ เพราะรูปปั้นองค์นั้นทำหน้าที่แลนด์มาร์คแห่งบราซิลได้อย่างไม่มีที่ติ ในขณะที่ประติมากรรมบนยอดเขาจาคูแห่งนี้กลับไม่ค่อยมีใครรู้จักสักเท่าไร ทั้งที่หนุมานองค์สีชมพูรูปร่างกำยำองค์นี้ ก็มีความสูงที่ไม่น้อยหน้ากันเลย (รูปปั้นพระเยซูสูงราว 38 เมตร รูปปั้นหนุมานสูงราว 33 เมตร) แต่ถึงอย่างไร หนุมานก็ครองสถานะหนึ่งในเทพที่ฮินดูชนให้ความเคารพมากที่สุดองค์หนึ่ง จึงมีผู้คนขึ้นไปสักการะองค์หนุมานในวัด Jakhoo ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันตลอดทั้งปี

ประติมากรรมหนุมานแห่งยอดเขา Jakhoo

ทำไมต้องสร้างรูปปั้นหนุมานไว้ที่นี่?
ก็ต้องท้าวความไปสู่ตำนานบทหนึ่งในรามายณะ หรือรามเกียรติ์ที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในตอนที่พระลักษม์ถูกหอกโมกขศักดิ์ของกุมภกรรณ หนุมานจึงต้องเหาะไปตามหาต้นสังกรณีตรีชวา เพื่อนำมาปรุงยารักษาพระลักษม์ และด้วยความที่เป็นพืชสมุนไพรหายาก หนทางก็ไกล หนุมานจึงแวะหยุดพักบนยอดเขา Jakhoo แห่งนี้ เพื่อชะเง้อแลเล็งหาภูเขาลูกที่มีความน่าจะเป็นว่าจะมีสมุนไพรต้นนี้อยู่ ก่อนจะเหาะต่อไปแล้วหอบภูเขาที่หมายตาเอาไว้ขึ้นมาทั้งลูกกลับไปรักษาพระลักษม์ จึงเป็นอีกหนึ่งที่มาของรูปปั้นหนุมานเหาะ โดยแบกภูเขา 1 ลูกไว้ในมือนั่นเอง

shimla 2
คนเมืองนี้นับถือหนุมาน จึงพบเห็นเป็นเครื่องรางห้อยอยู่ตามหน้ารถอยู่เสมอ

สักการะหนุมาน เทพแห่งสรรพวิทยาเป็นที่เรียบร้อย ก็โบกแท็กซี่ไปเล่นสกีกันต่อดีกว่า ไม่รู้อะไรซะแล้วว่า ถ้าคนอินเดียเขาอยากเล่นสกี วิ่งไล่ปาหิมะกันแล้วล่ะก็ ถัดจากชิมลาไปแค่ 15 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของ Kufri เมืองสันทนาการยามเหมันตฤดูของชาวอินเดียเขานั่นเอง

shimla
เส้นทางชิมลา-คูฟรี

เส้นทางจากชิมลาไปคูฟรีนั้นคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาและสวยงามด้วยทิวสนตัดกับท้องฟ้าสีคราม ยิ่งเมื่อเข้าเขตเมืองสกีเราก็จะเริ่มเห็นหิมะปกคลุมตามข้างทางระหว่างนั่งรถชมวิวเพลินๆ คนขับรถจะถามเราว่า จะเล่นสกีไหม ถ้าคำตอบคือ Yes ก็อย่าตกใจที่จู่ๆ เขาจะหักเลี้ยวเข้าไปจอดรถบริเวณไหล่ทางที่มีรถจอดอยู่แล้วหลายคัน เพราะตรงนี้เป็นจุดเช่าชุดและรองเท้าสำหรับเล่นสกี เรียกว่าลองชุดและเปลี่ยนชุดกันข้างทางให้เสร็จสรรพ ก่อนขึ้นรถแล้วขับไปให้ถึงลานสกี (ส่วนชุดเช่าทั้งหมดก็เป็นของแขกชุดก่อนหน้านี่ที่เพิ่งถอดออกมาสดๆ ร้อนๆ!)

shimla

อีกครั้งที่มโนภาพก่อนมากับความเป็นจริงช่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในตอนแรก เราปฏิเสธเพื่อนเสียงแข็งว่า จะไม่เล่นสกี เพราะคิดว่าจะต้องสโลบลงมาจากเนินเขาหิมะสูงชัน ไม่เอาล่ะ ไม่อยากเจ็บตัว ซึ่งเพื่อนสาวหัวใจแอดเวนเจอร์ก็มโนภาพในใจไว้เช่นนั้นเหมือนกัน

แต่หลังจากจำยอมสมัครใจเล่น เพราะขี้เกียจนั่งแกร่วรอแบบไม่มีอะไรทำ และเปลี่ยนมาใส่ชุดหมีบุนวมจนตัวหนาราวมนุษย์อวกาศเสร็จเรียบร้อย

พวกเราก็พากันเดินล้มลุกคลุกคลานขึ้นไปตามเนินน้ำแข็งลื่นๆ เพื่อที่จะพบว่าที่นี่คือลานสกี 101 บรรยากาศไม่ต่างอะไรกับตอนหัดเล่นไอซ์สเก็ตครั้งแรกตามห้างฯ ในกรุงเทพฯ ไม่มีผิด

ลานสกี 101

ไม่มีเนินเขาสูง ไม่มีสโลบใดๆ อุปกรณ์สกีก็ต้องรอแขกรอบก่อนหน้าเล่นเสร็จ ถึงจะได้เอามาสวมใส่แล้วหัดเอาไม้ไถๆ ไปตามพื้นเอาเอง ให้เพื่อนช่วยดันหลังบ้าง หัดเบรกเองบ้าง ไถสกีวนๆ อยู่คนละ 4-5 รอบ
ถ่ายรูปวิวเทือกเขาหิมาลัยที่โอบล้อมพอเป็นพิธี จากนั้น ก็เปลี่ยนชุดคืนเจ้าหน้าที่ แล้วนั่งรถกลับไปกำซาบบรรยากาศในเมืองชิมลากันต่อ

shimla

เอ๊ะ แล้วมันเหมือนไปสวิสตรงไหน?

เอาน่าอย่างน้อยก็ได้ลองเคลื่อนร่างไปบนสกีแบบไม่ต้องเสียเงินแสนบินไปถึงยุโรป ก็ได้สัมผัสอรรถรสและทิวทัศน์สวยๆ ได้พอกล้อมแกล้ม เป็นอันจบทริปทัวร์เมืองหลวงฤดูร้อนแห่งอินเดีย

ที่มอบทุกประสบการณ์ให้แบบครบเครื่องจริงๆ