©ulture

เช่นเดียวกับความรัก มิตรภาพเป็นสิ่งที่สวยงามเสมอ โดยเฉพาะในยามที่เรามอบให้กับคนที่ไม่รู้จัก หรือแม้กระทั่งกับคนที่เคยเกลียดชังกันอย่างมากที่สุด หากเปิดใจกว้างแล้วหยิบยื่นมิตรภาพให้แก่กัน เราอาจพบกับผลลัพธ์ที่เป็นมากกว่าความสัมพันธ์ฉันเพื่อน แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ ผู้เคารพความแตกต่างที่หลากหลายด้วยความรู้สึกเข้าถึงใจของกันและกัน

ความแตกต่างเหล่านั้นอาจเป็นได้ทั้งชาติกำเนิด รูปลักษณ์ร่างกาย ชนชั้น สถานะทางสังคม และอีกสารพัดสิ่งที่คนคนหนึ่งจะหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้าง เพื่อสร้างอคติแบ่งแยกมนุษย์ไม่ให้เท่ากัน ซึ่งเป็นทั้งเรื่องน่ารังเกียจและน่าเสียใจ เพราะเท่ากับว่าความเป็นมนุษย์ของใครบางคนถูกลดทอนลงอย่างไร้ความเป็นธรรม

หากเราเชื่อว่าทุกคนดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ที่เสมอภาค สังคมและโลกจะไม่มีปัญหาเหยียด (racism) และกีดกัน (discrimination) อย่างที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และถ้าหากเราเชื่อว่าโลกนี้มีความหวัง ความหวังนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขด้วยความเมตตา

เฉกเช่นภาพยนตร์คัดสรรทั้ง 8 เรื่อง ที่ทำหน้าที่สะท้อนภาพชีวิตที่มีความหมาย และคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ไม่ถูกตัดสินด้วยสายตาแห่งอคติใดๆ ซึ่งไม่ใช่แค่แสดงถึงแง่งามของความสัมพันธ์ระหว่างมิตรภาพต่างสีผิว แต่ยังมีพลังมากพอที่จะช่วยทุบทำลายกำแพงอคติภายในใจ และขับเคลื่อนสังคมให้ยอมรับทุกคนอย่างเท่าเทียม

1
Driving Miss Daisy (1989)

“You are my best friend. Really, You are… you are.”
คุณเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของฉัน… คุณเป็นจริงๆ

Photo: Warner Bros. Pictures

เมื่อ ‘คุณนายเดซี่ เวอร์แธน’ หญิงสูงอายุชาวยิววัย 72 ปี ชราเกินกว่าจะขับรถได้เอง ลูกชายของเธอจึงจ้าง ‘โฮค โคลเบิร์น’ ชายผิวดำวัยกลางคนเป็นสารถีประจำตัวให้แม่ โดยเขามีหน้าที่คอยขับรถรับและส่งเธอจากบ้านไปยังสถานที่ต่างๆ ตามที่เธอต้องการ แต่การตัดสินใจของลูกกลับทำให้ผู้เป็นแม่ไม่พอใจ เธอหัวดื้อไม่ยอมใครง่ายๆ จึงแสดงท่าทีต่อต้านและไม่ยอมรับออกมาอย่างชัดเจน

สำหรับโฮค เมื่อได้รับการจ้างงานแล้ว เขาไม่นิ่งนอนใจ และพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้คุณนายเดซี่ยอมนั่งรถที่เขาขับ ไม่นานหลังจากนั้น เธอจึงจำใจยอม เพราะไม่มีทางเลือกอื่น แม้ว่าช่วงแรกๆ เธอทั้งบ่นและสร้างความรำคาญให้โฮคเป็นประจำ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชีวิตบนรถคันเดียวกัน ที่ดำเนินไปตลอดเส้นทางเป็นระยะเวลาถึง 25 ปี กลับค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเบ่งบานจนกลายเป็นมิตรภาพที่อบอุ่นหัวใจ ซึ่งมีความหมายและคุณค่ากับชีวิตของเธอ

2
The Shawshank Redemption (1994)

“Fear can hold you prisoner, hope can set you free.”
ความกลัวอาจจองจำเรา แต่ความหวังมอบอิสรภาพให้กับเรา

“Hope is a good thing, maybe the best of things, and no good thing ever dies.”
ความหวังเป็นสิ่งที่ดี และอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตด้วยซ้ำ

Photo: Columbia Pictures

‘แอนดี้ ดูเฟรนส์’ นายธนาคารหนุ่มผู้ถูกถูกจับในคดีฆาตกรรมภรรยาและชายชู้ เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ แม้ตัวเขาเองจะไม่มั่นใจว่าเป็นคนลงมือทำจริงๆ แต่เขาต้องยอมจำนนด้วยหลักฐานทั้งหมด ศาลจึงตัดโทษให้จำคุกตลอดชีวิต ในเรือนจำเขาพบกับ ‘เรด’ นักโทษผิวดำ ผู้อยู่ในคุกแห่งนี้มานานกว่า 20 ปี พวกเขาทั้งสองคนมีมิตรภาพที่ดีต่อกันจนกลายเป็นเพื่อนสนิท

19 ปีผ่านไป แอนดี้รู้ความจริงว่าตัวเองไม่ได้ทำผิด จึงบอกเรดว่า เขาต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อให้ได้ หรือไม่อยากนั้นก็ต้องจบชีวิตไปเสีย เขายังให้คำมั่นด้วยว่าถ้าวันหนึ่งพวกเขาหลุดพ้นจากการจองจำนี้ ทั้งคู่จะเริ่มชีวิตใหม่ด้วยกันในฐานะเพื่อนยาก ในวันรุ่งขึ้น แอดดี้หนีออกไปจากเรือนจำได้สำเร็จ เขาใช้ความรู้ด้านการเงินแก้แค้นและเปิดโปงความอยุติธรรมที่เคยได้รับ จนผู้ทำความผิดตัวจริงได้รับกรรมที่ตัวเองก่อ

หลังจากนั้น เรดได้รับการปล่อยตัว เขาจำคำสัญญาที่เคยให้กันไว้ได้ จึงเดินทางไปหาแอนดี้ด้วยความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ในที่สุดเขาทั้งสองก็ได้พบกันอีกครั้ง เพราะทั้งคู่ไม่เคยลืมคำมั่นและมิตรภาพที่มอบให้กัน

3
The Green Mile (1999)

“I’m tired of people being ugly to each other.
I’m tired of all the pain I feel and hear in the world every day.”
ผมเหนื่อยที่ต้องต้องเห็นคนเราเกลียดกันเอง
ผมเหนื่อยกับความเจ็บปวดทั้งหมดที่ผมรู้สึกและได้ยินอยู่ตลอด

“People hurt the ones they love.”
ผู้คนมักทำร้ายคนที่ตนรักเสมอ

Photo: Warner Bros. Pictures

‘พอล เอดจ์คอมบ์’ อดีตหัวหน้าผู้คุมนักโทษของแดนที่มีชื่อว่า The Green Mile เพราะมีทางเดินสีเขียวที่นักโทษต้องเดินจากห้องขังไปห้องประหาร​ หวนรำลึกถึงเรื่องราวของ ‘จอห์น คอฟฟี่’ นักโทษผิวดำร่างใหญ่ ผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงผิวขาวสองคน ระหว่างกักตัวรอวันประหาร พอล กลับสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่ขัดแย้งกับรูปลักษณ์ของจอห์น แท้จริงแล้วเขาเป็นคนซื่อ จิตใจอ่อนโยน คอยเป็นห่วงคนอื่น ที่สำคัญเขามีพลังพิเศษสามารถรับความเจ็บปวดของผู้อื่นมาไว้ในตัวเองได้

จอห์นช่วยเหลือพอลและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ให้หายขาดจากโรคประจำตัว ทุกคนรู้สึกสับสนและสงสัยว่าคนที่มีจิตใจช่วยเหลือและยอมเจ็บแทนคนที่เขาไม่รู้จักมาก่อน อาจไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด แต่เมื่อทุกคนรู้ความจริงก็สายเกินไป และเรื่องมหัศจรรย์นี้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เขาทั้งสองคนได้รู้จักกัน แต่ความดีและการอุทิศตนของจอห์น จะคงอยู่ในสำนึกของพอลไปตลอด วันที่เขาต้องพาตัวจอห์นไปประหาร จึงเป็นวันที่เขาเจ็บปวดที่สุดในชีวิต

4
The Bucket List (2007)

“You know, the ancient Egyptians had a beautiful belief about death.
When their souls got to the entrance to heaven, the guards asked two questions.
Their answers determined whether they were able to enter or not.
‘Have you found joy in your life?’ ‘Has your life brought joy to others?’”
คุณรู้ไหม ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า หลังจากโลกนี้ไปแล้ว
วิญญาณจะได้ขึ้นสวรรค์ก็ต่อเมื่อสามารถตอบคำถามสองข้อนี้ได้
คือ คุณมีความสุขกับชีวิตหรือไม่ และ คุณได้สร้างความสุขให้คนอื่นๆ หรือเปล่า

Photo: Warner Bros. Pictures

‘เอ็ดเวิร์ด โคล’ นักธุรกิจมหาเศรษฐี ได้รู้จักกับ ‘คาร์เตอร์ แชมเบอร์’ ชายผิวดำผู้มีอาชีพเป็นช่างซ่อมรถ ในห้องพักผู้ป่วย เพราะเขาทั้งคู่ต่างเป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย นานวันผ่านไปทั้งสองมักจะคุยกันถึงสิ่งที่อยากทำก่อนตาย จนพวกเขาตัดสินใจทำสิ่งที่บ้ามากที่สุด คือ หนีออกจาโรงพยาบาลเพื่อไปทำสิ่งเหล่านั้นสักครั้งในชีวิต

แม้ว่าทั้งคู่จะมีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ส่วนอีกคนใช้ชีวิตเพื่อครอบครัวจนไม่เคยทำอะไรให้ตัวเอง แต่พวกเขากลับเข้ากันได้ดี เพราะต่างก็ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตถึงพรุ่งนี้หรือเปล่า

ระหว่างเดินทางไปทำสิ่งต่างๆ อย่างสนุกสนาน ทำให้ เอ็ดเวิร์ด และ คาร์เตอร์ ได้เรียนรู้ชีวิตของกันและกัน จนพวกเขาค้นพบว่า ความหมายของการมีชีวิตจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อพวกเขารู้จักชื่นชมความงดงามที่มีอยู่รอบตัว และที่สำคัญที่สุดคือ รู้จักใช้ชีวิตเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่นๆ

หลังจากสนุกด้วยกันอย่างเต็มที่ เขาทั้งสองจึงกลับไปหาครอบครัวอีกครั้ง เพื่อใช้เวลาที่มีคุณค่ากับคนที่เขารักจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

5
The Help (2011)

“No one had ever asked me what it feel like to be me.
Once I told the truth about that, I felt free.”
ไม่เคยมีใครถามฉันมาก่อนว่า เป็นฉันมันรู้สึกยังไง
เมื่อฉันได้พูดความจริงเรื่องนั้น ฉันเป็นอิสระ

Photo: DreamWorks Studios

‘สคีทเตอร์’ แตกต่างจากเพื่อนสาวคนอื่นๆ ที่เติบโตขึ้นมาด้วยกันในเมืองแจ็คสัน มิสซิสซิปปี้ สหรัฐอเมริกา ตรงที่เธออยากทำงานเป็นนักเขียนมากกว่ารีบแต่งงาน ทำให้เธอรู้จักกับสาวรับใช้ผิวดำสองคน คือ ‘เอบิลีน’ เพื่อขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเขียนคอลัมน์ตอบปัญหาเคล็ดลับงานบ้าน และ ‘มินนี’ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของเอบิลีน ขณะเดียวกันเธอก็เริ่มต้นงานเขียนลับๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผ่านประสบการณ์ของสาวรับใช้

ทั้งสามคนเริ่มสร้างมิตรภาพอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเกิดเหตุการณ์ทำร้ายคนผิวดำ สาวใช้ทั้งสองจึงรวมตัวพร้อมกับสาวใช้คนอื่นๆ เพื่อเปิดใจเล่าเรื่องราวของพวกเธอให้สคีทเตอร์นำไปเขียนเป็นหนังสือ เพราะพวกเธอต้องการต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม

หนังสือเล่มนั้นได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียบางสิ่งบางอย่างไป แต่ในขณะเดียวกันพวกเธอกลับได้รับบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากกว่า ซึ่งช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรี และสร้างพลังใจที่เข้มแข็งทุกคนมีชีวิตอย่างเป็นอิสระ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความความกล้าและความเชื่อใจที่มีให้แก่กัน 

6
The Intouchables (2012) 

“Anyone can change your life, if you let them.”
ไม่ว่าใครก็เปลี่ยนชีวิตคุณได้ ถ้าคุณปล่อยให้เขาทำ

Photo: The Weinstein Company

‘ฟิลลิปป์’ เศรษฐีวัยกลางคนประสบอุบัติเหตุจากการกระโดดร่ม ทำให้เขากลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับร่างกายช่วงล่างได้ เขาจึงเปิดรับสมัครคนมาคอยดูแล และเป็นผู้ช่วยส่วนตัวตลอด 24 ชั่วโมง จนวันหนึ่ง เขาได้พบกับ ‘ดริสส์’ หนุ่มผิวดำท่าทางโผงผาง ดูเป็นคนอารมณ์ร้อน แต่กลับรู้สึกถูกชะตา จึงเสนองานนี้ให้เขา

แม้ว่าคนรอบตัวฟิลลิปป์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า วัยรุ่นคนนี้ไม่น่าไว้ใจและอันตราย แต่เขายืนยันว่าจะให้ดริสส์เป็นคนดูแล เขาทั้งสองคนรู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างคนต่างวัย ต่างสถานะ และต่างสภาพร่างกาย

ดริสส์ไม่เคยมองฟิลลิปป์ด้วยความสงสาร หรือด้วยสายตาตัดสินว่าเป็นคนพิการ เขายังปฏิบัติต่อฟิลลิปป์เสมอกับคนปกติคนหนึ่ง ทั้งสองคนต่างเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละคนขาดหาย ฟิลลิปป์ทำให้ดริสส์ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ส่วนดริสส์ทำให้ฟิลลิปป์มีความสุขกับชีวิต เป็นเพราะมิตรภาพของพวกเขาตั้งอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกัน

7
Green Book (2018)

“Because genius is not enough, it takes courage to change people’s hearts.”
เพราะการเปลี่ยนหัวใจของคนนั้น ไม่อาจใช้สติปัญญาอย่างเดียวได้ ต้องใช้ความกล้าหาญด้วย

“You never win with violence. You only win when you maintain your dignity.”
คุณเอาชนะด้วยความรุนแรงไม่ได้หรอก คุณจะชนะก็ต่อเมื่อรักษาเกียรติตัวเองไว้ได้

Photo: Universal Pictures

เมื่อ ‘โทนี ลิป’ ชายผิวขาวเชื้อสายอิตาเลียนอเมริกัน เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ได้ทำงานเป็นคนขับรถให้ ‘ดอน เชอร์ลีย์’ นักเปียโนคลาสสิกผิวสีระดับโลก เพื่อตระเวนเดินสายไปแสดงดนตรีทั่วตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาในช่วงยุค 60 โดยมีสิ่งสำคัญที่ช่วยนำทางเขาทั้งคู่ได้ คือ สมุดปกเขียว ซึ่งระบุรายชื่อสถานที่ที่เป็นมิตรกับคนผิวดำ 

ช่วงเริ่มต้นเดินทาง ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่ แต่ประสบการณ์ระหว่างทางที่พวกเขาต้องเผชิญด้วยกัน ทั้งการกีดกัน การดูถูกอย่างรุนแรง และการคุกคามจากอคติเหยียดสีผิว ทำให้เกิดเป็นมิตรภาพและกำลังใจที่ดีต่อกัน 

หนทางที่ยาวไกล ทำให้พวกเขาร่วมทุกข์ร่วมสุขเพื่อฝ่าฟันกำแพงอคติ ขณะเดียวกัน ทั้งคู่ก็ได้รับรู้ถึงน้ำใจของเพื่อนมนุษย์จากการเดินทางครั้งสำคัญนี้ ที่ได้พิสูจน์คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

8
The Best of Enemies (2019)

“Peace without justice and equal opportunity is no Peace.”
ความสงบสุขที่ไม่มีความยุติธรรมและโอกาสที่เท่าเทียมกัน นั้นไม่เรียกว่าความสงบสุขหรอกนะ

Photo: STXfilms

ในปี 1971 การประชุมหารือเพื่อรวมโรงเรียนในนอร์ทแคโรไลนา กลายเป็นชนวนความบาดหมางระหว่าง ‘แอน แอตวอเตอร์’ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิให้พลเมืองผิวดำในเมืองมีที่เรียนอย่างต่อเนื่อง และ ‘ซีพี แอลลิส’ ผู้นำกลุ่มคูคลักซ์แคลน ผู้เชื่อว่าคนผิวขาวเป็นเผ่าพันธุ์ที่สูงส่ง และคอยสนับสนุนให้คนที่มีความเชื่อเหมือนกันสามารถเหยียดสีผิวได้อย่างสุดโต่ง เพราะมีนักการเมืองในสภาท้องถิ่นหนุนหลัง ข้อเสนอของแอนจึงถูกคัดค้านอย่างรุนแรง

เมื่อปัญหาเริ่มบานปลายจากการคุกคามของคนผิวขาวในเมือง ซึ่งตั้งใจใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับเธอและคนผิวดำ จึงนำไปสู่การฟ้องศาลท้องถิ่นในที่สุด ผู้พิพากษาได้หาทางออกโดยให้คณบดีมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วย เขาเสนอให้แอนและซีพีเป็นประธานเพื่อหาทางออกร่วมกัน แม้ว่าจะเกลียดชังขนาดไหน แต่พวกเขาต้องกัดฟันทำงานนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

การหารือใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์ ผู้คนทั้งสองผิวสีต่างถกเถียงถึงปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไข จากความขัดแย้งจึงเปลี่ยนเป็นความเห็นอกเห็นใจต่อกัน จากศัตรูคู่แค้น สุดท้ายแอนและซีพีกลายเป็นเพื่อนผู้หยิบยื่นมิตรภาพให้กัน เขาทั้งสองคนเคารพกันและกันในฐานะมนุษย์ที่ไม่มีผิวสีใดมาแบ่งแยกได้อีก

 

อ้างอิง

  • Richard Brody. “The Best of Enemies,” Reviewed: A Tale of Interracial Friendship Only Slightly Less Offensive Than “Green Book”. https://bit.ly/2XtZwar
  • Wesley Morris. Why Do the Oscars Keep Falling for Racial Reconciliation Fantasies?. https://nyti.ms/3dAStlX