©ulture

รถรางคันใหญ่พาเราลัดเลาะมาจอดด้านหน้า ‘ทุ่งดอกไม้หลากสี’ ของ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อำเภอปักธงไชย จังหวัดนครราชสีมา

ท้องฟ้าปลอดโปร่งของเดือนธันวาคม ทำให้ฟักทองลูกยักษ์ตรงเนินหญ้าโดดเด่นขึ้นมาถนัดตา นั่นเป็นหนึ่งในศิลปะจัดวาง (Installation art) ที่เด่นหราอยู่ตามจุดต่างๆ ของฟาร์มแห่งนี้

นอกจากฟักทองลูกยักษ์ ยังมีผลงานศิลปะจัดวางจากหลากศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสถาปนิกพอดี, มิตร ใจอินทร์, ศาวินี บูรณะศิลปิน และพินรี สัณฑ์พิทักษ์ พวกเขาต่างเล่าเรื่องอีสานในแบบฉบับของตัวเอง ผ่าน ‘ผืนผ้า’ อันงดงามของท้องถิ่น

‘ชูชก’ โดย สถาปนิก พอดี

 

เมื่อพูดถึงผ้า ชาวอีสานนั้นผูกพันกับผ้ามาอย่างยาวนาน ‘บุญผะเหวด’ หรือ ‘บุญพระเวส’ งานบุญประจำปีที่เกิดขึ้นด้วยความศรัทธาในพระเวสสันดร คือหนึ่งในพิธีกรรมท้องถิ่นที่แสดงถึงอัตลักษณ์ดังกล่าว

ในแต่ละปีจะมีการวาดนิทานภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดกลงบนผ้า เรียกว่า ‘ผ้าผะเหวด’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ผ้าผืนนี้จึงเป็นชิ้นงานที่รวมเอาทั้งฝีมือการวาดอันประณีตและความศรัทธาของชาวอีสานไว้ในผืนเดียว

โดยวัฒนธรรมอันงดงามนี้ได้ถูกนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งผ่านงานศิลปะจัดวางในธีม ‘ต่ำหูก แต้มผ้า เล่าอีสาน ผ่านงานทอ’ ในงานจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ทัวร์ 2562

ฝนโบกขรพรรษ

‘ฝนโบกขรพรรษ’ โดย สถาปนิก พอดี

‘ฝนโบกขรพรรษ’ เป็นฝนในเวสสันดรชาดกที่จะโปรยลงมาแค่ในพิธีสำคัญ เช่น ครั้งที่พระเวสสันดรเสด็จกลับเมืองสีพี ก็มีน้ำฝนหยดสีแดงสดตกลงมา เป็นฝนวิเศษที่ใครอยากเปียกก็จะเปียก ส่วนใครที่ไม่อยากเปียก เม็ดฝนก็จะเป็นเหมือนน้ำที่กลิ้งบนใบบัว

ศิลปินผูกผ้าสีแดงกับโครงเหล็กโค้ง ห้อยย้อยลงมาเปรียบเสมือนสายฝนโบกขรพรรษที่กำลังโปรยปราย งานชิ้นนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าฟาร์ม เป็นเหมือนการต้อนรับด้วยสายฝนศักดิ์สิทธิ์และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะพาเราเข้าไปท่องในโลกของพระเวสสันดรที่อยู่ด้านใน

ชูชก

‘ชูชก’ โดย สถาปนิก พอดี

แดดยามสายสาดมาที่ผิวสีส้มของฟักทองยักษ์ที่ตั้งตระหง่านอยู่บนเนินหญ้า ชวนให้เราเข้าไปสำรวจรอบๆ งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ชูชก’ ตัวละครสำคัญในเรื่องพระเวสสันดรที่กินจุจนทำให้ท้องแตก 

ศิลปินนำฟักทองลูกน้อยใหญ่บรรจุเข้าไปในไม้พุ่มที่ตกแต่งเป็นลูกฟักทองยักษ์ ให้ล้นทะลักออกมาเหมือนท้องของชูชก มีผ้าสีแดงสดแทรกอยู่ตามพุ่มไม้เป็นตัวแทนของเลือด

เขาวงกต

‘เขาวงกต’ โดย สถาปนิก พอดี

ทางคดเคี้ยวด้านในทำมาจากไม้ไผ่ มีผ้าสีห้อยระโยงระยางชวนให้เวียนหัว งานชิ้นนี้เป็นการจำลองเขาวงกตในเรื่องเวสสันดรชาดก ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเวสสันดร 

ประเพณีงานบุญผะเหวดของชาวอีสานนั้น นอกจากจะมีการฟังเทศน์แล้ว ในบางพื้นที่ยังมีการสานไม้ไผ่ จำลองเป็นเขาวงกตขนาดย่อม รวมถึงสานเป็นสัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์มาประดับตกแต่ง เป็นสีสันของงานบุญอีกด้วย

‘เขาวงกต’ โดย สถาปนิก พอดี

พระเวสสันดรกลับสู่นครสีพี

‘พระเวสสันดรกลับสู่นครสีพี’ โดย สถาปนิก พอดี

เมื่อเดินผ่านทางเดินที่สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งดอกดาวกระจายสีส้มไปเรื่อยๆ จะพบกับ ’หมู่บ้านอีสาน’ ที่ได้นำบ้านไม้เก่าแก่ของชาวอีสานมารวมไว้ด้วยกันที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ด้านข้างหมู่บ้านปรากฏให้เห็นปราสาทไม้ไผ่สีสันฉูดฉาดตั้งตระหง่านอยู่  

‘พระเวสสันดรกลับสู่นครสีพี’ โดย สถาปนิก พอดี

ปราสาทกลางน้ำแห่งนี้เป็นการจำลองพระราชวังของพระเวสสันดร ในวันที่พระองค์เสด็จกลับจากป่าหิมพานต์มายังเมืองสีพี ในชาดกนั้นสองข้างทางจะประดับด้วยผ้าหลากสี มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ผ้าลวงตา 

‘ผ้าลวงตา’ โดย สถาปนิก พอดี

ถัดจากปราสาทอันโอ่อ่า เป็นงานศิลปะชื่อ ‘ผ้าลวงตา’ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่คอยจ้องจะขอสิ่งของจากพระเวสสันดร ไม่ว่าจะเป็น ชูชกที่ต้องการกัณหาและชาลีไปเป็นทาส หรือท้าวสักกเทวราชที่เอ่ยปากขอพระนางมัทรี งานชิ้นนี้สื่อให้เห็นว่าเมื่อคนเราต้องการสิ่งใดแล้วมักจะมองเห็นแต่ตัวเอง จนไม่สนใจคนอื่นๆ 

ศิลปินทำให้ภาพของผ้าแต่ละมุมต่างกันออกไปตามจุดที่ยืนมอง ทำให้เกิดเป็นผ้าที่ลวงตาเช่นเดียวกับชื่อผลงาน

ทุ่ง ดอก ผ้า 

‘ทุ่ง ดอก ผ้า’ โดย สถาปนิก พอดี

ผ้าลายต่างๆ ถูกขึงในโครงรูปกลีบดอกไม้ ประกอบกันเป็น ‘ดอกผ้า’ ที่ผลิบานอยู่กลางทุ่ง งานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘ฝ้าย’ ซึ่งเป็นพืชพรรณที่ปลูกขึ้นในฟาร์มเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า ศิลปินจึงนำผ้าฝ้ายเหล่านั้นกลับมาเบ่งบานท่ามกลางท้องทุ่งที่จากมาอีกครั้ง

 

‘ทุ่ง ดอก ผ้า’ โดย สถาปนิก พอดี

 

‘ทุ่ง ดอก ผ้า’ โดย สถาปนิก พอดี

อุโมงค์ตีโป่ง  

‘อุโมงค์ตีโป่ง’ โดย สถาปนิก พอดี

ลูกบอลยักษ์แขวนกับโครงเหล็กเคลื่อนไหวไปตามแรงผลักของผู้คนที่เข้ามาสัมผัส งานชิ้นนี้ต้องการเล่าเรื่องการละเล่นของผู้หญิงในอดีต ที่เวลาอาบน้ำในคลองมักจะตีผ้าถุงให้พองเพื่อให้ลอยตัวได้ 

ศิลปินนำชิ้นผ้าที่มีลวดลายต่างๆ มาหุ้มลงบนลูกบอลยักษ์ ให้ห้อยอยู่ในอุโมงค์เป็นทางยาว ด้านล่างปูด้วยฟางหญ้าและยางรถเพื่อให้เป็นทางเดินที่มีหลายระดับ เหมือนผลุบโผล่อยู่ในน้ำ

‘อุโมงค์ตีโป่ง’ โดย สถาปนิก พอดี

ผืนผ้าของ ‘มิตร ใจอินทร์’

ผลงานจาก ‘ผ้า’ โดย มิตร ใจอินทร์

ศิลปะหลายชิ้นที่จัดแสดงอยู่หลายจุดของงาน คือ ผ้าที่เพนท์สีพาสเทลและนีออนสดใส 

โดย มิตร ใจอินทร์ ศิลปินผู้พางานศิลปะไทยไปสร้างชื่อในต่างประเทศ

ผลงานจาก ‘ผ้า’ โดย มิตร ใจอินทร์

นอกจากผืนผ้าที่ปรากฏอยู่ทั่วบริเวณแล้ว อีกชิ้นที่เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของงานนี้เห็นจะเป็น ‘กำแพงผ้าใบ’ ที่พาดผ่านท้องทุ่งดอกคอสมอสสีชมพูสุดลูกหูลูกตาที่ได้แรงบันดาลใจมาจากธงและม้วนผ้าในงานพิธีกรรม

ผลงานจาก ‘ผ้า’ โดย มิตร ใจอินทร์
ผลงานจาก ‘ผ้า’ โดย มิตร ใจอินทร์

Ligature 

Ligature โดย ศาวินี บูรณะศิลปินและทีมนักออกแบบ

งานชิ้นนี้นำเสนอวัสดุจากท้องถิ่นอย่าง ‘ไม้ไผ่’ ที่นำมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมสูงใหญ่ หัวใจหลัก

ของงานสานชิ้นนี้คือความสมดุล เนื่องจากออกแบบให้มี 3 ขา และทรงตัวได้อย่างงดงาม จัดวางอยู่ท่ามกลางทุ่งโล่ง ให้พืชพรรณรอบข้างได้เลื้อยขึ้นปกคลุม 

โครงไม้ไผ่ชิ้นนี้สร้างไว้ตั้งแต่ปี 2561 โดย ศาวินี บูรณะศิลปินและทีมนักออกแบบรุ่นใหม่

 

เหล่าศิลปะจัดวาง ผ้าผืนสวย และวิถีชีวิตอันงดงามของชาวอีสาน ยังรอให้ผู้มาเยือนได้เข้าไปสัมผัสท่ามกลางอากาศเย็นๆ ของหน้าหนาว ตั้งแต่วันนี้ – 5 มกราคม 2563 ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา