©ulture

เพราะเป็น ‘เกาะ’ ที่ไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีร้านถ่ายรูป ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าหรือผืนแผ่นดินที่ติดกับบนฝั่งทำให้ ‘ชาวเกาะยาวใหญ่’ เมื่อ 30 ปีก่อนต้องพึ่งพาตนเองเสมอมา 

แต่สภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนลำบากและเป็นอุปสรรคเหล่านี้ กลับทำให้ภูมิปัญญาอันงดงามผลิบาน 

และคงอยู่ในวิถีชีวิตชาวเกาะยาวใหญ่มาจนถึงวันนี้

 

‘จักสานใบเตย’ จากภูมิปัญญาสู่สินค้างานฝีมือ

ในอดีตการสานใบเตยเป็นสิ่งที่แพร่หลายบนเกาะยาวใหญ่ เนื่องจากนี่คือวิธีสร้างเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันของพวกเขา เช่น ถังใส่ข้าวสาร ข้องใส่ปลา ฯลฯ แต่ปัจจุบัน เหลือเพียงไม่กี่ครอบครัวที่ยังคงทำเครื่องจักสาน ซึ่ง ‘ครอบครัวศรีสมุทร’ คือหนึ่งในนั้น

Koh Yao

ในบ่ายอันอบอุ่น สาเวี๊ยะ ศรีสมุทร ผู้เฒ่าวัย 89 ปี กำลังนั่งสานใบเตยอยู่ใต้ถุนบ้านเป็นกิจวัตร สายตาที่พร่ามัวและมือที่สั่นเล็กน้อยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่องานสานชิ้นนี้มากนัก เธอยังคงหยิบเตยเส้นยาวสอดสานอย่างประณีตและชำนาญ

ลายสานอันงดงามของสาเวี๊ยะถูกส่งต่อมายังผู้หญิงในบ้านศรีสมุทรทุกคน พวกเธอแบ่งหน้าที่ทำงานสานอย่างเป็นสัดส่วน

คนหนึ่งฉีกเตย อีกคนทุบเตยให้นิ่ม นำไปย้อมสี และช่วยกันสานให้เป็นผืน

Koh Yao

เตยบนเกาะยาวใหญ่มี 3 ชนิด คือเตยป่า เตยบ้าน และเตยทะเล ทั้งสามชนิดล้วนถูกนำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกัน

ชาวบ้านนิยมนำ เตยป่า มาทำเป็นที่เก็บข้าวเปลือกและเครื่องใช้ที่สมบุกสมบัน เนื่องจากเตยป่ามีผิวหยาบกระด้าง

ขณะที่ เตยบ้าน ที่มีผิวมันวาวจะสานเป็นที่เก็บข้าวสารหรืออาหาร

ส่วน เตยทะเล ที่มีเส้นเล็กยาวนั้นจะมีผิวสวยงามกว่าชนิดอื่น ชาวเกาะจึงนิยมนำไปสานเป็นเครื่องประดับและของใช้เล็กๆ เช่น กำไลหรือกระเป๋า

Koh Yao

30 ปีก่อนหน้า ชาวเกาะยาวใหญ่สานใบเตยเพื่อเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์ทำกิน แต่เป้าหมายของงานสานค่อยๆ เปลี่ยนไป เมื่อแต่ละบ้านหันมาใช้กล่องพลาสติกในการเก็บรักษาอาหาร การสานเตยจึงค่อยๆ ลดลง จนปัจจุบันมีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่ยังทำจักสาน โดยเปลี่ยนจากการทำเครื่องใช้ส่วนตัวสู่การทำของแต่งบ้าน เช่น ที่รองแก้ว ที่รองจาน ถุงหิ้วขวดน้ำ ที่ประดับผนัง เพื่อเป็นสินค้าส่งขายหารายได้สู่ชุมชน

ถึงแม้วัตถุประสงค์ในการสานเตยจะเปลี่ยนจากอดีตไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือลวดลายอันงดงามที่สะท้อนภูมิปัญญาของชาวเกาะยาวใหญ่

Koh Yao

‘น้ำมันชายหยาด’ ยาโบราณแก้แผลพุพอง

ควันพวยพุ่งออกมาจากกระทะใบใหญ่หน้าบ้านไม้หลังหนึ่ง ชวนให้เราเข้าไปสำรวจ ทำให้พบว่าในนั้นเต็มไปด้วยสมุนไพรหลากชนิดที่ถูกเคี่ยวรวมกันอยู่ด้านใน ที่นี่คือบ้านของ นายหมาดหยาด เสริมทรัพย์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้อุทิศเวลาเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่สำหรับการคิดค้น ‘น้ำมันชายหยาด’ หรือน้ำมันจากสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาแผลจากอุบัติเหตุ เช่น หม้อน้ำร้อนลวกปลาคว่ำ หรือถังน้ำมันท้ายเรือระเบิดบนเรือประมง

Koh Yao

สมุนไพรในน้ำมันล้วนสกัดได้จากพืชท้องถิ่นที่อยู่บนเกาะ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชนิด คือ ดูกไก่ดำ ดูกไก่ขาว กลอย หัวตอหยอย ไหลเผือก ขี้เหล็ก ตำเสา ขมิ้นและบอระเพ็ด โดยนำมาล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็ก และเคี่ยวในน้ำมันมะพร้าวด้วยไฟอ่อนๆ ราว 2 วัน ก่อนจะสกัดได้น้ำมันที่รวมคุณประโยชน์จากสมุนไพรทั้งหมดไว้ในขวดเล็กๆ 

Koh Yao

เล่าลือกันว่าน้ำมันชายหยาดช่วยบรรเทาแผลพุพองของชาวบ้านมาหลายต่อหลายรุ่นจนหายดี ทุกวันนี้ มณี เสริมทรัพย์ ลูกสาวของนายหมาดหยาด ยังคงทำน้ำมันสมุนไพรและรักษากันในหมู่บ้าน เป็นอีกทางเลือกที่ใช้รักษาควบคู่ไปกับแพทย์แผนปัจจุบัน 

Koh Yao

การส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านี้ในโลกยุคใหม่อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เพราะทุกคนมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตจนอาจไม่ต้องพึ่งพาภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว 

ยังโชคดีที่คนกลุ่มหนึ่งยังพยายามเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้แม้จะเปลี่ยนสภาพไปบ้าง แต่นั่นก็เป็นหลักฐานที่ระบุว่า กาลครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของคนเกาะยาวเคยสร้างสิ่งที่แสนงดงามเอาไว้