ปรากฏการณ์คลั่งไคล้ศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินเกาหลีดูเหมือนเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก
และอาจดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล เมื่อมองจากมุมคนที่ไม่ได้เป็นแฟนคลับ
แต่ทว่าพฤติกรรม ‘ติ่ง’ สามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลด้วยทฤษฎีจิตวิทยา
K-POP คือรักที่สมบูรณ์แบบ
ตามหลักทฤษฎีจิตวิทยา Triangle of Love โดย ศ.ดร.Robert Sternberg แห่งภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยลล์ กล่าวว่า ความรักที่สมบูรณ์แบบ (Compassionate love) เกิดขึ้นจากองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน ได้แก่
- ความหลงใหล (Passion) – รูปลักษณ์ที่ชวนดึงดูดใจ ชื่อเสียง และความสามารถของศิลปิน
- ความใกล้ชิด (Intimacy) – การติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินในแต่ละวันผ่านไลฟ์สดและรายการต่างๆ ตลอดจนการตั้งชื่อเฉพาะที่เข้าคู่กันกับชื่อวงศิลปิน
- การผูกมัด (Commitment) – ทั้งศิลปินและแฟนคลับมีเป้าหมายเดียวกัน เช่น การที่ศิลปินได้รับรางวัลประจำปี
ดังนั้น ความสัมพันธ์ของแฟนคลับและศิลปินจึงเป็นไปในลักษณะของ ‘ความรักที่สมบูรณ์แบบ’ และในหมู่แฟนคลับเองก็ยังมีสายสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น และมีการสานสัมพันธ์ผ่านความชอบในเรื่องเดียวกัน
นี่จึงเป็นสัญญาณของความสัมพันธ์ ‘ติ่ง’ อันแข็งแกร่งที่จะยากมีใครมาหักล้างหรือแตะต้องได้
‘ติ่ง’ เพราะ ‘ขาด’ จริงหรือ?
ปี 2012 สถาบันวารสารเด็กและผู้ใหญ่นานาชาติ (International Journal of Adolescence and Youth) ได้เผยแพร่ข้อเขียนที่ระบุว่า การชื่นชอบไอดอลในระดับเทิดทูนบูชา เป็นกระบวนหนึ่งที่ช่วยชดเชยการเติบโตในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มแฟนคลับส่วนหนึ่งบนอินเตอร์เน็ตที่แสดงออกว่า ‘พวกเขารักศิลปินมากกว่าพ่อแม่’
วารสารดังกล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การบูชาไอดอลในกลุ่มวัยรุ่น เป็นการชดเชยความรู้สึก ‘ขาด’ หรือ ‘จุดอ่อน’ ในด้านอื่นๆ ที่วัยรุ่นต้องเผชิญ
เช่น ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ ภาวะการแปลกแยกจากพ่อแม่ ทักษะการเข้าสังคม รวมไปถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคนรักที่ล้มเหลวหรือไม่เป็นตามที่คาดหวัง
วัยรุ่นผู้ผิดหวังหรือเบื่อหน่ายจากสังคมใกล้ตัว จึงเลือกที่จะมีความสุขกับการได้ชื่นชมศิลปินที่อยู่ไกลตัวออกไป สบายใจกับรูปแบบการผูกมิตรบนสังคมอินเตอร์เน็ตที่ต่างฝ่ายต่างไม่เห็นหน้า
และพึงพอใจกับการเป็นกลุ่มคนสำคัญหรือรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับศิลปิน
‘ไอดอล’ สินค้าที่ขายความเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต
การตลาดไอดอลเกาหลีไม่ได้มีแค่กลไกแลกเปลี่ยนซื้อขายเท่านั้น แต่คือการเข้ามาเป็น ‘ส่วนหนึ่งในชีวิต’ ของกลุ่มลูกค้า เพราะมีการเปิดเปลือยชีวิตของไอดอลเหล่านั้นในแง่มุมของการใช้ชีวิตเสมือนคนธรรมดา เพื่อให้แฟนคลับได้ติดตาม เรียนรู้ สัมผัส และตีความในแบบของพวกเขาเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือรายการโทรทัศน์เกาหลี Produce 101 ซึ่งถ่ายทอดในปี 2017 เป็นรายการที่นำ ‘เด็กฝึก’ (เด็กฝึกงานในค่ายเพลงที่ต้องการประกอบอาชีพเป็นนักร้องหรือไอดอลเกาหลี) จำนวน 101 คน มาร่วมแข่งขันภายใต้หัวข้อการทดสอบต่างๆ เพื่อคัดเลือกเด็กหนุ่มเพียง 11 คน มาเดบิวต์เป็นศิลปิน
เนื้อหาของรายการไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวการแข่งขัน แต่นำเสนอชีวิตนอกเวทีของเด็กฝึกทุกๆ คน เช่น เด็กฝึกคนนี้มีทัศนคติแบบไหน เขาทำตัวอย่างไรเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น หรือมีการพัฒนาความสามารถอย่างไรบ้าง ซึ่งคนดูสามารถเรียนรู้นิสัยและธรรมชาติของเด็กฝึกแต่ละคน เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะโหวตให้เด็กคนไหนได้เข้ารอบ
หลังรายการจบลง เด็กหนุ่มที่เข้ารอบทั้ง 11 คนจะได้รับการเดบิวต์ภายใต้ชื่อวง Wanna One ซึ่ง Kang Daniel เด็กฝึกที่ได้รับผลโหวตเป็นอันดับที่ 1 กลายมาเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ที่ชาวเกาหลีเรียกกันว่า “Kang Daniel Effect”
ปรากฎการณ์นี้ทำให้สินค้าของแบรนด์ที่ Kang Daniel เป็นพรีเซนเตอร์ต้องขาดตลาดในชั่วข้ามคืน และส่งผลให้เขาเป็นดาราชายที่มีชื่อเสียงอันดับ 1 ในเกาหลี
และในวันเกิดเดือนธันวาคม ปี 2017 แฟนคลับได้ซื้อพื้นที่จอดิจิทัลย่านไทม์สแควร์ เพื่อฉลองวันเกิดให้เขาเป็นเวลานานถึง 7 วัน
การสร้างรายการโทรทัศน์ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนดูได้มีส่วนร่วม เสมือนได้มานะบากบั่นไปพร้อมกับศิลปินคนโปรด จึงเป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เหล่าแฟนคลับรู้สึกอยากสนับสนุนศิลปินเท่าที่จะทำได้
ไม่ว่าจะเป็นการปั่นยอดสั่งซื้ออัลบั้ม ยอดการสตรีมมิ่งเพื่อให้ซิงเกิ้ลติดอันดับชาร์ตเพลง ล้วนมีผลกระทบต่องานและรางวัลที่ศิลปินจะได้รับทั้งสิ้น
ฉะนั้น การติดตามศิลปินเกาหลีในกลุ่มคนที่คลั่งไคล้จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำแค่ความสุขส่วนบุคคล แต่เป็นการทำเพื่อความสุขของศิลปิน
ผู้เป็น ‘รักที่สมบูรณ์แบบ’ และ ‘ส่วนหนึ่ง’ ในชีวิตของเรา
อ้างอิง:
- Chau-kiu Cheung. Idol worship as compensation for parental absence. http://bit.ly/2C5qFWm
- Lin, Ying-Ching; Lin, Chien-Hsin. Impetus for Worship: An Exploratory Study of Adolescents’ Idol Adoration Behaviors. http://bit.ly/2Pz7tnl
- Kpopmap. Kang Daniel’s Effect Strikes One More Time for ‘Think Nature’. http://bit.ly/2C5ur2a
- Wikipedia. ทงบังชินกี. https://th.wikipedia.org/wiki/ทงบังชินกี
- บีบีซีไทย. ทำความเข้าใจ ‘แฟนคลับเกาหลี’ ไทย ผ่านมุมคนในวงการ. http://www.bbc.com/thai/thailand-42436315
- ผู้จัดการรายวัน. “คลั่งไคล้ – ลุ่มหลง – รุนแรง” โรคติ่งเกาหลีต้องรักษาตัวหรือไม่?. http://bit.ly/2BbOsm1