©ulture

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทศกาลลอยกระทงเป็นหนึ่งในไฮไลท์รื่นเริงประจำปีที่หลายคนรอคอย

Varanasi

และอย่างที่เรารู้กันดีว่า เหตุผลของการลอยกระทงก็เพื่อขอขมาแม่น้ำลำคลอง หรือพระแม่คงคา แบบนี้จะยิ่งได้อารมณ์กว่าไหม ถ้าเราจะลงทุนนำกระทงไปลอยกันใน ‘แม่น้ำคงคา’ จริงๆ!

Varanasi

ขึ้นชื่อว่าแม่น้ำคงคา คนไทยน้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะเป็นหนึ่งในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สายสำคัญแห่งประเทศอินเดีย ที่เป็นฉากหลังของหลายเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติ ที่เราเรียนกันในวิชาพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก

แม่น้ำคงคานั้นมีความยาวถึง 2,505 กิโลเมตร ไล่มาตั้งแต่ต้นกำเนิดบนเทือกเขาหิมาลัยจนไปบรรจบกับแม่น้ำพรหมบุตรในประเทศบังคลาเทศ แล้วไหลออกสู่ทะเลทางอ่าวเบงกอล

Varanasi

และท่ามกลางความยาวคดเคี้ยวของมหานทีแห่งนี้ ช่วงสั้นๆ ที่ไหลผ่านเมืองพาราณสีนี่เองที่ถือเป็นไฮไลท์แห่งคงคา เพราะ ณ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเมืองเก่าแก่แต่โบราณอย่างกาสี, เบนารัส, วาราณสี หรือพาราณสี หลายชื่อแต่มีความหมายเดียวคือ City of Light

Varanasi

ความอลังการของพาราณสีสะกดใจนักท่องเที่ยวได้อยู่หมัดตั้งแต่ภาพแรกของแม่น้ำคงคาที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า โดยมีฉากหลังเป็นทิวแถวบันไดของ ‘ฆาฏ’ (Ghat) หรือท่าน้ำต่างๆ ที่นับรวมกันได้ 84 ฆาฏ เรียงรายเป็นผืนยาวจากเหนือจรดใต้ไปไกลสุดลูกหูลูกตา มีป้อมปราการหน้าตาโบราณ แทงก์น้ำเก่าแก่สูงใหญ่ โรงแรมหรูที่แฝงตัวในตึกเก่าทรงเดิม ปะปนกับเกสต์เฮ้าส์ราคาย่อมเยา ที่ก็อยู่ในตึกเก่าซึ่งตั้งตระหง่านขนานไปตลอดแนวแม่น้ำคงคาสายนี้เช่นเดียวกัน

Varanasi

Varanasi

Varanasi

แต่สีสันที่แท้จริงของพาราณสีไม่ได้อยู่ที่หมู่อาคารโบราณ หากเป็นวิถีชีวิตตามท่าน้ำต่างๆ ที่ไม่เคยว่างเว้นจากผู้คน ไม่ว่าจะเป็นนักบวช โยคี ผู้หญิง ผู้ชาย ลูกเล็กเด็กแดง ไปจนถึงสรรพสัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมา แพะ วัว ควาย ฯลฯ ที่มารวมตัวกันทำทุกกิจกรรมอยู่ริมแม่น้ำตั้งแต่ตะวันขึ้นจนตะวันตกดิน บ้างดำผุดดำว่ายอยู่ริมตลิ่ง มีทั้งอาบน้ำกันตามกิจวัตร และเอาตัวลงไปจุ่มน้ำพลางท่องมนต์เพื่อน้อมนำสิริมงคลเข้าสู่ชีวิต บ้างก็ซักผ้า อาบน้ำให้วัวควาย พายเรือ ไปจนถึงถ่ายอุจจาระ!

Varanasi

มองให้เป็นวิถีชีวิตก็ถือเป็นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติแบบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง ซึ่งชาวกาสีเขาก็ใช้ชีวิตกันมาแบบนี้ไม่รู้กี่ชั่วอายุคน ถ้าจะบอกว่าเขาแปลก คงต้องรีบหยิบกระจกขึ้นส่องดูตัวเองให้ไว เพราะเราต่างหากคือแขกผู้มาเยือนที่แปลกแยกไปจากพื้นที่แห่งนี้

Varanasi
กระทงดอกไม้สด พร้อมเทียนไข ในราคา 5 บาท
Varanasi
เช้าวันถัดจากคืนลอยกระทง ไม่ว่าแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์แค่ไหนก็แปดเปื้อนเหมือนๆ กัน

อย่างที่บอกว่า เราตั้งใจมาลอยกระทงกันที่นี่ ซึ่งก็ไม่ใช่กิจกรรมที่ยากเย็นแต่อย่างใด เพราะต่อให้ไม่ได้ตั้งใจ คุณก็เป็นอันได้สบตากับเด็กน้อยสักรายที่ยื่นกระทงดอกไม้มาจ่อตรงหน้าอยู่ดี สนนราคาไม่กี่รูปี (เทียบเป็นเงินไทยก็ 5 บาท 10 บาท) แลกกับการได้ทำกิจกรรมให้สมกับการมาเยือนมหานทีที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ถือว่าคุ้มเกินคุ้ม จะลอยกระทงที่ริมตลิ่ง หรือว่าจ้างเรือออกไปกลางแม่น้ำ เพื่อล่องชมเมืองไปด้วย ก็อิ่มเอมอารมณ์ไม่ต่างกัน แถมอยากจะลอยทุกวัน เวลาไหน ตอนไหนก็ได้ เพราะที่นี่เขาบูชาแม่น้ำกันเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ไม่ต้องรอให้ถึงเทศกาลใดๆ

Varanasi
บรรยากาศก่อนเริ่มพิธีกังกา-อารตี

ลอยกระทงพร้อมกับล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกดินเสร็จแล้ว อย่าเพิ่งรีบเดินกลับโรงแรมที่พัก เราไม่อยากให้คุณพลาด กังกา-อารตี หรือพิธีบูชาพระแม่คงคาด้วยดวงไฟ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกค่ำคืนตามท่าน้ำต่างๆ แต่จะอลังการที่สุดที่ ท่าทศาศวะเมธ (Dashashvamedha) ชื่อยาวชวนปวดหัว แต่หาไม่ยาก เพราะใครๆ ต่างก็มุ่งหน้าเดินไปทางทิศนั้น แล้วจับจองพื้นที่นั่งตามขั้นบันได เพื่อชมรอชมพราหมณ์หนุ่มทำพิธีบูชาแม่น้ำ ท่ามกลางเสียงเพลงสวดที่ยาวนานนับชั่วโมง ใครใคร่นั่งชมจนจบก็ได้ หรือจะลุกไปก่อนก็ไม่มีใครว่า แต่ถ้าได้กินผลไม้ที่ผ่านการทำพิธีแล้วในตอนจบสักคนละคำสองคำ ว่ากันว่าเป็นศรีแก่ตัวดีนักแล

Varanasi
บรรยากาศของมณีกรรณิกา ฆาฏ หรือท่าน้ำเผาศพ

อีกหนึ่งท่าน้ำที่ถือเป็นตำนานประจำพาราณสี ก็คือ ท่ามณีกรรณิกา (Manikarnika) ซึ่งถือเป็นท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เนื่องจากเป็นท่าน้ำสำหรับทำพิธีเผาศพที่ว่ากันว่าชาวฮินดูต่างก็ต้องดั้นด้นมาประกอบพิธีส่งดวงวิญญาณไปสู่สวรรค์ที่นี่ให้ได้ เปลวไฟที่เชิงตะกอนแห่งนี้จึงไม่เคยดับมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์คุปตะในราวศตวรรษที่ 5! และแต่ละปีมีดวงวิญญาณกว่า 28,000 ดวง เดินทางไปสู่ประตูสวรรค์จากท่าน้ำแห่งนี้

Varanasi

ข้อมูลของเปลวไฟที่ไม่เคยดับมานานหลายพันปี บวกกับเรื่องราวในพุทธประวัติ ที่ระบุว่า

หลังจากองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลพุทธคยา พระพุทธองค์ทรงพระดำเนินพระบาทเปล่าธุดงค์มายังนครกาศี มุ่งสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ตำบลสารนาถ เพื่อแสดงปฐมเทศนาประกาศสัจธรรมแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ ณ จุดที่ตั้งของธัมเมกขสถูปในปัจจุบัน

ล้วนยืนยันได้ว่า พาราณสีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมานานกว่า 4,000 ปีได้จริง สมกับที่นักเขียนชาวอเมริกันอย่าง มาร์ก ทเวน เคยนิยามพาราณสีเอาไว้ว่า

“วาราณสี เก่าแก่กว่าประวัติศาสตร์ เก่าแก่กว่าประเพณี เก่าแก่กว่าตำนาน และเมื่อเหลียวดูอีกที เก่ากว่าทั้งหมดมารวมกันเสียอีก”

Varanasi

Varanasi

Varanasi

Varanasi

แต่ในความเก่า พาราณสีก็มีความเก๋าไปในตัว เมื่อเมืองที่ไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิมแห่งนี้สามารถหลอมรวมเอาวิถีชีวิตผู้คนแบบดั้งเดิม นุ่งผ้าแบบเดียวกับบรรพบุรุษเหมือนเดิม ทั้งส่าหรีสีสวยสด ผ้านุ่งสีส้มแสดของบรรดานักพรต โยคีหนวดเครายาวเผ้าผมขมวดมุ่นอยู่บนศีรษะ ให้เข้ากับลวดลายของกราฟิตี้สีแสบสันต์ลวดลายสมัยใหม่ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ในทุกผืนผนังของป้อมปราการในแต่ละฆาฏ ไปจนถึงทุกตรอกซอกซอยของเมืองได้อย่างกลมกลืน

ทำให้พาราณสีเป็นเมืองที่ต่อให้ตั้งใจไปนั่งนิ่งๆ ก็ต้องมีอะไรวิ่งเข้ามากระทบสายตากระแทกเข้าไปในใจ หรือถ้ายิ่งอยากจะเดินเล่นให้ทั่วนครโบราณแห่งนี้ ยิ่งต้องมีสารพันเรื่องเซอร์เรียลเกิดขึ้นในชีวิตแน่นอน

เราท้าให้คุณมาลองด้วยตัวเอง.