©ulture

ใครเคยไปเที่ยวแถบยุโรปคงคุ้นตากับถนนหนทางแถบนั้นที่ใช้เสากั้นริมถนนเป็นแนวยาว แทนเครื่องหมายห้ามจอดรถริมทางเท้า 

แต่เสาบางต้นหรือบางแนวในเมืองปารีส รวมถึงอีกหลายเมืองในประเทศฝรั่งเศส กลับมีสีสันสะดุดตากว่าย่านอื่น

แถมยังจ้องตากลับมาได้อีกด้วย! 

ผลงานลูกตาดวงกลมโตที่เพนต์ไว้บนเสาห้ามจอดรถในหลายย่านทั่วกรุงปารีส และอีกหลายเมืองในฝรั่งเศสเป็นผลงานศิลปะของ เลอ ไซคลอป (Le CyKlop) สตรีทอาร์ติสต์แห่งเมืองน้ำหอม ที่เลือกแคนวาสโชว์ผลงานต่างไปจากศิลปินบนท้องถนนรายอื่นๆ 

ผมพยายามออกนอกกรอบการสร้างงานศิลปะบนผ้าใบหรือกำแพงแบบเดิมๆ แล้วมองหาวัตถุอื่นทดแทน อะไรที่ผมสามารถแปะสติ๊กเกอร์ลูกตาไปบนนั้นได้ แล้วทำให้สิ่งนั้นมีชีวิต มีจิตวิญญาณ และมีความแฟนตาซี 

le cyklop
Photo: https://www.lecyklop.com/

เขาจึงหมายตาเสาห้ามจอดรถริมทางเท้า ที่กระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงบนท้องถนนในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จำนวนมากกว่าสามแสนต้น เป็นสื่อแสดงงาน เพราะด้วยรูปลักษณ์ของเสาต้นยาวๆ หัวกลมๆ ทำให้แค่พ่นสีสเปรย์เป็นรูปดวงตาลงไป ก็แทบจะสวมวิญญาณให้เสาแต่ละต้นมีชีวิตขึ้นมาได้ทันที 

เท่านี้เสาห้ามจอดรถริมทางเท้าที่ผู้คนเคยได้แต่เดินผ่านก็กลับมีชีวิตขึ้นมา เรียกรอยยิ้มจากชาวปารีเซียงและนักท่องเที่ยวให้เหลียวมาสบตากับหัวเสาตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา 

le cyklop
เลอ ไซคลอป ขณะกำลังสร้างผลงานบนหัวเสา
Photo: https://www.lecyklop.com/

ช่วงแรกๆ ผมเริ่มสร้างผลงานโดยไม่ได้ขออนุญาต จนกระทั่งยักษ์ตาเดียวของผมได้เข้าไปจัดแสดงงานตามแกลเลอรี่และเทศกาลศิลปะต่างๆ หลังจากนั้นผมจึงได้สร้างสรรค์งานศิลปะแบบถาวรมากขึ้น” เลอ ไซคลอปเล่าถึงเส้นทางการสร้างผลงานแบบกองโจรในยุคเริ่มต้น 

le cyklop

le cyklop
ผลงานของ Le CyKlop จัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะต่างๆ
Photo: https://www.lecyklop.com/

เอาจริงๆ คนในชุมชนส่วนใหญ่ชอบงานของผม และเคยทำจดหมายไปยัง City of Paris ว่าอยากให้รักษาศิลปะบนเสาจราจรเอาไว้แบบนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้วกรมทางหลวงมักจะรีบมาทาสีทับในเวลาอันรวดเร็ว เว้นเฉพาะบางชิ้นงานที่ City of Paris ยังเก็บไว้ให้อยู่คู่ทางเท้าบางแห่ง 

le cyklop
ซีรีส์ Stupid Monster
Photo: https://www.lecyklop.com/

นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสได้ร่วมงานกับโรงเรียนอยู่บ่อยครั้ง โดยชวนเด็กๆ มาช่วยกันสร้างสรรค์งานศิลปะบนหัวเสาเป็นรูปสัตว์ประหลาดต่างๆ ซึ่งถือเป็นโปรเจคท์ที่เป็นแรงใจชั้นดีให้กับคนสร้างงานอย่างผม ที่ได้เนรมิตพื้นที่สาธารณะให้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น 

เหตุผลที่เลอไซคลอปชอบทำงานกับเด็กๆ เพราะเป็นวัยที่เต็มไปด้วยความสดใหม่ ไร้เดียงสา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่มี 

รูปที่เด็กๆ วาดเต็มไปด้วยจินตนาการอิสระ ซึ่งวันหนึ่งเมื่อพวกเขาโตเป็นวัยรุ่น เขาจะหยุดวาดภาพแนวนี้ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโตขึ้นหรือเพราะพวกเขารู้สึกอายขึ้นมาที่วาดรูปไม่เหมือนต้นแบบ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย สำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยหยุดวาดรูป อาจเพราะผมยังมีความเป็นเด็กในตัวสูง 

le cyklop
Photo: https://www.lecyklop.com/

ความเป็นเด็กในตัวเลอไซคลอปสามารถแทนค่าได้ด้วยหนึ่งในการ์ตูนที่มีอิทธิพลต่อผู้ใหญ่หัวใจเด็กอย่างเขา ได้แก่ การ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง Kitaro หรือที่เด็กไทยยุค 80 รู้จักกันดีในชื่ออสูรน้อยคิทาโร่ ผลงานของชิเงรุ มิซุกิ ซึ่งมีผีลูกตาเป็นหนึ่งในตัวละครที่หลายคนจดจำได้ดี 

ผมรักการ์ตูนเรื่องนี้เพราะชอบกลวิธีที่ผู้แต่งใช้เหล่าอสูรในการพูดถึงมนุษย์อย่างเรา” จึงไม่แปลกที่ทั้งเหล่าอสูรน่ารัก สัตว์ประหลาดสุดเพี้ยน และกองทัพลูกตาจะพัฒนามาเป็นลายเซ็นของเลอ ไซคลอป ให้ชาวโลกในยุคนี้ได้จดจำต่อไป 

le cyklop
ใครเป็นใครบนเสาแต่ละต้นกันบ้าง
Photo: https://www.lecyklop.com/

le cyklop

le cyklop
Montm’ART แวน โกะห์ และภาพ L.H.O.O.Q ของมาร์แซล ดูชองป์
Photo: https://www.lecyklop.com/

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพียงรูปดวงตาและสัตว์ประหลาด เลอ ไซคลอปพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่องตามมาอีกหลายซีรีส์ เช่น Montm’ART ที่เขาหยิบเอางานศิลป์ระดับโลก รวมถึงหน้าตาของจิตรกรชื่อก้อง ไม่ว่าจะเป็นวินเซนต์ แวน โกะห์อ็องรี มาติส หรือปอล โกแกง มาเพนต์บนเสาทั้งต้นได้ชนิดถูกใจคนรักงานศิลปะ ที่จะได้เดินตามหาเสาแต่ละต้นบนถนนทั้งสี่สายทั่วย่านมงมาร์ต ชุมชนศิลปินเมื่อหลายศตวรรษก่อน แล้วเดาว่าเสาต้นนี้คือใคร หรือเป็นผลงานอมตะชิ้นใด 

le cyklop

le cyklop
GOLDEN EYES ในย่าน Etampes ชานกรุงปารีส(2016)
Photo: https://www.lecyklop.com/

GOLDEN EYES เป็นซีรีส์ที่ไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในปารีส แต่กระจายไปยังหลายเมืองทั่วประเทศฝรั่งเศส โดยคงเอกลักษณ์เดียวกัน คือ เพนต์เสาเป็นสีทองอร่ามยืนต้นรับดวงตาโดดเด่นหลากสี ที่คอยจับจ้องแดนน้ำหอมทั้งอาณาจักร 

le cyklop

le cyklop
Angry L’éGO  Photo: https://www.lecyklop.com/

ซีรีส์ที่ทำให้เลอ ไซคลอปเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ต้องยกให้ Angry L’éGO กองทัพเลโก้หน้าตาเหลอหลาหลากอารมณ์ ที่ยึดครองพื้นที่ท้องถนนทั่วกรุงปารีสจนเหลืองโพลนมาตั้งแต่ปี 2014 โดยเขาค่อยๆ ตระเวนแปลงโฉมเสาเหล็กหัวเหลี่ยมในหลายย่านทั่วกรุงปารีส อาทิ Pantin, Colombes, Montreuil ฯลฯ ด้วยการพ่นสีเหลืองลงไปบนหัวเสา แล้วแปะสติ๊กเกอร์ตาเดียว พร้อมคิ้วหรือปากให้ออกมาหน้าตาคล้ายตุ๊กตุ่นเลโก้ที่แสดงสีหน้าแตกต่างกันไป 

le cyklop

le cyklop
เลอไซคลอปขณะสร้างสรรค์ผลงาน
Photo: https://www.lecyklop.com/

ผมไม่เคยวางแผนว่าจะสร้างผลงานยักษ์ตาเดียวไปจนถึงเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ ผมจะยังคงผลิตชิ้นงานในซีรีส์เลโก้ต่อไป และผมมองว่ายังมีเฟอร์นิเจอร์บนท้องถนนอีกหลายรูปร่างทั่วโลกที่เหมาะแก่การนำมาใช้แทนผ้าใบในการสร้างงานศิลปะ 

le cyklop

le cyklop
เฟอร์นิเจอร์หน้าตาประหลาดบนท้องถนน
Photo: https://www.lecyklop.com/

หลายคนอาจตั้งแง่ในใจว่าการพ่นสีสเปรย์บนสาธารณะประโยชน์ของบ้านเมืองแบบนี้เหมาะควรแล้วหรือ ผิดกฎหมายหรือเปล่า เลอไซคลอปพร้อมให้คำตอบสำหรับคำถามนี้เสมอ 

ถึงผมจะเพนต์เสาจราจรเป็นรูปไซคลอป แต่เสาเหล่านั้นก็ยังทำหน้าที่เหมือนเดิม คือ เป็นสัญลักษณ์แทนการห้ามจอดรถริมทางเท้า โดยผมเพิ่มฟังก์ชันใหม่เข้าไป โดยทำให้เสาหน้าตาขี้เล่นเหล่านี้ดึงดูดใจให้ผู้คนอยากเดินเข้ามาเล่นด้วย บางคนก็เอาหมวกมาสวมให้บรรดายักษ์ตาเดียว หรือถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก และบางซีรีส์ก็กลายเป็นแลนมาร์คของถนนสายนั้นๆ ไปโดยปริยาย 

le cyklop

le cyklop
ไซคลอปเวอร์ชัน Barbapapa และ Tintin
Photo: https://www.lecyklop.com/

ปกติแล้วตามท้องถนนก็มักจะรกไปด้วยป้ายประกาศ ป้ายโฆษณา และสัญลักษณ์ต่างๆ อยู่แล้ว สิ่งที่ยังขาดคือ สีสันของความแฟนตาซีที่ควรแทรกอยู่ในทุกมุมเมือง การที่คาแรกเตอร์ตลกๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นตามจุดต่างๆ บนท้องถนน ก็เพื่อท้าทายอารมณ์ขันของผู้คน ซึ่งเป็นการสะท้อนตัวตนของคนในสังคมเมือง บางครั้งสายตาที่จับจ้องไปยังไซคลอปแต่ละตัวก็อัดแน่นไปด้วยความหมายที่ท่วมท้น 

le cyklop
Lego Niqab
Photo: https://www.lecyklop.com/

อย่างสายตาที่คนจำนวนหนึ่งมีต่อ Lego Niqab (เลโก้ที่สวมนิกอบ หรือผ้าคลุมสีดำปิดบังใบหน้าและศีรษะก็สะท้อนให้เห็นนัยยะทางการเมืองและการให้ค่ากับเครื่องแบบของคนในสังคม เพราะในฝรั่งเศสมีปัญหาในการห้ามชาวแองโกลแซ็กซอนสวมผ้านิกอบ ในขณะที่คนอังกฤษสามารถโพกหัวแบบชาวซิกข์ได้โดยไม่ถูกมองว่าผิดแปลกแต่อย่างใด 

แม้บางชิ้นงานจะสะท้อนทัศนคติของคนในสังคม แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของตัวศิลปิน คือ มุ่งสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเป็นหลัก 

le cyklop
Photo: https://www.lecyklop.com/

ผมรักในเสียงหัวเราะ เลยอยากสร้างงานแฟนตาซีที่ช่วยให้คนที่เห็นได้ยิ้มตาม เพราะเราอยู่ในสังคมที่แร้งไร้จินตนาการขึ้นทุกที ทุกอย่างถูกสร้างขึ้นด้วยการคำนวณแบบเป๊ะๆ เพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ต้องได้กำไร และไร้สีสัน ท้องถนนมีแต่สีทึมเทาของคอนกรีตและซีเมนต์ ทุกวันนี้เราชาวยุโรปยังคงกีดกันและแบ่งแยกสีผิวเชื้อชาติ เชื่อมั่นในปัจเจกนิยมแบบสุดขั้ว นี่คือสังคมของชาวยุโรป (European Community) 

หลายคนคงลืมว่าในคำว่า สังคม (community) ต้องอุดมไปด้วยความสามัญ (common)” ศิลปินผู้มุ่งมั่นแต้มสีสันและรอยยิ้มให้ประชาคมยุโรปให้สัมภาษณ์แบบไม่เก่าไปตามกาลกับนิตยสาร Don’t Panic ไว้ตั้งแต่ปี 2012  

อ้างอิง