©ulture

ที่ชอบ ที่ชอบเป็นแบบไหน? 

เมื่อเราตายไปแล้ว คงไม่วายต้องถูกฝังลงโลงมืดๆ หรือเผาจนไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่ถ้าไม่ได้โปรดปรานโลงมืดกับไฟ จะดีกว่าไหมถ้าเราเลือกหมุดหมายสุดท้ายให้ร่างกายของตัวเองได้

นี่เป็นที่มาของการจัดการศพทางเลือกใหม่ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากหลากหลายแนวคิด นอกจากจะเป็นตัวเลือกให้เราได้จัดการร่างกายในแบบที่ชอบแล้ว การจัดการศพแบบใหม่ยังตั้งใจจะพัฒนาให้การจากไปของมนุษย์ไม่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อมเกินความจำเป็น อีกทั้งยังหาวิธีทำให้ร่างกายของเรามีประโยชน์กับโลกจนถึงวินาทีสุดท้ายที่จากไป  

becommon ชวนมาสำรวจการจัดการศพวิถีใหม่ที่จะทำให้เราได้ตายแบบได้ไปที่ชอบ 

 

Capsula Mundi’  

ฝังร่างใต้รากต้นไม้ใหญ่ 

เมื่อวิธีฝังศพแบบเดิมๆ ที่ต้องบรรจุลงโลงไม้อาจเป็นการส่งต่อสารเคมีไปยังสิ่งแวดล้อม ราอูล เบรทเซล (Raoul Bretzel) และ แอนนา ซิเทลลี (Anna Citelliสองนักออกแบบชาวอิตาลี จึงคิดค้นแคปซูลรูปไข่ โลงศพที่ปลอดภัยต่อธรรมชาติ ชวนคนเป็นมาฝังร่างคนตายไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่เพื่อให้ร่างกายย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยชั้นดี

พวกเขาตั้งชื่อแคปซูลนี้ว่า Capsule Mandi ที่หมายถึง แคปซูลของโลก ในภาษาละติน โดยเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว จากความคิดที่อยากลดวิธีจัดการศพที่สร้างมลพิษและอยากพามนุษย์กลับไปสู่วัฏจักรเดิมคือย่อยสลายไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ 

พวกเขาทดลองจัดการศพครั้งแรกด้วยการนำเถ้ากระดูกบรรจุลงไปในภาชนะรูปไข่ที่ทำจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และตั้งใจไว้ว่ารุ่นต่อมาสิ่งที่อยู่ข้างในจะเปลี่ยนเป็นร่างไร้วิญญาณของมนุษย์จริงๆ เมื่อฝังลงไปใต้ดินแล้ว เปลือกไข่จะค่อยๆ แตกออก กระทั่งเชื้อราจะทำหน้าที่ย่อยสลายเนื้อหนังให้กลายเป็นปุ๋ยชั้นดีของต้นไม้ใหญ่ต้นนั้น

 

สวมชุด ‘Infinity Mushroom’  

เกิดใหม่เป็นดอกเห็ด 

จะเป็นอย่างไรถ้าร่างกายมนุษย์กลายเป็นถุงเพาะเห็ดเสียเอง 

ในเดือนมีนาคม ปี 2019 ลุค เพอร์รี (Luke Perry) อดีตนักแสดงจากเบเวอรีฮิลล์เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดในสมอง โซฟี เพอร์รี (Sophie Perry) ผู้เป็นลูกสาวสร้างความฮือฮาในวงกว้าง เมื่อเธอไม่ได้ทำพิธีฝังศพแบบทั่วไป แต่เลือกจะสวมชุดเพาะเห็ดให้พ่อแล้วปล่อยให้เขาย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติสักแห่งในเขตป่าอนุรักษ์อาร์มสตรอง เรดวู้ด ในแคลิฟอร์เนีย

ชุดนี้มีชื่อว่า Infinity mushroom suit ออกแบบโดย แจ ริม ลี (Jae Rhim Lee) ดีไซน์เนอร์ชาวเกาหลีใต้ที่หยิบเอาศิลปะ วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมมาไว้ด้วยกัน 

เธอเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และเราจำเป็นต้องกำจัดสารพิษเหล่านั้นออกจากร่างกายก่อนฝังลงพื้นดิน เธอจึงออกแบบชุดเพาะเห็ดที่มีวัตถุดิบหลักเป็นร่างกายมนุษย์ โดยไบโอมิกซ์ (biomix) ที่อยู่ในเห็ด รวมถึงจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ จะช่วยดูดซับสารพิษเหล่านั้นออกไปจากร่างกายจนไม่เหลือมลพิษทิ้งไว้ในผืนดิน 

 

เปลี่ยนเนื้อหนังให้กลายเป็นปุ๋ยหมัก 

ที่ Recompose

Recompose เป็นธุรกิจหนึ่งในซีแอตเทิล พัฒนาขึ้นเพื่อเปลี่ยนร่างกายมนุษย์ให้เป็นปุ๋ยหมัก พวกเขาใช้เวลากว่าสิบปีในการคิดค้นกระบวนการนี้ ไปพร้อมๆ กับรณรงค์ให้กฎหมายอนุมัติวิธีจัดการศพแบบใหม่นี้ด้วย

ร่างไร้วิญญาณจะถูกทับถมด้วยเศษใบไม้ ใบหญ้า แล้วบรรจุไว้ในแคปซูลเหล็กปิดสนิทที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ ข้างในจะมีการควบคุมระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ไนโตรเจน ออกซิเจน รวมไปถึงความร้อนและความชื้น เพื่อให้จุลินทรีย์และแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีขึ้น 

30 วันผ่านไปร่างก็เน่าสลาย ได้ผลผลิตเป็นปุ๋ยหมักปริมาณราวๆ 85 ลิตร บ่มต่ออีก 2-3 สัปดาห์ก็จะได้ปุ๋ยอย่างดีสำหรับบำรุงต้นไม้ ทางครอบครัวจะส่งต่อไปยังเขตป่าอนุรักษ์ในกรุงวอชิงตันก็ได้ หรือจะนำกลับไปใช้เองที่บ้านก็ดี 

กระบวนการเปลี่ยนศพให้กลายเป็นปุ๋ยหมักนั้นช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าหนึ่งตันเมื่อเทียบกับการเผาศพหรือการฝังศพแบบดั้งเดิม แถมยังใช้พลังงานไปแค่หนึ่งในแปดของการเผาศพธรรมดาอีกด้วย 

 

บริจาคร่างกาย 

เป็น ‘อาจารย์ใหญ่’ ของเหล่านักศึกษาแพทย์ 

การบริจาคร่างกายเป็นอีกทางเลือกที่คนนิยม เนื่องจากเป็นวิถีใหม่ที่มีต้นทุนไม่สูง ศพจะถูกนำไปรักษาสภาพเอาไว้และใช้ในการเรียนการสอนของเหล่านักศึกษาแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกผ่าตัด ศึกษาเนื้อเยื่อ สำรวจส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือแม้แต่เก็บโครงกระดูกเอาไว้ใช้ในการเรียน

ทุกอย่างจะเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้าเราบริจาคร่างกาย เพราะหลังจากที่ผู้บริจาคเสียชีวิต ร่างกายจะต้องไปถึงมือของโรงพยาบาลภายใน 20 ชั่วโมง และเมื่อได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ครบ ปีแล้ว ทางโรงพยาบาลจะประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับผู้ล่วงลับในภายหลัง 

ในประเทศไทยเองมีจุดรับบริจาคร่างกายและอวัยวะหลายแห่งทั้งในสภากาชาดไทยหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด และยิ่งสะดวกสบายเข้าไปใหญ่ เมื่อเดี๋ยวนี้มีเว็บไซต์สมัครแบบออนไลน์ ไม่ต้องเดินไปบริจาคด้วยตัวเองเหมือนแต่ก่อนแล้ว 

ดูรายละเอียดการบริจาคร่างกายออนไลน์ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ที่ http://www.chulalongkornhospital.go.th/anatomyreg/ 

 

ส่งเถ้ากระดูกไปเป็นปะการังใต้ทะเล 

การเสียชีวิตในช่วงโรคโควิด-19 ทำให้การจัดการศพเปลี่ยนแปลงไป คนเลือกจะเผามากกว่านำไปฝังแบบเดิม ซึ่งนั่นทำให้เกิดขี้เถ้าจากการเผามากกว่าแต่ก่อน ในหลายๆ วัฒนธรรมที่ไม่เคยชินกับวิธีเผาศพอาจไม่รู้ว่าต้องเอาขี้เถ้านั้นไปทำอะไร หลายๆ บ้านเลือกเก็บไว้เพื่อรำลึกถึง แต่ก็มีหลายคนที่นำเอาเถ้ากระดูกไปทำอย่างอื่น

นอกจากโปรยลงทะเล เถ้ากระดูกยังไปเป็นส่วนผสมในแผ่นเสียง เครื่องแก้ว เครื่องประดับ หรือแม้แต่พลุที่สว่างไสวอยู่บนท้องฟ้ายามค่ำคืน และอีกหนึ่งแห่งที่เถ้ากระดูกไปถึงคือ ใต้ท้องทะเล 

Eternal Reef เป็นบริษัทรับทำปะการังจากเถ้ากระดูก เมื่อปีก่อนพวกเขาได้ทำแนวปะการังไปแล้วกว่า 2,000 ชิ้น และวางอยู่ใต้ท้องทะเล 25 แห่งนอกชายฝั่งทางตะวันออกของอเมริกา 

พวกเขาจะผสมเถ้ากระดูกลงไปในปะการังเทียมจากซีเมนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากนั้นก็นำไปวางไว้ใต้ทะเล ในพื้นที่สำหรับทำแนวปะการัง เพื่อเป็นที่อยู่ใหม่ของปลาและสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร 

 

ฟรีซร่างกายแบบ ‘ไครออนิกส์’  

รอวันได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ที่ชอบ ที่ชอบอาจมาในรูปแบบของการฟื้นคืนชีพในอีกหลายปีให้หลังก็เป็นได้ เพราะหลายคนเลือกจะแช่แข็งร่างกายเอาไว้แบบ ไครออนิกส์ (Cryonics) เพื่อหวังว่าสักวัน วิทยาการต่างๆ จะเป็นใจให้ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ทีมแพทย์จะนำร่างผู้เสียชีวิตแช่แข็งไว้ในเครื่องที่มีหน้าตาคล้ายกับการบายพาสหัวใจ ในนั้นจะมีระบบที่รักษาระบบหมุนเวียนเลือดเอาไว้และคอยฉีดสารละลายป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อของร่างกายเสียหายจากการเปลี่ยนเป็นผลึกน้ำแข็ง 

ร่างกายที่มีอุณหภูมิอยู่ที่ –320 ฟาเรนไฮต์ (-195.5 องศาเซลเซียส) จะรอคอยอยู่ในถังไนโตรเจนเหลวเพื่อหวังว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะก้าวหน้าจนทำให้พวกเขาได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

แม้จะยังมีข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องของความเป็นไปได้และมิติด้านปรัชญา แต่นี่ไม่ได้เป็นเพียงนิยายไซ-ไฟ เพราะปัจจุบันมีคนมากมายที่เลือกจะเก็บร่างกายเอาไว้เพื่อชีวิตในอนาคต เช่นเดียวกับ ไอนส์ เด็กหญิงชาวไทยที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองและเสียชีวิตลงในวัย ขวบ ครอบครัวก็เลือกจะแช่แข็งร่างกายของลูกสาวไว้ด้วยเทคนิคไครออนิกส์ เพื่อรอให้เธอกลับมามีชีวิตอีกครั้ง 

ติดตามสารคดี Hope Frozen เรื่องราวของไอนส์ได้ทาง Netflix  

อ้างอิง 

  • Gunseli YalcinkayaEgg-shaped burial pod aims to “change our approach to death”https://bit.ly/3gpSFIr 
  • Stephanie Pappas. After Death: 8 Burial Alternatives That Are Going Mainstreamhttps://bit.ly/3iHfUiN 
  • Rozina Sini. Would you get buried in a mushroom suit like Luke Perry?. https://bbc.in/3wxj6BS 
  • Katy Dartford. The first ever human composting centre opens this year. https://bit.ly/35mpb85 
  • Kate GolembiewskiWill Cryonically Frozen Bodies Ever Be Brought Back To Life?https://bit.ly/3xnlHy9 
  • Bernd Debusmann Jr. ‘More and more people don’t want a traditional burial’. https://bbc.in/3xs9l81