©ulture

ได้ยินคนญี่ปุ่นพูดภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแบบ ‘ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น’ ทีไร เป็นต้องเกาหัวทุกครั้ง เพราะฟังแล้วไม่เข้าใจ แต่จะให้ทำอย่างไรได้ ในเมื่อคนญี่ปุ่นเขาสะดวกเรียกแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร

ภาษาญี่ปุ่นก็เหมือนกับภาษาอื่นๆ ที่หยิบยืมคำภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศในทวีปยุโรปมาทับศัพท์หรือรับเอามาดัดแปลงการออกเสียงและวิธีการเขียนให้เข้ากับระบบภาษาของตัวเองแต่ยังคงความหมายไว้เหมือนเดิม คนญี่ปุ่นเรียกคำประเภทนี้ว่า 外来語 (gairaigo/ไกไรโกะ)

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ภาษาญี่ปุ่นมีเสียงสระน้อยมาก เพียง 5 เสียง และมีชุดอักษรพิเศษอย่างคะตะกะนะสำหรับใช้เขียนคำต่างประเทศ ทั้งหมดนี้กลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนญี่ปุ่นออกเสียงและเขียนคำทับศัพท์ออกมาผิดเพี้ยนไป

Photo: Philip Fong / AFP

ยิ่งกว่านั้น ในภาษาญี่ปุ่นยังมี 和製英語 (wasei-eigo/วะเซ-เอโกะ) หรือคำภาษาอังกฤษที่คนญี่ปุ่นจับต้นชนปลายคำและความหมายขึ้นมาเองจนไม่เหลือเค้าความหมายเดิม

มหกรรมแข่งขันกีฬาโอลิมปิม 2020 ซึ่งกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงาน จึงปรากฏคำศัพท์แปลกๆ แบบฉบับ made in Japan ให้เห็นตั้งแต่ชื่อประเทศในพิธีเปิด ไปจนถึงคำเรียกชนิดกีฬา และคำเชียร์ที่บรรดานักกีฬามีโอกาสพบเจอและได้ยิน

แม้จะไม่เข้าใจหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่นี่คือธรรมชาติและความสนุกอย่างหนึ่งของภาษาญี่ปุ่นที่ชวนให้ทุกคนพยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้ความหมายเฉพาะที่ซ่อนอยู่ไปพร้อมกัน

 

ชื่อแต่ละประเทศ ญี่ปุ่นได้แต่ใดมา

หากใช้ภาษาญี่ปุ่นมาเป็นเกณฑ์แบ่งการเรียกชื่อประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก 2020 ทั้ง 206 ประเทศ จะแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ ประเทศที่มีชื่อเฉพาะ ลักษณะเดียวกันกับคนไทยที่เรียก France ว่าฝรั่งเศส หรือเรียก Japan ว่าญี่ปุ่น ขณะที่คนญี่ปุ่นเรียกประเทศตัวเองว่า 日本 (nihon/นิโฮน) หรือเรียกสหราชอาณาจักรว่า 英国 (eikoku/เอโคะคุ) ซึ่งเป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่อดีต

กลุ่มสอง คือ ชื่อประเทศแบบทับศัพท์ หรือ gairaigo โดยนำชื่อแต่ละประเทศมาสะกดและออกเสียงใหม่แบบญี่ปุ่น แม้บางประเทศจะฟังดูขาดๆ เกินๆ แต่ยังคงเค้าเสียงเดิม เพราะญี่ปุ่นใช้วิธีเลียนเสียงให้ออกมาใกล้เคียงสำเนียงของแต่ละประเทศ เช่น

  • เรียก France ว่า フランス (furansu) ออกเสียงควบเป็น ฟรันสึ
  • เรียก Vietnam ว่า ベトナム (betonamu) ออกเสียงควบเป็น เบียดโตะนามุ
  • เรียกประเทศผู้ให้กำเนิดกีฬาโอลิมปิกอย่าง Greece ว่า ギリシャ (giricha/กิริชะ)
Photo: Ben Stansall / AFP

กลุ่มสาม คือ ชื่อประเทศแบบ wasei-eigo ซึ่งผ่านการลดรูปและเปลี่ยนเสียงจนเกิดเป็นชื่อใหม่ที่เข้าใจในหมู่คนญี่ปุ่นเท่านั้น เช่น

  • เรียก India ว่า インド (indo/อินโดะ)
  • เรียก Germany ว่าドイツ (doitsu/โดะอิสึ) ตาม Deutsch ในภาษาเยอรมันหมายถึงประเทศเยอรมนี
  • เรียก Switzerland ว่า スイス (suisu/สึอิสึ) มาจาก Swiss
  • เรียก Netherlands ว่า オランダ (horando/โฮะรันโดะ) มาจาก Holland ซึ่งเป็นชื่อจังหวัดในเนเธอแลนด์ที่ทำการค้ากับญี่ปุ่น จนเข้าใจว่าเป็นชื่อประเทศ จึงเรียกติดปากมาจนถึงปัจจุบัน
  • เรียก Belgium ว่า ベルギー (berugī/เบรุกี) ตาม België ในภาษาดัตช์หมายถึงประเทศเบลเยี่ยม
  • เรียก Turkey ว่า トルコ (toruko/โทะรุโคะ) ตาม Turco ในภาษาโปรตุเกสหมายถึง‎ประเทศตุรกี

ชื่อเรียกประเทศต่างๆ ในภาษาญี่ปุ่นจึงค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับว่าคนญี่ปุ่นในอดีตได้รับอิทธิพลเรียกชื่อประเทศเหล่านั้นมาจากชาติใดบ้าง ถือเป็นความท้าทายของคนที่สนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย เพราะต้องจดจำชื่อประเทศเหล่านี้ให้ขึ้นใจ เผื่อเอาไว้สื่อสารกับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ

 

ชื่อชนิดกีฬาและศัพท์กติกาชวนฉงน

โตเกียวโอลิมปิก 2020 จัดการแข่งขันทั้งหมด 33 ชนิดกีฬา แม้ว่ากีฬาบางชนิดจะมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว อย่าง 空手 (karate/คะระเตะ) แปลตรงตัวว่า คาราเต้ เพราะเป็นกีฬาที่กำเนิดขึ้นในเมืองโอะกินะวะ ประเทศญี่ปุ่น หรือ 新体操 (shintaisou/ชินไตโซ) แปลว่า ยิมนาสติกลีลา แต่ชื่อเรียกกีฬาส่วนใหญ่ในภาษาญี่ปุ่นคือประเภท gairaigo คือทับศัพท์จากคำภาษาอังกฤษอีกที เช่น

  • เรียก archery หรือกีฬายิงธนู ว่า アーチェリー (ācherī/อาเชะรี)
  • เรียก skateboard หรือกีฬาสเก็ตบอร์ด ว่า スケートボード (sukētobōdo/สุเคโตะโบโดะ)
  • เรียก tennis หรือกีฬาเทนนิส ว่า テニス (tenisu/เทะนิสุ)

ส่วนกีฬาฟุตบอล ในภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ใช้คำว่า football เหมือนประเทศอื่นๆ แต่เรียกกีฬาชนิดนี้ว่า サッカー (sakkā/สัคคา) ซึ่งทับศัพท์มาจาก soccer ของคนอเมริกัน

นอกจากนี้ยังมีกีฬาปั่นจักรยาน 5 ประเภท ที่คนญี่ปุ่นเรียกรวมๆ ว่า 自転車競技 (่jitenshakyōgi/จิเทนชะเคียวกิ) ความน่าสนใจอยู่ตรงคำเรียกจักรยาน เพราะคนญี่ปุ่นยืม bike ในภาษาอังกฤษมาสร้างคำแบบ wasei-eigo ว่า バイク (baiku/ไบคุ) แต่ในเมื่อภาษาญี่ปุ่นมีศัพท์ที่หมายถึงจักรยานอยู่แล้ว คือ 自転車 (่jitensha/จิเทนชะ) จึงเปลี่ยนมาให้ความหมายใหม่เป็น จักรยานยนต์ แทน

Photo: Greg Baker / AFP

หนึ่งในประเภทของกีฬาปั่นจักรยานที่คนญี่ปุ่นภูมิใจมากเป็นพิเศษคือ Cycling Track แม้ว่าชื่อทางการใช้คำทับศัพท์ว่า トラック (torakku/โทะรัคคุ) แต่ชื่อดั้งเดิมที่คนญี่ปุ่นเรียกติดปากมากกว่าคือ 競輪 (keirin/เคะอิริน) หรือคีริน เพราะเป็นการแข่งขันจักรยานประเภทลู่ที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นราวปี 1948 และเพิ่งได้รับบรรจุเข้าเป็นชนิดกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2000

อีกเรื่องที่ชวนให้นักกีฬาชาวญี่ปุ่นสับสนได้ คือ wasei-eigo ในกติกาของกีฬาแต่ละประเภท เพราะบางคำคนญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ตามสากล เช่น

  • steal ในบาสเกตบอล หมายถึง แย้งบอลจากผู้เล่นฝั่งตรงข้ามขณะเลี้ยงอยู่กับมือ แต่คนญี่ปุ่นกลับให้คำว่า パスカット (pasukatto/พะสุคัตโตะ) มาจาก pass cut
  • hit by pitch ในเบสบอล หมายถึง ขว้างบอลไปโดนตัวคนที่กำลังจะตีลูก แต่คนญี่ปุ่นเรียกว่า デットボール (dettoboru/เดตโตะโบรุ) มาจาก dead ball
  • ในกีฬาเทนนิส ใช้คำว่า ゲームセット (gemusetto/เกมุเสตโตะ) มาจาก game set หมายถึงจบเกมหรือหมดเวลา

นักกีฬาชาวญี่ปุ่นจึงต้องเรียนรู้ความหมายของคำที่ถูกต้องตามหลักสากลเพิ่มเติม เพราะคณะผู้ตัดสินในโตเกียวโอลิมปิก 2020 ใช้ภาษาอังกฤษและศัพท์เฉพาะตามกติกาสากล ไม่ใช่ wasei-eigo อย่างที่แวดวงกีฬาในประเทศญี่ปุ่นใช้จนเคยชิน

 

ส่งเสียงเชียร์แบบคนญี่ปุ่น ไม่มีชาติไหนเหมือน

แรงฮึดสู้ของนักกีฬาระหว่างลงแข่งขันเกิดขึ้นได้จากเสียงเชียร์ที่ดังมาจากขอบสนาม แต่คำพูดต่างๆ แบบ wasei-eigo ที่คนญี่ปุ่นส่งไปยังนักกีฬาของตนมักจะทำให้คนต่างชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มึนงงกับความหมายไปตามๆ กัน เพราะบางคำบางประโยคฟังแล้วไม่น่าจะใช้เป็นคำเชียร์นักกีฬาได้

อย่างคำว่า ドンマイ (donmai/โดนมะอิ) มาจาก don’t mind แปลว่า ไม่ถือสา ไม่ได้สนใจสิ่งนั้น แต่คนญี่ปุ่นกลับเอามาใช้ให้กำลังใจนักกีฬาเวลาทำพลาดหรือเสียคะแนน หมายถึง ไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวลนะ เอาใหม่ คนเราพลาดกันได้ แต่ระยะหลังคนญี่ปุ่นเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้น จึงไม่ค่อยใช้คำนี้กันเท่าไหร่

ส่วนนักกีฬาญี่ปุ่นที่ได้รับชัยชนะมักจะทำท่า fist pump คือ ชูกำปั้นขึ้นระดับหัวอกหรือศีรษะ สื่อความหมายว่า ในที่สุดก็ทำสิ่งที่ยากได้สำเร็จลุล่วง ภาษาญี่ปุ่นเรียกท่านี้ว่า ガッツポーズ (gattsupōzu/กัทสึโพซุ) มาจาก Guts pose

Photo: Anne-Christine Poujoulat / AFP

Guts ในที่นี้เป็นชื่อของอดีตนักมวยมืออาชีพชื่อดังชาวญี่ปุ่น ผู้คว้าชัยในการแข่งขันมวยสากลระดับโลกในปี 1974 คือ กัตส์ อิชิมะสึ (Guts Ishimatsu) ทุกครั้งที่เอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เขาจะชูกำปั้นขึ้นประกาศชัย คนญี่ปุ่นจึงใช้ชื่อกัตส์มาตั้งเป็นชื่อท่า

อีกท่าที่เห็นได้บ่อยในสนามกีฬาคือ high five หรือบรรดานักกีฬายกมือขึ้นมาแปะกัน แต่ภาษาญี่ปุ่นแบบ wasei-eigo เรียกท่านี้ว่า ハイタッチ (haitacchi/ไฮทัจจิ) มาจาก high touch

ในความไม่เหมือนใครและไม่มีใครคิดจะเหมือนเช่นนี้ แม้จะสร้างความสับสนให้เจ้าของภาษา แต่ในอีกมุมหนึ่งก็นับว่าเปิดโอกาสให้เกิดความคิดสร้างสรรค์คำใหม่ ผลลัพธ์ที่ออกมาแต่ละคำจึงอยู่เหนือความคาดหมายใดๆ เพราะอาจกลายเป็นคำที่ได้รับความสนใจจนคนทั่วโลกนำไปใช้ต่ออีกทอดหนึ่งเหมือนคำว่า ファイト (faito/ไฟโตะ) มาจาก fight! ที่แปลว่าต่อสู้ แต่คนญี่ปุ่นกลับเอาไว้ใช้เชียร์ให้ใครก็ตามพยายามเข้า ลงมือทำเต็มที่ สู้ๆ จะคอยเป็นกำลังใจให้

 

อ้างอิง

  • EF English Live. 知っておきたいスポーツ英語!よく使われる用語の単語やフレーズ集. https://bit.ly/3zQaIP5