ช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ไทยกำลังครึกครื้นต่อแถวเข้าฉายอย่างไม่มีทีท่าว่าจะให้คนดูได้หยุดยิ้ม
ไม่ว่าจะเป็นในโรงหนังหรือช่องทางสตรีมมิ่ง แม้กระทั่งการจัดฉายในรูปแบบกลางแปลงก็นับว่าปี 2566 นี้เป็นปีที่คนดูได้กำไรจากการมีหนังไทยไม่ซ้ำค่ายฉายให้ชมมากมายหลายอารมณ์ มีตั้งแต่ 14 อีกครั้ง (ที่ไม่ใช่เพลงของพี่เสก โลโซ) ที่จะพาคนดูย้อนกลับไปยังยุค พ.ศ. 2546 และ มนต์รักนักพากย์ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีบริบททางสังคมที่ชวนให้ผู้ใหญ่คิดถึง และคนรุ่นหลังต้องตื่นตา
ไหนจะ สัปเหร่อ หนังเรื่องล่าสุดของจักรวาลไทบ้านเดอะซีรีส์ ที่แสดงให้เห็นถึงภาพของคนอีสานที่ไม่ได้มาจากสายตาของคนเมืองกรุงหรือชนชั้นกลาง แต่เป็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนพื้นที่ในปัจจุบัน ซึ่งคนทำหนังสามารถทำให้คนดูเข้าใจในวิถีชีวิตเหล่านั้นได้อย่างไม่ผิดแปลก ผ่านวิธีการนำเสนออย่างซื่อสัตย์ ในทำนองที่ว่า เราเป็นอย่างไรก็เล่าออกไปอย่างนั้น
และ เพื่อน(ไม่)สนิท (2023, อัตตา เหมวดี) เป็นหนังไทยอีกหนึ่งเรื่องที่ใช้ประสบการณ์ร่วมของคนดูให้เป็นประโยชน์ ก่อให้เกิดเป็นความรู้สึกคิดถึงครั้งวันวาน และอาจโหยหาช่วงเวลานั้นอย่างไม่รู้ตัวขณะกำลังนั่งหลังพิงเบาะเพลิดเพลินกับเรื่องราวของเหล่านักเรียนมัธยมในเรื่อง
บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในภาพยนตร์
วันเรียนจบ
เพื่อน(ไม่)สนิท ว่าด้วยเรื่องราวของ เป้ (อันโทนี่ บุยเซอเรท์) เด็กหนุ่มวัยมัธยมที่คิดจะทำหนังสั้นเพื่อใช้เป็นทางลัดเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ผ่านการนำเอาเรื่องราวของเพื่อน (ไม่?) สนิทอย่าง โจ (พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ) ที่เพิ่งเสียชีวิตไปได้ไม่นานนักมาทำ โดยอ้างว่าเพื่อระลึกถึง และสร้างความจดจำแด่เพื่อนผู้จากลากันไปก่อนจะถึงวันจบการศึกษา ต่อจากนั้นคือเรื่องราวความวายป่วงที่เป้ต้องรับมือจากคำโกหกที่สร้างเรื่องให้ สู่การใช้เวทมนตร์ของภาพยนตร์เป็นเครื่องมือที่อาจทำให้ใครหลายคนกลับไปนึกถึงเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ตรงนี้ด้วยกันแล้วอีกครั้งหนึ่ง
ถึงแม้ว่าทั้งหมดทั้งมวลหนังเรื่องเพื่อน(ไม่)สนิทจะไม่ได้แสดงภาพวันเรียนจบออกมาอย่างใหญ่โตอลังการชนิดเรียกคืนความทรงจำของทุกคนกลับมา แต่ที่แน่ๆ ช่วงวัยมัธยม 6 ที่หนังใช้เป็นฐานตั้งของเรื่องราวก็มากเพียงพอจะแสดงออกให้เห็นว่า นี่คือช่วงวัยที่โลกทั้งใบของวัยรุ่นคนหนึ่งสามารถแตกสลายได้ด้วยปัญหาที่ตนไม่เคยพบเคยเจอ หลายคนอาจเป็นการถูกล้อเลียน เพื่อนเลิกคบ เครียดกับการเตรียมสอบเข้า หรืออื่นๆ แล้วแต่ว่าชีวิตใครจะพาไปทางไหน
แต่สำหรับตัวเอกของเราแล้ว ปัญหาของเขาคือคำโกหกที่ลุกลามขึ้นเรื่อยๆ จากความคิดตั้งต้นที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
ความรู้สึก ความตาย และความทรงจำ
ขณะเดียวกัน เพื่อน(ไม่)สนิทเองก็มีประเด็นหนึ่งที่คล้ายคลึงกับสัปเหร่อ รวมถึงการมีกลิ่นอายในแบบที่ Die Tomorrow ผลงานของ นวพล ธํารงรัตนฤทธิ์ เคยทำเอาไว้ นั่นคือการพูดถึงเรื่องที่ความตายนั้นไม่เคยยืนต่อแถวรอให้เราเกิด แก่ หรือเจ็บตามวัฏจักร อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หนังจะไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วมให้ต้องอยากออกจากโรงหนังมากอดเพื่อน แต่ก็สร้างความรู้สึกน่าใจหายไม่แพ้กัน โดยเฉพาะฉากของ หลิว (ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา) ที่ความคมคายนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับอัตตา ผู้กำกับหนังหน้าใหม่ที่มีกลวิธีการเล่าอันหลักแหลม กับฉากจูบที่เล่า 2 ช่วงเวลาพร้อมกัน และเล่าผ่านสายตาของเป้เหมือนกัน
ช่วงเวลาแรกคือปัจจุบันที่เธอกำลังตกลงปลงใจเป็นแฟนกับชายหนุ่ม อีกช่วงเวลาหนึ่งคือตอนที่เธอกำลังตกลงปลงใจเป็นแฟนกับโจ ข้อแตกต่างของสองช่วงเวลานี้คือ หลิวที่บอกโจว่ายังเร็วไปที่จะจูบ กับหลิวที่จูบกับชายหนุ่มในอีกช่วงเวลาหนึ่งแทบจะทันที
ถ้ามองเพียงผิวเผิน ข้อความของฉากนี้คงหมายความว่าหลิวนั้นชอบชายหนุ่มคนนี้มากกว่าโจ แต่เมื่อมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด วันที่โจเสียชีวิต คือวันเดียวกันกับที่โจและหลิวตกลงคบกัน คำว่า ‘เร็วไป’ ของหลิวจึงกลายเป็น ‘ช้าไป’
โดยปริยาย แม้แต่หลิวและใครหลายคนที่อาจเคยประสบเหตุการณ์ใกล้เคียงกันก็คงไม่ทันคิดว่า คนคนนั้นจะมาด่วนจากไปอย่างไม่ทันให้คนที่ยังอยู่ได้ตั้งตัว คำว่า ‘เดี๋ยวก่อน’ ถูกความตายแปรเปลี่ยนเป็น ‘ไม่ทันแล้ว’ และกลายเป็นความน่าเสียดายไปในทันที
มาถึงฉากนี้แล้ว ใครหลายคนอาจเลิกจับจุดหรือนึกถึงอนาคตข้างหน้าของตัวละครไปแล้วว่าคิดจะทำอะไรกันต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความทีเล่นทีจริงในสถานการณ์ที่ก็ไม่ได้ชี้เป็นชี้ตาย เพียงแค่มีคนคนหนึ่ง (เป้) กำลังใช้ประโยชน์จากความตายอยู่ก็เท่านั้นเอง ถึงอย่างนั้นหลักใหญ่ใจความที่ทำให้คนเลิกคาดเดาเนื้อหาน่าจะเป็นเพราะหลายฉากหลายตอนของเรื่องกำลังพาคนดูนึกย้อนไปยังช่วงเวลาที่ถูกความตายทำให้กลายเป็นเรื่องน่าเสียดาย และกลายเป็นเพียงความทรงจำในอดีต ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นปัจจุบัน แต่ไม่มีโอกาสได้เป็นอนาคต
แด่เพื่อน แด่ภาพยนตร์ และความคิดถึง
โดยส่วนตัว ฉากหนึ่งที่น่าประทับใจเป็นพิเศษคือตอนที่โจพูดว่า ‘เราสามารถจดจำบางสิ่งในแบบที่เราอยากได้’ ยิ่งผนวกรวมเข้ากับความน่าเชื่อถือของตัวละครนี้ และวิธีการแสดงออกที่คงไม่ยากเย็นนักถ้าจะทำให้ใครหลายคนนึกถึงเพื่อนคนหนึ่ง คนที่ให้ความรู้สึกว่าสามารถกลมกลืนไปได้กับทุกๆ กลุ่ม และไม่น่ารำคาญแม้จะพูดมากหรือมากรอยยิ้มอยู่แทบจะตลอดเวลา ซึ่งต้องชื่นชม จั๊มพ์ – พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ ที่เอาอยู่ทุกหมัดกับการปรากฏตัวในบทโจเพื่อสร้างอารมณ์ร่วมและโทนเสียงของเจ้าตัวที่เป็นเสียงที่เหมาะสมต่อการมีอยู่ในสื่อภาพยนตร์เอามากๆ เลย
กลับมาที่วิธีการจดจำ ตรงนี้เองที่เป้ใช้หนังเป็นเครื่องมือเพื่อจดจำโจ แม้เรื่องราวจะพลิกผันพาเราไปพบกับความจริงอันเลวร้ายที่โจมีสถานะเป็นผู้กระทำ นั่นคือการที่โจขโมยเรื่องสั้นของเพื่อนที่ป่วยและอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน ไปส่งประกวดในนามตัวเอง พร้อมกับชนะและได้เงินรางวัลมาจำนวนหนึ่ง
เหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นช่วงกลางเรื่อง ส่งผลให้ทางเลือกของตัวละครและคนทำหนังเริ่มชัดขึ้นว่า หลังจากนี้จะเอาอย่างไรต่อ ถึงตรงนี้จะว่าน่าเสียดายก็คงใช่ และจะว่าน่าโล่งใจก็คงใช่เช่นกัน เพราะทางลงของเรื่องราวโดยรวมก็นับว่าใจดีไม่น้อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องคิดใจร้าย หรืออยากมองดูผู้อื่นนำพาความพินาศมากองตรงหน้าขนาดนั้นก็ได้ เพราะเราสามารถจดจำหนังเรื่องนี้ในฐานะเครื่องย้ำเตือนถึงความรู้สึกที่ตกหล่นไปตามช่วงวัยที่เติบโตขึ้น ซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยล้ำค่ากับเราในโมงยามที่อ่อนเยาว์กว่านี้
ภาพรวมทั้งหมดของหนังอาจไม่ได้ว่าด้วยความรู้สึก หรือไวบ์ของช่วงเวลาที่กำลังจะเรียนจบขนาดนั้น ต่อให้ระหว่างทางจะมีภาพของการสอบ กระทั่งช่วงเวลาประกาศผลที่ท่าทีดีใจของตัวละครรอบข้างก็ไม่ได้เกินจริงสักเท่าไหร่
แต่ถ้าว่ากันตามจริงแล้ว ความรู้สึกของเรื่องราวนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทิ้งท้ายวัยมัธยมที่ต่อให้คอขาดบาดตายขนาดไหนก็ยังสามารถทีเล่นทีจริงกันได้อย่างมีชีวิตชีวา อาจไม่ใช่ทุกคนที่เคยมีช่วงเวลาถ่ายทำหนังสั้นกับกลุ่มเพื่อน แต่อย่างน้อยก็ย่อมมีช่วงเวลารวมทีมแก้ปัญหาอันใหญ่หลวงชวนปวดหัว ที่หากมองย้อนกลับไป สิ่งนั้นอาจกลายเป็นเรื่องตลกขบขันในวงสนทนาอันแสนครื้นเครงแทน
สิ่งที่หนังนำพาคนดูมาจนถึงตอนจบอาจไม่ใช่พล็อตที่แข็งแรงนัก แต่ความรู้สึกที่ตลบอบอวลอยู่ภายในเรื่องก็แข็งแรงพอที่จะแสดงออกถึงความเหนือจินตนาการของคนทำหนัง ซึ่งจนแล้วจนรอดก็สื่อสารกับคนดูได้ว่า จินตนาการอยู่เหนือความรู้ ความทรงจำอยู่เหนือความเป็นจริง เวทมนตร์ของภาพยนตร์สามารถชุบชีวิตคนคนหนึ่งขึ้นมาได้ และก่อร่างสร้างตัวตนของคนคนนั้นขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านความรู้สึก ความทรงจำ และความคิดถึง ของผู้ที่มีโอกาสได้ทำให้อนาคตกลายเป็นปัจจุบัน
เพื่อนไม่สนิท (2023)
กำกับและเขียนบท : อัตตา เหมวดี
นักแสดง : อันโทนี่ บุยเซอเรท์, พิสิฐพล เอกพงศ์พิสิฐ, ธิติยา จิระพรศิลป์, ธนกร ติยานนท์, ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา
ความยาว : 123 นาที