พระอาทิตย์ตกดิน ท้องฟ้าเป็นสีดำ ดวงดาวสุกสว่าง หล่ามนุษย์เงินเดือนเพิ่งเลิกงาน เบียร์อึกแรกเพิ่งจะลงไปในท้องว่างๆ
แสงไฟหลากสีสันจากร้านรวงและป้ายโฆษณาแอลอีดีแข่งกันสว่างสดใสทำให้ถนนในย่านชิบูย่าเริ่มมีสีสัน สองทุ่มเศษๆ เป็นเวลาที่ความสนุกยามค่ำคืนเพิ่งจะเริ่ม เราขอชวนผู้อ่านไปท่องโลกยามค่ำคืนอันคึกคัก มืดมิด แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความหวังกับเพลงของ ‘โยอะโซบิ’
โยอะโซบิ (Yoasobi) เป็นวงดูโอ้สัญชาติญี่ปุ่นที่ทำขับกล่อมเรื่องราวจากนิยายให้กลายเป็นบทเพลง นำโดย อายาเสะ (Ayase) นักแต่งเพลง ทำดนตรี และ อิคุระ (ikura) เจ้าของเสียงร้องอันสดใส
ทั้งคู่เป็นศิลปินในสังกัด โซนี่มิวสิกเอนเตอร์เทนเมนท์แจแปน (Sony Music Entertainment (Japan) Inc.) ที่เดบิวต์ครั้งแรกในเดือนธันวาคมปี 2019 ด้วยซิงเกิลแรก ‘Yoru ni Kakeru’ (Racing into the Night) หรือ ‘วิ่งสู่ค่ำคืน’ เป็นเพลงจังหวะสนุกๆ เมโลดี้หยอกล้อกับเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของอิคุระ แต่ใครจะรู้ว่าเนื้อเพลงกลับมืดมนตรงกันข้ามดนตรี เพราะมาจากนิยายเรื่องสั้นเรื่อง หรือ ‘การเย้ายวนจากทานาธอส’ โดย มาโยะ โฮชิโนะ (Mayo Hoshino) ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มที่ตกหลุมรักหญิงสาวที่จมอยู่กับความเศร้าและพยายามจบชีวิตตัวเองหลายต่อหลายครั้ง
ยอดวิวเพลงนี้ทะลุ 50 ล้านวิวบน YouTube ภายใน 6 เดือน ทะยานไปติดชาร์จ Billboard Japan Hot 100 ถึง 3 สัปดาห์ติดกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีแผ่นวางขายเลยด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับความนิยมในสตรีมมิงแพล็ตฟอร์มอื่นๆ ด้วยเช่นกัน นับเป็นเหมือนดอกไม้ไฟลูกแรกที่ส่งแสง ส่งเสียง เรียกคนฟังเพลงให้มารู้จักโยอะโซบิก็ว่าได้
อายาเสะ และ อิคุระ อายุห่างกันถึง 7 ปี พวกเขาไม่ได้เป็นเพื่อนรักนักทำเพลงกันมาก่อน ต่างคนต่างเป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งโคจรมาพบกันเมื่อกลางปี 2019 นี่เอง
ในปีนั้นค่ายเพลงโซนี่มิวสิกเอ็นเตอร์เทนเมนต์เจแปนมีไอเดียอยากทำโปรเจ็กต์เพลงสำประกอบนิยายบนเว็บไซต์ Monogatary ซึ่งเป็นพื้นที่ปล่อยของของนักเขียนรุ่นใหม่
ยามาโมโตะ ชูยะ (Yamamoto Shyuya) ซึ่งเป็นนักพัฒนาศิลปินของค่ายในตอนนั้นจึงเฟ้นหาศิลปินหน้าใหม่มาฟอร์มวงทำโปรเจ็กต์นี้ และอายาเสะในตอนนั้นที่กำลังโด่งดังในฐานะ Vocaloid-p (Vocaloid producer) หรือศิลปินโวคาลอยด์ก็งานดีจนเข้าตากรรมการและได้มาเป็นสมาชิกคนแรกของโยอะโซบิ
อายาเสะโลดแล่นอยู่ในวงการเพลงตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย เขาชอบฟังเพลงมาตั้งแต่เด็ก และใฝ่ฝันมาตั้งแต่ประถมว่าอยากเป็นหนึ่งในสมาชิกของ EXILE วงบอยแบนด์ระดับตำนานของญี่ปุ่นที่มีสมาชิกถึง 19 คน
แต่เส้นทางสู่บอยแบนด์ต้องพับเก็บไว้ก่อน เพราะตอนม.ปลายเขาสนใจเพลงร็อก อายาเสะจึงชวนเพื่อนๆ อีก 3 คนมาฟอร์มวงทำเพลงเจ-ร็อกด้วยชื่อ Davinci เขาควบตำแหน่งฟรอนต์แมนและลีดเดอร์ไปพร้อมๆ กัน ในระยะเวลาหลายปี พวกเขาปล่อยทั้งซิงเกิลและอัลบั้ม ในปี 2017 ก็ปล่อยมิวสิกวีดิโอ The Bloom ออกมาเป็นเพลงสุดท้าย ก่อนที่อายาเสะก็ถอนตัวด้วยปัญหาสุขภาพและสมาชิกก็แยกย้ายกันไปในที่สุด
“วงดนตรีที่ผมอยู่ตอนที่ฉันเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายมีความยากลำบากมากมาย แต่เมื่อมองย้อนกลับไป มันเป็นตัวกระตุ้นให้ผมมุ่งสู่อาชีพทางดนตรี”
หลังจากห่างหายไปพักใหญ่ ในปี 2019 อายาเสะก็กลับมาเดบิวต์ในฐานะศิลปินเดี่ยว Vocaliod-P ซึ่งเขาเขียนเนื้อเพลงเอง ทำดนตรีเอง แต่ใช้เสียงร้องของโวคาลอยด์ ซึ่งเป็นซอฟแวร์ที่เลียนเสียงของมนุษย์ แนวเพลงนี้ได้รับความนิยมมาเสมอในญี่ปุ่น มีแฟนๆ ของโวคาลอยด์อยู่ทุกหย่อมหญ้า หนึ่งนั้นคือน้องสาวของอายาเสะ ซึ่งเป็นคนเปิดโลกพาอายาเสะเข้าสู่วงการเพลงโวคาลอยด์
อายาเสะโพสต์เพลงของเขาลงเว็บไซต์ Niconico เพลง Last resort ที่มีเนื้อหาเศร้าบาดลึก แต่เมโลกดี้สนุก ร้องโดย ‘มิคุ’ (Hatsune Miku) โวคาลอยด์ตัวท็อปรุ่นบุกเบิก ได้รับความนิยมในหมู่คนฟังเพลงโวคาลอยด์อย่างมาก ปัจจุบันมียอดวิวในยูทูปถึง 16 ล้านวิว ด้วยเมโลดี้ที่แปลกใหม่และโดดเด่นของอายาเสะทำให้หลายๆ เพลงในอัลบั้มโด่งดังไปตามๆ กันจนไปเข้าตาค่ายเพลงในเวลาต่อมา
หลังจากที่อายาเสะได้เป็นสมาชิกคนแรกของโปรเจ็กต์ใหม่แล้ว พวกเขาก็เห็นตรงกันว่าเพลงประกอบนิยายที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่ควรเป็นเสียงโวคาลอยด์อีกต่อไปแล้ว แต่ควรจะเป็นเสียงร้องจากมนุษย์ที่สื่อสารอารมณ์และความรู้สึกออกไปได้ พวกเขาจึงหานักร้องหน้าใหม่ที่จะมาเติมเต็มเพลงของอายาเสะให้มีชีวิตชีวา
หลังจากที่ตามหากันอยู่พักใหญ่ วันหนึ่งอายาเสะก็ไปเจอคลิปคัฟเวอร์เพลงในอินสตาแกรมที่เขาประทับใจเสียงร้องตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟัง ถึงกับบอกว่าเสียงของเธอใสกังวานราวกับคริสตัลแบบที่หาตัวจับได้ยาก เธอคนนี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็น ‘ริระ อิคุตะ’ (Lilas Ikuta) หนึ่งในสมาชิกวงอคูสติกแบนด์ Plusonica ยูนิตเล็กๆ ที่อยู่ในเครือของโซนี่มิวสิกเอ็นเตอร์เทนเมนต์เจแปนนั่นเอง
ริระ อิคุตะ เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่น อาศัยอยู่ที่ชิคาโกจนอายุได้สามขวบ จึงเติบโตมากับเพลงตะวันตก การ์ตูนดิสนีย์ และซีรีย์ High school musical ถึงขั้นซื้อซีดีมาฝึกร้องเพลงตามที่บ้าน ไอดอลของเธอคือเทย์เลอร์ สวิฟต์และริระยังเป็นสวิฟตี้ตัวยงอีกด้วย
ริระเผยว่าไม่รู้ว่าตัวเองเริ่มเข้าสู่เส้นทางดนตรีตั้งแต่ตอนไหนเพราะตั้งแต่จำความได้ดนตรีก็อยู่ในทุกช่วงของชีวิตแล้ว หลังจากย้ายกลับมาอยู่ญี่ปุ่นเธอก็เริ่มฟังเพลงญี่ปุ่นมากขึ้น ในยุคนั้นก็หนีไม่พ้น EXILE บอยแบนด์วงเดียวกับที่อายาเสะชอบ และ RADWIMPS วงดนตรีที่แต่งเพลงให้กับอนิเมะเรื่องดังหลายๆ เรื่อง
เธอเริ่มฝึกเล่นกีตาร์ โดยมีคุณพ่อซึ่งชอบเพลงโฟล์คซองเป็นคนสอน อีกทั้งเธอยังเล่นทรัมเป็ตในวงดนตรีของโรงเรียนอีกด้วย ริระฝึกร้องเพลงอย่างหนัก ตระเวนประกวดและออดิชันทุกเวที นอกจากจะร้องเพลงคัฟเวอร์ในวงอคูสติกแล้ว เธอยังเป็นศิลปินเดี่ยวที่ปล่อยอัลบัม ‘Jukebox’ ออกมาในปี 2019 และร้องเพลงประกอบโฆษณาในญี่ปุ่นอีกมากมาย
ในที่สุดเธอก็ได้เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เติมเต็มโยอะโซบิให้สมบูรณ์ โดยใช้ชื่อเสตจเนมว่า ‘อิคุระ’ ซึ่งหมายถึง ‘ไข่ปลา’ นั่นเอง
ทั้งสองเปรียบชีวิตในวงการเพลงก่อนหน้านี้เป็นเวลากลางวัน ที่ต่างคนก็ต่างทำเพลงของตัวเองมาเรื่อยๆ จนกระทั่งได้มาเจอกัน เรื่องราวทั้งหมดเหมือนเกิดขึ้นตอนกลางคืน จึงตั้งชื่อโปรเจ็กต์นี้ว่า Yoasobi ที่มาจากคำว่า โยะรุ (夜) หมายถึง เวลากลางคืน และ อะโซะบิ (遊び) หมายถึง เล่นสนุก ชื่อนี้จึงหมายถึง เล่นสนุกยามค่ำคืน
‘จากนิยายสู่บทเพลง’
หลายๆ คนบอกว่าเพลงของโยอะโซบิเป็นเพลงที่เยียวยาจิตใจ เพราะเนื้อเพลงแต่งออกมาอย่างละเลียด ไม่ได้พูดถึงแค่ความรัก แต่เนื้อหาหลายๆ เพลงพูดถึงชีวิต ความหวัง และการต่อสู้เพื่อให้ยังมีชีวิตอยู่บนโลกที่โหดร้าย
“โยอะโซบิเองไม่ได้พยายามผลักดันทุกคนว่า “มาตั้งเป้าหมายสู่อนาคตที่สดใสกันเถอะ! มาทำให้ดีที่สุดกันเถอะ!” แต่พวกเราเลือกที่จะอยู่เคียงข้าง แบ่งปันความรู้สึกที่แสนเศร้าและมืดมนนี้ไปพร้อม ๆ กับทุกคน ฉันคิดว่าสิ่งนี้สามารถส่งไปถึงหัวใจของผู้ฟังและพวกเขาก็สัมผัสถึงความรู้สึกดังกล่าวได้” อิคุระเคยให้สัมภาษณ์ไว้แบบนั้น
สิ่งที่ยิ่งทำให้เพลงมีเสน่ห์คือดนตรีไม่ได้ชวนหดหู่ แต่เป็นจังหวะสนุกๆ เรียกได้ว่าถ้าเป็นแฟนเพลงต่างประเทศ แม้จะไม่เข้าใจเนื้อหาแต่ก็โดนเมโลดี้เพราะๆ ตกเอาได้ง่ายๆ
แต่ถ้าได้ทำความเข้าใจเนื้อเพลงแล้วล่ะก็ต้องมีขนลุกกันบ้าง อายาเสะบอกว่าที่เนื้อเพลงกับดนตรีคอนทราสต์กันขนาดนี้ เพราะเขาไม่อยากให้คนฟังรู้สึกเศร้าเกินไป และเขาเองชอบดูหนังสยองขวัญ ที่บางครั้งเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ชวนขนลุกที่สุดมักจะเกิดขึ้นในวันธรรมดาๆ วันหนึ่งเท่านั้น
ในฐานะคนฟังอย่างเราๆ อาจคิดว่านี่มันวงอะไรกัน ทำไมถึงทำออกมาเพราะทุกเพลง เขียนเนื้อออกมาได้ดีขนาดนี้ บางคนอาจคิดว่าอายาเสะมีพรสวรรค์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่งเพลงไหนก็ฮิตติดชาร์ตไปหมด แต่ไม่เลยเพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวคือ ‘ความพยายาม’
เมโลดี้ไม่ได้ผุดขึ้นมาในหัวเสียเขาเสียเฉยๆ เขาบอกว่าไม่มีวิธีกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เลย เขาแค่ตั้งใจกับการทำงานมากๆ บางครั้งก็เดินกังวลอยู่ในห้องแคบๆ กว่าที่จะเค้นเมโลดี้ที่ใช่ออกมาได้ และเพลงที่เราเห็นก็ไม่ใช่ดราฟต์แรก แต่เป็นดราฟต์ที่ 10 หรือ 20 ที่ผ่านการวิจารณ์ ปรับแก้กันมาหลายต่อหลายรอบจนมาเป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดแล้ว
ระหว่างอ่านนิยาย อายาเสะมักจะจินตนาการถึงเพลงไปด้วย สิ่งที่ทำให้เขาเขียนเนื้อออกมาอย่างงดงามคือความ ‘ศรัทธาในต้นฉบับ’ ในความศรัทธานั้นต้องมี 3 สิ่งประกอบกันคือ เนื้อเรื่อง ความคิดของตัวละคร และความรู้สึกของเขาในฐานะผู้อ่าน
“ผมต้องเล่าด้วยว่ามีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง เลยต้องถอยจากตัวละครหลักมาอีกก้าวเพื่อมองเรื่องราวในภาพรวม ความรู้สึกของตัวเองระหว่างที่อ่านนิยายต้นฉบับก็สำคัญเหมือนกันผมเลยเขียนเนื้อเพลงโดยให้ความสำคัญกับทั้ง 3 สิ่งนั้นอย่างสมดุล”
“ผมมองว่านิยายเป็นเหมือนโครงกระดูกหรือแกนของบทเพลง นิยายต้นฉบับเป็นกระดูกและมีเนื้อเข้ามาห่อหุ้ม ทั้งสองสิ่งรวมกันต้องออกมาเป็นผลงานชิ้นเดียว ออกมาเป็นสิ่งใหม่” – อายาเสะ
“พออายาเสะเพิ่มเนื้อใหม่เข้าไปแล้ว สิ่งที่ฉันทำอาจจะเหมือนกันเพิ่ม ‘หนัง’ ซึ่งก็คือเสียงร้องเข้าไป แล้วจะเกิดสิ่งมีชีวิตที่ชื่อบทเพลงขึ้นมาค่ะ” – อิคุระ
อายาเสะยังจำคำของเพื่อนในวงสมัยม.ปลายบอกได้เสมอว่า
“ความสนุกในการแต่งเพลงโดยสวมบทเป็นตัวเอกของอนิเมะหรือเรื่องนั้น หรือจินตนาการว่าจะเราจะพูดอะไรกับตัวละครจะช่วยขยายความคิดของนายให้กว้างขึ้น”
ความศรัทธาในเนื้อเรื่องสำหรับอายาเสะคือจินตนาการว่าตัวเองเป็นตัวละครตัวนั้น แล้วสื่อสารความคิดของพวกเขาออกมา โดยมีอิคุระถ่ายทอดออกมาในน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยอารมณ์ แทนที่จะหยิบเนื้อหาในต้นฉบับมาตัดทอนแล้วเขียนเป็นเนื้อเพลง เขาทำความเข้าใจตัวละคร หรือสวมบทบาทเป็นพระเอกของเรื่องเสียเอง จากนั้นก็ถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างบรรทัดในนิยายออกมาเป็นบทเพลง
หากไม่ใช่เพลงที่มาจากนิยาย ทั้งอายาเสะและอิคุระมักได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมะ ซีรีย์และภาพยนตร์ นอกจากนี้อายาเสะยังเผยว่าเขาชอบพูดคุยกับคน นิสัยช่างเจรจาของเขาจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าใจวิธีสื่อสารให้สนุกขึ้นได้
หนึ่งในเพลงที่โด่งดังของโยอะโซบิอย่าง Gunjou (群青) หรือ Blue ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมะเช่นกัน ครั้งนี้อายาเสะสวมบทบาทเป็น ‘ยาโทระ’ ตัวเอกในอนิเมะเรื่อง Blue Period ที่กำลังฝึกวาดรูปเพื่อทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง เนื้อเพลงเล่าถึงช่วงเวลาที่ยากลำบากที่ต้องต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองรัก หลายๆ คนที่มีความฝันคงจะเผชิญกับภาวะนี้อยู่เช่นกัน ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เป็นหนึ่งในเพลงที่อิคุระเองก็ชอบที่สุด แฟนๆ ต่างชาติแปลไปร้องหลายภาษา ยิ่งเป็นเวอร์ชันไลฟ์กับออเครสตร้ายิ่งฮึกเหิมและมีพลัง นับเป็นอีกเพลงที่ทำให้คนรู้จักโยอะโซบิ
ศิลปินแห่งยุคสมัย
ปี 2020 ถึงปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นปีทองของโยอะโซบิเลยก็ว่าได้ พวกเขาประเดิมแสดงโชว์ครั้งแรกก็ที่งาน NHK Kouhaku Uta Gassen หรืองานขาว-แดง เวทีประชันเพลงประจำปีงานใหญ่ระดับประเทศของญี่ปุ่น อีกทั้งเพลง Yoru ni Kakeru ยังได้รางวัลเพลงยอดเยี่ยมแห่งปีจากเวที MTV Music Awards Japan 2020 และ Space Shower Music Awards 2021 และโยอะโซบิยังชนะรางวัลศิลปินหน้าใหม่จากเวที Japan Gold Disc Awards อีกด้วย
ในปีเดียวกันนั้น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พวกเขาก็มีคอนเสิร์ตออนไลน์ของตัวเองครั้งแรกชื่อว่า KEEP OUT THEATHER ซึ่งมีผู้เข้าชมกว่า 40,000 คน และตามด้วยคอนเสิร์ตใหญ่ NICE TO MEET YOU ในเดือนธันวาคม จัดที่ Nippon Budokan ฮอล์สุดอลังการหมื่นที่นั่ง ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวงที่เปิดให้คนซื้อบัตรเข้ามาชมการแสดงสดกันอย่างเต็มอิ่ม
ยิ่งไปกว่านั้นธันวาคมของปีนี้ พวกเขาจะได้เดินทางไปจาร์กาตา อินโตนีเซีย เป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ต ‘HEAD IN THE CLOUDS’ โดยค่ายเพลง 88 Rising นับว่าเป็นที่ฮือฮาของแฟนๆ และเป็นก้าวสำคัญของโยอะโซบิเลยก็ว่าได้ เพราะครั้งนี้พวกเขาจะได้ออกไปแสดงนอกเกาะญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเชื่อว่าแฟนเพลงไทยหลายๆ คนก็มีหวังว่าพวกเขาจะมาทัวร์ที่ไทยสักครั้ง
The Book
ปัจจุบันโยอะโซบิปล่อยเพลงออกมาแล้ว 4 อัลบั้มถ้วน ได้แก่ The book (2021) และ The Book 2 (2021) และมีอัลบั้ม E-Side ที่เป็นการนำเอาทั้งสองอัลบั้มแรกมาแปลงเป็นเนื้อเพลงภาษาอังกฤษ ซึ่งนี่อาจทำให้เพลงของโยอะโซบิเดินทางไปพบผู้ฟังหลากหลายประเทศและได้รับความนิยมมากขึ้น
อย่างไรก็ตามทั้งคู่ก็ไม่ได้หวังว่าพวกเขาจะเติบโตไปเป็นศิลปินอินเตอร์ เพียงแต่อยากให้ทุกคนจดจำโยอะโซบิในฐานะศิลปินเจ-ป๊อบที่ร้องเพลงญี่ปุ่น และเป็น ‘วงที่ทำเพลงจากนิยาย’ แบบนี้ต่อไป
เชื่อว่าความสนุกของการฟังโยอะโซบิคือการได้เสพสื่อไปมาระหว่างเนื้อเพลง ดนตรี นิยาย และมิวสิกวีดิโอ คนที่อ่านนิยายเป็นทุนเดิมจะได้สนุกกับบทเพลงที่เล่าเนื้อหาระหว่างบรรทัด ส่วนคนฟังเพลง ก็ไม่ได้จบแค่เพลง แต่จะได้ตามกลับมาอ่านนิยายต้นฉบับจากปลายปากกาผู้เขียน ทำให้ทั้งเพลงและนิยายต่างก็มีอีกมิติให้ผู้อ่าน ผู้ฟังได้ตามไปค้นหาได้อย่างได้รู้จบ
“ผมอยากให้ทุกคนสนุกกับการทำความเข้าใจธีมของผลงาน การตีความที่แปลกใหม่โดยฟังอ่านหรือดูเรื่องราวเดียวกันทั้ง 3 รูปแบบกลับไปกลับมา เพราะฉะนั้นจะเริ่มต้นจากตรงไหนก็ได้ครับ ไหนๆก็จะเข้ามาสัมผัสแล้วแทนที่จะเข้ามาสัมผัสแค่อย่างเดียว ผมก็อยากให้เราสัมผัสการเสนอรูปแบบอื่นๆ และอยากให้สนุกไปกับมิติต่างๆ ของผลงานด้วย”
“ผมเชื่อว่าความรู้สึกเหมือนผู้ฟังได้เข้ามามีส่วนร่วมแบบนี้นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้โยอะโซบิเป็นที่รู้จักในวงกว้างอยากให้ทุกคนสนุกไปกับโยอะโซบิในรูปแบบที่ตนเองต้องการได้เลยครับ” – อายาเสะ
ติดตามโยอะโซบิได้ที่
Youtube : Ayase / YOASOBI
Instagram : อายาเสะ : @ayase_0404 / อิคุระ : @lilasikuta
Twitter : @YOASOBI_staff / @Ayase_0404 /@ikutalilas
อ้างอิง
- Billboard Japan. Rising J-Pop Duo YOASOBI Reveal Influences From Anime to Folk: Interview. https://bit.ly/3GCZAM2
- Crystal Bell. Yoasobi is ready to go global. https://bit.ly/3XH2wNV
- Hinata. YOASOBI กับแนวทางดนตรีที่แตกต่างออกไปโดยการ “เปลี่ยนนิยายเป็นบทเพลง”. https://bit.ly/3EBr0zd
- スタサプ編集部. YOASOBIスペシャルインタビュー 『一歩踏み出すための“初期衝動”と“1秒の勇気”. https://bit.ly/3V79euM
- มาโยะ โฮชิโนะ. วิ่งสู่ค่ำคืน รวมนิยาย Yoasobi. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2564
- ขอบคุณภาพปกจากนิตยสาร senden.co
Fact box
- นิยายที่โยอะโซบินำมาแต่งเพลงถูกรวมอยู่ในหนังสือเรื่อง ‘วิ่งสู่ค่ำคืน รวมนิยาย Yoasobi’ เวอร์ชันภาษาไทยจัดพิมพ์โดย เซนชู พับลิชชิ่ง ในปี 2021 มีนิยายทั้งหมด 4 เรื่องจากนักเขียน 4 คน ได้แก่ การล่อลวงโดยทานาธอส โดย โฮชิโนะ มาโยะ, หยดหยาดห้วงฝันกับดอกไม้ประกายดาว โดย อิชิกิ โชตะ, บางที โดย ชินาโนะ และ วันสิ้นโลกกับเพลงอำลา โดย มินาคามิ คานามิ
- ปี 2021 โยอะโซบิเคยร่วมงานกับ Uniqlo ออกเสื้อยืดพิมพ์ลายกราฟิกออกมาทั้งหมด 12 แบบ ในคอเลกชัน UT
- โวคาลอยด์ (Vocaloid) คือ ซอฟต์แวร์เสียงร้อง ที่ให้ผู้ใช้พิมพ์เนื้อเพลงและทำนองลงไปและจะได้เสียงร้องออกมา โดยเสียงนั้นเป็นเสียงคนที่บันทึกเอาไว้ จึงแตกต่างกันไปแต่ละรุ่น มีหลายคาแรคเตอร์ พัฒนาโดยบริษัทยามาฮ่า (Yamaha) ครั้งแรกในปี 2003
- เสียงของอิคุระโดดเด่นมากจนกลายเป็นประเด็น ในช่วงแรกๆ หลายคนพากันสงสัยว่าเธอใช้ออโต้จูน แต่หลังจากได้ขึ้นเวทีครั้งแรก เธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเสียงนั้นคือเสียงจริง เหมือนออกมาจากเพลงต้นฉบับไม่มีผิด