ภาพถ่ายที่จัดแสดงในนิทรรศการ เป็นผลงานเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของช่างภาพเท่านั้น
ภาพถ่ายในนิทรรศการ SENSE OF PLACE ของ แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADD CANDID ก็เช่นกัน
ภาพถ่ายจำนวนมากมายมหาศาลที่ถ่ายตลอดช่วงเวลาหลายสิบปี ถูกคัดให้เหลือเพียง 26 ภาพ เพื่อเล่าถึงความรู้สึก อารมณ์ และประสบการณ์ที่ตกกระทบใจ ในวันที่เขาพบตัวเองอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่ง
“ตัดใจยาก” แอ๊ดพูดถึงภาพบางส่วนที่คัดออกไป แต่ถึงอย่างไรก็ต้องตัดออก
ในวันที่นิทรรศการ SENSE OF PLACE เพิ่งจบลง (16 มิ.ย.) common ได้ขอภาพถ่ายที่แอ๊ดตัดใจไม่ใส่ไว้ในนิทรรศการมาจำนวนหนึ่ง
ความตั้งใจแรก คืออยากเห็นภาพที่เขาตัดใจเก็บใส่ในลิ้นชัก
ความตั้งใจต่อมา เราหวังอยากให้มีนิทรรศการต่อเนื่องเล็กๆ ในโลกออนไลน์ ที่จัดแสดงภาพถ่ายที่ไม่มีใครเห็น
ภาพดีบางทีก็ไม่ได้จัดแสดง แต่ถ้าไม่มีใครได้เห็นเลย คงน่าเสียดาย…
จันทบุรี (พ.ศ.2562)
ภาพนี้ถ่ายตอนไปถ่ายงานพรีเวดดิ้งเพื่อนของเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย ปี 1 สีสันแปลกตาที่เห็นเกิดจากความผิดพลาดของ ‘ฟิล์มหัวม้วน’ (ภาพแรกในฟิล์ม)
“แสงที่เข้ามา เกิดจาก error บางอย่าง ขึ้นอยู่กับโชค”
แอ๊ดตั้งใจวางเฟรมภาพโดยทิ้งด้านบนไว้ โชคดีความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นความผิดพลาดที่สวยงาม
เมื่อมองครั้งแรก ภาพนี้อาจทำให้นึกถึงฮาวายหรือไม่ก็ฮาวาน่า แต่สายไฟฟ้าที่พาดผ่าน ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์และความรกรุงรังของประเทศไทย กลับกระซิบบอกว่า “ไม่ใช่ ที่นี่…จันทบุรี”
สมุทรสงคราม (พ.ศ.2561)
ถ่ายที่นาเกลือ คนทำงานที่นั่นต้องใส่ผ้าคลุมหน้า เพราะแดดร้อน ส่วนวัตถุสีขาวที่เห็นในภาพคือถุงเกลือ แอ๊ดถ่ายภาพนี้ในวันที่ไปออกทริปถ่ายภาพโปรเจคท่องเที่ยวเมืองรองที่จัดโดย ททท. นี่คือภาพสุดท้ายที่เขาถ่ายก่อนขึ้นรถกลับ
วอชิงตัน (พ.ศ.2561)
เงาสะท้อนน้ำของอนุสาวรีย์วอชิงตันในวันที่แดดและสายลมสะบัดพู่กันให้กลายเป็นภาพศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ ด้วยความชอบศิลปะแนวนี้และชอบภาพเขียนของโคลด โมเนต์ แอ๊ดจึงไม่พลาดที่จะยกกล้องเก็บบันทึก
ปารีส (พ.ศ.2562)
ป้ายอะไรสักอย่าง จำไม่ได้ เงาที่ตกกระทบผิวน้ำทำให้ป้ายดูบิดเบี้ยว เหมือนกับโลกใบนี้ที่กำลังเผชิญปัญหา global warming การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก แม้จะไม่มาก แต่ก็ค่อยๆ บิดโลกของเราให้เบี้ยวไปทีละนิด
พาราณสี (พ.ศ.2560)
ถ่ายที่แม่น้ำคงคา ชายคนนี้น่าจะเป็นชาวบ้านที่นั่น แอ๊ดเลือกถ่ายในจังหวะที่เขากำลังจะทะลุผิวน้ำ โดยตั้งใจวางภาพให้ดูกลับหัว เพื่อให้ดูเหมือนอยู่ในอวกาศ และให้คนจินตนาการต่อว่า การทะลุสู่ผิวน้ำคงคาซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ คือการเดินทางไปสู่อีกมิติหนึ่ง
ปารีส (พ.ศ.2562)
ยอดพีระมิดลูฟว์ที่แสดงถึงโครงสร้างของยุคใหม่ ในช่วงแรกที่ก่อสร้าง พีระมิดนี้ถูกตั้งคำถามและต่อต้านอย่างมาก เพราะหน้าตาอันทันสมัยของมันไม่เหมาะที่จะได้รับการปลูกสร้างในวังเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนก็เริ่มยอมรับ และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีส
ลอนดอน (พ.ศ.2561)
ระหว่างเดินบนถนนในลอนดอน รถคันนี้จอดอยู่ข้างทาง ที่เปิดประตูที่หลุดไปชวนให้นึกถึงเจ้าของรถว่า เขาอาจเป็นแค่คนขับรถส่งขน เลยไม่ได้ถนอมรถคันนี้เท่าไหร่ แต่ขณะที่กำลังคิดไปไกล พอลองดูดีๆ รถคันนี้ก็ดูคล้ายหน้าคน มีทั้งจมูก ปาก และตา
ลอนดอน (พ.ศ.2561)
ประตูห้องไฟฟ้าหรือห้องเก็บแก๊ส ไม่แน่ใจ แต่มองดูแล้วชวนให้นึกถึงหน้าลิง โดยเฉพาะ ‘ราฟิกิ’ ลิงแมนดริลในหนังเรื่อง เดอะ ไลอ้อน คิงส์
นาโกย่า (พ.ศ. -)
ในวันที่ภรรยาอนุญาตให้เดินถ่ายรูปคนเดียวไปเรื่อยๆ ที่นาโกย่า ที่กั้นรถหรือ Low Bar ที่บุบเบี้ยวบนฟุตบาทถือเป็นสิ่งที่ดูแปลกตาในประเทศที่เป็นระบบระเบียบอย่างญี่ปุ่น บางทีภายใต้หน้าฉากที่ดูเรียบร้อย ที่กั้นรถบุบเบี้ยวอันนี้อาจกำลังบอก ‘คนนอก’ อย่างเราว่า เมื่อคืนอาจมีคนเมาขับรถมาชน หรืออุบัติเหตุบางอย่างเกิดขึ้นก็เป็นได้
กรุงเทพฯ (พ.ศ.2561)
สกาล่าน่าจะเป็นโรงภาพยนตร์แบบสแตนอโลนสมบูรณ์โรงเดียวในกรุงเทพฯ ที่ยังคงอยู่ เอกลักษณ์ด้านศิลปะและสถาปัตย์ที่โดดเด่น ทำให้โรงหนังแห่งนี้อยู่ในภาพจำของผู้คน เงาสีขาวในภาพคือเงาสะท้อนของโปรแกรมฉายวันนี้ ซึ่งจะหายไปเป็นอย่างแรก ส่วนสถาปัตยกรรมด้านหลัง คงจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะหายไป แต่แอ๊ดบอกว่า เขาอยากให้เก็บรักษามากกว่าทำลาย