©ulture

“To be gorgeous, you must first be seen, but to be seen allows you to be hunted.”

“เพื่อที่จะงดงาม คุณต้องถูกมองเห็นเสียก่อน แต่การถูกมองเห็นก็จะทำให้คุณถูกล่า”

ประโยคข้างต้นดูเหมือนจะเป็นแก่นกลางหลักของนิยายที่ชื่อ On Earth We’re Briefly Gorgeous นิยายขายดีในทำเนียบ New York Times Best Seller นิยายเรื่องแรกของนักเขียนเวียดนาม-อเมริกันวัย 31 ปีนาม โอเชี่ยน หว่อง (Ocean Vuong) ที่ทะลุเข้าสู่รอบ Long List ของรางวัล National Book Award เมื่อปี 2019 และถูกพูดถึงอย่างล้นหลามทั้งจากนักอ่านและนักวิจารณ์ในแง่ของความงดงามของภาษาและความสัตย์ซื่อในด้านเนื้อหา

On Earth We’re Briefly Gorgeous เป็นนิยายในรูปแบบอัตชีวประวัติ ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องผ่านจดหมายของลูกที่กำลังเขียนถึงแม่ของตน แถมแม่ที่ตัวละครหลักกำลังเขียนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ถึง ก็กลับเป็นหญิงสาวที่ดันอ่านหนังสือไม่ออก 

อาจกล่าวได้ว่า โอเชี่ยน หว่องเขียนนิยายเล่มนี้ขึ้นมาจากเลือดเนื้อ มันทั้งทรงพลัง เจ็บปวดรวดร้าว ฉาบเคลือบด้วยสำนวนงดงามเชิงกวี (ผลงานเล่มแรกของเขา Night Sky With Exit Wounds* เป็นผลงานรวมบทกวีที่งดงามมากๆ) นี่คือนิยายที่เป็นเหมือนบทคัดลอกชีวประวัติของตน ลูกเสี้ยวเวียดนาม-อเมริกัน คนนอกของที่นั่น อพยพหนีออกจากบ้านเกิด เพื่อจะกลายเป็นคนนอกของที่นี่ 

เรื่องราวไม่ปะติดปะต่อ ย้อนไปไกลสุดในสมัยที่บรรพบุรุษของคนเล่าเรื่องยังอาศัยอยู่ในเวียดนาม ในยุคที่ยายของเขาเคยขายร่างกายให้จีไออเมริกันในช่วงสงครามเพื่อแลกเงิน เคยอยู่กินกีบจีไออเมริกันอีกคนหนึ่ง และวาดหวังถึงรักสวยสด แต่ความรักในยุคสงคราม มันก็เป็นแค่รักไม่สมหวัง พากันอพยพสู่อีกฝั่งโลก แต่ก็พลัดพรากสูญหาย ทิ้งหลักฐาน (จอมปลอม) ไว้เพียงครึ่งหนึ่งบนผิวหนังและเลือดเนื้อของแม่ของเขา แม่ผู้ที่แม้จะมีผิวขาวกว่ายายของเขาสามเท่า และอาจมากกว่าเขาเท่าหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เขาเป็นคนเดียวในตระกูลที่อ่านออกเขียนได้ เด็กผิวเหลืองซูบซีด ถูกบุลลี่ซ้ำแล้วเล่าด้วยเรื่องสีผิว เส้นผม และเพศภาวะที่แตกต่างออกไปจากเพศสรีระ

โอเชี่ยน หว่อง

 

“The kids would call me freak, fairy, fag. I would learn, much later, that those words were also iterations of monster.”

“เด็กพวกนั้นเรียกผมว่า ตัวประหลาด ตุ๊ด กระเทย ผมจะเรียนรู้หลังจากนั้น ว่าคำเหล่านั้นมีนัยความหมายย้ำซ้ำถึงคำว่า ปิศาจ”

 

อาจกล่าวได้ว่านี่คือนิยายของคนนอกอย่างแท้จริง คนนอกคอกของพระเจ้า คนนอกผู้เลือกอะไรไม่ได้ นอกจากเขียนชีวิตของตนขึ้นมา จดจารให้เป็นรูปร่างด้วยภาษาที่เขาอาจไม่รู้อีกแล้วว่าตนสามารถกล่าวอ้างได้ว่ามันคือภาษาอันแท้จริงของตนหรือไม่ ความสามารถในการเขียนเท่านั้นที่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองทรงพลัง เขาจึงตั้งต้นจากการเขียนจดหมายถึงแม่ ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ครอบครัวผ่านร่องรอยของยาย เพื่อยืนยันว่ามนุษย์คนหนึ่งผู้ถูกเรียกด้วยหลากหลายชื่อ เช่น ตัวประหลาด ตุ๊ด กระเทย หมาน้อย แต่กลับไม่เคยถูกเรียกขานด้วยนามอันแท้จริงนั้นมีชีวิต

มันเป็นเรื่องราวของการอพยพ นั่งเรือออกจากเวียดนามสู่ดินแดนใหม่ ปั่นจักรยานออกจากบ้านเป็นชั่วโมงสู่การทำงานในไร่ยาสูบเผื่อหาแหล่งพักพิงใหม่ การร่อนเร่พเนจรที่สุดท้ายไม่อาจหวนคืนสู่ถิ่นที่จากมาได้อีกแล้ว กระนั้นแสงแห่งความหวังก็อยู่ในทำนองการเล่าเรื่องของผู้เขียน จริงอยู่ที่การทะยานไปข้างหน้าอาจไม่มีหนทางหวนกลับ แต่เราสามารถส่งต่อทั้งความหวัง หรือกระทั่งความเจ็บปวดและบาดแผล เพื่อเป็นประหนึ่งบทเรียนให้ผู้คนในเจเนอเรชั่นถัดไปได้เรียนรู้ จากแม่ผู้เคยเป็นผู้ถูกล่า สู่ลูกชายผู้เป็นผู้ถูกล่าในอีกรุ่น แต่ดูเหมือนเรื่องเล่าของผู้เป็นแม่ผ่านการใคร่ครวญของผู้เล่าเรื่องนั้นกำลังจะทำให้เขาแข็งแกร่งขึ้น เหมือนที่หว่องเขียนไว้ในท่อนหนึ่งว่า

 

“The monarchs that fly south will not make it back north. Each departure, then, is final. Only their children return; only the future revisits the past.”

“ผีเสื้อจักรพรรดิซึ่งบินอพยพลงใต้จะไม่อาจบินกลับขึ้นเหนือได้อีก การเดินทางแต่ละครั้งจึงเป็นจุดสิ้นสุด มีแค่ลูกของพวกมันเท่านั้นที่จะกลับไป มีเพียงวันพรุ่งนี้ที่จะกลับไปเยือนเมื่อวาน”

 

ปล. นิยายเรื่องนี้ยังไม่มีฉบับแปลเป็นภาษาไทย แต่ก็สามารถซื้อหามาอ่านได้ผ่านเว็บไซต์ amazon.com ทั้งในรูปแบบกระดาษ อีบุ๊ค หรือแม้กระทั่งหนังสือเสียง

 

Night Sky With Exit Wounds*

  • Night Sky With Exit Wounds เป็นรวมบทกวี และเป็นหนังสือเล่มแรกของโอเชี่ยน หว่อง ธีมหลักเป็นเรื่องของการอพยพ และภาวะคนนอกตามภูมิหลังของคนเขียนที่เป็นลูกเสี้ยวเวียดนาม-อเมริกัน จนอาจกล่าวได้ว่านี่คือต้นร่างของนิยาย On Earth We're Briefly Gorgeous ในเวลาต่อมา (มีกวีบทหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่มีชื่อเดียวกับนิยาย)
  • หว่องชอบเล่นกับโครงสร้างภาษา ยั่วล้อกฎกติกาการใช้ภาษาแบบขนบ และบทที่โดดเด่นที่สุดก็น่าจะเป็นบทที่ชื่อ Immigrant Haibun บทกวีซึ่งเขียนในแบบ Haibun (รูปแบบกวีที่มีต้นกำเนิดมาจากญี่ปุ่น เป็นการนำ prose หรือ ร้อยแก้ว และไฮกุมาผสมกัน ลักษณะคล้าย prosimetrum) ตามชื่อเรื่อง ที่เขาพยายามแทรกโครงสร้างและสัญลักษณ์ต่างๆ ทางภาษา (อังกฤษ) เช่น word, hyphen, question, ampersand เข้าไปเป็นอุปมา อาจเพื่อต้องการบอกว่า ชีวิตนั้นบางครั้งขึ้นและลงเหมือนการประกอบสร้างของประโยคประโยคหนึ่ง รวมกันเป็นกลุ่มก้อน เพื่อเป็นบทกวี เป็นเรื่องเล่า และเรื่องราวของเขาก็สั่นสะเทือนอารมณ์
  • หว่องเปิดบทกวีบทนี้ด้วยการคัดลอกข้อความโรแมนติกหนึ่งในหนังสือแนวคติพจน์ชาวยิวของ Edmond Jabès ชื่อ The Book of Questions (สำนวนแปลของ Rosemarie Waldrop) ที่ว่า “The road which leads me to you is safe even when it runs into oceans.” - “หนทางที่นำผมไปหาคุณนั้นปลอดภัย แม้ว่ามันจะทอดยาวไปสู่ก้นสมุทร”
  • ก่อนจะเปิดบทด้วย “Then, as if breathing, the sea swelled beneath us. If you must know anything, know that the hardest task is to live only once. That a woman on a sinking ship becomes a life raft—no matter how soft her skin. While I slept, he burned his last violin to keep my feet warm. He lay beside me and placed a word on the nape of my neck, where it melted into a bead of whiskey. Gold rust down my back. We had been sailing for months. Salt in our sentences. We had been sailing—but the edge of the world was nowhere in sight.”
  • “จากนั้น ราวกำลังหายใจ ทะเลกระเพื่อมอยู่ข้างใต้เรา ถ้าคุณต้องรู้อะไรสักเรื่อง จงรู้เถอะว่าภารกิจที่ยากที่สุดคือการมีชีวิตแค่เพียงหนึ่งครั้ง เมื่อหญิงสาวบนเรือที่กำลังจมแปลงร่างบอบบางของตนเป็นแพ ขณะผมหลับใหล เขาเผาไวโอลินตัวสุดท้ายเพื่อทำให้เท้าของผมอุ่น เขาเอนตัวลงข้างๆ วางถ้อยคำลงบนท้ายทอยของผม ที่ซึ่งมันหลอมละลายกลายเป็นหยดวิสกี้ กัดกร่อนทองอร่ามทั่วแผ่นหลัง เกลือขึ้นเกรอะกรังในประโยคของเรา เราล่องเรือมาเป็นเดือนๆ แล้ว แต่สุดขอบโลกยังไม่ปรากฏให้เห็นในสายตา”
  • และซ้ำโครงสร้างประโยคเดิมในช่วงท้ายๆ อีกครั้งว่า . “If you must know anything, know that you were born because no one else was coming.” — “ถ้าคุณต้องรู้อะไรสักเรื่อง จงรู้เถอะว่าคุณกำเนิดมาก็เพราะว่าไม่มีใครยอมเกิดมาแทนคุณ”