“เลือดที่หลั่งโลมดิน และชีวิตที่สูญสิ้นของนักสู้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครในแผ่นดินนี้ ที่จะฆ่าฟันทำลาย ‘ปีศาจ’ ตัวนี้ได้ ตายสิบจะเกิดแสน นับวันจะแข็งแกร่งและฉลาดเฉลียว นี่แหละคือ สัญญาณชัย อันดังแว่วใกล้เข้ามาทุกที”
เสนีย์ เสาวพงศ์ (นามปากกาของ ศักดิชัย บำรุงพงศ์) เขียนข้อความนี้ไว้ใน ‘ปีศาจ’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 (พ.ศ. 2521) โดยสำนักพิมพ์หยาดฝน หลักจากผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลา มาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่แทนความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเอก แต่เพื่อแสดงเจตจำนงส่วนตัว ซึ่งต้องการย้ำเตือนให้ผู้อ่านตระหนักว่า ในท้ายที่สุดแล้ว มนุษย์อย่างคุณๆ ท่านๆ ไม่มีทางกำจัดปีศาจตนนี้ให้สูญสิ้นไปได้
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2496 เนื้อเรื่องของปีศาจ ได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงใน นิตยสารสยามสมัย ก่อนจะรวมเล่มเป็นหนังสือครั้งแรกใน พ.ศ. 2500 ปัจจุบัน ปีศาจ ยังคงได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องในฐานะวรรณกรรมอมตะ รวมถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือดี 100 เล่ม (รอบทศวรรษระหว่าง พ.ศ. 2408-2519) ที่คนไทยควรอ่าน
ทั้งหมดนำไปสู่คำถามเดียวว่า ทำไมปีศาจตนนี้ยังคอยตามหลอกหลอนผู้คนในสังคมไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
กำเนิด ‘ปีศาจ’
ปีศาจ นำเสนอเรื่องราวความรักต่างชนชั้นระหว่าง ‘สาย สีมา’ หนุ่มลูกชาวนาจากชนบท ผู้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ด้วยความตั้งใจจะเป็นทนายความอาชีพ ทำให้เขาเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ความเท่าเทียม กับ ‘รัชนี’ หญิงสาวผู้เพียบพร้อม ถึงแม้ว่าจะแวดล้อมไปด้วยชนชั้นสูง เพราะเป็นลูกสาวคนสุดท้องของท่านเจ้าคุณ แต่เธอเองกลับถือแนวคิดสมัยใหม่ กบฏต่อกฎเกณฑ์ชีวิตแบบผู้ดีเก่า ซึ่งต่างจากพ่อที่เป็นคนหัวโบราณและยึดมั่นในหลักคิดเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ในสายตาเหยียดหยามของชนชั้นสูง สายกลายเป็นตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ ที่ไม่ควรค่าแก่การถูกมองว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน ที่แย่ยิ่งกว่านั้น เขากลายสภาพเป็น ‘ปีศาจ’ หรือสิ่งผิดแปลกที่สังคมชนชั้นนำไม่เคยให้การยอมรับ จนนำไปสู่การตอบโต้ต่อคนกลุ่มนั้นที่ทั้งกลัวและรังเกียจปีศาจอย่างเขา
“ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา”
ปีศาจ เปรียบได้กับผลผลิตจากความคิดอิสระชนและประสบการณ์ชีวิตที่เติบโตมาจากครอบครัวชาวนาของเสนีย์ เสาวพงศ์ แม้จะไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมา แต่เนื้อเรื่องของปีศาจ สะท้อนภาพชีวิตจริงของผู้เขียนไว้ได้อย่างชัดเจน สายจึงเป็นตัวละครที่เสนีย์ เสาวพงศ์ สร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่เขาเขียนอธิบายถึงความเป็นมาของตัวละครนี้ และสาเหตุที่สายกลายเป็นปีศาจว่า
“สายเกิดมาแต่แผ่นดิน เติบโตมาแต่ท้องนาป่าเขา หาใช่จุติลงมาจากฟากฟ้าและเติบใหญ่มาในปราสาทงาช้างกลางดาวดึงส์ใด เขาจึงหาสกุลรุนชาติและยศถาบรรดาศักดิ์อันใดมิได้ แต่นี่ก็ไม่อาจทำให้เขาต้องหมอบราบอยู่เบื้องบาทผู้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ทั้งหลาย แทนการเทอดทูนความถูกต้องดีงาม ถีบตนขึ้นมา และหันหลังให้กับชีวิตอันทุกข์ยากของผู้ใช้แรงกายสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คน นี่คือเหตุผลประการเดียวที่เขาถูกตราหน้าว่าเป็น ปีศาจ”
นัยยะ ‘ปีศาจ’
เสนีย์ เสาวพงศ์ นับเป็นนักเขียนผู้บุกเบิกและจุดกระแสวรรณกรรมเพื่อชีวิต จากการหยิบเอาประเด็นปัญหาในสังคมไทยโดยเฉพาะความลำบากของชนชั้นแรงงานมาสร้างสรรค์งานเขียน ทำให้วรรณกรรมเรื่องปีศาจ จัดอยู่ในแนวสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) ซึ่งนำเสนอสภาพความเป็นจริงของสังคมที่มีการผูกโยงกับอุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อสรรเสริญและยกย่องชนชั้นกรรมาชีพว่าเป็นกําลังหลักในการสร้างรัฐและชาติ ขณะเดียวกันก็วิพากษ์ศักดินา หรือระบบสังคมที่แบ่งชนชั้นเป็นลำดับขั้น และทุนนิยม ว่าเป็นต้นตอของปัญหาและความแร้นแค้นของคนในชาติ
ภูมิหลังของปีศาจ คือ สภาพสังคมไทยที่พยายามกอบกู้และรักษาไว้ซึ่งขนบนิยมแบบเก่า โดยให้ความเป็นลำดับชั้นและแบ่งแยกคนตามศักดินา ถึงแม้ว่าผ่านการปฎิรูปการเมืองการปกครองจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 มาแล้ว แต่ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจปกครองในเวลาต่อมา ยังคงเห็นดีเห็นงามกับระบอบเก่า เพราะทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์มากกว่า ในฐานะอภิสิทธิ์ชน
ผลกรรมจึงตกสู่ชนชั้นล่าง โดยมีชาวนาเป็นตัวแทนของเหยื่อผู้ถูกกระทำ พวกเขาถูกชนชั้นนำเอารัดเอาเปรียบและเหยียบหัวส่งเพื่อให้ตัวเองขึ้นไปใช้ชีวิตอยู่บนชนชั้นที่สูงกว่า ท่ามกลางความเงียบเชียบที่ไร้สิทธิ์ไร้เสียงกลับไม่สิ้นความหวังเสียทีเดียว ในเมื่อยิ่งถูกกด ก็ต้องยิ่งปลดแอกความอยุติธรรมนี้ เพื่อต่อสู้เรียกร้องอย่างสามัญชนให้ได้มาซึ่งชีวิต ความเป็นอยู่ และสภาพสังคมที่ดีกว่าเดิม
เสนีย์ เสาวพงศ์ นำเสนอความหวังใหม่ที่เป็นทั้งความมุ่งมั่นตั้งใจและภาพในอุดมคติ ผ่านตัวละครหนุ่มสาวผู้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง เพราะพวกเขาเชื่ออย่างหมดหัวใจว่าทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยน สายเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจเรื่องนี้ดี จึงบอกเหตุผลให้ชนชั้นสูงได้รู้ว่า
“ความผิดแผกแตกต่างกันในสมัยและเวลา ทำให้คนเรามีความคิดผิดแผกแตกต่างกันด้วย ท่านไม่สามารถจะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงแห่งกาละเวลาได้ดอก เมื่อวันเวลาล่วงไป ของเก่าทั้งหลายก็นับวันจะเข้าไปอยู่ใกล้พิพิธภัณฑ์ยิ่งขึ้น ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี เพราะนับเป็นการถอยหลังกลับ เวลาได้ล่วงไปมากแล้ว ระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที”
ยิ่งไปกว่านั้นเสนีย์ เสาวพงศ์ เคยอธิบายความหมายที่แท้จริงของ ปีศาจ ในวรรณกรรมของเขาว่า
“เราไม่ได้อยู่ในยุคมืดของอวิชชาสมัยกลาง วิทยาศาสตร์แห่งเหตุผลบอกเราว่า ภูติผีปีศาจนั้นหามีไม่ ก็ถ้าเช่นนั้น ทำไมข้าพเจ้าจึงเขียนเรื่องปีศาจ อันเป็นของเหลวไหล แต่ในสังคมที่เรามีชีวิตอยู่นี้ สำหรับคนบางคน บางหมู่ และบางกลุ่ม ปีศาจเป็นของมีจริงและกำลังหลอกหลอนเขาอยู่ทุกวี่วัน มันไม่ใช่ปีศาจคนตายที่หลอกหลอนคนเป็น ไม่ใช่ปีศาจที่ทำความเสียวสยองอย่างเคานท์แดร็กคูล่าหรือแฟรงเกนสไตน์ แต่เป็นปีศาจของกาลเวลา และปีศาจคนเป็นๆ นี่แหละ ที่กำลังหลอกหลอนคนเป็นๆ ด้วยกันอยู่”
พลัง ‘ปีศาจ’
ปีศาจไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพราะงานเขียนของเสนีย์ เสาวพงศ์ ปีศาจดำรงตนอยู่ก่อนแล้ว ในทุกยุคสมัย และทุกแห่งหนบนโลก เพียงแต่แก่นของวรรณกรรมเรื่องนี้ช่วยขับเน้นและจุดประกายความคิดใหม่ให้ใครหลายคนริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาหนุ่มสาวในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลัง
ความจริงก็คือ มนุษย์ไม่อาจหยุดยั้งการเคลื่อนของเวลา สิ่งเก่าก่อนย่อมร่วงโรยและสิ้นอายุขัย ขณะเดียวกันสิ่งใหม่จะถือกำเกิดขึ้นมาแทนที่ ไม่มีใครขัดขืนหรือปฏิเสธกระแสของวัฏจักรเวลาที่นำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมและชีวิตของพวกเขาได้ ตรงกันข้าม มนุษย์ทำได้เพียงยอมรับความเป็นไปที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่สายเข้าใจความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้
“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที…ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่อาจจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”
เวลาที่ผันแปร และผู้พยายามเปลี่ยนแปลง จึงกลายเป็นปีศาจคอยสร้างความกลัวและหวาดระแวงให้ชนชั้นสูง เพราะสิ่งเหล่านี้กำลังสั่นคลอนอำนาจและอภิสิทธิ์ที่พวกเขาถือครองไว้อย่างแม่นมั่น โดยลืมไปว่าวันหนึ่งก็ต้องปล่อย
ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านมากี่ยุคสมัย ‘ปีศาจ’ จึงทำหน้าที่ส่งต่ออุดมการณ์เหล่านี้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และไม่ใช่เพียงแค่ผู้อ่านคนไทยที่รับรู้และเข้าถึงสารที่เสนีย์ เสาวพงศ์ต้องการสื่อ แต่ผลงานของเขายังสั่นสะเทือนเข้าไปในใจของ เฮอร์เบิร์ต พี. ฟิลลิปส์ (Herbert P. Phillips) ด้วย
ฟิลลิปส์ คือผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยวิทยา เขามีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) และเขียนหนังสือ Thai Peasant Personality: The Patterning of Interpersonal Behavior in the Village of Bang Chan เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาของคนไทยในชนบทและบุคลิกภาพของชาวนาไทย จากการลงพื้นที่ศึกษาพฤติกรรมและความคิดของคนไทยอย่างละเอียด เพื่อเขียนรายงาน Country Report on Thailand ให้นักการทูตอย่างเฮนรี คิสซินเจอร์ (Henry Kissinger) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ประธานาธิบดีคนที่ 37 แห่งสหรัฐอเมริกา
ฟิลลิปส์ศึกษาลงลึกไปถึงความเป็นอยู่ในชนบท วัฒนธรรม รวมถึงบทบาทปัญญาชน ทำให้ได้รู้จักเสนีย์ เสาวพงศ์ ผ่านงานเขียนและชีวิตส่วนตัว เขาจึงยกย่องวรรณกรรมเรื่องปีศาจว่าเทียบได้กับ War and Peace นิยายคลาสสิกของ ลีโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) นักเขียนชาวรัสเซีย และนับถือเสนีย์ เสาวพงศ์เป็นปัญญาชน
กลัว ‘ปีศาจ’
ย้อนกลับไปในปี 1848 ประโยคแรกใน คำแถลงนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ (Manifesto of the Communist Party) โดย คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) และ ฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels) ในฐานะผู้ร่วมกันวางรากฐานของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ได้เขียนไว้ว่า
“ปีศาจตนหนึ่ง (spectre) ปีศาจแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ กำลังหลอกหลอนอยู่ทั่วยุโรป อิทธิพลทั้งปวงของยุโรปเก่า ทั้งสันตะปาปาและพระเจ้าซาร์ เมตเตร์นิชและกีโซต์ พรรคการเมืองหัวรุนแรงของฝรั่งเศสและสายลับตำรวจของเยอรมัน ได้รวมเข้ากันเป็นพันธมิตรศักดิ์สิทธิ์ เพื่อกำจัดปีศาจร้ายตนนี้”
โดยเนื้อแท้ของการเปลี่ยนแปลง ย่อมสร้างความรู้สึกไม่สบายใจให้ผู้มีอำนาจ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาวางแผนและทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคง และความสุขสบายแก่ตนเองและพวกพ้อง พวกเขารู้อยู่เต็มอกด้วยว่า ผลประโยชน์ทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่ชอบธรรม ดังนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้พวกเขาหวั่นใจได้มากที่สุด จึงหมายถึงการสูญเสียอำนาจและการครอบครองอำนาจ ด้วยเหตุผลนี้ ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงประกาศตนว่าเป็นปีศาจ (ในสายตาของผู้พอใจโลกและระบบเก่า)
อาการขยาดและหวาดกลัวต่อแนวคิดใหม่ นำไปสู่การคิดหาวิธีโจมตีและกำจัดปีศาจให้หมดสิ้น ตั้งแต่การโฆษณาชวนเชื่อว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์คือสิ่งชั่วร้ายที่เป็นภัยต่อความสงบสุขของประเทศ ไปจนถึงการต่อต้านด้วยการกระทำรุนแรงหมายคร่าชีวิต กับผู้คนที่เห็นดีเห็นงามกับการเปลี่ยนแปลง ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงอาจไม่ใช่ปีศาจ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากแนวคิดคอมมิวนิสต์ต่างหากคือปีศาจที่แท้จริง และพวกเขาเกรงกลัวปีศาจตนนี้ เพราะมันคงอยู่เป็นนิรันดร์
เช่นเดียวกันกับปีศาจของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ดำรงอยู่คงกระพัน และไม่เคยมีใคร หรืออำนาจใดกำจัดปีศาจตนนี้ได้ เพราะสังคมไทยไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง จึงจำเป็นต้องมีปีศาจเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันให้มนุษย์ผู้ตกทุกข์ได้ยากจากความเหลื่อมล้ำและชนชั้นในสังคม
เรื่องราวความรักในวรรณกรรม ซึ่งยึดโยงกับความเป็นชนบทและการต่อสู้ระหว่างชนชั้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของการเมืองและสังคมไทยในสมัยนั้นอย่างแยบยล ยังทำให้เสนีย์ เสาวพงศ์ รอดพ้นจากการถูกจับขังจากอำนาจเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากในสมัยนั้น ถูกมองว่าเป็นพวกปลูกฝังแนวคิดคอมมิวนิสต์ให้คนในชาติ ซึ่งรัฐเข้าใจว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง จึงจำเป็นต้องปราบปราบให้หมดสิ้น ราวกับว่าพวกเข้าคือปีศาจทางการเมือง
จวบจนปัจจุบัน แม้จะต้องถูกขับไล่ และถูกบังคับให้ตายซ้ำซาก แต่ปีศาจตนนี้ นับวันยิ่งแข็งแกร่งน่าอาจหาญ ต่างจากมนุษย์อย่างคุณๆ ท่านๆ มีแต่จะเสื่อมถอยและสูญเสียทุกสิ่ง กระทั่งชีวิตที่ภาคภูมิใจนักหนาว่าสูงส่ง ก็ไม่อาจหยุดยั้งไว้ได้ และสูญสิ้นไปในวาระสุดท้าย
มนุษย์เกิดและตาย แต่ปีศาจทุกตนคงอยู่เป็นอมตะ เหนือกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงใดๆ
อ้างอิง
- มูลนิธิศิลปินแห่งชาติ. เสนีย์ เสาวพงศ์ นักเดินทางผู้ฝากรอยหมึกไว้บนผืนแผ่นดิน. https://bit.ly/2HFvUSc
- สังคมศาสตร์ปริทัศน์. สัมภาษณ์ เฮอเบิต ฟีลลิปส์. https://bit.ly/31Tv3o5
- เสนีย์ เสาวพงศ์ (2521). ปีศาจ (พิมพ์ครั้งที่ 5). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หยาดฝน.
- Hideki Hiramatsu. Thai Literary Trends: From Seni Saowaphong to Chart Kobjitti. https://bit.ly/3kAkeOU
- Karl Marx and Friedrich Engels. Manifesto of the Communist Party. https://bit.ly/3mDhykp