©ulture

ใครก็ตาม หากโตมาในครอบครัวใหญ่ที่ได้ใกล้ชิดกับคนรุ่นเก่ารุ่นก่อน ทั้งปู่ ย่า ตา ยาย ทวด และเทียด เชื่อว่าต้องมีคำถามที่สงสัยเหมือนกันอยู่ข้อหนึ่ง นั่นคือ ทำไมคนเฒ่าคนแก่มักเรียก ‘สีน้ำเงิน’ และ ‘สีฟ้า’ รวมกันว่า ‘สีเขียว’

อิงจากประสบการณ์ตอนยังเป็นเด็กของผู้เขียน ซึ่งจำได้แม่นว่า ยายเคยใช้ให้ไปหยิบหม้อสังกะสีเคลือบ ‘สีเขียว’ (บางคนอาจเรียกว่าหม้อเคลือบโบราณ)

Photo: Wittayayut Seethong / Shutterstock

เรื่องนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร กระทั่งเดินเข้าไปในครัวแล้วไม่เห็นหม้อสีเขียวสักใบ พยายามหาจนทั่วอยู่พักใหญ่ก็หาไม่เจอ เมื่อยายเห็นว่าหลานหายไปนานผิดสังเกต จึงเดินมาหยิบเองแทน แต่หม้อที่ยายหยิบกลับเป็นหม้อ ‘สีน้ำเงิน’ ไม่ใช่และไม่ใกล้เคียง ‘สีเขียว’ อย่างที่ยายบอก กลายเป็นเรื่องน่าฉงนผสมกับความน่าแปลกใจขึ้นมาทันที

หม้อเคลือบโบราณ หรือ หม้อสังกะสีเคลือบสีน้ำเงิน
Photo: Jatuporn Sornlumpoo / Shutterstock

ทั้งๆ ที่เห็นเป็นสีเดียวกัน หมายความว่า นัยน์ตายังปกติดีไม่ได้มองเห็นสีผิดเพี้ยน แต่ไม่ว่าจะเถียงกันหัวชนฝาขนาดไหน ต่างฝ่ายต่างยืนกรานชื่อสีที่ตนเรียกนั้นถูกต้องแล้ว ยายเรียก ‘สีเขียว’ ส่วนหลานงงเป็นไก่ตาแตก เพราะเห็นอยู่ทนโท่ว่า ‘สีน้ำเงิน’

คำถามก็คือ เหตุใดคนต่างวัยต่างยุคถึงเรียกชื่อสีต่างกัน

 

คงเป็นเพราะ ‘นัยน์ตา’

คำถามนี้เคยเป็นประเด็นให้บรรดานักวิทยาศาสตร์หยิบยกมาถกเถียงกันอยู่ก่อนแล้ว สมมติฐานแรกที่นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกัน จึงพุ่งเป้าไปที่ปัญหาสุขภาพตาของคนสูงวัย ซึ่งมักจะเสื่อมสภาพและสึกหรอตามอายุ เพราะผ่านการใช้งานอย่างสมบุกสมบันมายาวนานกว่าคนวัยหนุ่มสาว จนทำให้มองเห็นสีเพี้ยนไปจากเดิม ด้วยเหตุนี้เอง ถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ หากคนเฒ่าคนแก่จะเรียกชื่อสีผิด

นัยน์ตาปกติของผู้สูงอายุชาวเอเชียคนหนึ่ง
Photo: Alexey Pankov / Shutterstock

ตัวอย่างการศึกษาที่ยืนยันความจริงข้อนี้ คือ การตรวจประเมินความสามารถมองเห็นสีในกลุ่มตัวอย่างคนญี่ปุ่น อายุระหว่าง 15-68 ปี ผลปรากฏว่า ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ความสามารถมองเห็นสีได้เที่ยงตรงจะยิ่งเสื่อมสมรรถภาพลงเท่านั้น ทำให้คนสูงอายุมองเห็นสีเพี้ยนไปจากความเป็นจริง

หรือผลการศึกษาความข้องเกี่ยวระหว่างคำเรียกชื่อสีกับระบบการมองเห็นในคนต่างเชื้อชาติ โดยมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ผู้คนในแถบประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ต้องประสบกับอากาศร้อนและรังสียูวีบีที่มากับแดดตลอดวัน เลนส์ตาจึงเสื่อมเร็วกว่าคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นของโลก ทำให้มองเห็นสีน้ำเงินเป็นสีเขียว

อีกการศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การทดสอบความสามารถมองเห็นสีในผู้สูงวัยที่มีอายุระหว่าง 58-102 ปี ได้ผลลัพธ์ชัดเจนว่า ความสามารถแยกแยะสีโทนเย็น อย่างสีฟ้าอ่อน สีน้ำเงิน สีม่วง และสีเขียว จะเริ่มเสื่อมถอยลงเมื่ออายุเข้าสู่เลขเจ็ด จากนั้นจะแย่ลงเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น

Photo: Isa Fernandez Fernandez / Shutterstock

แม้คนเฒ่าคนแก่จะมองเห็นสีบางสีคล้ายกันไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันเหมือนคนตาบอดสี ยกเว้นคนสูงวัยที่มีอาชีพเป็นศิลปินหรือคนที่ต้องใช้ตาแยกแยะสี ย่อมเกิดอุปสรรคระหว่างทำงานหรือสร้างสรรค์ผลงานได้

ถึงอย่างนั้น สมมุติฐานที่น่าเชื่อถือของนักวิทยาศาสตร์ กลับมีช่องโหว่อยู่บ้าง เพราะใช้อธิบายกลุ่มคนสูงวัยที่สายตาปกติดี แต่กลับเรียกสีน้ำเงินเป็นสีเขียวไม่ได้ แสดงว่าสาเหตุจริงๆ ไม่น่าจะเกิดจากปัญหาสุขภาพนัยน์ตาอย่างที่นักวิทยาศาสตร์คิดเสมอไป 

 

หรือว่าเพราะ ‘คำเรียก’

นับตั้งแต่อดีตกาล บรรพบุรุษของเรามองเห็นสีสันต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว แต่คำที่ใช้เรียกชื่อสีเหล่านั้น เพิ่งจะเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์รู้จักคิดค้นระบบภาษาขึ้นมา แล้วชื่อเรียกของแต่ละสีก็ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว หมายความว่า ในบรรดาชื่อสีที่เราต่างคุ้นเคยดีในตอนนี้ ย่อมมีทั้งชื่อสีที่เกิดขึ้นก่อน กับชื่อสีที่เกิดตามมา

จากวิวัฒนาการของคำ ผนวกกับความรู้ด้านภาษาศาสตร์สังคม (sociolinguistics) ซึ่งศึกษาหาความแตกต่างของลักษณะภาษาที่คนในแต่ละกลุ่มสังคมเลือกใช้ ทำให้เกิดสมมติฐานใหม่ว่า เหตุผลที่คนต่างวัยต่างยุคเรียกชื่อสีต่างกัน เป็นเพราะข้อจำกัดของคำเรียกชื่อสีในแต่ละภาษา จึงไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับความเสื่อมสภาพของนัยน์ตา

แรกเริ่มเดิมที ภาษาส่วนใหญ่ไม่มีคำศัพท์ใช้เรียก ‘สีน้ำเงิน’ หรือ ‘สีฟ้า’ เหมือนในภาษาอังกฤษที่แยกชัดเจนระหว่าง blue (สีน้ำเงิน/สีฟ้า) กับ green (สีเขียว) จึงใช้ชื่อสีที่มีอยู่ก่อนอย่าง ‘สีเขียว’ เรียกแทน เพราะเห็นว่าสีคล้ายๆ กัน

Photo: tairome / Shutterstock

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้นิยามคำว่า ‘สี’ หมายถึง สิ่งที่ทำให้ตาเห็นหรือลักษณะของแสงสว่างปรากฏแก่ตาให้เห็น นอกจากชื่อสีที่เข้าใจโดยทั่วไป ยังมีชื่อสีโบราณที่นิยมใช้เรียกกันมาแต่อดีต เช่น สีชาด สีขาบ สีคราม สีหงเสน

ส่วน ‘สีเขียว’ ก็นับเป็นหนึ่งในชื่อสีสมัยโบราณด้วย แม้ในปัจจุบันจะหมายถึง สีของใบไม้ แต่ในอดีตกลับหมายถึง สีเขียวครามของน้ำทะเล และสีของท้องฟ้า ซึ่งปรากฏให้เห็นในสำนวนไทยที่ว่า ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว หมายถึงไกลสุดขอบฟ้าหรือไกลมากที่สุด รวมทั้งคำบางคำอย่างคำว่า พิมพ์เขียว ที่บัญญัติมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า blueprint

ด้วยเหตุนี้ คนไทยสมัยก่อน หรือคนเฒ่าคนแก่ จึงคุ้นชินเรียกสีฟ้าและสีน้ำเงินว่าสีเขียวโดยปริยาย ไม่แน่ ในอนาคตข้างหน้า หากมีชื่อสีใหม่เกิดขึ้นมา คนรุ่นลูก รุ่นหลาน ย่อมเรียกสีนั้นต่างจากเรา หากคนรุ่นเรายังสะดวกเรียกด้วยชื่อเดิมต่อไป

 

อ้างอิง

  • Schneck, M. E., Haegerstrom-Portnoy, G., Lott, L. A., & Brabyn, J. A. (2014). Comparison of panel D-15 tests in a large older population. Optometry and vision science : official publication of the American Academy of Optometry, 91(3), 284–290. https://doi.org/10.1097/OPX.0000000000000152
  • Yokoyama, S., Tanaka, Y., Kojima, T., Horai, R., Kato, Y., Nakamura, H., Sato, H., Mitamura, M., Tanaka, K., & Ichikawa, K. (2021). Age-related changes of color visual acuity in normal eyes. PLOS ONE, 16(11), e0260525. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0260525
  • Lindsey, D. T., & Brown, A. M. (2002). Color Naming and the Phototoxic Effects of Sunlight on the Eye. Psychological Science, 13(6), 506–512. https://doi.org/10.1111/1467-9280.00489
  • วิโรจน์ อรุณมานะกุล. (2563). ศาสตร์แห่งภาษา : ความเป็นมาและพัฒนาการ. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • รัตติกาล ศรีอำไพ. สีโบราณ. https://bit.ly/40BpDLb