©ulture

แสงนีออนจากร้านรวงในเมืองอาบไล้ท้องถนน ประกายวิบวับของญี่ปุ่นตอนกลางคืน ยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองเป็นภาพสะท้อนที่อยู่ในเพลงซิตีป๊อป (City pop) เพลงป๊อปจากยุค 80s ที่บันทึกยุคสมัยเฟื่องฟูของญี่ปุ่นเอาไว้

หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นฟูประเทศทุกๆ ด้าน และเปิดรับวัฒนธรรมจากโลกตะวันตก ดนตรีแนวใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพลงญี่ปุ่นดั้งเดิมเริ่มผสมผสานกับดนตรีตะวันตกจนทำให้เกิดแนวเพลงซิตีป๊อปขึ้น โดยผสมผสานแนวดนตรีหลากหลายทั้งแจ๊ส ฟังก์ ร็อค รวมถึงใช้เครื่องดนตรีหลากหลายที่นิยมหน่อยก็ซินธิไซเซอร์

ซิตีป๊อปเริ่มต้นขึ้นในปี 70s ปลายๆ รุ่งเรืองที่สุดในปี 80s แต่คนที่เติบโตในยุคซิตีป๊อปอาจไม่รู้จักคำนี้ เพราะในตอนนั้นซิตีป๊อปก็หมายถึงเพลงป๊อปธรรมดาทั่วไป ที่มีจังหวะสนุกสนาน มีเนื้อหาที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนเมือง สะท้อนภาพของเมืองอันคึกคักของญี่ปุ่นเอาไว้ ท้ายที่สุดแล้วกลายมาเป็นเพลงของคนเมืองแห่งยุค 80s เลยได้ชื่อว่าซิตีป๊อป’ 

Photo by Philip FONG / AFP)

ซิตีป๊อปได้บันทึกยุครุ่งเรืองของญี่ปุ่นเอาไว้นานหลายปี แต่เมื่อเข้าสู่ยุค 90 ซิตีป๊อปก็ค่อยๆ ตายไปอย่างเงียบๆ ตามยุคสมัย บางคนถึงกับพูดถึงว่าซิตีป๊อปก็เป็นเพลงป๊อปเห่ยๆ เท่านั้นเอง แม้จะฝากสีสันสดใสไว้ให้ยุค 80s ขนาดนั้น แต่ท้ายที่สุดซิตีป๊อปก็เป็นอันตายไปพร้อมกับยุคแอนาล็อก

ยุคออนไลน์เข้ามาแทนที่ เราเปลี่ยนไปฟังเพลงบนสตรีมมิ่ง ยูทูบเป็นแพล็ตฟอร์มที่คนเข้าไปฟังเพลงมากที่สุดอันหนึ่งเพลงที่ค่อนข้างได้รับความนิยมของคนยุคใหม่ และเพลงที่มาแรงคือ ‘Lo-fi’ จังหวะสบายๆ ที่เหมาะจะเปิดฟังคลอตอนทำงาน

Photo: Courtesy of Alan Levenson

อาจเป็นเพราะอัลกอรึทึ่มจัดสรร หรือาจเป็นเพราะเป็นเพลงที่ฟังระรื่นหูดีเหมือนกัน ปลายทางของเพลย์ลิสต์ lo-fi จะพาไปเจอกับ ‘Plastic Love’ ของมาริยะ ทาเคะอุจิ (Mariya Takeuchi) อยู่เรื่อย วงการซิตีป๊อปเข้าแล้วออกยาก พอได้ฟังแล้วก็อยากฟังอีก หลังจากนั้นเพลงนี้ก็กลายเป็นไวรัล มียอดวิวหลายล้านวิวภาพขาวดำของมาริยะกลายเป็นที่จดจำ ทั้งๆ ที่ปกอัลบั้มจริงๆ เป็นคนละอันกับปกยูทูบเสียด้วยซ้ำ

Plastic Love ทำให้มาริยะกลับมามีชื่อเสียงในหมู่คนฟังรุ่นใหม่อีกครั้ง อย่างน้อยๆ ก็มีคนรู้จักเธอในฐานะเจ้าของเพลงนี้ มีดีเจชาวเกาหลีช่อง Night Tempo เอาเพลงของเธอไปรีมิกซ์ใหม่แล้วได้รับความนิยมจนมีคนดูถึง 12 ล้านวิว และเพลงรีมิกซ์นี้ก็ดังไปถึงหูของมาริยะจนทำให้เธอนึกขอบคุณที่ทำให้กระแสของเธอกลับมาอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่าไวรัลครั้งนี้ก็เป็นเหมือนประตูมิติเวลาเปิดพาอดีตยุคแอนาล็อกมาส่งเสียงในศตวรรษที่ 21 อีกครั้ง (อ่านเรื่องราวของมาริยะ ทะเคะอุจิต่อได้ที่ https://bit.ly/3tWFXGD)

Photo: https://www.zakzak.co.jp/ent/news/201223/enn2012230005-n1.html

ในขณะเดียวกันนั้น คลื่นซิตีป๊อปอีกลูกก็ซัดเข้าฝั่ง TikTok อย่างจัง เมื่อเพลง Mayonaka no Door / Stay with me ของ มิกิ มัตสึราบะ (Miki Matsubara) ถูกใช้ประกอบวิดีโอสั้นๆ มากมาย จนกลายเป็นไวรัลอีกครั้ง เริ่มจากวิดีโอชาเลนจ์ในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่นที่เปิดท่อนฮุกของเพลงนี้ให้แม่ฟัง แล้วคอยว่าดูว่าแม่จะรีแอคอย่างไร เพราะในยุคนั้นเพลงนี้ดังมาก ร้อยทั้งร้อยของคุณพ่อคุณแม่ที่เกิดในยุคนั้นจะต้องรู้จักเพลงนี้แน่นอน (อ่านเรื่องราวของมิกิ มัตสึราบะเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/37AUUa9) 

@arisa.teoshe didn’t have to go that hard 😭🤣 ##japanese ##japan ##fyp ##asian ##おすすめ♬ 真夜中のドア/Stay With Me – Miki Matsubara


หลังจากที่เพลงนี้เป็นไวรัล ก็ทำให้เพลงซิตีป๊อปหลายๆ เพลงได้รับความนิยมมากขึ้นตามไปด้วย และฉายภาพของยุค 80s ที่สดใสอย่างชัดเจน กล่าวได้ว่าซิตีป๊อปฟื้นคืนชีพกลับมาฮิตในหมู่คนยุคใหม่อีกครั้งเพราะอิทธิพลของโลกออนไลน์ นอกจากคลื่นสองลูกนี้แล้ว ซิตีป๊อปยังเติบโตมาพร้อมๆ กับวัฒนธรรมของอนิเมะญี่ปุ่นที่แพร่หลายด้วย เนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มเผยแพร่อนิเมะสู่โลกภายนอกมากขึ้น แทนที่จะจำกัดไว้ในประเทศ ขายแค่แผ่นซีดีเหมือนแต่ก่อน เราจะเห็นได้ว่าเพลลิสต์ซิตีป๊อปหลายๆ อันในยูทูบมีภาพอนิเมะประกอเพลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมการฟังเพลงที่แปลกใหม่ดี

และสาเหตุสำคัญสุดท้ายที่ทำให้ซิตีป๊อปคืนชีพอย่างสมเกียรติและได้รับความนิยมอีกครั้ง คงเป็นเพราะเพลงซิตีป๊อปนั้นเรียบง่ายและเป็นดนตรีที่ฟังแล้วถูกจริตผู้คนได้อย่าง่ายดาย จอห์น โซเบเล (John Sobele) เจ้าของค่ายเพลงแนวเวเพอร์เวฟ เผยว่าครั้งแรกที่ผมค้นพบเพลงซิตีป๊อป มันเหมือนได้ย้อนเวลากลับไป ได้เปิดทีวีและเห็นโฆษณาเก่าๆ จากอีกโลกหนึ่ง แม้ว่าสินค้าจะเป็นแบรนด์เดียวกัน แต่ก็เป็นโฆษณาที่ต่างไปจากที่เคยจำได้

เนื้อเพลงในเพลงซิตีป๊อปมักจะใช้ภาษาอังกฤษประกอบอยู่ด้วย และใช้ดนตรีแบบตะวันตกด้วย จึงทำให้คนคุ้นเคยได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็โดดเด่นตรงที่มีเนื้อเพลงภาษญี่ปุ่นผสมอยู่ด้วย ทำให้ได้ใจทั้งคนญี่ปุ่นและคนทั่วโลกไปโดยปริยาย

และนอกจากตัวเพลงแล้ว สิ่งที่ทำให้ซิตีป๊อปยังคงมีเสน่ห์สมอคือยุคสมัยข้างในบทเพลงที่ฟังเมื่อไหร่ก็เหมือนได้กลับไปเยือนอดีตแสนหวาน ได้เดินอยู่บนถนนสายคึกคักของโตเกียว ที่มีแสงไฟระยิบระยับส่องเป็นประกาย มีจังหวะสนุกๆ ที่ทำให้อยากโยกตามอยู่เสมอ 

อ้างอิง