©ulture

นกที่ตื่นเช้าคือคนที่ทรมานกับการลุกไปทำงานมาตลอดสัปดาห์ แต่ดันตื่นมาในวันหยุดตั้งแต่พระอาทิตย์เพิ่งขึ้นแบบงงๆ ทั้งที่อยากนอนกินบ้านกินเมืองยาวๆ โดยไม่ต้องสนใจอะไร

การนอนไม่พอที่สะสมทีละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าง่วงงุนตลอดเวลานั้นมีศัพท์ทางเทคนิคว่า sleep debt หรือ ‘หนี้การนอน’ เหมือนกับหนี้บัตรเครดิตที่มีแต่จะทบเท่าทวีคูณขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งมักส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ความเสี่ยงต่อภาวะเส้นโลหิตในสมองแตก หรือแม้กระทั่งหัวใจวายเฉียบพลัน

จนหลายคนคิดว่าการใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับการนอนโง่ๆ ยาวๆ (sleep in) เพิ่มอีกสัก 2-3 ชั่วโมงจากเวลาตื่นนอนปกติในวันทำงาน จะสามารถช่วยจ่ายหนี้เหล่านี้ได้ แต่ก็บ่อยครั้งเหลือเกินที่เมื่อถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ เรามักกลายเป็นนกที่ตื่นเช้า ลุกขึ้นมางงๆ แบบอัตโนมัติอย่างไร้เหตุผล และพานให้หงุดหงิด สงสัยว่านี่เราตื่นขึ้นมาทำไมกัน (วะ)

จากงานวิจัยเชิง ‘ประสาทวิทยาเกี่ยวกับการนอน’ เผยเหตุผลเบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านี้ว่า มันอาจเกิดจากภาวะที่ ‘เวลาทางชีวภาพ’ และ ‘เวลาทางสังคม’ ไม่สมดุลกัน

รัสเซล ฟอสเตอร์ (Russell Foster) นักวิจัยจาก University of Oxford ค้นพบผ่านการทดลองในหนูตาบอดว่า เวลานอนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นขึ้นอยู่กับการขึ้นและลงของดวงอาทิตย์ ซึ่งหมายความว่าเวลาทางชีวภาพที่ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน ต่างจากเวลาทางสังคม ซึ่งเกิดจากการกำหนดของวัฒนธรรมที่มักบอกว่าเราควรตื่นและนอนเวลาใด

ร่างกายมนุษย์ซึ่งได้รับดีเอ็นเอตกทอดมาจากดึกดำบรรพ์ ในยุคที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้และต้องพึ่งพาแสงอาทิตย์ตลอดเวลา ทำให้ลึกๆ ภายใน เรายังผูกติดอยู่กับการตื่นและหลับไปตามวัฏจักรของแสงอย่างไม่รู้ตัว

เมื่อสองสิ่งนี้ไม่สัมพันธ์กัน กล่าวคือ เมื่อดวงอาทิตย์ตกดินไปแล้วนานหลายชั่วโมง แต่เรากลับยังไม่ยอมนอนตามที่นาฬิกาทางชีวภาพกำหนดไว้ อาจเพราะอยากใช้เวลาว่างทำสิ่งที่อยากทำหลังจากเรียนหรือทำงานมาหนักหนาสาหัสตลอดวัน จึงทำให้นาฬิกาทางชีวภาพในร่างกายไม่ถูกเติมเต็ม ยังไม่รวมเรื่องของเวลาตามงาน ส่งงาน หรือกระทั่งเผางานที่ไม่เป็นเวลา ปัญหาทางสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งล้วนส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้หลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ ลุกขึ้นมากลางดึก ซึ่งส่งผลต่อภาวะง่วงงุน และกลายเป็น ‘หนี้การนอน’ ได้แทบทั้งสิ้น

ต่อเมื่อวันหยุดเดินทางมาถึง ขณะที่เราจะอยากนอนยาวๆ เพื่อจ่ายหนี้การนอนเหล่านี้ บางครั้งจิตใต้สำนึกก็มักเล่นตลก และปลุกเราให้ตาสว่างขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ ราวกับว่านาฬิกาทางชีวภาพเพิ่งมาทำหน้าที่ได้เที่ยงตรงเอาเฉพาะวันนี้ เพราะลึกๆ อาจโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราต่างรู้ดีว่าเวลาที่เราจะได้ใช้ไปกับวันหยุดสุดสัปดาห์นั้นสั้นแสนสั้นเหลือเกิน

แต่ในเมื่อวันนี้คุณตื่นเช้า ผิดแผนจากที่ตั้งเป้าจะนอนยาวๆ กินบ้านกินเมืองเอาไว้ เราก็มีข่าวดี เพราะจากงานวิจัยหลายชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า การนอนตื่นสายเพิ่มอีกสัก 2-3 ชั่วโมงนั้นไม่สามารถจ่ายหนี้การนอนได้ แถมมันยังมีผลร้ายมากกว่าผลดี

“ร่างกายของเราพยายามมองหารูปแบบของการนอน” ชอว์น สตีเวนสัน (Shawn Stevenson) ผู้เขียนหนังสือ Sleep Smarter: 21 Proven Tips to Sleep Your Way to a Better Body, Better Health and Bigger Success บอกเช่นนั้น 

“เราต่างมีรูทีนการตื่นและนอนในรอบสัปดาห์ของการทำงาน แต่แล้วในวันหยุด เราก็โยนทุกสิ่งทุกอย่างหายลับไปในสายลม แล้วพอถึงวันจันทร์ เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเหลือเกินที่จะตื่นขึ้นมาแต่เช้าเพื่อไปทำงานอีกครั้ง เพราะเราได้ทำลายวงจรของการนอนอันเป็นปกติของตัวเองไปแล้ว”

และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงใช้ชีวิตราวกับเป็นซอมบี้ตลอดสัปดาห์ของการทำงานอยู่เสมอ

มองในมุมนี้ การตื่นเช้าขึ้นมาในวันหยุดจึงไม่ใช่เรื่องแย่เกินไป เพราะเวลานั้นช่างผ่านไปรวดเร็วฉับไวเหลือเกิน และการได้เวลาเพิ่มขึ้นมาสัก 2-3 ชั่วโมงจากการไม่สามารถนอนต่อได้ โดยไม่ทำลายแพตเทิร์นการนอนเดิมๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาไปพร้อมๆ กัน ก็พอเป็นเหตุผลที่ใช้อนุโลมและให้อภัยกับการกลายเป็นนกที่ตื่นเช้าขึ้นมาแบบงงๆ เช่นวันนี้ได้ไม่มากก็น้อย

 

อ้างอิง