©ulture

หลังจากโพสต์รีวิวตัดผมกับช่างชาวเกาหลีเป็นไวรัลในทวิตเตอร์เมื่อไม่นานมานี้ ก็มีหลายๆ เสียงออกมาบอกว่าความจริงแล้วช่างตัดผมต่างชาติที่เข้ามาในไทยนั้นผิดกฎหมายเนื่องจากอาชีพนี้ถูกสงวนไว้ให้คนไทยทำเท่านั้น 

กฎหมายนี้ไม่ได้เพิ่งมี แต่เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2480 – 2490 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการปฏิวัติวงการแรงงานกันหลายต่อหลายครั้ง ในยุคนั้น แรงงานหรือกรรมกรถือเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรมจากรัฐบาล จึงมีการออกกฎหมายเพื่อแรงงานมากมาย ในปีที่มีการหลั่งไหลของชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงมีการออกกฎหมายที่สงวนบางอาชีพไว้ให้กับคนไทย เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งงาน

สมัยก่อนคำว่าคนต่างด้าวมักจะหมายถึงชาวจีนที่อพยพมาอยู่ไทย แต่ปัจจุบันในบทกฎหมายระบุว่า คนต่างด้าว หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย 

ตอนศักราชนั้นประเทศไทยห้ามคนต่างด้าวทำงานเพียง 17 อาชีพ ในสาขางานฝีมือ เกษตรกรรม บริการขนส่ง และมัคคุเทศก์ แต่ปัจจุบันนอกจากอาชีพช่างตัดผมแล้ว พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้สงวนอาชีพไว้ให้คนไทยถึง 40 อาชีพ

ประเภทของงานต้องห้ามของคนต่างด้าวจะแบ่งเป็นบัญชีมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป แม้จะมีข้อห้ามทำอย่างชัดเจน แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวต่างชาติทุกคนจะทำงานผิดกฎหมายทุกงาน งานบางชนิดที่ดูเหมือนจะต้องสงวนไว้ให้คนไทย ชาวต่างชาติก็ทำได้ เพียงแต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่ระบุไว้เท่านั้น

บัญชีที่ 1 คือ งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำอย่างเด็ดขาด มีทั้งหมด 27 งาน ได้แก่ 1.งานแกะสลักไม้ 2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 3.งานขายทอดตลาด 4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 5.งานตัดผม/เสริมสวย 6.งานทอผ้าด้วยมือ 7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 9.งานทำเครื่องเขิน 10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 11.งานทำเครื่องถม 12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 13.งานทำเครื่องลงหิน 14.งานทำตุ๊กตาไทย 15.งานทำบาตร 16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 17.งานทำพระพุทธรูป 18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 19.งานนายหน้า/ตัวแทน 20.งานนวดไทย 21.งานมวนบุหรี่ 22.งานมัคคุเทศก์ 23.งานเร่ขายสินค้า 24.งานเรียงอักษร 25.งานสาวบิดเกลียวไหม 26.งานเลขานุการ และ 27.งานบริการทางกฎหมาย 

บัญชีที่ 2 – คนต่างด้าวสามารถทำงานด้านบัญชี วิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าคนต่างด้าวต้องทำงานตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย และต้องเป็นคนต่างด้าวที่มาจากประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น 

บัญชีที่ 3 – คนต่างด้าวจะทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือต่อไปได้จะต้องมีนายจ้าง ได้แก่ 1.งานกสิกรรม 2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 3.งานทำที่นอน 4.งานทำมีด 5.งานทำรองเท้า 6.งานทำหมวก 7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 8.งานปั้นเครื่องดินเผา

บัญชีที่ 4 – คนต่างด้าวทำงานกรรมกรและงานขายของหน้าร้านได้ จะต้องมีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MoU : Memorandum Of Understanding) หรือหมายความว่าต้องมีใบอนุญาตทำงานนั่นเอง 

กฎหมายที่ว่านี้หากฝ่าฝืนจะมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับตามบทลงโทษทางกฎหมายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง 

กฎหมายแรงงานยังคงปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมือง เช่นว่าหากในอนาคตประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ บางอาชีพที่เคยสงวนไว้อาจจะต้องยกเลิกกันไป แล้วเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามาทำก็เป็นได้

อ้างอิง 

  • กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์. ประวัติศาสตร์ของนโยบายและการบริหารแรงงาน ในสมัยรัฐบาล ป. พิบูลสงคราม (2491-2500). https://bit.ly/3Iaj1K9 
  • Thai PBS. “ช่างตัดผมอาชีพสงวนให้คนไทย ห้ามต่างชาติทำ. https://bit.ly/3h49Q1J