นับตั้งแต่โควิด –19 เปิดตัวอย่างอลังการแบบปูพรมทั่วโลกเมื่อต้น พ.ศ. 2563 ส่งผลให้เกิดวิกฤติไปทั่วทุกวงการ แน่นอนว่ากิจกรรมมหาชนอย่างการดูหนังในโรงภาพยนตร์ย่อมกลายเป็นเรื่องต้องห้ามไปโดยปริยาย
และแม้จะผ่านมาจนเกือบจะครบปี ธุรกิจภาพยนตร์ก็ยังไม่มีแววจะฟื้นตัวขึ้นง่ายๆ เมื่อการถ่ายทำในทุกกองถ่ายตกอยู่ในภาวะชะงักงัน จึงไม่มีภาพยนตร์โปรแกรมใหม่ๆ ออกมาให้เราดู การที่โรงหนังค่ายใหญ่นำหนังกลางเก่ากลางใหม่ ทั้งหนังไทย หนังบู๊ หนังผี หนังการ์ตูน ฯลฯ มาฉายขัดตาทัพไปก่อน ทำให้แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติ ที่ใครๆ ก็ตีตั๋วเข้าไปดูหนังในโรงได้อย่างอุ่นใจ
กลับไม่ทำให้การดูหนังในโรงสำราญใจเท่าที่ควร
ยังไม่นับเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบันที่ทำเอาช่วงเวลาไม่กี่นาทีก่อนหนังฉาย กลายเป็นความกระอักกระอ่วนใจของคนดูหนังว่าจะลุกขึ้นยืนหรือไม่ยืนดี ที่ไปๆ มาๆ พาลทำให้หลายคนเลิกเข้าโรงภาพยนตร์ แล้วหันมาดูหนังออนไลน์ เพื่อความสบายใจ
ยิ่งเมื่อบวกกับอีกหนึ่งเหตุการณ์ในตอนต้นเดือนกรกฎาคม 2563 อย่างการปิดกิจการอย่างถาวรของโรงภาพยนตร์สกาลา โรงหนังสแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของเมืองไทย ที่ส่งผลให้คอหนังจำนวนไม่น้อยต่างพากันอาลัย รู้สึกเคว้งคว้าง และห่างหายจากการดูหนังในโรงไปในที่สุด
เพราะวัฒนธรรมเฉพาะตัวของการดูหนังที่สกาลาอาจจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เหตุผลที่หลายคนยังคงดั้นด้นพาตัวเองไปดูหนังในโรง ไม่ว่าจะเป็นเอกลักษณ์ของการขายตั๋วแบบทำมือที่พนักงานรุ่นเก๋า เอาปากกามาขีดระบุหมายเลขที่นั่ง การได้อาศัยพนักงานเดินตั๋วในชุดสูทสีเหลืองพาผู้ชมไปส่งถึงเก้าอี้ และการไม่มีการส่งเสียงรบกวนกันและกัน ไม่มีใครใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างชมภาพยนตร์ ที่เหล่าคอหนังสกาลาพากันถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่จำเป็นต้องรณรงค์ร้องขอ
ซึ่งรายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้คือ มารยาทอันดีที่พึงปฏิบัติต่อกันในการจะทำให้การชมมหรสพทุกรูปแบบดำเนินไปด้วยความสุนทรีย์
สำหรับใครที่คิดถึงบรรยากาศของการดูหนังในโรงภาพยนตร์อย่างมีอารยะ ขอแนะนำให้ออกเดินทางมายังอำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อรับชมภาพยนตร์หลากหลายโปรแกรมที่ฉายให้ชมฟรีทุกวัน ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ที่มีโรงหนังให้บริการถึง 3 โรงด้วยกัน
ถ้าคุณเริ่มโอดโอยว่าทำเลอยู่ไกลเกินไป ไม่สะดวกที่จะเดินทาง ลองอ่าน 4 เหตุผลดังต่อไปนี้ ที่จะทำให้คุณอยากมาดูหนังโรงในหอภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และอาจจะมีครั้งต่อๆ ไปตามมา
1.
สักครั้งในชีวิตกับการได้ชม Jaws บนจอใหญ่
แม้ในปัจจุบัน ภาพยนตร์จะกลายเป็นหนึ่งในความบันเทิงที่ดูที่ไหนก็ได้ จะดูในมือถือ ดูแล้วกด pause หรือดูบนรถ ก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับภาพยนตร์บางเรื่องก็ควรค่าแก่การชมในโรงภาพยนตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะภาพยนตร์ทุกเรื่องในโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก ที่หอภาพยนตร์เคยจัดฉายเป็นประจำที่โรงภาพยนตร์สกาลา ก่อนจะย้ายมาประจำการ ณ โรงภาพยนตร์ศาลาศีนิมา โรงหนังขนาดใหญ่และใหม่เอี่ยมที่สุดแห่งหอภาพยนตร์
ยกตัวอย่างหนังที่ต้องดูในโรงเท่านั้นในโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก เรื่องล่าสุด ที่กำลังจะจัดฉายเร็วๆ นี้ อย่าง Jaws ภาพยนตร์สุดคลาสสิคที่ออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2518 และสร้างชื่อให้ผู้กำกับอย่างสตีเวน สปีลเบิร์ก กลายเป็น ‘พ่อมดแห่งฮอลลีวู้ด’ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เพราะ Jaws เป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่ส่งผลถึงพฤติกรรมของมหาชน อย่างการที่ผู้คนในยุคนั้นต่างก็หวาดกลัวการลงน้ำทะเลไปพักใหญ่
นั่นเป็นเพราะความน่าตื่นเต้น หวาดเสียว และสมจริง (ในครั้งโน้น) ของบรรยากาศการไล่ล่าฉลามขาว ที่เมื่อประกอบกับการสร้างสรรค์ซาวด์สุดระทึกโดยฝีมือของคอมโพสเซอร์อย่าง จอห์น วิลเลียมส์ ที่ใช้โน้ตแค่ 2 ตัว ก็สามารถเล่นกับอารมณ์คนดูได้อย่างเหนือชั้น โดยไม่จำเป็นต้องเห็นฉลามยักษ์ทั้งตัว ที่สะกดคนดูไว้อยู่หมัดด้วยจอใหญ่ ทำให้ชื่อของ Jaws ขึ้นหิ้งหนังคลาสสิคตลอดกาล
Jaws มีให้ดูได้ทุกเมื่อทาง Netflix เช่นเดียวกับ The Shining (1980) หนังจากโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก ที่ฉายเป็นครั้งสุดท้ายที่สกาลา แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอรรถรสของการชมภาพยนตร์คลาสสิคระทึกขวัญทั้ง 2 เรื่องนี้ สามารถเพิ่มดีกรีความสะดุ้งเฮือกได้อีกหลายเท่า เมื่อรับชมในโรงภาพยนตร์
*ภาพยนตร์เรื่อง Jaws จัดฉายในวันเสาร์ที่ 5 และวันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม 2563 เวลา 14.00 น. โดยรอบวันเสาร์ที่ 5 มี อาจารย์แดง – กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิณ มาร่วมสนทนาหลังชมภาพยนตร์
2.
ดูหนัง (ดูละคร) แล้วยังได้ย้อนดูตัว
หลายๆ คนน่าจะเคยเกิดอาการเดียวกัน ที่หลังจากดูหนังจบแล้วมักเกิดอาการอยากถกเถียงถึงบางประเด็นในหนังกับใครสักคน หรืออยากอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ดีๆ สักชิ้น เพื่อตอบข้อสงสัย หรือเสริมประเด็นที่ตกตะกอนในใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หอภาพยนตร์เข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี จึงจัดให้มีกิจกรรมล้อมวงสนทนาหลังเสร็จสิ้นการชมภาพยนตร์บางเรื่องที่ผ่านการคัดสรรมาแล้ว เช่น หนังทุกเรื่องในโปรแกรม ทึ่ง! หนังโลก หรือหนังในกิจกรรมดูหนังคลาสสิคกับวิทยากรขาประจำ เช่น กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิณ, โดม สุขวงศ์, ม.ล. วราภา เกษมศรี, ประวิทย์ แต่งอักษร, ก้อง ฤทธิ์ดี ฯลฯ ที่เปิดโอกาสให้คนดูร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง เกิดเป็นบรรยากาศของวงสนทนาที่ได้อรรถรสไม่แพ้ภาพยนตร์ที่เพิ่งชมจบไป
3.
ไม่ต้องกระอักกระอ่วนใจก่อนหนังฉาย
เพราะไม่มีสปอนเซอร์เป็นสินค้ารายใดๆ ทำให้ผู้ชมไม่ต้องทนดูหนังโฆษณาที่ฉายนานหลายสิบนาทีก่อนหนังฉายเหมือนโรงภาพยนตร์อื่นๆ อีกทั้งยังไม่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะยืนหรือนั่งระหว่างโรงภาพยนตร์เปิดเพลง สรรเสริญพระบารมี เพราะที่นี่ตัดจบขั้นตอนนี้ไปโดยปริยาย
จะมีก็แต่วัฒนธรรมเฉพาะตัวในการจัดฉายหนังของหอภาพยนตร์ ที่พนักงานประจำโรงจะออกมายืนกล่าวต้อนรับและเล่าเรื่องย่อของภาพยนตร์ให้ฟังคร่าวๆ ก่อนฉายหนัง พร้อมกับปิดท้ายด้วยปรัชญาประจำหอภาพยนตร์ที่ว่า
“ขอให้ชมภาพยนตร์ให้สนุก และขอให้ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา”
4.
ไม่ชอบดูหนังก็สนุกกับการเที่ยวหอภาพยนตร์ได้
หอภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สามารถยกโขยงกันมาเที่ยวได้ทุกเพศทุกวัย ใครชอบดูหนังก็เตรียมตัวอิ่มเอมไปกับบรรยากาศในโรงภาพยนตร์ ใครชอบถ่ายรูปที่มีฉากหลังเป็นเมืองจำลอง รับรองไม่ผิดหวังกับอาคารทุกหลังใน ‘เมืองมายา’ ที่นอกจากจะได้ซีนที่ใช่แล้ว ในอาคารแต่ละหลังยังมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ทั้งของโลกและของไทยให้ร่วมสนุกอย่างเพลิดเพลิน
คนที่ชอบค้นคว้าหาความรู้น่าจะต้องทึ่งไปกับตัวเลือกของหนังสือเกี่ยวกับแวดวงภาพยนตร์ที่หลากหลายในห้องสมุดเชิด ทรงศรี ที่เปิดให้มาค้นคว้าหรืออ่านหนังสือได้ฟรี หรือย้อนอดีตกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์แห่งหนังไทยได้อย่างสนุกครบรสที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการต่างๆ หมุนเวียนจัดขึ้นแบบไม่เคยว่างโปรแกรมตลอดทั้งปี
ยกตัวอย่าง นิทรรศการ ลานไปดวงจันทร์ (A Trip to the Moon Terrace) ที่ชวนย้อนไปทำความรู้จักโรงหนังกระโปรง หรือประดิษฐกรรมถ้ำมองที่ใช้สำหรับดูภาพยนตร์ในยุคที่ยังมีการแสดงละครเร่แบบปาหี่ในประเทศไทยสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กิจกรรมที่อาจจะจุดประกายให้ใครหลายๆ คนเริ่มอินกับบรรยากาศในโลกภาพยนตร์ และอยากกลับมาเสพซ้ำแต่ละประสบการณ์ ณ หอภาพยนตร์แห่งนี้อีกครั้ง
ทำความรู้จักหอภาพยนตร์เพิ่มเติม หรือติดตามโปรแกรมฉายหนังได้ทาง FB: ThaiFilmArchivePage และ fapot.or.th