©ulture

มองย้อนกลับไป ‘Lost in Translation’ เป็นหนังที่เต็มไปด้วยเกร็ดข้อมูลเบื้องหลังมากมาย

เริ่มตั้งแต่การที่มันมีสถานะเป็น ‘หนังส่วนตัว’ ของ โซเฟีย คอปโปลา (ผู้กำกับและเขียนบท) ซึ่งหยิบยกชีวิตช่วงวัยยี่สิบต้นๆ ค่อนกลางๆ ที่พึ่งแต่งงานได้ไม่นาน อีกทั้งยังถือสถานะพลเมืองเป็น ‘คนแปลกหน้า’ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สถานที่ที่เธอไม่อาจต่อติดได้เลย จะมีก็แต่ความเดียวดาย แปลกแยก และถึงแม้จะมีคนข้างกาย แต่ก็ไร้ซึ่งคนเข้าใจ

เวลาต่อมา เธอนำความรู้สึกเหงาใจของตนมาดัดแปลงเป็นบทหนังความยาว 75 หน้า นับว่าสั้นไม่น้อยสำหรับหนังยาวเรื่องหนึ่ง แต่ก็นั่นแหละ คุณภาพย่อมมาก่อนปริมาณ ความรู้สึกไม่จำเป็นต้องถูกสื่อสารผ่านคำพูดเพียงอย่างเดียว บทหนังความยาว 75 หน้าก็เจ๋งพอจะสามารถพาโซเฟียขึ้นเวทีไปรับรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมปี 2004 มาได้ เสริมด้วยตำแหน่งผู้กำกับหญิงชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เข้าชิงสาขากำกับยอดเยี่ยมในปีเดียวกัน

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าการเดินขึ้นเวทีไปรับรางวัลของเธอจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะการถือกำเนิดของหนังเรื่องนี้ก็นับว่าลุ่มๆ ดอนๆ มาตั้งแต่การขอ (หรือหา) งบถ่ายทำที่โซเฟียต้องรวบรวมเม็ดเงินเองโดยไม่ง้อค่ายใหญ่ เพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงจากค่ายหนังใฝ่ทุนนิยม

ต่อด้วยขั้นตอนคัดเลือกนักแสดง ถึงแม้ว่าการเชิญชวน สการ์เล็ตต์ โจฮานส์สัน ในวัย 17 ปีจะไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อใจตรงกันพอดีหลังจากฝ่ายนักแสดงหญิงอ่านบทเสร็จ ในทางกลับกัน นักแสดงชายคือผู้กุมชะตาชีวิตของหนังเรื่องนี้เลยก็ว่าได้ เพราะโซเฟียเขียนบทหนังเรื่องนี้โดยนึกถึง บิลล์ เมอร์เรย์ อยู่ตลอด และตั้งเป้าไว้แต่เนิ่นๆ ว่า ยังไงบทของตัวละครนาม บ็อบ แฮร์ริส ต้องถูกสวมบทบาทโดยบิลล์เท่านั้น เธอถึงกลับยื่นคำขาดว่า ถ้าไม่ใช่เขา เธอจะไม่ทำหนังเรื่องนี้

สำหรับความท้าทายในการเข้าถึงตัวบิลล์ ซึ่ง ณ ขณะนั้นอยู่ในวัย 53 ปี มีชื่อว่าเป็นนักแสดงอาวุโส คือการที่เขาไม่มีเอเยนต์สำหรับติดต่องาน หรือกระทั่งเบอร์โทรศัพท์ไว้ให้ติดต่อ เรียกได้ว่าการตามหานักแสดงชายคนนี้ โซเฟียต้องใช้เวลานับแรมปีกว่าบทจะถึงมือบิลล์ และคำตอบตกลงเล่นของเขาก็เป็นเพียงสัญญาปากเปล่า ไม่ได้มีการเซ็นสัญญาสักฉบับ อย่างไรก็ตาม โซเฟียก็ทำได้เพียงเชื่อมั่นและภาวนา เพราะตอนนั้นเธอเลือกจะบินไปรอถ่ายทำอยู่ที่กรุงโตเกียวเรียบร้อยแล้ว ท้ายที่สุดสวรรค์คงเห็นใจ บิลล์โผล่มา และถือกำเนิดหนังเรื่องนี้ขึ้นอย่างชวนปาดเหงื่อไม่น้อย

นี่ยังไม่นับรวมความทุลักทุเลของการถ่ายทำในประเทศญี่ปุ่นแบบไม่มีใบอนุญาต หรือพูดง่ายๆ ว่า ‘กองโจร’ ขนาดที่ว่ามีอยู่ฉากหนึ่ง พวกเขาถึงกับต้องขึ้นไปแอบถ่ายจากบนร้านสตาร์บัค แต่อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็จ่ายค่ากาแฟก่อนขึ้นไป จะมีก็เพียงโรงแรมไฮแอตต์ (และสถานที่ภายในอาคารอื่น ๆ) ที่ถูกต้องตามกระบวนการขอถ่ายทำ

กว่าจะเข้าเรื่องเข้าราว หนังเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงวิบากกรรมชนิดที่ถ้าใช้คำในยุคสมัยนี้ก็คงต้องเป็นคำว่า ‘ถูกคุมกำเนิด’

เกี่ยวกับตัวหนัง อันที่จริงจะบอกว่ามีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสียทีเดียว เพราะเนื้อหาหลักของหนังซึ่งมีสารตั้งต้นมาจากความเหงา ว่าแล้วก็ชวนให้นึกถึงท่อนหนึ่งจากเพลง-ที่ว่า ‘ความเหงาเป็นขั้วบวกขั้วลบ หนุ่มสาวได้มาพบกันในคืนร้าวราน’ เพราะสำหรับสองตัวละคร บ็อบ แฮร์ริส (บิลล์ เมอร์เรย์) และชาร์ลอตต์ (สการ์เล็ตต์ โจฮานส์สัน) แล้ว วันคืนที่ผ่านพ้นและกำลังจะมาถึงในประเทศญี่ปุ่นนั้นแลดูยากเหลือเหลือเกินกับการหาช่องว่างให้ตัวเองได้แทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง หรืออย่างน้อยๆ ก็กลมกลืน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือสภาวะจิตใจที่หลงทางกลางต่างแดน 

เล่าคร่าวๆ หนังว่าด้วยนักแสดงชายผู้กำลังประสบปัญหา Midlife crisis (วิกฤตวัยกลางคน) และหญิงสาวผู้กำลังประสบปัญหา Existential crisis (การตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของตน) ที่ต้นตอก็ไม่ใช่คนอื่นไกล หากแต่เป็นความอ้างว้างทางจิตใจ ก่อนที่มันจะกลายเป็นสื่อกลางนำพาพวกเขามาปลอบประโลมซึ่งกันและกันด้วยความสบายใจ หาใช่ความรักไม่ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าบทความนี้อาจมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ ที่ถูกต้องควรจะเป็น ไม่มากก็น้อย บทความนี้อาจมีการเปิดเผยความรู้สึกของตัวละคร

พูดถึงความมหัศจรรย์ของหนังอย่างการถ่ายทอดอารมณ์แสนหม่นหมอง ห่างไกลรอยยิ้ม ลามไปถึงสภาวะจับทิศจับทางไม่ถูกของตัวละคร ที่สามารถต่อติดกับกรอบประสบการณ์ของคนดูได้แม้เล็กน้อย แต่ไม่อยากเย็น อย่างไรก็ตาม การเป็นคนแปลกหน้าที่ต่อไม่ติดกับสถานที่และกับผู้คนโดยรอบ ส่วนหนึ่งเห็นจะเป็นผลพวง (และบางทีอาจเป็นผลประโยชน์สำหรับคนทำหนัง) จากยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่วิวัฒนาการมาจนถึงระดับปัจจุบันนี้ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนทางไกลจึงยังยากเย็นแสนเข็ญไม่น้อย เพราะฉะนั้นแล้วการจะบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้เพียงในยุคสมัยที่ความเหงามีความถึงเนื้อถึงตัวกับเหล่าตัวละครผู้ยังไกลจากเทคโนโลยีติดต่อสื่อสารอันสะดวกสบายก็ไม่เกินจริงสักเท่าไหร่นัก

ในอีกแง่มุมหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน Lost in Translation มีท่าทีของหนังที่ Vibes (ความรู้สึก) อยู่นำหน้า Plot หรือก็คือหลักใหญ่ใจความที่หนังทิ้งเอาไว้ให้คนดูได้เอากลับบ้านไปเคี้ยวเล่นพลางครุ่นคิด เห็นจะไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดน้อยใหญ่ ความเป็นไปของตัวละครต่อจากนี้ หรือเนื้อหาที่สร้างความอลวนอลเวงอยู่ในหัวตลอดการรับชม กลับกันเลยด้วยซ้ำเมื่อเทียบเคียงกับความรู้สึกที่หนังแผ่ออกมา เป็นดั่งออร่าที่มองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ แต่รู้สึกถึงอย่างชวนเคลิ้มตาม 

ถ้าหากโดนถามว่าหนังเรื่องเกี่ยวกับอะไร เราคงตอบได้เพียงสั้น ๆ หรือยาวกว่านี้เล็กน้อยว่า มันคือหนังของชายหญิงสองคนที่พากันเที่ยวญี่ปุ่นเผื่อคลายเหงา แต่ถ้าหากต้องให้สาธยายความรู้สึกหลังดูจบ มันก็คงยาวเหยียด และเจาะลึงถึงแต่ละฉากที่ว่าด้วยอารมณ์ของตัวละครในขณะนั้น และดีไม่ดี คนดูอาจเอาตัวเองเข้าไปซ้อนทับอย่างไม่รู้ตัวไปแล้วก็ได้

ยกตัวอย่างฉากที่สองตัวละครนอนสนทนาคล้ายเปิดใจกันบนเตียง ถึงแม้ว่าคนดูจะไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ และอาจต้องพึ่งการตีความ มุมมอง หรืออาจเลยเถิดไปถึงพลังจินตนาการเพื่อสรุปความผูกพันของสองคนนี้ แต่ตลอดการนั่งฟังคนสองคนนอนคุยกัน มันก็ไม่ได้กระอักกระอ่วนแต่อย่างใด การที่บ๊อบเล่าถึงความลำบากของชีวิตแต่งงานหลังจากนี้ ความสวยงามของการมีลูก ในขณะที่ชาร์ล็อตต์เล่าว่าเธอไม่รู้จะทำอะไรดีในอนาคต หรือไม่รู้ว่าควรจะหยิบยกส่วนไหนในชีวิตมาสานต่อ มันก็เป็นการพูดคุยของคนสองคนที่เผชิญวิกฤตประจำช่วงวัยนั้น และปลอบประโลมกันและกันด้วยการรับฟัง พร้อมกับผล็อยหลับไปเมื่อพบว่ามีความสบายใจอยู่ข้างกาย

ว่าไปแล้วก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับโซเฟียในฐานะผู้กำกับและเขียนบทที่สามารถถ่ายทอดภาพในหัวออกมาได้อย่างงดงามหมดจด (แม้จะมีเวลาถ่ายทำเพียง 27 วันก็ตามที) ผนวกเข้ากับฝีมือการกำกับภาพของแลนซ์ แอคคอร์ด เพราะเมื่อมองหนังที่ฉายให้เห็นถึงประเทศญี่ปุ่นในยุคใกล้เคียงกันอย่าง All About Lily Chou-Chou’ (ฉายปี 2001 ส่วน Lost in Translation ฉายปี 2003) ที่ทำให้เราได้เห็นถึงสภาพการณ์ซึ่งก็ไม่ได้ดูผิดแผกหรือแปลกแยกเกินเข้าใจ แต่โดยปริยาย แลนซ์สามารถทำให้กรุงโตเกียวกลายเป็นนครแห่งแสงนีออนที่ดูแปลกตาและชวนให้รู้สึกไม่คุ้นชินได้อย่างน่าชื่นชม

อีกอย่างหนึ่งคือเคมีของสองนักแสดงนำที่ไม่ถูกความต่างของช่วงวัยเข้ามาขัดขวางการแสดงฝีมือ (ปี 1984 ที่บิลล์ดังเป็นพลุแตกจากการแสดงหนังเรื่อง Ghostbusters’ สการ์เล็ตต์พึ่งเกิด)

ทั้งหมดทั้งมวล นั่นเองคือตอนที่ Vibes ขึ้นมานำหน้า Plot เราอาจจำบทสนทนาในฉากข้างต้นหรือฉากก่อนหน้า และในอีกหลายฉากของเรื่องไม่ได้อย่างแม่นยำทุกประโยค แต่เราจะจำความรู้สึกของฉากที่สการ์เล็ตต์นั่งอิงพิงหน้าต่างอยู่คนเดียวในห้องได้ จำฉากที่บิลล์ต้องต่อกรกับกำแพงภาษาและพยายามทำความเข้าใจระหว่างการถ่ายแบบได้ และจำช่วงเวลาตะลอนท่องเที่ยวในโตเกียวยามค่ำคืนของคนสองคนที่แสนเดียวดายเมื่อถึงคราวบอกลาได้อย่างแน่นอน

ในเชิงเปรียบเทียบกับหนังซึ่งมียุคสมัยใกล้เคียงกัน (แต่ฉายห่างกันนับทศวรรษ) อย่าง ‘เธอกับฉันกับฉัน’ คือจุดที่ทั้งสองเรื่องยืนอยู่ในยุคที่การจากลามีความหมายชวนใจหายมากกว่าการต่อท้ายด้วย “เดี๋ยวทักไป” ในปัจจุบัน

 

อ้างอิง

  • Roger Cormier. 5 Found Facts About Lost in Translation. http://bitly.ws/RvHB
  • FOCUS FEATURES. Sofia Coppola’s Miraculous Lost In Translation: Academy Award®-Winning Screenplays for Focus Features’ 20th Anniversary. http://bitly.ws/RvIi