©ulture

ไม่เคยมีละครเวทีเรื่องไหน ให้ประสบการณ์แปลกใหม่ได้เท่ากับละครเวทีเรื่อง ‘LUNA: The Immersive Musical Experience’

ผู้เขียนขอยอมรับตามตรงว่า ค่อนข้างกังวลใจที่ไม่เคยอ่าน ‘The Girl Who Drank the Moon’ (หรือฉบับแปลภาษาไทยในชื่อ ‘เด็กหญิงผู้ดื่มดวงจันทร์’ โดยสำนักพิมพ์ Words Wonder) มาก่อน เมื่อรู้ว่าเป็นละครเวทีที่ได้รับอนุญาตจาก เคลลี บาร์นฮิลล์ (Kelly Barnhill) เจ้าของบทประพันธ์ ให้นำผลงานเอกซึ่งการันตีด้วยเหรียญ Newbery ประจำปี 2017 หรือรางวัลนวนิยายที่ให้คุณค่าสูงสุดแก่เยาวชนสหรัฐอเมริกา และได้รับการยกย่องจากผู้อ่านให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนระดับโลกของศตวรรษที่ 21 มาดัดแปลงใหม่ในรูปแบบละครเพลงเป็นครั้งแรก เพราะกลัวจะไม่เข้าใจเนื้อเรื่องทั้งหมดจนกระทบกับระดับความสนุกขณะชม

ปรากฏว่าผิดคาด นอกจากไม่มีอะไรทำให้รู้สึกกังวลอย่างที่ตีตนไปก่อนไข้แล้ว กลายเป็นว่ายิ่งไม่รู้เนื้อเรื่องต้นฉบับ ยิ่งทำให้ตั้งใจจดจ่อกับทุกเหตุการณ์ที่ดำเนินอยู่ตรงหน้าตลอดระยะเวลาการแสดง 2 ชั่วโมง 30 นาที แบบไม่มีพักครึ่ง (intermission) ตามขนบละครเวทีที่ต้องแบ่งละครเรื่องยาวออกเป็นองก์ 1 และองก์ 2

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ LUNA: The Immersive Musical Experience โดดเด่นเหนือละครเวทีทั่วไป อยู่ตรงเทคนิคการสร้างสรรค์ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชมทุกคนได้ ‘เลือก’ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเส้นเรื่องหลักระหว่าง ‘เมืองโพรเทคเทอเรต’ (villaged pass) กับ ‘ป่าใหญ่’ (forest pass)

ขอกระซิบบอกสักหน่อยว่า หากชอบเกมการเมืองที่มีตัวละครจ้องแก่งแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ แนะนำให้เลือกเข้าเมือง (เหมือนกับผู้เขียน)

“ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งกลางพงไพร
พวกผู้ใหญ่สั่งสอนให้เราอย่าถาม
หยุดสงสัย จงเชื่อ และทำตาม
ทุกข้อห้ามเพื่อความสุขของทุกคน
ต้องสังเวยทารกน้อยให้แม่มด
แว่วเสียงเศร้าสลดทุกแห่งหน
เพราะทุกปีพิธีกรรมจักเวียนวน
ยามจันทราจำแลงตนเป็นสีเงิน”
(อารัมภบทก่อนเดินทางเข้าเมืองโพรเทคเทอเรต)

ส่วนเส้นทางป่า เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบการผจญภัยและความมหัศจรรย์ของเทพนิยาย

“ณ ป่าใหญ่ในตำนานที่ขานกล่าว
มีเรื่องราวบางอย่างซุกซ่อนไว้
พ่อแม่สอนว่าอย่าเข้าไปในไพร
อาณาจักรแม่มดร้ายมันครอบครอง
สารพันทั้งมังกร สัตว์ประหลาด
อีกปราสาทปริศนาพาสยอง
เป็นเรื่องจริงหรือไม่…ให้ชวนลอง
ลมจะพาผู้กล้าล่องสู่ผืนไพร”
(อารัมภบทก่อนเดินทางเข้าป่าใหญ่)

นั่นหมายความว่าในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ละเส้นเรื่องต่างมีตัวละคร ฉาก และเหตุการณ์แยกย่อยเป็นของตัวเอง ต่างฝ่ายต่างดำเนินเนื้อเรื่องควบคู่กันไปเรื่อยๆ จนใกล้ถึงบทสรุป ทุกเส้นเรื่องจะเวียนมาบรรจบเป็นเรื่องราวที่อยู่ร่วมจักรวาลเดียวกันในตอนท้าย โดยบันทึกประสบการณ์นี้จะบอกเล่าเฉพาะสิ่งที่พบเจอในเส้นเรื่อง ‘เมืองโพรเทคเทอเรต’

ทันทีที่ประตูเมืองเปิดออก เผยให้เห็นบรรยากาศคราคร่ำ ทั้งนักแสดงและผู้ชมปะปนกลมกลืนเข้ากัน ราวกับอยู่ในโลกใบใหม่ซึ่งตัดขาดจากโลกความเป็นจริงที่ตัวเราเพิ่งจากมา

“ยินดีต้อนรับนะขอรับ ท่านนักเดินทางต่างถิ่น” ชาวบ้านคนหนึ่งเดินเข้ามาทักทาย ก่อนถามไถ่สารทุกข์สุขดิบตามประสาของคนแปลกหน้าที่เพิ่งพบกันเป็นครั้งแรก แล้วพาเดินชมรอบเมืองพร้อมกับแนะนำชาวบ้านแต่ละคนให้รู้จัก ระหว่างนั้นเอง เราจะเริ่มเห็นว่ามีบางอย่างผิดสังเกต

ท่ามกลางเสียงอื้ออึงของบทสนทนาในหมู่ฝูงชน หญิงนางหนึ่งยืนกอดลูกร้องไห้อยู่ในมุมอับแสง ยังไม่ทันได้ถามถึงสาเหตุ ภคินีประจำเมืองก็ปรี่เข้ามาโน้มน้าวให้สนใจสิ่งอื่นแทน อาการไม่ชอบมาพากลของตัวละครยิ่งส่อพิรุธชวนให้สงสัยว่า ยังมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่เมืองนี้ปกปิดเอาไว้

ช่วงแรกของละคร เป็นการปูพื้นฐานให้รู้จักตัวละคร ปมปัญหา และธรรมเนียมสำคัญที่ชาวเมืองปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน นั่นคือ พิธีสังเวยทารกในคืนที่จันทร์ทอแสงเป็นสีเงิน เพราะพวกเขาต่างปักใจเชื่อกันว่า ลึกเข้าไปในป่าใหญ่ (อีกเส้นเรื่องหนึ่ง) เป็นที่อยู่ของแม่มดน่าเกรงขาม เพื่อปกป้องความสงบสุขของเมืองจากสิ่งชั่วร้าย มนุษย์ธรรมดาจำเป็นต้องสังเวยชีวิตเด็กแบเบาะเป็นเครื่องเซ่น

กระทั่งมีชาวเมืองบางคนไม่เชื่อตำนานปรัมปรา และเริ่มตั้งคำถามถึงความไม่สมเหตุสมผลของการกระทำเหี้ยมโหด พวกเขาจึงลุกขึ้นต่อต้านและหาทางพิสูจน์ความจริงทั้งหมด เพราะทนดูไม่ได้หากยังต้องเห็นคนบริสุทธิ์ถูกบีบบังคับให้สละชีวิตลูกของตน เพียงแค่ใครบางคนกล่าวอ้างว่าเป็นการเสียสละอันยิ่งใหญ่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

หลังจากนั้น ทุกตัวละครทั้งบทหลักและบทรอง ตัวดีและตัวร้าย ต่างก็มีวิถีทางเป็นของตัวเองให้ผู้ชมอย่างเราชั่งใจว่า จะเลือกติดตามใครเพื่อรับรู้เรื่องราวผ่านมุมมองของตัวละครนั้นๆ ทำให้เส้นเรื่องหลักถูกแยกออกเป็นเส้นเรื่องย่อยๆ มากกว่า 10 รูปแบบ ผ่านบทพูดสลับกับบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นใหม่มากกว่า 30 เพลง ยิ่งขับเน้นประสบการณ์แปลกใหม่ให้คนดูรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครและเนื้อเรื่องมากขึ้นเรื่อยๆ

LUNA: The Immersive Musical Experience จึงปราศจากเวทีและผังที่นั่งอย่างโรงละคร แต่เนรมิตพื้นที่ว่างกว่า 1 ไร่ให้เป็นพื้นที่แสดงคล้ายเขาวงกต ซึ่งแบ่งเป็นห้องหับและฉากต่างๆ ตามเนื้อเรื่อง รวมถึงเส้นทางพิเศษสำหรับผู้ชมบางคนที่มีตราอนุญาตให้สัญจร หรือถ้าหากตาดีหน่อยก็อาจพบทางลับ ซึ่งไม่อาจรู้ว่าเมื่อเข้าไปแล้วจะเจอกับอะไร

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ตัวละครไม่ได้เห็นเราเป็นแค่ผู้ชม เพราะในสายตาของพวกเขามองเห็นเราเป็น ‘นักเดินทางต่างถิ่น’ นี้คือบทบาทที่เราได้รับโดยปริยาย ตลอดทั้งเรื่องเราจึงร่วมร้อง เล่น เต้น และคุยกับบรรดาตัวละครตามความสนใจ เช่นเดียวกับที่ตัวละครชวนคุยหรือร้องขอให้เราสนับสนุนการกระทำของเขา ซึ่งจะสร้างจุดเปลี่ยนสำคัญให้เส้นเรื่อง

“ข้ารู้ว่าหอนี้ สงวนไว้ให้ภคินีและสตรีเพศเท่านั้น แต่ตอนเด็กข้าเคยเข้ามาเล่นอยู่บ่อยครั้ง ข้าจึงรู้เส้นทางและวิธีเจรจาต่อรองกับภคินี ถ้าท่านเชื่อใจข้า ขอให้ตามข้ามา” เราจะได้ตามติดตัวละครที่เลือกทำตามเสียงของหัวใจโดยไม่สนข้อห้ามที่ผู้ใหญ่เคยพร่ำบอก

“ทำไมชุดของเธอเปลี่ยนไป ท่านรู้ไหม” เราจะได้ช่วยคลี่คลายความสงสัยให้ตัวละคร เพราะเรารู้เห็นเหตุการณ์ก่อนหน้า

“ข้าจะไปหาเขา เพื่อบอกทุกความรู้สึกที่ข้ามี” เราจะได้เป็นสักขีพยานในช่างเวลาพิเศษที่ตัวละครทั้งสองสารภาพรักและตกลงใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่สนคำครหาใด

“อย่าเสียงดังไป ข้าและพวกมีแผน ถ้าท่านอยากรู้ จงตามข้ามาเงียบๆ อย่าให้ใครสงสัย” เราจะได้ล่วงรู้แผนการชั่วร้ายของคนคิดคดทรยศที่เผยให้เห็นธาตุแท้ของมนุษย์

แต่ละท่วงท่าทางการแสดงที่ทุกตัวละครส่งผ่านมาถึงผู้ชมนั้นน่าทึ่งและน่าประทับใจในคราวเดียวกัน เพราะพวกเขารักษาบทบาทและถ่ายทอดทุกอารมณ์ได้ครบถ้วนอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งโกรธเกรี้ยว เศร้าเสียใจ สุขล้น ตลกขบขัน และหวาดกลัว

จุดที่ต้องชื่นชมเป็นพิเศษคือปฏิภาณไหวพริบของนักแสดง เมื่อผู้ชมนึกสนุกอยากทดสอบความสามารถ ตัวละครทุกตัวกลับรู้จักตอบโต้และปะทะคารมได้อย่างมีชั้นเชิง นี่คงเป็นเหตุผลที่ละครแบ่งนักแสดงเป็น 3 ชุดเพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามรอบแสดง

เมื่อการแสดงจบลง หากการตบมือถือเป็นสิ่งตอบแทนที่ผู้ชมจะมอบให้กับนักแสดงและทีมงานผู้สร้างสรรค์ LUNA: The Immersive Musical Experience ได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่เราจะได้ยินเสียงตบมือดังก้องพร้อมกับเสียงร้องชื่นชมจนกลบเสียงดนตรี เพราะนี่คือสิ่งที่พวกเขาทุกคนสมควรได้รับ

คงจะจริงอย่างที่ใครๆ ก็มักพูดกันดาษดื่นว่า ‘ละครจบ แต่คนไม่จบ’ เพราะทุกคำพูด ทุกเหตุการณ์ ทุกตัวละคร ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่อง ยังทำงานกับคนดูเช่นเรา ชวนให้คิดย้อนกลับว่า แก่นแท้ของเรื่องคือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในโลกความเป็นจริง ยิ่งตอกย้ำให้ตั้งคำถามต่อตัวเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อตัวเอง คนรอบข้าง และสังคม

ขณะเดียวกันก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เหตุการณ์ในเส้นเรื่องย่อยอื่นๆ ที่เราไม่ได้เลือก และเส้นเรื่องหลักใน ‘ป่าใหญ่’ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สำหรับผู้เขียน การชม LUNA: The Immersive Musical Experience จึงไม่อาจจบลงที่รอบเดียว แม้ว่าจะซื้อหนังสือต้นฉบับมาอ่านแล้วก็ตาม

 

LUNA: The Immersive Musical Experience

ราคา: 1,590 – 2,390 บาท
รอบการแสดง: 115 รอบ
วันที่แสดง: 4 พฤศจิกายน 2565 – 28 มกราคม 2566
สถานที่: ศูนย์การค้า The EmQuartier โซน Q stadium ชั้น M อาคาร C
รายละเอียดและจองรอบการแสดง: Castscape

 

Secret Pass

  • LUNA: The Immersive Musical Experience ได้แรงบันดาลใจจากชีวิตของ ‘ป้าหมอ’ แพทย์หญิงเคลียวพันธ์ สูรพันธ์ แห่งมูลนิธิชัยพฤกษ์ ผู้เปิดบ้านดูแลเด็กกำพร้าและด้อยโอกาสมานานกว่า 37 ปี ผู้ชมที่ร่วมบริจาคสมทบทุนในขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อบัตรตั้งแต่ 400 บาทขึ้นไป ต่อ 1 บัตรชมการแสดง จะได้รับบัตรพิเศษ (Limited Edition) เพื่อใช้ผ่านเส้นทางลับของการแสดง โดยเงินบริจาคทั้งหมดจะส่งมอบให้กับมูลนิธิชัยพฤกษ์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าและเยาวชนผู้ขาดโอกาส