ห้องแถวหนึ่งคูหาในย่านนางเลิ้งแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งผลผลิตในการแก้ปัญหาช่วงที่โรคโควิด 19 ระบาด เมื่อเจ้าของธุรกิจบาร์ไม่สามารถหาเลี้ยงชีพในยามค่ำคืนได้อย่างเคย เขาจึงหันมองรอบกาย แล้วเห็นว่ามีแต่ร้านขายของชำเท่านั้นที่ไม่มีวันตาย ไอเดียในการเปิด ‘นางเลิ้ง ช้อปเฮ้าส์’ จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
บาร์ที่เรากำลังพูดถึง มีชื่อว่า Ku Bar และ Kang Kao Bar บาร์พิกัดลึกลับบนถนนพระสุเมรุ ที่ได้รับการเล่าขานปากต่อปากในหมู่คนรักค็อกเทลถึงความพิเศษของเมนูเครื่องดื่มที่นี่ โดยเฉพาะเมนูจินโทนิค เพราะเขาปรุงโทนิคสูตรดอกพิกุลขึ้นเองจึงได้กลิ่นและรสที่ซับซ้อนไม่ซ้ำใคร
และถ้าใครเคยไปสังสรรค์ที่ ‘คู บาร์’ มาก่อน เมื่อผลักบานประตูของนางเลิ้งช้อปเฮ้าส์เข้าไป ก็แน่ใจได้ทันทีว่าดำเนินกิจการโดยเจ้าของเดียวกัน ด้วยเอกลักษณ์การตกแต่งที่เรียบง่าย เลือกใช้วัสดุอย่างไม้เป็นหลัก และเปลือยผนังด้านหนึ่งให้เห็นร่องรอยความเป็นมาของห้องแถวดั้งเดิม ที่เคยเป็นบาร์เบอร์มาก่อน
แม้แรงบันดาลใจในการเปลี่ยนห้องแถวให้กลายเป็นร้านชำของ ก้อง – อนุภาส เปรมานุวัติ จะมาจากร้านชำเก่าแก่หัวมุมถนนจักรพรรดิพงษ์ ที่อัดแน่นด้วยของเล่นพลาสติกล้นทะลักออกมานอกร้าน และขายทุกอย่างตั้งแต่น้ำเก๊กฮวยในตู้แช่ ไปจนถึงกากหมูและแคบหมูทำเอง
แต่ร้านของก้องไม่มีอะไรห้อยระโยงระยางหรือเรียงข้าวของโชว์หน้าร้านตามขนบร้านชำทั่วไป ตรงกันข้าม ใครหลายๆ คนอาจขับรถหรือเดินผ่านนางเลิ้งช้อปเฮ้าส์โดยไม่ทันสังเกตเห็น ด้วยหน้าตาเรียบง่ายของหน้าร้านที่แม้จะดูสวย มีเสน่ห์ แต่ก็แสนจะลึกลับอยู่ในที
นั่นทำให้ต่อให้คุณตั้งใจจะมาที่นี่จริงๆ ก็คงมีจังหวะชะงักมือ ก่อนตัดสินใจผลักบานประตูกระจก ที่ขนาบด้วยหน้าต่างดิสเพลย์ประดับไม้ใบเขียว ขึงผ้าสีขาวต่างม่านกั้น จึงทำให้มองไม่รู้ดูไม่เห็นว่าภายในเป็นสถานที่แบบไหนกันแน่
กระทั่งเข้ามาในร้านแล้ว ก็ต้องให้เวลาแก่สายตาในการปรับจูนค่าแสงให้เข้าที่อีกชั่วอึดใจ เพราะแสงภายในร้านมืดทึมกว่าบรรยากาศท้องถนนด้านนอกอยู่หลายสต็อป จากนั้นก็ต้องปรับทัศนคติอีกชั่วแล่น เพื่อทำความเข้าใจแต่ละฟังก์ชั่นภายในร้านชำที่มินิมัลที่สุดบนเกาะรัตนโกสินทร์แห่งนี้
ด้วยจำนวนโต๊ะที่มีให้นั่ง 3 โต๊ะ กับตู้กระจกสำหรับวางโชว์หนังสือหนึ่งหลัง และตู้แช่เย็นอีกหลัง (กับโอ่งมังกรอีกใบ) เท่านี้คือนิยามความพอเพียงของร้านชำตำรับนางเลิ้งช้อปเฮ้าส์
กวาดตามองในตู้โชว์หนังสือ มีนิตยสารหัวนอกเรียงรายอยู่ 3-4 หัว เช่น The Gourmand, The Plant, MOLD, Apartamento, Good Sport, Modern Matter ฯลฯ ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับอาหารเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของร้าน นิตยสารเกี่ยวกับการปลูกพืช การกีฬา การตกแต่งบ้าน และแฟชั่น นอกจากนี้ ยังมี My Kitchen Out of Eden’s วารสารทำมือของคาเฟ่เพื่อนบ้านอย่าง Eden’s ที่สามารถหาซื้อได้ที่นี่เช่นกัน
(อ่านเรื่องราวของ My Kitchen Out of Eden’s เพิ่มเติมได้ในบทความ ‘My Kitchen Out of Eden’s วารสารแห่งปีโควิดที่ 1 ที่มีจุดกำเนิดในห้องเหนือเพดานคาเฟ่ย่านหลานหลวง’)
คั่นกลางระหว่างตู้โชว์หนังสือกับตู้แช่อาหาร มีโหลหมักแอปเปิ้ลไซเดอร์ทรงสูงวางอยู่ จากระยะเวลาที่ต้องใช้หมักทั้งหมด 6 เดือน ณ วันที่เราไปเยือน เหลืออีกครึ่งทางก็จะได้ผลผลิตเป็นแอปเปิ้ลไซเดอร์ที่สมาชิกของร้านต้องมาล้อมวงชิมร่วมกันอีกทีว่าได้รสชาติที่ต้องการหรือเปล่า
ส่วนสินค้าที่เรียงรายในตู้แช่ ก็มีตั้งแต่ของหวานอย่างน้ำผึ้งป่าจากหลายแหล่งสลับสับเปลี่ยนมาวางขาย เช่น น้ำผึ้งป่าจากแก่งกระจาน เป็นต้น
นอกจากนี้ อาหารบรรจุขวดทั้งหมดที่เห็นในตู้ล้วนเป็นผลิตผลที่ทางร้านทำเอง ไม่ว่าจะเป็นโฮมเมดโยเกิร์ตพีช, แอปเปิ้ลบัตเตอร์ หรือแยมแอปเปิ้ล ที่ใช้ปาดกินกับขนมปังได้อย่างอร่อยลิ้น และแยมมะเขือเทศ ที่ไม่ได้ออกรสเปรี้ยวจ๋าแบบมะเขือเทศ แต่ออกรสหวานแบบแยม ทางร้านและทางเรายืนยันว่า คนไม่ชอบมะเขือเทศก็สามารถกินได้สบายๆ
นอกจากนี้ ยังมีอาหารดีจากหลายแหล่งผลิตที่ไว้ใจได้มาวางขายที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชีสนมแพะจากเชียงใหม่ ชีสนมวัวผสมนมแพะจากเชียงราย กับอีกหนึ่งของเด็ดที่อยากเชียร์ให้ซื้อติดมือกลับบ้าน ได้แก่ Hot Sauce ซอสพริกแบบโฮมเมดทำจากพริกเหลืองผสมมัสตาร์ด น้ำมันมะกอก และน้ำผึ้งป่า ให้รสเผ็ดเมื่อแตะลิ้น แต่ไม่ทิ้งความเผ็ดร้อนยาวนาน เหมาะที่จะกินกับไส้กรอก เพราะช่วยตัดเลี่ยนได้ดี เป็นที่ถูกใจของทั้งคนชอบกินเผ็ดและคนที่ไม่ถนัดรสร้อนแรง
เสร็จสิ้นจากการไล่สายตาจากของในตู้ หากยังเลือกไม่ได้ว่าจะซื้อสินค้าชิ้นไหนติดมือกลับบ้าน ไม่ยาก แนะนำให้เดินไปที่เคาท์เตอร์แล้วกวาดสายตาดูรายการอาหารบนเมนู แล้วสั่งมาชิมความอร่อยเรียกน้ำย่อยกันก่อน
รายการอาหารที่นี่ไม่ได้หลากหลาย หลักๆ แบ่งเป็นชีสเพลท กับเมนูอาหารเช้าที่เสิร์ฟตลอดวัน เหตุผลที่ทางร้านเลือกเสิร์ฟชีสเพลท ก็เพื่อให้เข้ากับ Natural Wine ที่เลือกมาขาย เช่นเดียวกับการที่มีแต่เมนูอาหารเช้า เหตุผลง่ายๆ แค่ชาวเจ้าของร้านขาดอาหารเช้าไม่ได้ และเห็นถึงความสำคัญของการเลือกวัตถุดิบดีๆ ที่ไม่ต้องผ่านการปรุงรสมากมายมาประเดิมมื้อแรกของวัน จึงตั้งใจทำเมนูอาหารเช้าในแบบที่พวกเขากินเองจริงๆ ให้แขกผู้มาเยือนได้ชิมอาหารคุณภาพดีรสชาติเดียวกับที่พวกเขาโปรดปราน
รายการอาหารมีให้เลือกทั้งไส้กรอกหมูแบบโฮมเมด เสิร์ฟคู่ซาวร์เคราต์ หรือกะหล่ำปลีหมักเกลือ พริกไทย และจูนิเปอร์เบอร์รี, ผักย่าง ปรุงรสด้วยเกลือและพริกไทย เสิร์ฟกับไข่ต้ม 2 ฟอง, แซนด์วิชไข่ต้มชา และขนมปังซาวโดวจ์ (Sourdough) ปิ้ง เสิร์ฟกับริคอตต้าชีส แยม และน้ำมันมะกอก
หรือถ้าแค่อยากเรียกคืนความสดชื่น เหมือนแวะดื่มน้ำเก๊กฮวยแช่เย็นสักอึกตามร้านชำ ที่นี่มีน้ำแข็งไสไว้เป็นตัวเลือกฉ่ำๆ ชื่นใจ มีให้เลือก 2 เมนู คือ Fig & Cloves น้ำแข็งไสวุ้นกาแฟ มาพร้อมเครื่องเคราเพิ่มความอร่อยอย่างรากบัว ถั่วเคลือบ มะเดื่อฝรั่งและกานพลูอบแห้ง มีแป้งเกี๊ยมอี๋ให้เคี้ยวแบบหนึบๆ ด้วย
อีกถ้วย คือ Sweet Raita โดดเด่นด้วยวุ้นแตงกวา ที่ต่อให้เป็นคนเกลียดแตงกวาก็ไม่มีทางร้อง อี๋! เพราะเขาคัดเอาแตงกวาญี่ปุ่นมาทำ เลยให้กลิ่นหอมหวานอ่อนๆ เสริมรสด้วยเมล็ดทับทิมสด กลีบกุหลาบ พิสตาชิโอเคลือบน้ำตาล โยเกิร์ต และซ่อนกลิ่นหอมของกระวานพอให้เกิดความกลมกล่อมในรสชาติ
สำหรับรายการเครื่องดื่ม ที่นี่ไม่เน้นกาแฟ ทีมเจ้าของร้านพร้อมใจกันออกตัวว่าไม่ถนัดที่จะเป็นบาริสต้า ขอขายแค่กาแฟร้อนและเย็นแบบเบสิค ไม่มีลาเต้หรือฟองนมใดๆ แต่ก็พิถีพิถันใส่ใจโดยมอบหมายให้โรงคั่วไทยอย่าง ‘เล็ฟแฮนด์โรสเตอร์’ รับผิดชอบในการคั่วเมล็ดกาแฟรสชาติเฉพาะของร้านเป็นพิเศษ หรือถ้าจะให้พิเศษกว่านั้น ลองสั่งกาแฟผสมโทนิคกลิ่นพิกุลมาลองลิ้มชิมส่วนผสมทำมือทั้งถ้วย จะยิ่งเข้าถึงรสแท้ของนางเลิ้งช้อปเฮ้าส์ยิ่งขึ้น
ส่วนเมนูเครื่องดื่มไฮไลท์ ได้แก่ Golden Chai Latte ชานมแบบอินเดีย เสิร์ฟร้อนภายใต้ฟองนมสีเหลืองทอง เพราะใส่ขมิ้นเข้าไปเป็นส่วนผสมหลัก พร้อมด้วยสารพันเครื่องเทศที่เข้มข้นกว่าบินไปกินถึงอินเดีย แก้วนี้เหมาะสำหรับคนรักชากลิ่นเครื่องเทศแบบหนักเครื่องคูณสอง
อิ่มคาว หวาน และเครื่องดื่มอย่างละนิดละหน่อยแล้ว คงถึงเวลาเดินไปที่หน้าตู้แช่อีกครั้ง เพื่อที่จะเลือกว่าจะซื้ออะไรติดมือกลับไปกินต่อที่บ้านดี
96/2 ถนนจักรพรรดิพงษ์ กรุงเทพฯ โทร 09 3550 5359 facebook.com/nangloeng.shophouse
เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00-17.00 น.