©ulture

“ถ้าทุกคนในรูปดูแข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้หญิง มันคืองานของ มีเกลันเจโล”

“ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองต้องตัดแว่นใหม่ หรือควรไปพบจักษุแพทย์ มันคือศิลปะแนวอิมเพรสชั่นนิสม์”

“ประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นแค่มีม (meme) ฉบับโบราณ” นั่นคือคอนเซ็ปต์สั้นๆ ในแอคเคานต์ TikTok ชื่อ @_theiconoclass ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์วัย 25 ปีจากเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย นาม แมรี่ แมคกิลลิฟเรย์ (Mary McGillivray)

เธอนิยามตัวเองเป็น ‘ติ๊กต็อกเกอร์’ และ ‘นักสร้างสรรค์วิดีโอ’ ผู้นำวัฒนธรรมด้านภาพมาวิเคราะห์เพื่อทำให้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนรุ่นถัดไป

“ประวัติศาสตร์ศิลป์เป็นประเพณีที่เข้าถึงได้ยาก และบางครั้งก็เป็นเรื่องของชนชั้นสูง ฉันเลยใช้ TikTok เพื่อเข้าถึงผู้ที่ไม่อาจได้รับการศึกษาในด้านสื่อหรือเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์ตามแบบแผนเดิมๆ ด้วยการใช้ภาษาของแพลตฟอร์มนี้ เช่น มีม และวิดีโออธิยายเรื่องราวสั้นๆ จบภายใน 1 นาที”

แมรี่ แมคกิลลิฟเรย์ / Photo: https://www.marymcgillivray.com.au

หลังจบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ ด้วยดีกรีเกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น แมคกิลลิฟเรย์เริ่มท้าทายตัวเองโดยการสร้างวิดีโอขนาดสั้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันขึ้น กระทั่งคลิปสั้นๆ ของเธอกลายเป็นไวรัลมากมายหลายคลิป ยกตัวอย่าง เช่น ‘เคล็ดลับการชมงานศิลปะฉบับชวนหัว’ ที่เธอทำให้การชมงานศิลปะ แยกแยะว่างานศิลปะแต่ชิ้นเป็นของใคร หรือเป็นศิลปะจากในยุคใด กลายเป็นเรื่องง่าย ด้วยการสังเคราะห์และใส่ข้อสังเกตตลกๆ ลงไป ผ่านข้อความสั้นๆ เช่น “ถ้าทุกคนในรูปดูแข็งแรงเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ แม้ว่าคนคนนั้นจะเป็นผู้หญิง มันคืองานของมีเกลันเจโล”

ปัจจุบัน แมรี่ แมคกิลลิฟเรย์ มีคนติดตามผ่านแอคเคานต์ TikTok มากกว่า 3.5 แสนคน และมียอดวิวสูงถึง 7.9 ล้านวิวในรอบ 60 วันล่าสุด

แน่นอนว่า ‘อะไรที่สั้นและง่ายมักตัดสิน’ คำอธิบายสั้นๆ ของแมคกิลลิฟเรย์จึงอาจไม่ได้ครอบคลุมถึงงานศิลปะทุกชิ้น แต่เพื่อจะได้เห็นภาพชัดว่าการนำเสนองานศิลปะสู่ผู้คนในวงกว้างด้วยภาษาง่ายๆ ของแมคกิลลิฟเรย์ทำงานและมีประสิทธิภาพอย่างไร ในบทความนี้เราจึงนำเคล็ดลับดูงานศิลปะแบบฮาๆ ของเธอส่วนหนึ่งมาให้เสพ พร้อมเพิ่มเกร็ดของงานศิลป์เหล่านั้นอีกเล็กน้อยพ่วงเข้าไป

Fun Fact: ปี 1917 ศิลปินนาม มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) ส่งโถปัสสาวะโถหนึ่งไปจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะรายการหนึ่ง โดยตั้งชื่อให้มันว่า Fountain และลงชื่อ R. Mutt เหมือนการเซ็นชื่อกำกับงานศิลปะของศิลปินโดยทั่วไป นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ชื่อว่า ดาดา (Dada) ถูกจับตามอง นี่คือความเคลื่อนไหวของคนทำงานศิลปะที่มีลักษณะต่อต้านสังคม ตั้งใจจะทำลายกฎเกณฑ์ความงามของสุนทรียศาสตร์แบบเดิมๆ ซึ่งงานโถฉี่ของดูว์ช็องนั้นเป็นแถลงการณ์อันโจ่งแจ้งว่า อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะได้

Fun Fact:  มีเกลันเจโล (Michelangelo) เป็นศิลปินชื่อดังในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 16 เขาคือเจ้าของผมงานรูปสลักประติมากรรม ‘เดวิด’ อันโด่งดัง และเป็นผู้วาดภาพ The Last Judgment งานจิตรกรรมบนฝาผนังของโบสถ์น้อยซิสทีน ในนครรัฐวาติกัน ที่ผู้คนทั่วโลกปรารถนาจะไปชมให้ได้ด้วยตาตัวเองสักครั้งในชีวิต

FunFact: อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) เป็นแนวทางการทำงานศิลปะที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากศิลปินหัวขนบทผู้ต้องการต่อต้านการทำงานศิลปะในรูปแบบเดิม ประจวบเหมาะกับพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ในเรื่องแสงและสี ศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์จึงมีแนวทางในการทำงานด้วยการใช้ทีแปรงตวัดภาพวาดของตนอย่างหยาบๆ ไม่เน้นการเกลี่ยสีเหมือนงานศิลปะยุคดั้งเดิม แต่จะปล่อยให้ดวงตาของผู้เสพผสมสีและต่อเติมภาพวาดที่ดูเหมือนวาดไม่เสร็จนี้ให้สมบูรณ์ด้วยตัวเอง ศิลปินชื่อดังในแนวนี้ก็เช่น โกลด มอแน (Claude Monet) เจ้าของผลงาน Woman Seated under the Willows ภาพนี้ รวมถึง แอดการ์ เดอกา (Edgar Degas), โอกุสต์ เรอนัวร์ (Auguste Renoir) ฯลฯ

Fun Fact: ซันโดร บอตตีเชลลี (Sandro Botticelli) เป็นชาวฟลอเรนซ์ เมืองในประเทศอิตาลีที่ต่อมาได้รับขนานนามให้เป็นเมืองหลวงแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยศิลปินคนสำคัญที่ทำให้เมืองนี้ได้รับสมญานามเช่นนั้น ก็คือบอตตีเซลลีนั่นเอง เขามีชีวิตอยู่ในยุคเรอเนซองส์ช่วงต้นถึงกลาง และเป็นผู้วาดภาพอันโด่งดังมากมาย เช่น The Birth of Venus และ Allegory of Spring เป็นต้น

Fun Fact: การเจริญเติบโตอย่างรุดหน้าและหลากหลายของศิลปะสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ทำให้ศิลปินแทบทุกคนต้องเสาะแสวงหา ‘ความใหม่’ และ ‘ความเป็นเอกลักษณ์’ กันอย่างเอาเป็นเอาตาย การเกิดขึ้นของศิลปะแบบคิวบิสม์ (Cubism) ก็เกิดขึ้นจากความคิดที่ต้องการเสาะแสวงหาความใหม่ และหลุดพ้นจากกรอบของศิลปะแบบเดิมๆ ในท่วงทำนองนั้น โดยคิวบิสม์ใช้ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาเป็นแรงบันดาลใจ จากแนวคิดที่ว่ารูปทรงเรขาคณิตคือพื้นฐานของธรรมชาติ ผลงานในแนวคิวบิสม์จึงมีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิต บิดผันความจริงที่เราเห็นด้วยตาเนื้อให้กลายเป็นรูปทรงที่มีเหลี่ยมมีมุม และมิติทับซ้อนไปมา ศิลปินผู้ริเริ่มแนวทางนี้ได้แก่ ฌอร์ฌ บรัก (George Braque) และศิลปินคนดังอย่าง ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) นั่นเอง

Fun Fact: พีต มองเดรียน (Piet Mondrian) เป็นศิลปินยุคโมเดิร์นที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง งานศิลปะแอบสแตรกของเขามักถูกนำมาใช้เป็นแพตเทิร์นเสื้อผ้า กระเป๋า หรือเอาไปประดับประดาในสิ่งของต่างๆ มากมาย จุดเด่นของภาพวาดแนวนามธรรมของมองเดรียนคือรูปทรงเลขาคณิตง่ายๆ เส้นตรงแค่ในแนวตั้งและแนวนอน โดยเขาเลือกใช้สีที่เป็นแม่สีอย่าง แดง น้ำเงิน เหลืองเท่านั้น ซึ่งเขาเชื่อว่าความเรียบง่ายคือการส่องสะท้อนกฎของจักรวาล

Fun Fact: เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) หรือ ศิลปะแบบเหนือจริง น่าจะเป็นความเคลื่อนไหวทางศิลปะของโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนเคยเห็นผ่านตามากที่สุดรูปแบบหนึ่ง ด้วยสไตล์ที่หวือหวา นำวัตถุที่ไม่เกี่ยวข้องกันมากกว่าสองสิ่งมารวมอยู่ในเฟรมเดียวกัน ใช้การบิดผันของรูปทรง ของการทำให้วัตถุบางอย่างเล็กหรือใหญ่ขึ้นเพื่อขับเน้นเรื่องราวของความจริงอีกรูปแบบ นั่นคือความจริงในความฝัน หรือความจริงในจิตไร้สำนึกที่เป็นโลกภายในของศิลปินคนนั้นๆ แม้งานศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสม์จะมีเนื้อหาและรูปแบบแตกต่างกันไปตามแต่ผู้สร้างสรรค์ แต่ที่น่าแปลกประหลาดของคือการวาดภาพจากจิตไร้สำนึกของศิลปินหลายคน ก็กลับฉายให้เห็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมีทะเลทรายสักแห่งเป็นฉากหลังโดยมิได้นัดหมายอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งศิลปินที่ดูเหมือนจะวาดภาพทะเลทรายบ่อยที่สุด นั่นก็คือจิตกรคนดังอย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí)

Fun Fact: ศิลปะสัจนิยม (Realism) ที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 มีต้นตอมาจากประเทศฝรั่งเศส ด้วยความมุ่งมั่นของศิลปินที่อยากนำศิลปะที่เคยสูงส่งลงมาสู่ระดับสามัญ โดยในนัยของมันคือการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะในแนวโรแมนติก (Romanticism) ที่ถูกมองว่าละเลยการสะท้อนความจริงในสังคมไป เนื้อหาของศิลปะสัจนิยมในศตวรรษที่ 19 ส่วนใหญ่จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยากแค้นของชนชั้นกรรมมาชีพ ซึ่งศิลปินที่โดดเด่นในแนวทางนี้ก็เช่น ฌ็อง-ฟร็องซัว มีแล (Jean-François Millet) เจ้าของผลงาน The Gleaners ภาพนี้ 

Fun Fact: ฌัก-หลุยส์ ดาวีด (Jacques-Louis David) เจ้าของรูปวาด Oath Of The Horatii ภาพนี้คือจิตรกรที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นผู้นำศิลปะแนวคลาสสิกแบบกรีกโรมันกลับมาสู่โลกสมัยใหม่ในช่วงศวตรรษที่ 19 ในนามของ ‘ศิลปะแบบนีโอคลาสสิก’ (Neo-Classic) โดยภาพเขียนในแนวทางนี้มักจะมีเนื้อหาสะท้อนอารยธรรมโบราณอันรุ่งเรือง ใช้สีสันและแสงในแนวเดียวกับยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา โดยมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ ‘ยุคแสงสว่างทางปัญญา’ (Age of Enlightenment) ที่ผู้คนในยุโรปเริ่มตื่นรู้และตระหนักในศักดิ์ศรีความเป็นมมนุษย์ของตัวเอง หลังถูกกดขี่ด้วยระบอบศักดินามายาวนาน จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิวัติชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

Fun Fact: เอก็อน ชีเลอ (Egon Schiele) เป็นจิตรกรคนสำคัญของศตวรรษที่ 20 ด้วยผลงานที่มีสไตล์โดดเด่นจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ศึกษาศิลปะรุ่นใหม่ๆ หลายคน ซึ่งหากลองสังเกตงานของชีเลอดีๆ เราจะค้นพบร่องรอยอิทธิพลจากจิตรกรอีกคนหนึ่งนั่นคือ กุสทัฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) จิตรกรรุ่นพี่ผู้มาจากประเทศออสเตรียเช่นเดียวกัน โดยภาพที่โดดเด่นและถูกจดจำที่สุดของชีเลอ คือภาพเหมือนของตัวเขาเองที่มีลักษณะบิดเบี้ยว ใช้เส้นและทีแปรงแสดงอารมรณ์ออกมาได้อย่างทรงพลัง จนกล่าวกันว่าเขาคือแรงบันดาลใจคนสำคัญให้เกิดแนวทางการทำงานศิลปะที่ชื่อ ‘เอกซเพรสชันนิสม์’ (expressionism) ในเวลาต่อมา

 

อ้างอิง