เคยไหมในขณะที่คุณกำลังรีบขึ้นรถโดยสาร แต่กลับต้องรู้สึกหงุดหงิดเมื่อชายหนุ่มท่าทางงุ่มง่ามข้างหน้ากำลังพยายามก้าวขึ้นรถด้วยความทุลักทุเล
คุณอาจคิดว่าเขาเมาหรือป่วย แต่คุณไม่มีทางรู้ได้เลยว่าพ่อหนุ่มที่เคลื่อนไหวราวกับไร้ระบบประสาทคนนั้น อาจกำลังเจ็บป่วยหนักกว่าที่คิด ด้วยอาการผิดปกติที่การรับรู้การขยับของข้อต่อเหมือนกับคริสตินา หญิงสาววัย 27 ปี คุณแม่ลูกสองผู้โปรดปรานกีฬาฮอกกี้และขี่ม้า และแทบจะไม่เคยเจ็บป่วยเลยในชีวิต
แต่จู่ๆ ร่างกายของเธอเกิดความผิดปกติขึ้นแบบฉับพลัน คริสตินาไม่สามารถควบคุมร่างกายตัวเองได้ อย่าว่าแต่การก้าวเดิน เพราะแม้แต่การถือของไว้ในมือเฉยๆ เธอก็ทำไม่เป็นเสียแล้ว
เพราะร่างกายของเธอ ‘ตาบอด’ เนื่องจากสูญเสียการรับรู้การขยับของข้อต่อที่เปรียบเหมือนดวงตาของร่างกาย หรือเป็นวิธีที่ร่างกายมองเห็นตัวเอง
เมื่อฟังก์ชันนี้พัง อวัยวะส่วนที่ต้องขยับเคลื่อนไหวจึงไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป หากไม่ใช้สายตาเพ่งมองแล้วสั่งสมองว่าจงขยับแขน จงขยับขา หรือจงเดินไปข้างหน้า ซึ่งทำได้ยากเย็นเหลือเกิน
ที่น่าหวั่นวิตกยิ่งกว่าก็คือ อาการนี้มักเกิดกับคนที่คลั่งไคล้การดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ และชอบกินวิตามินหลายชนิด โดยเฉพาะวิตามินบี 6 (ไพริด็อกซีน)
รู้แบบนี้แล้ว อาการผิดปกติที่การรับรู้การขยับของข้อต่อเริ่มใกล้ตัวเราๆ ท่านๆ ผู้กำลังใช้ชีวิตในยุคคลั่งไคล้การดูแลสุขภาพมากขึ้นหรือยัง
กรณีของคริสตินาเป็นหนึ่งในหลากหลายเคสจากบันทึกของ โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาที่บอกเล่าเรื่องราวของบรรดาผู้ป่วยที่เขาเคยพานพบมาในชีวิตไว้ในหนังสือ ชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวก: โลกพิศวงของโรคสมอง (The Man Who Mistook His Wife for a Hat and other Clinical Tales) เพื่อให้ผู้คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงแพทย์ได้เปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับโรคสมองให้กว้างไกลยิ่งขึ้น
เพราะหากไม่ทำความเข้าใจย่อมขาดความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เหมือนอย่างกรณีที่คุณบังเอิญเจอผู้ป่วยแบบคริสตินาตามท้องถนน อารมณ์หงุดหงิดย่อมทำให้คุณไม่อยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เนื่องจากดูภายนอกร่างกายของเขาก็ดูแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกประการ ทั้งที่ความจริงแล้วเขาแทบไม่ต่างจากคนตาบอดแม้แต่น้อย
ที่สำคัญไปกว่านั้น การเห็นอกเห็นใจไม่ได้มีความหมายตีขลุมไปถึงการ ‘คิดแทน’ ผู้ป่วยไปเสียทั้งหมด เพราะในบางกรณี ผู้ป่วยอาจไม่ได้อยากหายขาดจากอาการป่วย เนื่องจากโรคสมองบางชนิดมีคุณค่าลึกซึ้งต่อพวกเขา ไม่ต่างอะไรกับโอเอซิสที่ชุบชีวิตกลางทะเลทรายในขณะที่เขาต้องต่อสู้กับโรคภัยเพียงลำพัง
‘เรย์นักเล่นมุกผู้เป็นทิกส์’ คือตัวอย่างนั้น เรย์เป็นผู้ป่วยทูเรตต์ที่มีอาการกระตุก ทำท่าทางซ้ำๆ สบถ และลอกเลียนแบบคนอื่นแบบควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มอาการทูเรตต์ก็มักมอบพรสวรค์พิเศษให้ผู้ป่วยเป็นการชดเชย นั่นคือ เรย์มีความสามารถด้านดนตรีสูง จนได้เป็นมือกลองประจำวงดนตรีแจ๊ซที่มีลีลาการด้นสดสุดสวิง ทั้งยังเป็นนักปิงปองฝีมือฉกาจ และเป็นนักเล่นมุกชนิดหาตัวจับยาก
ดังนั้น เมื่อเขาเข้ารับการรักษาอาการทูเรตต์จนเกือบจะหายดี ตัวตนของเรย์คนเดิม (ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นตัวตลกมาทั้งชีวิต) จึงหายไป กลายเป็นเรย์คนใหม่ที่นิ่ง แน่วแน่ เนี้ยบ แต่สูญเสียลีลาตีกลองสดเร้าใจ เช่นเดียวกับการหมดมุกไปโดยสิ้นเชิง
ท้ายที่สุด เรย์ขอรักษาตัวเองให้หายแบบครึ่งๆ กลางๆ คือ กินยาเพื่อคุมอาการในวันทำงาน และหยุดยาเพื่อกลับไปเป็นเรย์นักเล่นมุกผู้เป็นทิกส์ให้สมใจอยากทุกสุดสัปดาห์ เพราะเขาไตร่ตรองมาเป็นอย่างดีแล้วว่า สุขภาพดีในแบบของเขาไม่จำเป็นต้องเหมือนคนทั่วไป
หรืออย่างเคสของรีเบกกา ที่แซกส์ระบุว่าเธอคือ ‘ปัญญาจารย์ผู้ด้อยปัญญา’ นั้น เป็นผู้ป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง จนทำให้เธอมีปัญหาทางสมองและสติปัญญาร่วมด้วย ส่งผลให้หญิงสาววัย 19 ปีคนนี้มีทีท่าไม่ต่างจากเด็กเล็กที่สับสนซ้ายขวา ใส่เสื้อกลับด้าน ไขกุญแจไม่เป็น แต่กลับเป็นพหูสูตทางบทกวี
แซกส์จึงยกให้รีเบกกาเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของผู้ด้อยปัญญาและนักกวีแสนคมคายที่หลอมรวมอยู่ในคนเดียวกัน
เช่นเดียวกับ โฮเซ ผู้ป่วยออทิสติกวัย 21 ปี ที่มีความสามารถในการจดจำภาพต้นแบบแล้วนำมาตีความใหม่โดยใส่ชีวิตชีวาเพิ่มเข้าไปในภาพ ทำให้ภาพวาดของเขางดงามอย่างมีเอกลักษณ์ไม่ต่างจากฝีมือศิลปินมืออาชีพ หากเพียงคนรอบตัวจะสังเกตเห็นและให้โอกาสเขาได้ลงมือทำ โฮเซต้องได้เป็นนักบันทึกภาพธรรมชาติทางชีววิทยาที่ดีมากแน่ๆ
รายละเอียดพิเศษในตัวผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผลผลิตจากการบันทึกประวัติผู้ป่วยอย่างตั้งใจของคุณหมอแซกส์ ด้วยแบบแผนการเล่าเรื่องทางการแพทย์ (Narrative Medicine) ที่เคยใช้เป็นแนวทางหลักในการศึกษาทางการแพทย์ในศตวรรษที่ 19 แต่กลับค่อยๆ เลือนหายไปในปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อโลกเข้าสู่ยุคที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและการแพทย์เชิงปริมาณมากกว่า
บันทึกที่อ่านสนุกและเต็มไปด้วยเลือดเนื้อของชีวิตคนจริงๆ อย่างชายผู้เห็นภรรยาเป็นหมวกที่ถูกเขียนขึ้นตอนต้นทศวรรษที่ 1980 จึงถูกมองว่าคร่ำครึและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ต้องใช้เวลาอีก 40 ปี กว่าที่นักประสาทวิทยารุ่นใหม่ในปัจจุบันจะเห็นความสำคัญของการบันทึกประวัติผู้ป่วยโดยละเอียดอีกครั้ง
รวมถึงคนธรรมดาอย่างพวกเราที่มีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านสารคดีชีวิตจริงเล่มนี้ว่า โรคสมองไม่ได้มีแค่อัลไซเมอร์ แต่ยังมีชายที่มองเห็นหน้าภรรยาแต่กลับคิดว่านั่นคือหมวก หรือคนไข้ที่นอนตกเตียงทุกคืน เพราะสมองสั่งการให้เขามองเห็นขาตัวเองเป็นท่อนขาสุดสยอง จนต้องผลักออกทุกคืน
กรณีศึกษามากกว่า 20 เคสจากบันทึกของคุณหมอแซกส์ ที่ยิ่งอ่านยิ่งชวนให้ทึ่ง ตะลึง และหวั่นใจว่าอาการแบบนี้ก็มีด้วยหรือนี่ ยังอาจช่วยจุดประกายให้ผู้อ่านได้หันมาสังเกตคนใกล้ตัวกันมากขึ้น
ครั้งหน้าที่เห็นคุณปู่กินข้าวแค่ครึ่งจาน อาจไม่ได้แปลว่าท่านอิ่มหรือเบื่ออาหาร
หรือการที่คุณย่าบ่นว่าได้ยินเสียงเพลงในหัวตลอดเวลา ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านหูแว่วหรือคิดไปเอง
แต่ร่างกายของพวกเขา – โดยเฉพาะสมอง – กำลังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่างหาก