“คนที่เก็บกวาดห้องให้เรียบร้อยไม่ได้คือคนที่มีปัญหาทางใจ”
เจอหมัดเด็ดประโยคนี้เข้าไป เป็นใครก็ต้องรู้สึกอยากค้นหาคำตอบจากหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาทันทีว่า การทำความสะอาดบ้านเกี่ยวข้องอะไรกับการจัดระเบียบภายในจิตใจ
คุณโทมาริ นักจัดบ้านด้วยการจัดใจ ไม่ใช่หนังสือฮาวทูที่สอนการจัดเก็บหรือทิ้งข้าวของที่สอนกันแบบโต้งๆ ที่มีอยู่เกลื่อนแผงหนังสือ แต่เป็นนวนิยายขนาดสั้นที่ดำเนินเรื่องชวนติดตาม ราวกับกำลังดูซีรีส์ที่ตามไปส่องชีวิตของคนในบ้านทั้งหมด 4 หลัง
ตัวเอกของเรื่องเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก โทมาริ โอบะ นักจัดบ้านหญิงวัยกลางคน ผู้เชี่ยวชาญด้านการแนะแนววิธีจัดเก็บหรือเลือกทิ้งข้าวของรอบตัว โดยสอดแทรกการจัดปรับวิถีชีวิตของบรรดาลูกค้าไปด้วยอย่างแยบคาย
ขั้นตอนการเรียกใช้บริการคุณโทมาริสามารถทำได้ผ่านการจองคิว โดยลูกค้าต้องกรอกแบบสอบถามประเมินความรกเสียก่อน จากนั้น คุณโทมาริจะเดินทางไปยังบ้านหลังดังกล่าวเพื่อประเมินความรกของบ้านแต่ละหลังด้วยตัวเอง ก่อนจะเริ่มขั้นตอนการแนะแนววิธีจัดบ้านและจัดใจที่อาจใช้เวลายาวนานถึงครึ่งปี
น่าสนใจตรงที่ลูกค้าผู้ติดต่อไปหาคุณโทมาริล้วนไม่ใช่เจ้าของบ้านหลังที่มีปัญหา แต่มักเป็นญาติสนิทผู้หวังดี (หรือทนไม่ไหวแล้วกับการเห็นบ้านรกๆ ของคนในครอบครัว) อาทิ พ่อ แม่ ลูก แม่สามี ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนผ่านขั้นตอนของการบ่นจนปากเปียกปากแฉะให้เจ้าของบ้านลุกขึ้นมาจัดบ้านเสียที จนในที่สุดต้องหันมาใช้ไม้แข็งด้วยการพึ่งพาบริการของนักจัดบ้านมืออาชีพอย่างคุณโทมาริ
หลักการของคุณโทมาริเองก็ไม่ต่างจากทฤษฎีคมมาริ (Konmari Method) ของ คนโด มาริเอะ นักเขียนและนักจัดบ้านชื่อดังเจ้าของงานเขียนเบสต์เซลเลอร์อย่าง ‘ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว’
โดยเฉพาะหลักการ สปาร์กจอย (spark joy) ซึ่งก็คือ การยอมตัดใจทิ้งสิ่งของที่ไม่ได้นำความสุขมาสู่เจ้าของอีกต่อไป และขั้นตอนของการตัดใจนี่เองที่เป็นขั้นตอนปราบเซียนซึ่งเริ่มลงมือได้ยากยิ่ง
เพราะถ้ามันง่ายขนาดนั้น คนโด มาริเอะ คงไม่กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของนิตยสารไทม์ส ประจำปี 2015 และคุณโทมาริในนิยายก็คงไม่มีลูกค้าจองคิวแน่นเอี้ยดตลอดทั้งปี
ดังนั้น แม้การจัดบ้านจะมีแบบแผนที่ใครๆ ก็ลงมือทำได้เอง แต่ยังมีคนอีกมากที่อยากพึ่งพาใครสักคนให้ช่วยจุดไฟแห่งการโละทิ้งให้ลุกพรึบขึ้นเสียที
รสชาติของนวนิยายเรื่องนี้จึงแทรกอยู่ในทุกรายละเอียดของการนำพฤติกรรมที่หลายบ้านต้องเจอมายำใหญ่ใส่สารพัดลงไป เช่น คุณแม่ผู้ไม่ยอมทิ้งเสื้อผ้า ถ้วยชาม ที่นอนหมอนมุ้ง ฯลฯ ออกไปจากชีวิต เพราะเสียดายของหรือเผื่อว่าจะได้ส่งมอบข้าวของเหล่านั้นให้ลูกหลาน, สาวออฟฟิศที่ชนะเลิศด้านหน้าที่การงาน แต่บ้านรกจนไม่มีที่จะเดิน ถึงขั้นต้องแทรกตัวนอนบนพื้นโดยมีข้าวของกองพะเนินรายล้อมอยู่รอบตัว
รวมถึงปัญหาของสมาชิกเพศชายในครัวเรือนที่คิดว่าหน้าที่ดูแลบ้านเป็นของผู้หญิงเท่านั้น จนวันหนึ่งเมื่อเธอไม่อยู่แล้ว เขาก็หยิบจับอะไรไม่ถูกจนบ้านไม่เป็นบ้านอีกต่อไป
หรือแม้แต่ ‘ห้องที่สะอาดเกินไป’ ก็มีปัญหาซุกอยู่ใต้พรมที่เจ้าของบ้านไม่อยากเผย แต่คุณโทมาริต้องรื้อและโละทิ้งไปให้หมดให้ได้
การค่อยๆ จัดระเบียบสภาพจิตใจของเหล่าตัวละครต่างอาชีพ ต่างวัย ที่ต่างก็สะสมสิ่งของและเรื่องราวแตกต่างกันไปจึงเป็นทั้งสีสันและสาระที่ทำให้นวนิยายเล่มนี้เป็นเหมือนหนังสือฮาวทูผสมจิตวิทยาที่ถ่ายทอดออกมาได้ครบรส แทรกทั้งอารมณ์ขันและความสะเทือนใจฉาบไว้บางๆ
ต้องยกความดีความชอบของการดำเนินเรื่องได้อย่างกลมกล่อมและอ่านสนุกจนวางไม่ลงให้กับ มิอุ คาคิยะ (Miu Kakiya) นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นผู้ผ่านโลกมาแล้วเกิน 60 ฝน ที่ฉลาดในการหยิบยกปัญหาสังคมที่ไม่ว่าใครก็ต้องเผชิญมาตีแผ่ในนวนิยายอย่างเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน
อารมณ์ขันส่วนหนึ่งแทรกอยู่ในบุคลิกของคุณโทมาริเอง ที่มักพูดจาตรงไปตรงมาเสียจนบรรดาลูกค้าของเธอต่างก็พากันตั้งกำแพงกับนักจัดบ้านมืออาชีพคนนี้กันถ้วนหน้า
“ของชิ้นไหนที่ไม่ได้ใช้มานานย่อมหมายความว่ามันคือของที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าเช่นนั้นก็ควรตัดใจทิ้งเสียให้หมด”
“ไม่ว่าราคาเท่าไหร่ เสื้อผ้าที่ไม่ใส่ก็คือไม่ใส่นั่นละค่ะ เก็บไว้ก็เท่านั้น”
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ยังใช้ได้รึเปล่า ของที่ไม่ใช้ก็ควรทิ้งไปดีกว่าค่ะ”
“ดิฉันคิดว่า… ต่อให้ใช้เวลาทั้งชีวิตก็คงไม่สามารถก้าวข้ามได้หรอกค่ะ”
เจอคนไม่รู้จักมาพูดจาแบบนี้ถึงในบ้าน แถมยังมารื้อทุกตู้ ค้นทุกชั้น สำรวจแต่ละห้องอย่างละเอียดทุกกระเบียดนิ้วแบบนี้ เป็นใครคงยิ้มไม่ออก (ยกเว้นผู้อ่าน)
ดังนั้น ทุกพฤติการณ์ของคุณโทมาริจึงจี้แทงใจดำได้ตรงจุดของนักอ่านแต่ละคน ที่อาจจะเคยพูดประโยคนี้ เคยถูกว่าด้วยประโยคนี้ หรืออยากกล้าพูดประโยคนี้ออกไปตรงๆ แบบคุณโทมาริบ้าง
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การล็อกดาวน์สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ (และอาจจะยาวนานแบบไม่มีกำหนด) การลุกขึ้นมาจัดบ้านจึงเป็นกิจกรรมที่คนจำนวนมากหันมาใส่ใจ และอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวของหลายบ้านต้องปะทะคารมกันเหมือนอย่างในเรื่อง
การได้อ่านหนังสือเล่มนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการได้สำรวจจิตตรวจใจไปในตัว ผ่านการทำความเข้าใจเบื้องหลังการใช้ชีวิตรกๆ ของเหล่าตัวละครในเรื่อง ที่อาจตรงกับปัญหาที่หลายคนประสบอยู่ก็เป็นได้
เพราะท้ายที่สุดแล้วหลักการจัดบ้านให้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลือกเก็บเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้งาน หรือเป็นของที่ดีต่อใจจริงๆ เท่านั้น
“อะไรที่เห็นแล้วทำให้รู้สึกปวดใจก็ควรเอาไปทิ้งซะจะดีต่อจิตใจมากกว่า” คุณโทมาริย้ำดังๆ
คุณโทมาริ นักจัดบ้านด้วยการจัดใจ
มิอุ คาคิยะ | เขียน
กนกวรรณ เกตุชัยมาศ | แปล
สำนักพิมพ์ Sunday Afternoon