©ulture

คนที่รู้จัก วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล คงรู้ว่าในระยะหลังๆ ‘ตัวตน’ ของเขาคลี่คลายและต่างไปจากช่วงก่อนหน้า

ในฐานะคนที่เคยอ่านหนังสือชื่อ ชีวิตภาคทฤษฎี ของวรรณสิงห์ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2549 ก่อนจะมีโอกาสกลับมาสบตากับตัวหนังสือของเขาอีกครั้งอย่างจริงๆ จังๆ ผ่านนิทรรศการเรื่องเล่าผ่านภาพถ่าย “Serenity in Chaos” Story exhibition by Wannasingh Prasertkul หรือ ‘จลาจลอันงดงาม’ ที่จัดขึ้นบริเวณชั้น 1 หอศิลป์ Bacc ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 62

ก็ได้พบคำตอบถึงสาเหตุที่ทำให้ตัวตนของวรรณสิงห์ต่างไปจากเดิม เพราะถึงแม้นิทรรศการนี้จะแสดงภาพถ่าย 55 ภาพที่วรรณสิงห์คัดมาจากภาพจำนวนหลายหมื่นใบ และแต่ละใบต่างเป็นภาพที่พูดถึงโลกภายนอกที่เขาได้สัมผัสผ่านการเดินทางกว่า 71 ประเทศทั่วโลก

แต่เมื่อได้อ่าน ‘เรื่องราว’ ประกอบภาพถ่ายในแต่ละหมวด (นิทรรศการแบ่งเป็น 4 หมวด ได้ มนุษย์ พิภพ สงคราม อารยธรรม) และภาพแต่ละใบ ก็พบว่าภาพที่แสดงโลกภายนอกนั้นกลับสะท้อนลึกถึงโลกภายในของวรรณสิงห์

ว่าวันนี้เขามีมุมมองต่อโลกและชีวิตอย่างไร

ข้อความบางส่วนบนหมวดภาพถ่าย ‘มนุษย์’ วรรณสิงห์เขียนอธิบายถึงเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

เถื่อนTravel ภายนอกอาจดูแข็งกร้าว แต่ภายในผมกลับรู้สึกว่ามันคืองานที่อ่อนโยนที่สุดที่ผมเคยทำมา

อ่อนโยนต่อ “ความเป็นมนุษย์” ของพวกเราทุกๆ คน

ผมเริ่มต้นเดินทางทั่วโลกอย่างจริงจังเมื่อตอนอายุ 25 ประมาณสิบปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเป็นคนที่แตกต่างจากตอนนี้เป็นอย่างมาก ผมตอนนั้นคือคนหนุ่มที่มีโลกในอุดมคติ มีความผิดความถูกต้องที่ชัดเจนในความคิด และพร้อมจะตัดสินทุกคนและทุกอย่างด้วยชุดจริยธรรมที่ผมเชื่อว่าคือความถูกต้องอยู่ตลอดเวลา

71 ประเทศผ่านไป

การเดินทางค่อยๆ ละลายชายหนุ่มคนนั้นในตัวผมออกไปทีละนิด ทีละนิด

จากเดิมที่คิดว่ารู้ ก็ยอมรับได้ว่าไม่รู้อะไรเลย จากเดิมที่คิดว่าเข้าใจ ก็ได้เห็นว่าไม่เข้าใจอะไรเลย

จากเดิมที่ชี้ถูกชี้ผิดให้กับทุกสิ่ง กลายเป็นแทบจะไม่อยากออกความเห็นอะไรของตัวเองเลย

กลายเป็นพยายามเข้าใจทุกสิ่งและทุกคนที่ได้พบเจอในทุกที่บนโลกใบนี้ ไม่ว่าภายนอก พวกเขาจะแตกต่างจากผมแค่ไหนก็ตาม

การเดินทาง สอนให้ผมรู้ว่าในหัวใจของความเป็นคน เราไม่มีอะไรต่างกัน…

ข้างต้นเป็นเนื้อความที่คัดมาบางส่วน เพราะเนื้อความจริงๆ ยาวกว่านี้ประมาณเท่าตัว

ส่วนเรื่องเล่าที่ประกอบภาพถ่ายแต่ละใบ แม้จะมีเนื้อความค่อนข้างยาว แต่ก็ให้อรรถรสในการดูภาพอย่างมาก

ส่วนตัวผู้เขียนใช้เวลาเดินชมนิทรรศการนี้นานทีเดียว เพราะอดไม่ได้ที่จะหยุดอ่านเรื่องราวประกอบภาพแต่ละใบ

หลังจากเดินดูและอ่านไปจนทั่วนิทรรศการ ก็รู้สึกว่าการเดินนิทรรศการครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งไหน เพราะมากกว่าการดูภาพถ่าย คือการได้อ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย

ราวกับกำลังอ่านหนังสือเล่มใหม่ที่วรรณสิงห์ได้สรุปมุมมองและความคิดจากการเดินทางท่องโลกตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเล่ามันผ่านภาพถ่าย

จากจำนวน 55 ภาพที่จัดแสดง เราได้ถ่ายภาพบางภาพพร้อมคัดเรื่องเล่าประกอบบางตอนมาไว้ในบทความนี้ โดยหวังให้เป็น ‘น้ำจิ้ม’ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ไปและกำลังมีความคิดว่าจะไปว่า “ไปเถอะ”

เพราะนี่คือนิทรรศการที่จะพาเราไปเห็นโลกที่กว้างกว่าเดิม

ไม่ว่า ‘โลก’ ที่ว่า จะหมายถึงโลกภายในหรือภายนอกก็ตาม.

 

Havana Vibe

Havana, Cuba | กันยายน 2012

“…ตอนนั้นผมอายุ 28 ไม่เคยไปเยือนประเทศคอมมิวนิสต์มาก่อน และมีภาพจำในหัวว่าประเทศสังคมนิยมต้องอึมครึม ทุกอย่างเป็นระบบเป็นระเบียบ ไม่มีอิสระเสรีภาพ ทุกคนแต่งตัวคล้ายๆ กันหมด

“แต่ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลงไปเหยียบคิวบา ความคิดอคติทั้งหลายก็พังทลายลงไป เมื่อพบว่าทุกอย่างของประเทศนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ตั้งแต่ตึกสีลูกกวาดที่เห็นอยู่เต็มเมือง รถเก่าจากยุค 50-60 ที่วิ่งกันอยู่เต็มท้องถนน เสื้อผ้าของสาวๆ ที่แต่งตัวกันเปรี้ยวจี๊ดเต็มขั้น รวมไปถึงเสียงดนตรีที่มีให้ฟังแทบทุกสี่แยก

“และผู้คนที่ลุกขึ้นมาเต้นรำกันตามท้องถนน…”

 

“Titan of the Himalayas”

Everest base camp trail

Himalayas, Nepal | พฤศจิกายน 2018

“…เรามักจะพูดกันเสมอว่า จริงๆ แล้วเรื่องราวต่างๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องของสังคม เมื่อเทียบกับเรื่องราวระดับจักรวาลแล้ว ทุกเรื่องของเราช่างเป็นเรื่องแสนเล็กน้อยและแทบไม่มีน้ำหนักอะไรเลย แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะพูดกันในเชิงปรัชญาความคิดมากกว่าเป็นประสบการณ์ที่สัมผัสได้

“แต่หากจะมีสักจุดบนโลก ที่สามารถทำให้มนุษย์คนหนึ่งรู้สึกตัวเล็กขนาดนั้นได้จริงๆ ก็คงจะเป็นที่เทือกเขาหิมาลัย

“จุดที่อยู่ใกล้สวรรค์ที่สุดบนโลกมนุษย์ จุดนี้แหละครับ”

 

“No one knows”

Tokyo, Japan | มีนาคม 2015

“ผมถ่ายภาพนี้ได้ด้วยความบังเอิญ ตอนไปถ่ายทำเรื่องวิกฤตการฆ่าตัวตายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 หลังจากเพิ่งเดินทางออกจากสถานี Shin-Koiwa หนึ่งในสถานีรถไฟที่ขึ้นชื่อว่ามีคนไปกระโดดฆ่าตัวตายให้รถไฟชนบ่อยที่สุด

“…จากการได้คุยกับองค์กรช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายหลายๆ ที่ ทั้งในญี่ปุ่นและในไทย มีสองสิ่งที่พวกเขาบอกเหมือนกันเสมอคือ หนึ่งคนที่ฆ่าตัวตายเขาไม่ได้อยากตาย แต่เขาแค่อยากให้ความทุกข์ของเขาจบลงเสียที และสองคือ สิ่งแรกและสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำให้กับคนเหล่านี้ได้คือการ “ฟัง” ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังโดยไม่ต้องออกความเห็น ไม่ต้องเสนอแนะ ไม่ต้องบอกให้คิดถึงหน้าพ่อหน้าแม่เขาไว้ ไม่ต้องพยายามแก้ไขหรือบอกว่าเข้าใจ ฟังเพียงเพื่อให้เขารู้ว่าปัญหาทุกอย่างที่เขาแบกเอาไว้นั้น มีคนรับรู้ มีคนเห็นใจ มีคนช่วยแบกมันไว้บ้างแล้ว

“แม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจสามารถช่วยชีวิต คนคนหนึ่งไว้ได้…”

 

Serenity in Chaos วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

Serenity In Chaos: War / Human / Nature / Civilization

Story Exhibition by Wannasingh Prasertkul

‘จลาจลอันงดงาม’ นิทรรศการเรื่องเล่าผ่านภาพถ่ายครั้งแรกของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่ายจากการขายของที่ระลึกและภาพถ่าย มอบให้ UNHCR ประเทศไทย เพื่อเป็นทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยจากความขัดแย้งและสงครามทั่วโลก

สถานที่: บริเวณโถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

ระยะเวลา: 21 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2562

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://web.facebook.com/events/840367652979323/