©ulture

ตั้งแต่จำความได้ ทาคิโซะ อิวาซากิ (Takizo Iwasaki) ชอบวาดรูปและประดิดประดอยมาตั้งแต่เด็ก

เขามักจะนำแว็กซ์มาหยดลงน้ำแล้วปั้นให้ขึ้นรูปเป็นดอกไม้ใบหญ้าอย่างสวยงาม เมื่อเติบโตขึ้นเขาเริ่มปั้นเป็นงานหลักและตัดสินใจเปิดบริษัทรับทำโมเดลอาหารปลอมสำหรับวางโชว์หน้าร้านในปี 1932 ที่โอซาก้า ถือเป็นเจ้าแรกของญี่ปุ่นและเป็นเจ้าเดียวที่ทำอาหารปลอมน่าอร่อยมานานกว่า 90 ปี

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

โชคุฮิน ซัมปุรุ (Shokuhin Sampuru) เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียก ‘อาหารปลอม’ ที่วางเรียงรายอยู่ในตู้กระจกหน้าร้าน  ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังดูน่าอร่อยราวกับเพิ่งออกมาจากครัว

ปลายสมัยไทโชหน้าร้านอาหารในญี่ปุ่นเริ่มมีป้ายบอกรายการอาหารสำหรับลูกค้า กระทั่งในปี 1923 โมเดลอาหารปลอมก็เริ่มปรากฏให้เห็นในตู้โชว์หน้าร้านเป็นครั้งแรก โดยส่วนใหญ่จะนิยมในร้านราเมนหรือร้านอาหารแบบครอบครัว กระทั่งปัจจุบันแพร่หลายไปทั่วไม่ว่าร้านใหญ่หรือเล็ก

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

ปัจจุบัน บริษัทอิวาซากิกรุ๊ปมีช่างฝีมือมากมายทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ที่รังสรรค์อาหารปลอมได้อย่างชำนาญ 

เหล่าช่างทำงานกับร้านอาหารอย่างใกล้ชิด เพราะต้องรังสรรค์วัตถุดิบในอาหารแต่ละชิ้นให้เสมือนจริงได้มากที่สุด

ชิ้นที่ยากและท้าทายเห็นจะเป็นพวกของสดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นปลาสด ผักสด ผลไม้สด เพราะธรรมชาติมีสีซับซ้อนและหลากหลาย ส่วนพวกของปรุงสุกนั้นง่ายกว่ามาก เพราะไม่จำต้องใช้สีมากมายเท่า ส่วนเมนูยอดฮิตที่มือใหม่ก็ฝึกทำได้คือ ‘แพตตี้เนื้อในเบอร์เกอร์’

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

โมเดลแบบต้นตำรับอิวาซากิจะใช้แว็กซ์เป็นหลัก ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพลาสติกในปีหลังๆ จากนั้นจึงตกแต่งอย่างประณีตด้วยเทคนิคที่หลากหลาย อาจกล่าวได้ว่าอาหารในตู้โชว์หน้าร้านนั้นเป็นงานประติมากรรมขนาดย่อมๆ ที่ถูกจัดแสดงอยู่ทั่วเมืองเลยก็ว่าได้

หลังจากทำงานตามที่ลูกค้าขอมาตลอด ปีนี้พวกเขาจึงหาโอกาสมารวมตัวกันทำเมนูที่อยากทำ โดยออกแบบอาหารเป็นของตัวเอง รังสรรค์ 60 เมนูที่แทบไม่มีใครเคยเห็นในสมุดเมนู และจัดแสดงผลงานขึ้นในโตเกียว

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

‘นัตทอร์นาโด’ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ใช้ความละเอียดลออสูงมาก ถ้าเพ่งมองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นความเงาและเหนียวหนืดบนเมล็ดถั่วเหลืองที่หมักจนได้ที่ งานชิ้นนี้ไม่ใช่นัตโตะที่โปะอยู่บนข้าวสวยอย่างในตู้โชว์ทั่วไป แต่เป็นถั่วหมักกลิ่นแรงที่หอบเอาข้าวสวยและเศษจานเซรามิกแตกเป็นเสี่ยงๆ ม้วนเป็นเกลียวคล้ายพายุทอร์นาโด 

นอกจากนี้ยังมีพิซซ่าชิ้นหนาที่เรียงต่อกันเป็นหอเอนปิซ่า แพนเค้กหน้าทะเล้นที่เผลอทำลูกตาหล่นอยู่ในจาน หรือข้าวโพดอวบอ้วนกำลังนอนอาบแดดอย่างสบายใจจนผิวไหม้กำลังดี แม้ว่าแต่ละจานจะมาด้วยไอเดียใหม่ แต่ยังคงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของความเป็นอาหารเอาไว้ครบถ้วน ไม่เสียชื่อนักทำโมเดลอาหารเจ้าแรกของญี่ปุ่น

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

หนึ่งในเสียงของผู้เข้าชมนิทรรศการเผยว่า ดีใจที่ยังได้เห็นชิ้นงานเหล่านี้ เพราะในฐานะผู้ชมเองก็มองว่าอาหารปลอมในตู้โชว์หน้าร้านค่อยๆ หายไป ช่างเองก็ได้ผลิตงานเสิร์ฟร้านอาหารน้อยลง และหันไปทำอย่างอื่นแทน เช่น ทำโมเดลกล้วยหอมส่งโรงงานหนึ่ง เพื่อใช้ประกอบการฝึกพนักงาน ทำโมเดลของที่ระลึกหลังการนำเสนองานในบริษัทไอที

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

วงการอาหารปลอมเคยเฟื่องฟูและทำเงินสูงหลายล้านดอลลาร์ในญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดโควิด -19 ทุกอย่างก็เริ่มซบเซาลง ผู้คนไม่ค่อยเข้าร้านอาหารอย่างเคย ร้านจึงไม่จำเป็นต้องเรียกลูกค้าด้วยการทำแบบจำลองมาวางหน้าร้านอีกต่อไป 

ถึงอย่างนั้นเหล่าช่างฝีมือจากอิวาซากิกรุ๊ปก็ยังหวังว่าเมื่อญี่ปุ่นกลับมาเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักเหมือนเคย และทำให้จานอาหารของพวกเขาได้กลับไปเฉิดฉายที่หน้าร้านอีกครั้ง

Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP
Photo : Kazuhiro Nogi / AFP

 

อ้างอิง