©ulture

อิฐแสนกว่าก้อน ปูนหลายสิบตัน ไม้แปดซุง ร่วมก่อร่างสร้างออกมาเป็นคาเฟ่ในฝันของเรา

ประโยคนี้เป็นหนึ่งในคำบรรยายประกอบภาพถ่ายขาวดำบนหน้าเพจเฟสบุ๊กของ FO SHO BRO ที่บอกเล่าถึงขั้นตอนการก่อสร้างคาเฟ่น้องใหม่ในย่านอุดมสุข ก่อนที่ ‘คาเฟ่ในฝัน’ จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างถูกใจบรรดา Instagrammer ที่แห่แหนกันไปถ่ายภาพเช็คอินจนร้านแทบแตก ตั้งแต่เพิ่งเปิดได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์

ด้วยรูปลักษณ์ของตัวร้านที่เตะตาตั้งแต่การเลือกใช้สีชมพูอ่อนอันเป็นเอกลักษณ์ของดินเผาเทอราคอตตา ประดับประดาด้วยพรรณไม้ใบแหลมและทรงหนามราวกับอยู่กลางทะเลทราย มีสระน้ำและสวนหินด้านนอกตัวร้าน พร้อมที่นั่งสังสรรค์ในบรรยากาศ pool party และเมื่อผลักบานประตูเข้าไปสู่ตัวร้านก็ราวกับได้เข้าไปเยือนแกลเลอรี่ส่วนตัวในห้องนั่งเล่นดีไซน์เก๋ทุกกระเบียดนิ้ว

FO SHO BRO

FO SHO BRO

“คนมักจะมองร้านเราว่าเป็นสไตล์โมร็อกโก แต่จริงๆ ตั้งใจทำให้เป็นสไตล์แคลิฟอร์เนีย ออกแนวปาร์ตี้ริมสระว่ายน้ำ” เปี๊ยกพิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ เจ้าของร้านผู้พ่วงตำแหน่งสถาปนิก อินทีเรีย และนักต้มเบียร์ เล่าถึงคาเฟ่ในฝันของเขา ที่อาจนับเป็นคาเฟ่แห่งแรกในชีวิต แต่ไม่ใช่ร้านแรกที่เขาปลุกปั้นขึ้นมากับมือ

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 เปี๊ยกเคยปั้น Let The Boy Die โซเชียลบาร์ที่เสิร์ฟคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยให้กลายเป็นที่จดจำในหมู่นักดื่มมาแล้ว ซึ่งร้านนี้ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่เขามั่นใจในรสชาติของคราฟต์เบียร์ผลิตเองภายใต้ชื่อแบรนด์ Golden Coins ที่ต้มเองดื่มเองในหมู่เพื่อนฝูงมาตั้งแต่ปี 2554

หลังจากนั้น Let The Boy Die มีเหตุให้ต้องปิดตัวลง ประกอบกับเปี๊ยกลงทุนนำเบียร์ Golden Coins ไปผลิตที่เวียดนามแล้วนำกลับเข้ามาขายในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย เลยเปิดบาร์เบียร์อีกแห่งในย่านเอกมัยอย่าง Golden Coins Taproom ไว้เสิร์ฟเบียร์สดแบรนด์ ‘เหรียญทอง’ โดยเฉพาะ และไม่นานหลังจากนั้น ในปี 2561 Let The Boy Die ก็คืนชีพอีกครั้งในทำเลตรงข้ามร้านเดิม เพิ่มเติมคือ ตัวร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รองรับความสนุกในแบบโซเชียลบาร์ได้อย่างเต็มที่

FO SHO BRO
เปี๊ยก – พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์
เจ้าของร้าน FO SHO BRO

ทว่าเวลาแห่งความสนุกนั้นออกจะสั้นไปหน่อย เมื่อโควิด-19 เดินทางมาปราบเซียน ทำให้ Let The Boy Die จำเป็นต้องปิดร้านตามมาตรการของภาครัฐในปีแรกของการแพร่ระบาด และแทนที่จะแค่กดปุ่ม pause พิพัฒนพลมั่นใจที่จะ stop ไปเลยดีกว่า

“ปิดดีกว่า” นักต้มเบียร์เจ้าของบาร์ตัดสินใจเด็ดขาด

“ผมว่าการทำบาร์ ความเฟรชเป็นสิ่งสำคัญ ผมไม่อยากให้คนเดินเข้ามาในร้านแล้วพูดว่า ร้านนี้เคยดัง เมื่อก่อนคนเต็มเลย แบบนั้นมันเหมือนคนแก่ ดังนั้น ถ้าจะต้องปิดก็ปิดไปเลย เดี๋ยวค่อยว่ากัน

“เพราะอันที่จริง ความตั้งใจเดิมตั้งแต่ลาออกจากที่ทำงานเก่าไม่ใช่การเปิดร้านหรอก แต่เป็นการทำโปรดักท์ของตัวเอง นั่นก็คือ เบียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมโฟกัสมากกว่า ส่วนตัวร้าน ถ้าไม่เฟรชแล้วก็น่าจะหาคอนเสปท์ใหม่ๆ มาทำ”

และ FO SHO BRO ก็เป็นเหมือนของขวัญจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่มอบโอกาสใหม่ให้พิพัฒนพลลุกขึ้นมามีไฟอีกครั้ง

FO SHO BRO

คาเฟ่ที่ออกแบบให้ลูกค้าอยากกลับมาเยือนซ้ำๆ

“ช่วงที่ต้องปิดร้านเพราะโควิด ทุกอย่างชัตดาวน์หมดเลย แต่มีอยู่ธุรกิจนึงที่ทยอยเกิดขึ้นใหม่และขายดีมาก นั่นคือ คาเฟ่ เพราะทุกคนต้องเวิร์คฟรอมโฮม พอทำงานที่บ้านนานๆ ก็เบื่อ ต้องออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟ ซึ่งสามารถประชุม Zoom ได้ด้วย” พิพัฒนพลเล่าถึงการวิเคราะห์โอกาสในวิกฤติที่เขาเฝ้ามองมาตลอดระยะกว่าของการแพร่ระบาด

“อีกธุรกิจที่บูมคือ การขายของออนไลน์ที่เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งผู้ขายรายย่อยเหล่านี้ก็ต้องการความแปลกใหม่ในการนำเสนอรูปแบบการขาย เลยไปขายของในคาเฟ่ต่างๆ ผมเลยคิดว่า คาเฟ่ก็เป็นธุรกิจบริการเหมือนกับที่ตัวเองเคยทำมาก่อน แถมผมก็เรียนมาทางด้านดีไซน์และเคยเป็นผู้ประกอบการมาแล้ว เลยลองปรับทัศนคติในการทำร้านให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปข้างหน้าดู เลยเริ่มตกตะกอนความคิดออกมาว่าหน้าตาคาเฟ่ของเราควรจะเป็นยังไง”

FO SHO BRO

ห้ามจิ้มสไตล์การตกแต่งร้านมาจาก Pinterest – เป็นกฎเหล็กที่นักออกแบบมืออาชีพอย่างเขาปักธงไว้ในใจ

“ยุคนี้อะไรๆ ก็เร็วไปหมด ดังนั้น คำตอบของการทำร้านจึงมีแค่ใช่กับไม่ใช่ ถ้าเราทำร้านออกมาแล้วไม่ใช่ก็ไม่มีคนเข้า แต่ถ้าทำแล้วขายดี เดี๋ยวถัดไปอีกสามล็อคก็จะมีคนเปิดร้านกาแฟสไตล์แบบเราขึ้นมาบ้าง ดังนั้น ถ้าเราทำอะไรที่ง่าย คนก็ทำตามง่าย อย่างที่นี่อาจจะดูเหมือนสีอิฐธรรมดาๆ แต่ผมเชื่อว่าต่อให้ทาสียังไงก็ไม่ได้สีแบบนี้”

FO SHO BRO

ทำไมถึงเลือกฉาบร้านให้โดดเด่นด้วยสีสันของเทอราคอตตา – เราสงสัย

“ดินเผาเทอราคอตตามีถิ่นกำเนิดในแถบตอนใต้ของอิตาลีและสเปน แถวนั้นจะมีดินแดงๆ แบบนี้ที่ภายหลังพัฒนามาเป็นกระเบื้อง ซึ่งบ้านเรือนของชาวบ้านเมื่อ 300-400 ปีก่อนมักสร้างจากไม้หรือฟาง มีเฉพาะเศรษฐีเท่านั้นที่สร้างบ้านด้วยดินแดงๆ แบบนี้ เทอราคอตตาจึงเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในอดีต ผมเลยถูกใจทั้งสีสันและความหมายของเทอราคอตตา” พิพัฒนพลเล่าถึงรายละเอียดที่บรรจงใส่ลงไปในเนื้อสี

FO SHO BRO

FO SHO BRO

ไม่เฉพาะโทนสีเทอราคอตตาที่บรรจงเลือกมาให้ทั้งดูสวยงามและยากจะเลียนแบบ เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นของที่นี่ ไล่มาตั้งแต่บานประตู โต๊ะ เก้าอี้ พื้น ไปจนถึงเสาและคาน ก็ใช่จะไปเดินเลือกซื้อตามได้ทันใจ เพราะพิพัฒนพลบรรจงเลือกไม้และออกแบบเองทุกชิ้น จนได้เฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เฉพาะตัว ที่เป็นดั่งแม่เหล็กเชื้อเชิญให้เหล่า cafe hopper ไปจนถึง instagrammer เข้ามาใช้บริการ โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านประตู

FO SHO BRO

“เราปฏิเสธไม่ได้หรอกกับการที่คนจะมาถ่ายรูป เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ ดังนั้น การที่จะให้คนกลับมาซ้ำถือเป็นการต่อยอดจากตรงนั้นมากกว่า ผมจึงให้ความสำคัญกับ vibe ของร้าน ที่ไม่ได้หมายถึงแค่สไตล์การตกแต่งหรือเฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน แต่คือภาพรวมทั้งหมด เราอยากชวนคนเข้ามาฟังเพลงแบบนี้ เสพงานศิลปะแบบนี้ ที่ในอนาคตผมว่าจะจัดกิจกรรมในร้านให้มากขึ้น”

FO SHO BRO

อาจเพราะความแม่นยำในการออกแบบร้านให้จับใจผู้คนได้อยู่หมัดของพิพัฒนพล บวกกับพลังของโซเชียลมีเดีย ทำให้เพียงสัปดาห์แรกหลังเปิดร้านแบบ Soft Opening ไปเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีลูกค้าผลักบานประตูเข้ามาทักทาย ถ่ายรูป กินขนม จิบเครื่องดื่มไม่ขาดสาย โดยมียอดขายเฉลี่ย 500 แก้วต่อวัน

“เราอยากให้เขากลับมาอีก เราอยากให้คนที่มาครั้งแรกเพราะสงสัยว่า นี่มันร้านอะไรวะ โฟโชโบร?! เดี๋ยวพอเขามาครั้งที่สองก็จะเกตแล้ว เพราะสไตล์ของเราค่อนข้างชัดเจน แน่นอน ฟอร์ ชัวร์ โบร!” เจ้าของร้านเฉลยความหมายของชื่อร้านเป็นนัย

เสิร์ฟกาแฟในกลิ่นอายค็อกเทล

เพราะช่ำชองในการต้มเบียร์และรังสรรค์บรรยากาศแบบปาร์ตี้มาก่อน ไม่แปลกที่พิพัฒนพลจะหยิบเอาส่วนผสมของความสนุกยามค่ำคืนไปชงใส่ในกาแฟทุกแก้วได้อย่างน่าสนใจ

“ร้านเราไม่ได้คั่วกาแฟเอง ไม่ได้เป็นสเปเชียลตี้ทางด้านนี้ แต่ในเมื่อเราทำคาเฟ่ก็ต้องขายกาแฟ เลยอยากครีเอทเมนูขึ้นมาให้มีความหลากหลายโดยใช้วิธีคิดเดียวกับการทำค็อกเทล ที่เกิดจากการเลือกเหล้า ซึ่งมีหลายยี่ห้อหลายประเภทและเหมาะกับการทำค็อกเทลแตกต่างกันออกไป เลยเปลี่ยนจากตัวแปรของเหล้ามาเป็นกาแฟ แล้วครีเอทเมนูให้ตรงกับไวบ์ของร้านเรา”

FO SHO BRO
Old Fashion (ราคา 180 บาท)

ยกตัวอย่าง Old Fashion คลาสสิคค็อกเทลที่เมื่ออยู่ในเมนูของ FO SHO BRO ก็ปรับเปลี่ยนจากเหล้ามาใช้กาแฟสกัดเย็นเข้มข้น แล้วเพิ่มกลิ่นหอมอวลขณะจิบด้วยซินนามอน เปลือกส้ม และโรสแมรี่ ทำให้เวลามีแก้วนี้ในมือได้ฟีลเหมือนกำลังปาร์ตี้ แม้จะเป็นยามบ่ายแดดแจ๋ก็แสนจะรื่นรมย์

FO SHO BRO
พายพีแคน (ราคา 190 บาท), พีชโมฮีโต้ (ราคา 180 บาท)
และแอปเปิ้ลทาร์ต (ราคา 190 บาท)

ใครชอบจิบโมฮีโต้เป็นแก้วโปรด น่าจะถูกใจ Peach Mojito ที่เรียกความสดชื่นได้อยู่หมัดด้วยการจับคู่ที่เข้ากันของกาแฟดำและโซดา พร้อมเนื้อพีชเข้มข้นณ ก้นแก้ว ดูดไปเคี้ยวไปได้เพลินๆ แถมยังเหมาะที่จะสั่งเบเกอรี่ประจำร้านอย่าง พายพีแคน หรือแอปเปิ้ลทาร์ตมากินคู่กัน ด้วยเนื้อเค้กไม่หนัก เน้นความหวานแบบบางๆ เพราะแต่ละชิ้นอัดแน่นด้วยเครื่องเคราอย่างถั่วพีแคนและเนื้อแอปเปิ้ลเชื่อม ที่ให้ความหวานกรุบอยู่แล้วในทุกคำเคี้ยว

FO SHO BRO
คราฟต์โคล่า (ราคา 160 บาท)

สำหรับใครที่เป็นแฟนคลับคราฟต์เบียร์ Golden Coins อาจต้องอดใจรอจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป ที่ทางร้านจะเริ่มทยอยนำสารพันคราฟต์เบียร์ที่เป็นซิกเนเจอร์มาเสิร์ฟรับลมหนาว (มาครั้งหน้าอาจได้จิบ FO SHO BEER ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่) ระหว่างนี้ แนะนำให้สั่ง คราฟต์โคลา มาจิบรสหวานปนซ่าไปพลางๆ เพื่อสัมผัสอรรถรสตำรับ homemade ที่ยากจะลอกเลียน

FO SHO BRO

Fo Sho Bro

  • ที่อยู่: ซ.สุขุมวิท 66/1 ร้านอยู่ภายในซอยสรรพวุธ 2
  • (BTS อุดมสุข ทางออก 4)
  • Facebook: facebook.com/FO-SHO-BRO
  • โทร:  082 005 7423
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 9.00 -18.00 น.