©ulture

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า หอพรรณไม้ หลายคนเกิดความสงสัยขึ้นมาทันทีว่าคืออะไร

หอพรรณไม้ หรือพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) เป็นสถานที่สำหรับเก็บรักษาตัวอย่างพรรณไม้แห้ง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางอนุกรมวิธานพืช ซึ่งส่วนใหญ่แล้วหอพรรณไม้มักจะอยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ มหาวิทยาลัย หรือสวนพฤกษศาสตร์ต่าง ๆ จึงทำให้คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับโลกของหอพรรณไม้

ทั้ง ๆ ที่ภายในนั้นเต็มไปด้วยความสวยงาม ลี้ลับ และเรื่องราวน่าเรียนรู้มากมาย

Malibarn
กมลรัตน์ ชยามฤต
เจ้าของร้านดอกไม้ Malibarn : eco-florist & herbarium

 

ยืนยันโดย ปั้นหรือมะลิ กมลรัตน์ ชยามฤต หญิงสาวที่คลุกคลีอยู่กับหอพรรณไม้มาตั้งแต่เด็ก เพราะเธอต้องติดตามคุณแม่ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์ไปใช้ชีวิตในห้องทำงานที่รายล้อมด้วยพฤกษานานาพันธุ์ตั้งแต่จำความได้

“คุณแม่เองก็รับหน้าที่นี้สืบทอดมาจากคุณตาค่ะ” มะลิเล่าให้ฟังถึงพันธกิจของครอบครัว เมื่อคุณตาเต็ม หรือ ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ นักพฤกษศาสตร์คนแรกของเมืองไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Flora of Thailand ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2497 โดยระดมความร่วมมือจากนักพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลกในการจำแนกพรรณไม้ของประเทศไทย

Malibarn

“โครงการนี้เป็นโครงการระยะยาว ต้องใช้เวลาสำรวจและเก็บข้อมูลนานกว่า 60 ปี คุณแม่ (ดร. ก่องกานดา ชยามฤต) ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์เหมือนกันจึงรับช่วงดูแลโครงการนี้ต่อจากคุณตา ทำให้ทุกปิดเทอม มะลิจะต้องไปอยู่ในหอพรรณไม้ที่เกษตรฯ กับแม่ ซึ่งเป็นเหมือนแดนสนธยา แวดล้อมด้วยคอลเล็กชั่นพรรณไม้เป็นหมื่น ๆ ชนิด โดยบรรยากาศในหอพรรณไม้จะจริงจังกว่านี้ และเป็นกลิ่นน้ำยาฟอร์มาลีน ไม่ได้หอมดอกไม้เหมือนในร้านของเรา”

Malibarn

มะลิเล่าพลางอมยิ้มภูมิใจในเอกลักษณ์ของร้านดอกไม้ ‘มะลิบาน’ ที่ตั้งใจไม่ใช้ตู้เย็นในการยืดอายุดอกไม้ เพราะอยากให้ทุกคนที่ผลักประตูเข้ามาในร้านได้กลิ่นหอมอ่อน ๆ ตามธรรมชาติของดอกไม้ เหมือนอย่างที่ร้านมะลิบานซึ่งเคยเปิดทำการในนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว เคยสร้างความประทับใจให้ผู้คนที่นั่นนานร่วมสองปี

และไม่ใช่แค่ความประทับใจของลูกค้าที่มาเลือกซื้อดอกไม้เท่านั้น แต่เบื้องหลังการเกิดขึ้นของร้านมะลิบานแห่งแรก ซึ่งเกิดจากคำสัญญาของมะลิที่บอกกับชาวบ้านป่าหน่อในเมืองหลวงพระบาง เอาไว้ว่า เธอจะรับซื้อดอกไม้ที่พวกเขาปลูกไว้ทั้งหมดเอง หลังจากระดมทีมงานจากโครงการหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการปลูกไม้ดอกอย่าง Gladiolus (ซ่อนกลิ่นฝรั่ง) , จิปซี, Statice, เยอบีร่า, ไฮเดรนเยีย ฯลฯ เพื่อสร้างอาชีพใหม่ให้กับชาวบ้านที่นั่น

Malibarn

จากสัญญาปากเปล่าต่อยอดให้หญิงสาวผู้มีอาชีพหลักในสายงานด้านอนุรักษ์มรดกโลกขององค์การยูเนสโก ต้องหัดเรียนรู้เรื่องการจัดดอกไม้ และเปิดร้านดอกไม้เล็ก ๆ ขึ้นในเมืองหลวงของประเทศลาวในที่สุด

หลังจากปิดร้านดอกไม้แห่งแรกในชีวิตไป มะลิก็ได้รับโอกาสดี ๆ อีกครั้งในการเปิดร้านมะลิบานในกรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Slowcombo ชุมชนแห่งใหม่ใจกลางสามย่านที่รวมพันธมิตรร้านค้าที่เน้นดูแลสุขภาพกาย ใจ และจิตวิญญาณไว้ในที่เดียวกัน

Malibarn

Malibarn

“พอจะต้องเปิดร้านดอกไม้อีกครั้ง มะลิเลยปิ๊งไอเดียในการทำหอพรรณไม้ในร้านดอกไม้ขึ้นมา โดยเราจะผสมความเป็นอาร์ตเข้าไปในชิ้นงาน plant press และการดองต้นไม้ดอกไม้ให้มีความสวยงาม เพราะถ้าเป็นการเก็บตัวอย่างพืชในแบบวิทยาศาสตร์ เขาจะเก็บแค่รูปทรง ไม่เก็บสี แต่เราจะเก็บสีไว้ด้วยเพื่อให้เด็ก ๆ เกิดความสนใจอยากเรียนรู้”

Malibarn

Malibarn

เธอขยายความต่อถึงเทคนิค plant press ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการเก็บตัวอย่างพืชจากในป่า โดยจะเพรสให้เห็นราก กิ่งก้าน เกสร ลวดลายของใบ ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต่อการนำไปใช้ในการจำแนกพืชตามหลักอนุกรมวิธาน หรือพืชที่เป็นหัวก็ใช้วิธีดองใส่ขวดโหล ซึ่งมะลิก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการเก็บสะสมพรรณไม้ต่าง ๆ  ราว 50-60 ชนิด พร้อมระบุชื่อทางวิทยาศาสตร์ เตรียมไว้ให้แขกผู้มาเยือนร้านดอกไม้มะลิบานได้ความรู้กลับไปพร้อม ๆ กับดอกไม้สวย ๆ จากฝีมือการปลูกของเกษตรกรไทย

Malibarn

“มะลิบานจะใช้เฉพาะดอกไม้ที่ปลูกในประเทศไทยเท่านั้นค่ะ เพื่อลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์จากการขนส่งทางอากาศ โดยดอกไม้ส่วนใหญ่มาจากเชียงใหม่ เราทำงานกับ 7-8 ฟาร์มที่โน่น และบางส่วนซื้อจากปากคลองตลาด โดยคัดเฉพาะร้านที่รับดอกไม้ในไทยมาขาย”

นอกจากการมาเยือนร้านมะลิบานจะทำให้หลาย ๆ คนได้รับความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณและดอกไม้ติดตัวกลับไปแล้ว มะลิยังตั้งใจตั้งราคาดอกไม้ให้ทุกคนสามารถจับต้องได้ มาที่ร้านนี้ไม่ต้องซื้อดอกไม้เป็นช่อ แต่ถูกใจดอกไหนสามารถเลือกซื้อแค่ดอกเดียวก็ยังได้

Malibarn

Malibarn

“ใครจะจีบสาวมีเงิน 60 บาท ก็ได้ลิลลี่ไป 2 ก้านแล้วนะ” เธอเล่าพลางยิ้มให้กับไอเดียน่ารักที่เหมาะกับทำเลที่ตั้งของร้านซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียนและมหาวิทยาลัย “เซตติ้งร้านอาจจะดูแพง แต่ราคาของเราจับต้องได้ และร้านก็มีกำไรนะคะ เหตุผลที่เราขายถูกได้เพราะใช้ดอกไม้ในเมืองไทยนั่นเอง”

มะลิย้ำถึงหัวใจของร้านมะลิบานที่เลือกใช้เฉพาะดอกไม้ที่ปลูกในเมืองไทย เพราะอยากให้โมเดลของการสนับสนุนเกษตรกรไทยเผยแพร่ในวงกว้างและได้รับความนิยมในหมู่เจ้าของกิจการร้านดอกไม้ในเมืองไทย เพราะเธอเชื่อมั่นว่าดอกไม้ที่ปลูกในประเทศไทยก็สวยไม่แพ้ที่ไหนในโลก และที่สำคัญกว่านั้นคือเป็นการช่วยกันลดปริมาณคาร์บอนฟุตปริ้นต์ที่เกิดขึ้นมหาศาลจากกระบวนการขนส่งอีกด้วย

Malibarn

นอกจากนี้ ร้านมะลิบานยังเน้นงานอนุรักษ์ศิลปะไทยอย่างการร้อยมาลัยตามขนบโรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง โดยฟลอริสต์ประจำร้านเองก็มีฝีมือในการจัดดอกไม้ทั้งแบบไทยและแบบสากลได้เป็นอย่างดี ใครที่สนใจอยากเรียนจัดดอกไม้ ทางร้านมีการจัดเวิร์กช้อปอย่างสม่ำเสมอ ติดตามได้บนเพจของร้าน Malibarn: eco-florist & herbarium หรือทางเพจ Slowcombo

Malibarn

Malibarn : eco-florist & herbarium

เปิดบริการเวลา 10.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์

ชั้น 2 โครงการ Slowcombo

ซอยจุฬาลงกรณ์ 50 สามย่าน กรุงเทพฯ

โทร 061 958 0801

FB: Malibarn: eco-florist & herbarium

malibarn.myshopify.com