“Welcome to Utopia, Escape Reality for a While”
ข้อความบนผนังด้านหนึ่งปะทะสายตาแขกผู้มาเยือนในทันทีที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใน The Alphabet Book Café พลอยทำให้รู้สึกถึงการเดินทางมาถึง ‘โลกสมมติ’ อย่างสมบูรณ์
โลกสมมติที่ไม่ได้แปลว่า โลกที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา แต่ที่นี่คือโลกใบย่อมที่ สำนักพิมพ์สมมติ สร้างขึ้นเพื่อให้ทั้งคนที่หลงใหลวรรรณกรรม และคนที่สนุกกับการกิน ดื่ม ถ่ายรูป ท่องเที่ยว และแชร์ประสบการณ์สู่โลกโซเชียล ได้เข้ามามีความสุขในพื้นที่แห่งนี้ร่วมกัน
“พวกเรารู้สึกว่า Welcome to Eutopia เป็นวลีที่เหมาะกับที่นี่ เพราะมุมมองของการเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ที่อยู่ในซอยย่อย ไม่ได้ติดถนนใหญ่ พอเข้ามาปุ๊บจะเห็นเป็นกล่องสีดำตั้งอยู่ แค่นี้ก็ประหลาดแล้ว ยิ่งพอเข้ามาข้างในก็กลายเป็นอีกฟีลที่เหมือนได้หลบหนีไปจากโลกแห่งความจริง”
สิท – สิทธิวัฒน์ เรืองพงศธร ผู้ช่วยบรรณาธิการสำนักพิมพ์สมมติ ที่ปัจจุบันควบตำแหน่งแคชเชียร์และบาริสต้าประจำ The Alphabet Book Café เริ่มต้นบทสนทนาถึง ‘บุ๊กคาเฟ่’ ลำดับที่สองของสำนักพิมพ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายแข็งด้านการคัดสรรวรรณกรรมคลาสสิคจากปลายปากกาของนักเขียนระดับโลกมาแปลและตีพิมพ์ รวมถึงการให้ความสำคัญกับนักเขียนไทยให้มีเวทีเป็นของตัวเอง
ถอยเวลากลับไปเมื่อปี 2559 สำนักพิมพ์สมมติเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้เข้ามาทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ทุกเล่มของสำนักพิมพ์ ณ สมมติ Book Cafe ร้านหนังสือที่มีหน้าตาเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมสีดำตั้งอยู่ในโครงการชวนชื่นการ์เด้น ย่านตลิ่งชันบนถนนกาญจนาภิเษก เส้นเดียวกับที่ตั้งของ The Alphabet Book Café ซึ่งห่างออกมาอีกไม่ไกล แต่ยังคงเอกลักษณ์ของการยืนหยัดอย่างโดดเดี่ยว สงบ และสง่างามกลางพื้นที่เปิดโล่ง ที่มีฟ้าสีฟ้าตัดกับจั่วสีดำของอาคาร แต่งแต้มด้วยสีเขียวของไม้ใบทั่วทุกมุมของพื้นที่ ราวกับแตกกิ่งก้านสาขาจากต้นเสม็ดแดงที่เคยยืนต้นเคียงคู่ สมมติ Book Cafe มาตั้งแต่ปีแรก และย้ายมายืนหยัดยัง The Alphabet Book Café ในปัจจุบัน
ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดจากขยับขยายร้านหนังสือให้กลายเป็นคาเฟ่หนังสือ นอกจากพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิมแล้ว คุณสมบัติของความเป็นคาเฟ่ก็กลมกล่อมลงตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเมนูเครื่องดื่มที่มีครบทั้งหมวดคาเฟอีนและนอน–คาเฟอีน
เด่นที่สุดต้องยกให้ Alphabet Signature กาแฟโบราณรสชาติหวานมันเข้มข้น หรือจะเป็นกาแฟผสมส้มยูซุ โซดา น้ำมะพร้าว ฯลฯ ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับคนชอบลิ้มลองรสชาติแปลกใหม่ (รวมถึง Secret Drinks ในช่วงหลัง 4 โมงเย็นไปเป็นต้นไป ที่แนะนำให้สอบถามทางร้านว่ามีเมนูไหนโดนๆ บ้าง ก่อนสั่งมาจิบละเลียดบรรยากาศยามอาทิตย์อัสดง)
นอกจากนี้ ยังมีเบเกอรี่ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเสิร์ฟไม่ซ้ำในแต่ละสัปดาห์ อาทิ อัลมอนด์บราวนี่ เค้กผลไม้ บลูเบอร์รี่ทาร์ต เร้ดเวลเว็ทเค้ก ฯลฯ กับอีกหนึ่งเมนูขนมทานเล่นที่ยืนพื้นพร้อมเสิร์ฟทุกวัน อย่าง Finger Lickin Toast ขนมปังปิ้งกรอบนอกชุ่มเนย หั่นเป็นแท่งยาวหยิบจิ้มนมข้นหวานกินได้อย่างเพลิน อร่อยจนต้องเลียนิ้วสมชื่อเมนู
“เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้นึกถึงคำว่าคาเฟ่ร้อยเปอร์เซ็นต์ คนทำสำนักพิมพ์เวลาจะคิดช้อปของตัวเองก็ไม่พ้นร้านหนังสือ พอเป็นร้านหนังสือปุ๊บ priorities ต่างๆ ก็ไปลงที่หนังสือ อาหารการกินหรือเครื่องดื่มมาทีหลัง หรือถ้ามาก็มาแบบย่อมๆ แค่พอประทังไว้” เอก – เอกสิทธิ์ เทียมธรรม อีกหนึ่งผู้ช่วยบรรณาธิการ ผู้ขลุกอยู่กับทุกการเติบโตของสมมติมานานกว่าสิบปี ราวกับเป็นมือขวาของ ต้อง – ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฯ ร่วมวงเล่า
และนอกจากสองผู้ช่วยบรรณาธิการแล้ว ยังมี แชมป์ – จิรวัฒน์ รอดอิ่ม กราฟิกดีไซน์เนอร์สำนักพิมพ์สมมติ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการปลุกปั้นร้าน The Alphabet Book Café มาด้วยกัน
“ตอนเริ่มทำร้านหนังสือสมมติ เราขายแต่หนังสือ ลูกค้าจะคอแห้งมาจากไหนไม่รู้ แต่เราจะขายหนังสือ ขายดินสอ จนช่วงหลังเริ่มปรับเป็นบุ๊กคาเฟ่ ก็ยังขายหนังสืออยู่ และเริ่มฝึกทำกาแฟเมนูง่ายๆ เสิร์ฟ เพื่อเป็นการทดลอง จนเริ่มมั่นใจในบรรยากาศแบบนี้มากขึ้น เมื่อถึงเวลาขยับขยาย เราทุกคนในสำนักพิมพ์ก็มาปรับกันใหม่ โดยทุกคนต้องไปหัดทำกาแฟให้จริงจังขึ้น ไปหาเมนูของกินมาเสริมให้เป็นคาเฟ่ 50% และร้านหนังสือ 50% เพราะตัวคาเฟ่เองเราก็ให้ความสำคัญมาก เอาเข้าจริงซีเรียสกว่าหนังสืออีก เพราะสำหรับของกินแล้ว ไม่ว่าจะทำผิดหรือถูก เราสามารถรับรู้ผลตอบรับได้เลย ในขณะที่หนังสือยังต้องใช้เวลาในการรู้ฟีดแบ็ก” เอกสิทธิ์เล่าถึงลำดับความสำคัญของหน้าที่ใหม่ที่สมาชิกชาวสมมติกำลังช่วยกันทำอย่างขะมักเขม้นในตอนนี้
“เราอยากให้ลูกค้ามานั่งคุยกันเฮฮา ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องรู้สึกว่าฉันต้องลุกแล้วนะ เดี๋ยวจะมีคนใหม่เข้ามา การจัดพื้นที่ในร้านจึงเกิดจากความต้องการสองอย่างผสมกัน คือ อยากให้คอนเนกท์กันด้วย แต่ก็ต้องการให้แยกขาดจากกันด้วย” สิทธิวัฒน์เสริมถึงการจัดวางที่นั่งภายในร้าน ที่มีทั้งโซนในคาเฟ่หนังสือ โซนภายนอกใต้ชายคา และพื้นที่ด้านนอกสุดที่มองเห็นทัศนียภาพโดยรอบ โดยแต่ละโต๊ะแยกออกจากกันโดยอาศัยต้นไม้ใบเขียวเป็นเครื่องกั้นกลาง
“และด้วยกิมมิคอย่างหนังสือหรือ quote คำพูดต่างๆ ที่สอดแทรกอยู่ตามแต่ละโต๊ะ ซึ่งอาจจะยังไม่โดนวันนี้ แต่น่าจะโดนใครสักคนเข้าในสักวัน” เขาเล่าเพิ่มเติมถึงการประดับตกแต่งร้านโดยใช้บรรดาสิ่งพิมพ์ที่เป็นผลงานของสำนักพิมพ์สมมติมาจัดวางอย่างลงตัว
“เราอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าหนังสือมีคุณค่า และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเราทุกๆ ครั้งที่ได้เปิดหนังสือออกอ่าน เราเลยอยากให้หนังสือเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้คนถึงจะไม่มากก็ยังดี”
แน่นอนว่าคาเฟ่หนังสือแห่งนี้ไม่ใช่ห้องสมุด ดังนั้น นอกจากจะพูดคุยกันได้ตามอัธยาศัยแล้ว ใครสนใจอยากทดลองอ่านหนังสือเล่มไหน ก็สามารถหยิบไปอ่านที่โต๊ะได้ตามสบายก่อนจะตัดสินใจซื้อ หรือใครที่มาเป็นหมู่คณะและอยากให้ทางร้านจัดโต๊ะให้ใหม่ก็สามารถทำได้ หากอยากพาสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มาชิลด้วยกัน ก็ไม่ผิดกติกาของที่นี่แต่อย่างใด
ส่วนใครที่ออกตัวว่าไม่ใช่หนอนหนังสือ ก็สามารถเข้ามาแชร์ความสุขในพื้นที่แห่งนี้ได้เท่าๆ กับนักอ่านวรรณกรรมสายแข็งเช่นกัน
“หลายคนสนุกกับการหยิบหนังสือไปเป็นพร็อพส์ในการถ่ายรูป ซึ่งแค่นั้นผมว่าก็เป็นเสน่ห์ของหนังสือแล้ว เพราะถ้าหนังสือไม่มีความหมาย เขาคงไม่หยิบมันขึ้นมา” สิทธิวัฒน์เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้สัมผัสลูกค้าหลากหลายตลอด 2 เดือนที่เปิดร้าน
“อย่างน้อยการหยิบหนังสือมาถ่ายรูปก็รีไมน์เขาได้อย่างนึงแล้ว จะมากจะน้อยพวกเราไม่รู้หรอก อย่างน้อยก็มีรูปที่เขากำลังอ่านหนังสือในไอจีของเขาแล้ว วันนึงเขาอาจจะเลือกหนังสือสักเล่มไปอ่านก็ได้ คล้ายๆ กับหนังสือแต่ละเล่มที่พวกเราทำขึ้นมา ที่จะส่งผลกระทบต่อใครสักกี่มากน้อย เราไม่มีทางรู้ได้เลย คุณอาจจะเปลี่ยนเป็นอีกคนเลยก็ได้หลังจากอ่านหนังสือเล่มที่ใช่จริงๆ แต่คุณเปลี่ยนไปตอนไหนพวกผมไม่รู้หรอก ผมรู้แค่เราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เราอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าหนังสือมีคุณค่า และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเราทุกๆ ครั้งที่ได้เปิดหนังสือออกอ่าน เราเลยอยากให้หนังสือเข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้คนถึงจะไม่มากก็ยังดี”
จะว่าไปก็ถือเป็นหลักการเดียวกับ The Objects สารพันเครื่องเขียนและของใช้ที่ออกแบบโดยทีมงานสำนักพิมพ์สมมติ ที่นอกจากจะดีไซน์ดี ฟังก์ชั่นเด่นแล้ว ยังสอดแทรกเสน่ห์ของวรรณกรรมลงไปในปากกา ดินสอ สมุด ขวดน้ำ ฯลฯ เพื่อเป้าหมายสุดท้ายในการให้ผู้ใช้งานหันมาเห็นความสำคัญของตัวอักษรบนหน้ากระดาษบ้างไม่มากก็น้อย
“หลายคนหลงใหลในสเตชันนารี แล้วค่อยเริ่มทำความรู้จักหนังสือ เราทำ The Objects กันมาตั้งแต่ปลายปี 2558 สินค้าในตอนนั้นมีแก้วน้ำดื่ม ขวดน้ำดื่ม ดินสอ ปากกา ซึ่งมีเอกลักษณ์ตรงรูปลักษณ์และคอนเทนท์ที่อยู่บนนั้น เช่น แก้ว 1984 ที่ขายดีมากในตอนนั้น หรืออย่างแก้ว 2+2=5 ก็ไปสะกิดต่อมสงสัยของบางคนว่าคืออะไร เราก็จะแนะนำได้ว่ามาจากหนังสือเล่มไหน กลายเป็นว่าเขาก็สนใจอ่านหนังสือเพิ่มเติม” เอกสิทธิ์เล่าถึงความสนุกในการได้สอดแทรกวรรณกรรมให้เข้าไปอยู่ในชีวิตผู้คนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
“สำหรับพวกเราเองพอได้มาทำคาเฟ่เต็มตัวก็รู้สึกสนุก แค่ลูกค้าอาจจะไม่ใช่คนที่พุ่งเข้ามาเพื่อหาหนังสือโดยเฉพาะ ฉะนั้น การเข้าถึงลูกค้าของเราก็จะเป็นอีกแบบ ต้องลดทอนความเป็นคนขายหนังสือที่เคยอยู่หน้าบูธในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติลง กลายเป็นคนคอยสร้างบรรยากาศให้ลูกค้าที่มาคาเฟ่ประทับใจ
“ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเหมือนเป็นที่ปรึกษาเวลาลูกค้าต้องการสอบถามเรื่องหนังสือ ซึ่งพวกเราสามารถให้คำแนะนำได้” สิทธิวัฒน์เล่าด้วยรอยยิ้มถึงบรรยากาศใหม่ๆ ในฐานะคนทำหนังสือ คนขายหนังสือ และเป็นบาริสต้าไปด้วยในเวลาเดียวกัน
“ขนมและเครื่องดื่มของเราอาจจะไม่ได้หวือหวา เน้นทำให้อร่อยถึงเครื่อง อย่างขนมปังปิ้งก็ต้องให้ถึงเนย ซิกเนเจอร์ดริ้งค์ของเราก็แค่กาแฟโบราณ แต่โดยรวมต้องไปด้วยกันได้หมด ไม่ชูอย่างใดอย่างหนึ่งให้เด่นขึ้นมา แล้วลูกค้าจะเข้าใจเองว่าที่นี่เป็นสถานที่แบบไหน” เอกสิทธิ์สรุปถึงนิยามความเป็น The Alphabet Book Café
The Alphabet Book Café
ซอยสุขาภิบาลบางระมาด 5/1 ถนนสุขาภิบาลบางระมาด แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ
โทร 064 501 8415
เปิดบริการ วันพฤหัสบดี – วันจันทร์ เวลา 10.00 – 20.00 น. (ปิดวันอังคารและวันพุธ)
Facebook : The Alphabet Book Cafe
Instagram : alphabetbookcafe.bkk