©ulture

“เหมือนเจอโอเอซิสกลางทะเลทราย” 

เป็นความรู้สึกที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด สำหรับใครก็ตามที่ดั้นด้นจนเจอ Yogis Spicy (โยคีสไปซี่) ร้านอาหารกึ่งเฮ้าส์บาร์ที่ซ่อนอยู่บนชั้นสองของโครงการสาทรคอร์นเนอร์ในซอยสาทร 8 

ทะเลทรายที่เราเปรียบเปรยก็คือการจราจรบนถนนเส้นหลักที่โอบล้อมตัวร้าน ทั้งถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนสาทร ซึ่งติดแหง็กทุกช่วงเวลาจนดูดพลังชีวิตเหล่ามนุษย์เมืองเสียจนซูบ ดังนั้น ขอแค่คุณมีโอกาสได้เลี้ยวรถหรือเดินเข้าไปยังซอยย่อยในแยกพิพัฒน์ ดินแดนแห่งความเงียบสงบราวกับไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แห่งนี้ ก็พร้อมอ้าแขนต้อนรับคุณตลอด 6 วันต่อสัปดาห์

โอเอซิสแห่งนี้มีดีอะไร? นอกจากบรรยากาศการตกแต่งสไตล์อาร์ตๆ ดิบๆ มีความสตรีทสไตล์ภารตะที่เตะตาในทุกรายละเอียดแล้ว ยังเสิร์ฟอาหารมังสวิรัติรสชาติดี ปรุงจากวัตถุดิบสดใหม่ทุกวัน และทุกวันศุกร์ยังพร้อมเปิดเตาอบพิซซ่าแป้งบางกรอบร้อนๆ ให้กิน ตบท้ายด้วยลิสต์เครื่องดื่มดีๆ ที่มีให้เลือกดริ้งค์มากมาย หรือใครชอบอาหารแขกที่นี่ก็มีเสิร์ฟด้วยสูตรตำรับอินเดียตอนเหนือ สุดท้ายสำหรับคนรักการเรียนโยคะ ขอบอกว่าสำนัก Roots8 Yoga ของที่นี่มีความพิเศษซึ่งรับประกันว่าไม่มีทางซ้ำใคร

เราไม่ขอให้คุณเชื่อในทันที แต่อยากให้ลองพิสูจน์เองด้วยการเดินทางไปให้ถึงใต้ถุนโครงการสาทรคอร์นเนอร์ หันขวาจะเจอบันไดหินขัดขนาดเขื่อง อย่าลังเลที่จะสาวเท้าขึ้นไปให้ถึงขั้นบนสุด เท่านี้ก็จะพบโลกแห่งความอิ่ม อร่อย และเป็นสุขสไตล์โยคี

ก่อนจะเป็นโยคีสไปซี่

สีชมพูสดใสจากแสงไฟประดับบาร์เครื่องดื่มสาดแทงทะลุสายตาราวกับเป็นการทักทายแขกผู้มาเยือน เสริมความจัดจ้านด้วยป้ายไฟนีออนรูปโยคีเครายาวกำลังบำเพ็ญตบะลอยตัวจากพื้น ไปกันได้ดีกับพื้นหลังที่เป็นภาพเพนต์ใบหน้านักบวชเคราเฟิ้มบนกำแพงอิฐ 

“นักบวชบนกำแพงนี้เรียกว่ากูรูจี หมายถึง ครู ผู้ที่เราให้ความเคารพว่าเป็นครู  ส่วนคนที่กำลังเป่าขลุ่ย คือ บาบาจี  หรือ ฤษี พระผู้ละครอบครัวออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน รักอิสระ มีความรอบรู้ปัจเจก อาทิ ทางดนตรี และทางด้านหลังนี้เรียกว่า สวามีจี นักบวชในชุดส้ม ผู้ตัดทางโลก อุทิศตนเพื่อบรรลุผลทางจิตวิญญาณสถานะสูงขึ้นไปอีก”

กุ๊ก – อุบลสิริ พชรวรรณ เจ้าของร้านอาหารโยคีสไปซี่ ไล่เรียงให้รู้จักถึงเหล่าโยคีประจำร้านที่ปรากฏกายในรูปแบบของภาพเพนต์บนกำแพงและผืนผ้าให้เราฟัง โดยผู้ทรงศีลทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมาจากภาพความทรงจำประทับใจเมื่อครั้งที่เธอเคยไปประสบพบเจอคราวที่ได้เยือนเมืองฤาษีเกศ ประเทศอินเดีย เมืองที่ผู้ใฝ่ใจศึกษาด้านโยคะนิยมไปฝังตัวศึกษาร่ำเรียนอาสนะต่างๆ ในอาศรมนานเป็นเดือนๆ

“แผงด้านหลังตรงนี้เคยเป็นบาร์เครื่องเทศมาก่อน” อุบลสิริเล่าต่อถึงภาพในอดีตก่อนจะมาเป็นบาร์สีชมพู “แต่ละชั้นจะวางขวดโหลใส่เครื่องเทศอบแห้งของไทย ฝรั่ง จีน อินเดีย ฯลฯ ก่อนจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่มาร้านเรา ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นตัวเองมากที่สุดแล้ว” เธอยิ้มเมื่อเอ่ยถึงบรรดาขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นานาชนิดที่เรียงรายแทนที่โหลบรรจุเครื่องเทศตากแห้ง ซึ่งแม้จะไม่ได้ถูกนำมาตั้งโชว์แล้ว แต่ยังเป็นหัวใจหลักที่ใส่อยู่ในอาหารแทบทุกจานที่ ‘โยคีสไปซี่’ ปรุงเสิร์ฟ

การที่เคาท์เตอร์ปรับหน้าตาจากบาร์เครื่องเทศเป็นบาร์เครื่องดื่มเต็มรูปแบบ อีกทั้งเจ้าตัวยังย้ำว่า ‘เป็นตัวเองมากที่สุด’ ก็เพราะอุบลสิริคุ้นเคยกับการมิกส์เครื่องดื่มเสิร์ฟบรรดาลูกค้าที่มักมาปักหลักตรงหน้าบาร์มานานเกินสิบปี ก่อนที่จะมาเปิดบ้านโยคีแห่งนี้เสียอีก

ย้อนกลับไปประมาณ 13 ปีที่แล้ว เธอเคยเปิดร้านอาหารเล็กๆ ในห้องแถวต้นซอยศาลาแดงในชื่อ ร้านกาแฟบางรัก (Cafe Bangrak) บาร์กลางวันแห่งแรกในย่านนั้นที่สามารถมานั่งดริ้งค์ได้ตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงห้าทุ่ม ที่นี่จึงเป็นขวัญใจชาวต่างชาติที่ทำงานละแวกสีลม ผู้คุ้นเคยกับการนั่งทำงานหรือประชุมไปพร้อมๆ กับการดื่มแก้วโปรดสักแก้วให้สมองแล่น

ชั้นสองของร้านกาแฟบางรักเปิดเป็นบาร์พิซซ่า ที่สานต่อตำนาน ‘พิซซ่าเด็กแนว’ พิซซ่าแป้งบางกรอบขวัญใจเด็กสยามฯ แห่งร้าน โฮลี่ พิซซ่า (Holy Pizza) โรงเรียนร้านอาหารแห่งแรกในชีวิตของอุบลสิริ ที่ในตอนนั้นยังเป็นสาวออฟฟิศผู้หายใจเข้าออกเป็นงาน แล้วยังอุตส่าห์แบ่งครึ่งหนึ่งของชีวิตมาทำหน้าที่หุ้นส่วนร้านพิซซ่าที่เธอต้องทุ่มเทงานบริหารร้านในทุกรายละเอียด 

จากเวิร์กกิ้งวูเมนที่ทำอาหารไม่เป็นเลย และสมัครใจกินอาหารแช่แข็งทุกมื้อ อุบลสิริค่อยๆ เรียนรู้การทำอาหารไปทีละน้อยจนคล่องกับการทำอาหารทุกประเภท และหลังจากหันหลังให้ร้านโฮลี่พิซซ่า เธอจึงตัดสินใจปักหลักประกอบอาชีพ ‘เจ้าของร้านอาหาร’ แบบไม่เคยปันใจไปทำอย่างอื่น

“เวลาที่ลูกค้าสั่งอาหาร แล้วเราเสิร์ฟอาหารให้เขากิน เป็นโมเมนต์เดียวที่เราเห็นแล้วแฮปปี้ เพราะคนกินข้าวมีความสุขทุกคน ต่อให้เขาอารมณ์เสียมาจากที่อื่น แต่เมื่อมีของกินมาวางอยู่ตรงหน้า สีหน้าของเขาจะเปลี่ยนและมีความสุขทันที ในแต่ละวันที่เราเห็นใบหน้าที่มีความสุขของลูกค้าวันนึงเป็นสิบๆ ราย กุ๊กถือว่าเรา ‘ได้’ ตลอดเวลา” เธออมยิ้มเมื่อเล่าถึงความสุขที่ได้รับในแต่ละวัน

แต่เหรียญย่อมมีสองด้านฉันใด สุขล้ำในการทำอาหารให้คนทานก็ย่อมแฝงไว้ซึ่งความทุกข์บางประการเช่นกัน

บำบัดทุกข์บำรุงสุขด้วยโยคะ

ถึงจะเล็กด้วยขนาด แต่ร้านกาแฟบางรักพร้อมเสิร์ฟทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย นอกจากพิซซ่าแป้งบางสูตรเด็ด และเครื่องดื่มที่มีให้เลือกทั้งแบบมึนๆ และไม่เมาแล้ว ยังมีเมนูอาหารไทย อาหารจานเดียว และอาหารมังสวิรัติให้เลือกสั่ง เมื่อบวกกับมีเจ้าของร้านอัธยาศัยดีอยู่โยงประจำหน้าบาร์ตลอดเวลา จึงทำให้คาเฟ่บางรักเปี่ยมด้วยเสน่ห์จนเข้าไปสถิตอยู่ในใจลูกค้าหลายกลุ่ม ขายดิบขายดีจนทำให้เจ้าของร้านต้องรับบทโหดไม่รู้ตัว

“ร้านเรามีทั้งลูกค้าฝรั่งที่ชอบกินมังสวิรัติด้วย ดื่มก็ได้ มีทั้งลูกค้าไทยที่มากินข้าวจานเดียวตอนมื้อกลางวัน กลางคืนก็เป็นที่รวมตัวของสถาปนิก ศิลปิน คนในแวดวงออกแบบ และกลุ่ม ดิจิตอลมีเดีย ที่ต่อให้จะกินเหล้าหัวทิ่มแค่ไหน กุ๊กก็ไม่ให้อยู่ดึก ร้านปิดห้าทุ่ม ไล่ลูกค้าเลย สมัยก่อนดุมาก” อุบลสิริเล่าพลางนึกขำตัวเองในอดีต 

กุ๊ก – อุบลสิริ พชรวรรณ เจ้าของ Yogis Spicy และ Roots8 Yoga

“สมัยนั้นลูกน้องเป็นสิบคน และกุ๊กคุมบาร์เอง ยุ่งมาก สติแตก เพราะโดนกดดันด้วยเวลา เช่น ลูกค้าเที่ยงโต๊ะนี้มา 6 คน สั่งอาหารคนละอย่างและต้องเสิร์ฟให้พร้อมกันทุกจาน เราก็หัวหมุนเลย แทบจะเป็นบ้าเลยตอนนั้น เพราะสมัยทำงานออฟฟิศกุ๊กก็เป็นคนที่ทำงานเร็วและปรี๊ดง่าย หวังผลเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ ช้าไม่ได้ กัดไม่ปล่อย และเราเป็นคนมีอารมณ์ศิลปินสูง ยังไม่เข้าใจงานบริการว่าลูกค้าย่อมคาดหวังเรื่องการบริการ แต่เราศิลปินไง ใครเยอะรำคาญ เลยทะเลาะกับลูกค้าจนกลายเป็นเพื่อนกัน (หัวเราะ) บางทีสี่ทุ่มแล้ว แต่เขายังกินข้าวไม่เสร็จ เราก็ไม่สนใจจะปิดร้าน ลูกค้าหัวเสีย แต่วันรุ่งขึ้นเขาก็มาอีก อาจจะถูกใจของแปลกที่นี่ที่มาแล้วได้เจอแม่ค้าวีนเหวี่ยง”

ตลอด 8 ปีของการยิ้ม หัวเราะ หัวหมุน วีน เหวี่ยง ฯลฯ ขึ้นๆ ลงๆ ไม่เว้นแต่ละวัน อุบลสิริอาศัยจังหวะว่างระหว่างวันในการอ่านหนังสือบ้าง (เป็นเหตุผลที่ทั้งคาเฟ่บางรักและโยคีสไปซี่เป็นร้านอาหารที่มีชั้นหนังสือที่อัดแน่นด้วยหนังสือน่าอ่านราวกับห้องสมุดชั้นดี) ไปเดินออกกำลังกายตอนเย็นที่สวนลุมพินีบ้าง ก่อนจะกลับมาประจำการที่หน้าบาร์

และแล้วในช่วงปีที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ปิดเมืองเนื่องจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองของกลุ่มคนเสื้อสองสี เป็นอุปสรรคทำให้อุบลสิริไปเดินเล่นที่สวนลุมฯ ไม่ได้ เธอเลยต้องมองหากิจกรรมอื่นที่จะเสริมให้ตัวเองมีสุขภาพดี

โยคะเป็นกิจกรรมที่อุบลสิรินึกถึง และเกือบจะพุ่งตัวไปร่ำเรียนถึงอินเดีย ถ้าไม่เสิร์ชอินเตอร์เน็ตเจอเสียก่อนว่าไม่ไกลจากละแวกร้านก็มีสตูดิโอโยคะที่สอนโดยครูอินเดีย ที่นั่นทำให้เธอได้พบกับครูวิเวก ซิงค์ ราวัต ครูโยคะชาวอินเดียที่อุบลสิริรู้สึกว่า ครูคนนี้มีความ ‘ซิงก์’ กับเธออย่างน่าประหลาด และแม้จะเป็นนักเรียนโยคะในระดับเริ่มต้นเพียงแค่ 6 เดือน แต่ด้วยความเชื่อมั่นในความพิเศษไม่เหมือนใครของครูวิเวก เจ้าของบาร์คนนี้จึงไม่ลังเลที่จะส่งจดหมายเทียบเชิญทางวาจากับครูว่า 

“วันนึงฉันจะเปิดโรงเรียนสอนโยคะ และจะเชิญครูมาเป็นครู”

ครูวิเวก ซิงค์ ราวัต ครูโยคะประจำสำนัก Roots8 Yoga

ร้านอาหารมังสวิรัติ เฮ้าส์บาร์ และโรงเรียนสอนโยคะในที่เดียว

ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากหล่นประโยคนั้นออกไป รู้ตัวอีกทีอุบลสิริก็กลายเป็นเจ้าของร้านอาหาร 2 ร้านและโรงเรียนสอนโยคะอีก 1 โรง เธอได้ทำตามที่ลั่นวาจาไว้โดยชวนครูวิเวกมาเป็นครูสอนโยคะประจำ Roots8 Yoga สตูดิโอโยคะที่ไม่ได้มีบรรยากาศเงียบสงบขาวคลีนเสียทีเดียว ใครจะมาฝึกโยคะที่นี่ต้องเดินฝ่าแสงสีของบาร์เครื่องดื่มและกลิ่นหอมยวนใจของพิซซ่าอบใหม่จากเตามาให้ได้ จึงจะก้าวมาถึงประตูห้องฝึก

บรรยากาศภายในห้องฝึกโยคะ

“ตอนเจอสเปซนี้ มองแค่เรื่องโยคะอย่างเดียวก่อน เพราะเรามีร้านอาหารอยู่แล้ว และไม่ได้คิดจะย้ายไปไหน แต่ด้วยความที่พื้นที่ตรงนี้มีขนาดถึง 650 ตารางเมตร ซึ่งใหญ่เกินกว่าทำสตูดิโอโยคะอย่างเดียว เลยคิดว่าเราถนัดด้านอาหาร งั้นลองทำอาหารสุขภาพขายดีกว่า” อุบลสิริเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการปรับพื้นที่ของอดีตโรงเรียนสอนภาษาจีนให้กลายเป็นฟังก์ชันของร้านอาหารมังสวิรัติ ที่สามารถจุคนได้เกินร้อย แถมด้วยห้องเรียนโยคะโล่งกว้างอีก 2 ห้อง ที่ยังคงบรรยากาศดั้งเดิมของห้องเรียนเก่า ด้วยหน้าต่างไม้แบบบานผลัก ที่ชวนให้ย้อนนึกถึงสมัยเป็นนักเรียนขึ้นมาทันที

5 ปีแรกของการเปิดสตูดิโอโยคะควบร้านอาหารมังสวิรัติ ร้านกาแฟบางรักเองก็ยังเปิดให้บริการตามปกติ เจ้าของร้านอย่างอุบลสิริจึงต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างซอยศาลาแดงกับสาทรซอย 8 ทุกวัน และหลังจากปิดฉาก 13 ปีร้านกาแฟบางรัก เธอก็เข้ามาคลุกวงในหาทางบริหารสเปซลับแห่งนี้ (ที่คนมักจะเดินมาไม่ค่อยถึง) ให้สามารถเดินต่อไปได้จนถึงวันนี้ที่ก้าวสู่ปีที่ 8 แล้ว 

เป็น 8 ปีที่หากลูกค้าเก่าผู้ห่างหายไปนานแล้วตัดสินใจกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้ง คงอดตกใจไม่ได้ในความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งบรรยากาศการตกแต่งและรายการอาหารที่กระชับและชัดเจนในตัวตนยิ่งขึ้น

ซุปถั่วอินเดีย (ราคา 165 บาท)

“ช่วงแรกเรามีเมนูมังสวิรัติเยอะมาก ดัดแปลงอาหารไทย อินเดีย อิตาเลียน ฯลฯ มาทำให้เป็นมังฯ แถมยังมีเซตอาหารอินเดียแบบถาดหลุมอีก ผลก็คือ สต็อคของบาน แล้วลูกค้าก็ไม่มา เพราะทำเลหายากแล้วยังจะขายอาหารมังฯ อีก” อุบลสิริเล่าด้วยน้ำเสียงขำขื่น 

“สุดท้ายก็ต้องปรับเมนูให้เหลือแค่หน้าเดียว เพราะคนกินอาหารมังสวิรัติต้องการแค่ของที่สด คุณภาพดี รสชาติอร่อยกว่ามังฯ ที่อื่น แค่นั้นพอ ไม่ต้องมีเมนูที่หลากหลายก็ได้” 

ข้าวผัดสับปะรดเครื่องเทศอินเดีย (ราคา 155 บาท)

ดังนั้น อาหารมังสวิรัติที่นี่จึงคัดมาแล้วว่ามีแต่จานเด็ดที่อยู่คู่ร้านมานานเกือบสิบปี อาทิ ข้าวผัดสับปะรดเครื่องเทศอินเดีย (ราคา 155 บาท) อาหารจานเดียวกินง่าย หอมกลิ่นมาซาลากำลังดีจากมวลข้าวสวยเม็ดร่วนที่ผ่านการรวนให้เข้ากับเมล็ดผักชีป่น ผงกะหรี่ ขมิ้นชันอินเดีย และโปรยเหลือหิมาลายันอีกหยิบมือตามตำรับการปรุงแบบอินเดียที่นิยมใช้เกลือเพียงอย่างเดียว โรยพริกไทยดำอีกนิดหน่อยเป็นอันเข้ากัน

ครูวิเวกโชว์ฝีมือปรุงซุปถั่วสูตรอินเดียตอนเหนือ

จะให้ดีควรสั่ง ซุปถั่วอินเดีย (ราคา 165 บาท) มาเพิ่มรสชาติให้เหมือนได้วาร์ปไปถึงแดนภารตะในชั่วลัดนิ้วมือ เพราะสูตรซุปถั่วของที่นี่มาจากรสมือของครูวิเวกขนานแท้ ถึงเครื่องตำรับแกงถั่วสไตล์อินเดียตอนเหนือ และห้ามพลาดที่จะสั่ง โยคีชานมอินเดียผสมเครื่องเทศอินเดีย (ราคา 85 บาท) หรือ chai มาจิบเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกายสักกา ชาเครื่องเทศของที่นี่ต้มใหม่ทุกครั้ง เพื่อให้กลิ่นหอมและรสชาติของเครื่องเทศอย่างกระวาน อบเชย ขิง กานพลู และพริกไทย ได้ทำงานสดใหม่ กระตุ้นร่างกายให้ตื่นแบบเต็มที่ 

โยคีชานมอินเดียผสมเครื่องเทศอินเดีย (ราคา 85 บาท)
พิซซ่าหน้าเดอะ มาเฟีย (ราคา 295 บาท)

หรือถ้าไม่ถนัดอาหารอินเดีย พิซซ่าเด็กแนวสูตรเดียวกับที่เคยจัดจ้านในย่านเซ็นเตอร์พอยท์เมื่อทศวรรษก่อน ก็ยังอบใหม่พร้อมเสิร์ฟที่นี่ทุกวันศุกร์ มีให้เลือกทั้งมังฯ และไม่มังฯ ทั้งอาหารและพิซซ่า เช่นเดียวกับเครื่องดื่มที่จะเลือกจิบแบบใสๆ หรืออยากดื่มแอลกอฮอล์พอกรึ่ม สั่งได้ทุกแบบที่ต้องการ

มะนาวสะระแหน่ (ราคา 75 บาท)

บาร์ระบายอ่อนๆ

อุบลสิริยอมรับตามตรงว่าหนึ่งในเหตุผลที่ตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนโยคะคู่กับร้านขายอาหารมังสวิรัติ เพราะเธอคลุกคลีกับโลกกลางคืนที่ต้องแวดล้อมด้วยผู้ชายกินเหล้ามานานเกินพอ จึงอยากก้าวไปสู่โลกสีขาวของการทำอะไรดีๆ สไตล์รักษาศีล กินผัก เจริญสติ บำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยการฝึกโยคะ ที่น่าจะช่วยปรับดัดนิสัยให้เธอเป็นคนที่เย็นลง

แต่โลกสีขาวใบนี้ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกทุกข้อเสมอไป

“หลังจากทำโรงเรียนโยคะมาสักพัก แต่ก็ยังรู้สึกกดดันอยู่ เราหนีจากการขายเหล้า แต่ทำไมยังฮึดฮัดฟึดฟัด ทั้งที่โลกตรงนั้นน่าจะเป็นโลกที่มืดที่สุดแล้ว รวมอบายมุขทุกอย่าง ทั้งเหล้า บุหรี่ พอมาทำตรงนี้ รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรดีๆ ผลลัพธ์น่าจะดีสิ แต่ปรากฏว่าคาแร็กเตอร์ของคนทั้งสองโลกไม่เหมือนกันเลย ทั้งที่พวกเขาต่างก็ต้องการเพียงที่ระบาย 

“เครื่องมือในการระบายของคนที่เลือกไปดื่มที่บาร์ คือ แอลกอฮอล์ เขาดื่มพลางเล่าเรื่องราวต่างๆ เพื่อปลดปล่อยความเครียดและเรื่องราวในใจกับแก้วในมือและกับเรา จะหัวทิ่มหัวตำไหมไม่รู้ แต่ความทุกข์ของเขาจบไปแล้ว ส่วนคนอีกแบบที่มีความเครียดจากที่ทำงานหรือจากการเจ็บไข้ได้ป่วยก็เลือกที่จะเข้าห้องโยคะ เพื่อแสวงหาโมเมนต์ในการอยู่กับตัวเองผ่านเครื่องมืออย่างโยคะ ดังนั้น ไม่ว่าใครจะเลือกเครื่องมือแบบไหน ไม่มีผิดไม่มีถูก เขาแค่อยู่กันคนละโลก” อุบลสิริสรุปถึงประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ผ่านผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาให้เธอได้รู้จัก พร้อมกับเปรียบเปรยได้น่าฟังว่ามนุษย์แต่ละคนคืองานศิลปะที่เต็มไปด้วยสีสันเฉพาะตัว

“ด้วยคาแรกเตอร์ของเฮ้าส์บาร์คือร้านกินเหล้าที่ได้คุยกับเจ้าของร้านซึ่งยืนประจำการอยู่ที่หน้าบาร์ ถึงจะมาคนเดียวก็โอเค สามารถคุยกันสัพเพเหระได้ ตรงนี้เองที่ทำให้กุ๊กรู้สึกว่ามนุษย์นี่แหละคือศิลปะที่เราอยากทำ ตัวเขาคือแคนวาส  ศิลปะอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ภาพโดยรวมอาจไม่สมบูรณ์ในแบบเขา แต่จะเผยมุมหนึ่งมุมใดที่งดงามให้เราได้ชื่นชมบ้าง เขานำเรื่องราวมาแชร์กับเรา ทำให้เราได้รับรู้วงจรชีวิตของเขา เห็นสีสัน ไลฟ์สไตล์ ความสุขความทุกข์ต่างๆ การได้พูดคุยกับลูกค้าหลายๆ สาขาอาชีพ หรือหากเรามีส่วนได้เติมเต็มให้งานศิลปะชิ้นนั้นงดงามขึ้น ทำให้กุ๊กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าไปด้วย เพราะเขาทำให้เราได้เป็นส่วนนึงของชีวิตเขา…พื้นที่ของบาร์ร้อยกันไว้ด้วยความรู้สึกแบบนี้”

ส่วนพื้นที่ของห้องเรียนโยคะ เธอยกให้เป็นหน้าที่ของครูวิเวกผู้ที่จะนำพานักเรียนแต่ละคนไปสู่เป้าหมายในใจ ซึ่งเป็นเรื่องปัจเจกในการมองหาสมดุลชีวิตตัวเองให้เจอ สิ่งที่อุบลสิริทำได้คือ เปิดประตูเฮ้าส์บาร์และโรงเรียนโยคะแห่งนี้เพื่อเป็นอีกพื้นที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแด่ผู้ที่ต้องการการปลดปล่อย

Yogis Spicy และ Roots8 Yoga

โครงการสาทรคอร์นเนอร์ สาทรซอย 8 ถนนสีลม กรุงเทพฯ

เปิดบริการวันจันทร์ – วันเสาร์ เวลา 10:00 – 21:00 น.

โทร 064-227-6424

https://www.facebook.com/yogispicy

https://www.facebook.com/roots8yoga

http://www.roots8yoga.com/